วัดคูหาสวรรค์ (จังหวัดพัทลุง)

วัดคูหาสวรรค์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง

วัดคูหาสวรรค์
แผนที่
ชื่อสามัญวัดคูหาสวรรค์, วัดคูหาสูง, วัดสูง, วัดถ้ำคูหาสวรรค์
ที่ตั้งตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดคูหาสวรรค์มีถ้ำคูหาสวรรค์ตั้งอยู่ในวัด ชาวบ้านนิยมเรียกวัดนี้ว่า วัดคูหาสูง หรือ วัดสูง ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด แต่ตำนานนางเลือดขาวระบุว่า เมื่อตาสามโมกับยายเพชรถึงแก่กรรมแล้ว กุมารกับนางเลือดขาวให้นำอัฐิของท่านทั้งสองไปเก็บไว้ในถ้ำคูหาสวรรค์ ขณะที่ข้อมูลในหนังสือทำเนียบวัดจังหวัดพัทลุงของพระครูอริยสังวร (เอียด) ระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 1924 ยังปรากฏความในหนังสือพระกัลปนาวัดเมืองพัทลุงสมัยอยุธยา ความว่า วัดคูหาสวรรค์ก็น่าจะถูกทำลายไปในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แล้วจึงได้รับการบูรณะใหม่

เมื่อ พ.ศ. 2432 วัดได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เพื่อเตรียมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งเสด็จประพาสแหลมมลายู ปรากฏจารึกพระปรมาภิไธย จ.ป.ร. 108 ไว้บริเวณหน้าถ้ำ วัดคูหาสวรรค์ได้กลายเป็นวัดร้าง จน พ.ศ. 2452 ชาวบ้านได้นิมนต์พระครูจรูญกรณีย์ (ตุค เกสโร) มาเป็นเจ้าอาวาสครองวัด ท่านได้บูรณะเป็นการใหญ่ วัดจึงได้รับการพัฒนา จนถึง พ.ศ. 2467 เมืองพัทลุงย้ายจกตำบลลำปำมาตั้งที่ตำบลคูหาสวรรค์ พระยาคณาศัยสุนทร (สา สุวรรณสาร) ผู้ว่าราชการเมืองสมัยนั้น ได้ช่วยบูรณะวัดอีกแรงหนึ่ง วัดคูหาสวรรค์เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์โปรดในการเสด็จอยู่เสมอ เช่น เมื่อ พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จประพาสถ้ำคูหาสวรรค์ได้ทรงจารึกพระปรมาภิไธย ภปร.และ สก. ไว้ที่เพิงผาหน้าถ้ำ[1]

ถ้ำและเสนาสนะ แก้

ถ้ำคูหาสวรรค์ เป็นถ้ำกว้าง 18 เมตร ยาว 28 เมตร สูงเป็นเวิ้งรูปกรวย ตอนบนมีหินงอกคล้ายรูปช้าง ชาวบ้านเรียกว่า "ช้างผุด” หรือ หินลับแล พื้นถ้ำปูด้วยอิฐถือปูน ในถ้ำมีเจดีย์องค์เล็ก มีพระพุทธรูปปูนปั้นและปั้นด้วยดินเหนียวขนาดต่าง ๆ เรียงแถวเป็นระเบียบทางด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และ ทิศตะวันตก รวม 37 องค์ มีประวัติว่าพระพุทธรูปจำนวน 20 องค์ สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์สร้างเพิ่มอีก 17 องค์ ทางด้านทิศตะวันออกของเศียรพระพุทธไสยาสน์มีกรุพระพิมพ์ที่ชาวบ้านได้ขุดพบเป็นจำนวนมาก มีทั้งพระจำหลักไม้พระพุทธรูปปูนปั้น พระสำริด และพระพิมพ์ดินดิบสมัยศรีวิชัย ปากถ้ำสูงประมาณ 2 เมตร ชาวบ้านเรียกว่า "หัวทรพี" ตรงข้ามเป็นรูปพระฤๅษีตาไฟปูนปั้น มีเรื่องเล่าในตำนานว่า นางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารสร้างขึ้นแทนอนุสาวรีย์ตาสามโมกับยายเพชร และได้บรรจุอัฐิของตายายทั้ง 2 ไว้ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478

พระอุโบสถวัดคูหาสวรรค์ ประดิษฐานพระประธานที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้สร้างถวาย สร้างจากทองคำร้อยละ 60 วัดมีพระพุทธบาทจำลอง ตั้งอยู่บนไหล่เขาด้านบนของถ้ำพระ สูงขึ้นไปประมาณ 60 เมตร สร้างโดยนายฮวดและนางขิ้ม แซ่สอ เมื่อ พ.ศ. 2471 และมีเจดีย์หินโบราณ[2]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดคูหาสวรรค์". สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-19. สืบค้นเมื่อ 2021-08-19.
  2. "วัดคูหาสวรรค์ (Wat Khuhasawan)". ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้-มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.