วัฒนธรรมหย่างเฉา

วัฒนธรรมทางโบราณคดี

วัฒนธรรมหย่างเฉา (จีน: 仰韶文化, อังกฤษ: Yangshao Culture) เป็นวัฒนธรรมยุคหินใหม่ที่สำคัญที่กระจายโดยทั่วไปตลอดริมฝั่งตอนกลางของ แม่น้ำหวง ในประเทศจีน มีอายุในช่วงประมาณ 5,000 ถึง 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ปัจจุบันมีการค้นพบแหล่งโบราณคดีของวัฒนธรรมหย่างเฉาหลายพันแห่งในประเทศจีน ส่วนใหญ่ในมณฑลเหอหนาน ส่านซี และ ชานซี วัฒนธรรมนี้ได้รับการตั้งชื่อตามแหล่งขุดสำรวจที่ค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2464 ในหมู่บ้านหย่างเฉาในเขตซานเหมินเซียของมณฑลเหอหนาน โดย โยฮัน กุนนาร์ แอนเดอร์สัน นักธรณีวิทยาชาวสวีเดน[1] การค้นพบนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการกำเนิดโบราณคดีจีนสมัยใหม่

วัฒนธรรมหย่างเฉา
Map showing the extent of the วัฒนธรรมหย่างเฉา
ชื่อภาษาท้องถิ่น仰韶文化
ภูมิภาคที่ราบสูงดินเหลือง
สมัยยุคหินใหม่
ช่วงเวลา5,000 ถึง 3,000 ปีก่อนคริสตกาล
แหล่งโบราณคดีสำคัญปั้นพัว (Banpo), เจียงไจ้ (Jiangzhai)
ก่อนหน้าวัฒนธรรม Peiligang, วัฒนธรรม Dadiwan, วัฒนธรรม Cishan
ถัดไปวัฒนธรรมหลงชาน

งานวิจัยล่าสุดระบุว่า ภาษาชิโน - ทิเบต มีต้นกำเนิดร่วมกันกับ วัฒนธรรมสือชาน (Cishan culture), วัฒนธรรมหย่างเฉา และ หรือ วัฒนธรรมหม่าเจียเหยา (Majiayao culture)

ประวัติ แก้

ในปีพ. ศ. 2464 โยฮัน กุนนาร์ แอนเดอร์สัน นักธรณีวิทยาชาวสวีเดนผู้ทำการสำรวจฟอสซิลไดโนเสาร์ได้ขุดเครื่องปั้นดินเผาโดยบังเอิญ (ซึ่งต่อมาเรียกว่าเครื่องปั้นดินเผาทาสี) ทางตะวันตกของลั่วหยางใกล้ริมฝั่งแม่น้ำหวงในหมู่บ้านหย่างเฉา เทศมณฑลซานเหมินเซีย มณฑลเหอหนาน มีการพบซากที่อยู่อาศัยในลักษณะซากปรักหักพังใต้ชั้นดิน

การค้นพบนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาโบราณคดีจีนสมัยใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีการค้นพบแหล่งโบราณคดีของวัฒนธรรมหย่างเฉา หลายพันแห่งในประเทศจีน ชื่อของวัฒนธรรมหย่างเฉา มาจากแหล่งขุดค้นแห่งแรกซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านหย่างเฉา ในเทศมณฑลเหมียนชี นครระดับจังหวัดซานเหมินเซีย มณฑลเหอหนาน สิ่งที่น่าสนใจคือแหล่งโบราณคดีหย่างเฉาไม่ได้ถูกมองว่าเป็นแหล่งโบราณคดีเล็ก ๆ อีกต่อไป แต่กลายเป็นชื่อของวัฒนธรรมหย่างเฉา การค้นพบของ แอนเดอร์สัน เป็นความร่วมมือทางโบราณคดีระหว่างจีนและสวิตเซอร์แลนด์ ข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายถือครองครึ่งหนึ่งของการขุดค้นและผลการวิจัยจะต้องตีพิมพ์ในวารสารวิชาการของจีน "Chinese Palaeontology" การขุดค้นที่เก็บไว้โดยฝั่งสวิสตอนนี้ถูกนำไปจัดแสดงใน Oriental Museum ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของสิ่งที่ขุดในครั้งนั้นถูกส่งกลับไปยังประเทศจีนและได้สูญหายไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง[2]

ในปีพ. ศ. 2497 Chinese Academy of Sciences ได้ขุดพบซากสมัยหย่างเฉาในซีอานมณฑลส่านซีและค้นพบอาคารกึ่งใต้ดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว 20 เมตรนอกจากนี้ยังพบสุสานจากวัฒนธรรมหย่างเฉาในที่ต่างๆด้วย [3]

แหล่งโบราณคดี แก้

การกระจายตัวของแหล่งโบราณคดี แก้

วัฒนธรรมหย่างเฉาเป็นวัฒนธรรมยุคหินใหม่ที่สำคัญในตอนกลางของแม่น้ำหวงมีอายุประมาณ 5,000 ถึง 3000 ปีก่อนคริสตกาล การกระจายตัวของวัฒนธรรมหย่างเฉามีศูนย์กลางอยู่ที่พื้นที่ลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำหวง เช่น พื้นที่ลุ่มน้ำเหว่ย พื้นที่ลุ่มน้ำเฟิน - หลัว ตั้งแต่มณฑลกานซูไปจนถึงมณฑลเหอหนานในปัจจุบัน ทางตอนเหนือไปถึงพื้นที่ตามแนวกำแพงเมืองจีนและเหอเท่า (河套) ทางใต้ติดกับลุ่มน้ำ Huaihe-Hanshui[4] ทางตะวันออกไปยังภูเขาไท่หาง (太行山) - มณฑลเหอหนาน และทางตะวันตกถึง Hehuang เป็นพื้นที่กว้างใหญ่โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กวนจงเหอหนานตะวันตกและจินใต้[5]

แหล่งโบราณคดีที่สำคัญ แก้

  • หมู่บ้านหย่างเฉา มณฑลเหอหนาน ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์ และ แหล่งโบราณคดีหย่างเฉา
  • แหล่งโบราณคดีในหมู่บ้านปั้นพัว (Banpo archaeological site 半坡遗址) มณฑลส่านซี เป็นหนึ่งในแหล่งโบราณคดีที่โดดเด่นที่สุดของวัฒนธรรมหย่างเฉา โดยเฉพาะลักษณะการตั้งถิ่นฐานที่มีคูน้ำล้อมรอบ
  • แหล่งโบราณคดีเจียงไจ้ (Jiangzhai 姜寨沟遗址) มณฑลส่านซี แหล่งโบราณคดีนี้ได้รับการขุดสำรวจจนเสร็จสมบูรณ์ และพบว่ามีลักษณะเฉพาะคือคูน้ำล้อมรอบชุมชนเป็นรูปวงกลม
  • แหล่งโบราณคดีเหมียวตี่โกว (Miaodigou 庙底沟遗址) ทางตะวันตกของมณฑลเหอหนาน
  • แหล่งโบราณคดีต่าเหอ (Dahe 大河村遗址) เมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน
  • แหล่งโบราณคดีซีพัว (Xipo 西坡遗址) เมืองหลิงเป่า มณฑลเหอหนาน

ลำดับช่วงวัฒนธรรม แก้

  • ช่วงต้น หรือ ระยะ ปั้นพัว (ประมาณ 5,000–4,000 ปีก่อนคริสตกาล) ในแหล่งโบราณคดี ปั้นพัว, เจียงไจ้, Beishouling และ Dadiwan ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่น้ำเว่ย ใน มณฑลส่านซี [6]
  • ช่วงกลาง หรือระยะ เหมียวตี่โกว (ประมาณ 4,000–3,500 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นช่วงของการขยายตัวของวัฒนธรรมในทุกทิศทาง และการพัฒนาตามลำดับชั้นของการตั้งถิ่นฐาน ในบางพื้นที่เช่น มณฑลเหอหนานทางตะวันตก [6]
  • ช่วงปลาย (ประมาณ 3,500–3,000 ปีก่อนคริสตกาล) เห็นการกระจายลำดับชั้นของการตั้งถิ่นฐานมากขึ้น กำแพงดินแห่งแรกในจีนถูกสร้างขึ้นรอบ ๆ นิคมโบราณซีชาน (Xishan) ขนาด 25 เฮกตาร์ (60 ไร่) ในมณฑลเหอหนานตอนกลาง (ใกล้กับ เจิ้งโจว ปัจจุบัน) [6]


(อนึ่ง วัฒนธรรมหม่าเจียเหยา (Majiayao culture) (ประมาณ 3,300–2,000 ปีก่อนคริสตกาล) ทางตะวันตกถือเป็นวัฒนธรรมที่แยกจากกันซึ่งพัฒนามาจากวัฒนธรรมหย่างเฉา ตอนกลางผ่านขั้นตอน Shilingxia ขั้นกลาง [6])

ลักษณะทางวัฒนธรรม แก้

การดำรงชีวิต แก้

 
แบบจำลองของหมู่บ้านเจียงไจ้ (Jiangzhai) วัฒนธรรมหย่างเฉา

การบริโภคหลักของชาวหย่างเฉา คือ ข้าวฟ่างเหนียว (Proso millet 黍) บางพื้นที่บริโภค ข้าวฟ่างหางหมา (Foxtailed millet 小米) และ ข้าวฟ่างอื่น ๆ พบหลักฐานของ ข้าว อยู่บ้าง ลักษณะเฉพาะของการกสิกรรมของวัฒนธรรมหย่างเฉา ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ระหว่าง การเพาะปลูกขนาดเล็กด้วยวิธีการตัดเผา หรือ การเกษตรแบบเข้มข้นในพื้นที่ถาวร โดยทั่วไปเมื่อดินหมดสภาพผู้อยู่อาศัยก็ย้ายไปทำกสิกรรมในพื้นที่ใหม่และสร้างหมู่บ้านใหม่

ชาวหย่างเฉา เลี้ยงหมู และ สุนัข โดยแกะ แพะ วัวควาย พบได้น้อยมาก [7] การบริโภคเนื้อส่วนใหญ่ที่มาจากการล่าสัตว์และการตกปลาด้วยเครื่องมือหิน [7] เครื่องมือหินของพวกเขาได้รับการขัดเงาและมีความเชี่ยวชาญสูง พวกเขาอาจทำเริ่มมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมยุคต้น[7]

เครื่องมือทำกสิกรรมในวัฒนธรรมหย่างเฉา ได้แก่ ขวานหิน พลั่วหิน หินโม่ และ เครื่องมือที่ทำจากกระดูก นอกจากการทำกสิกรรมแล้วผู้คนในวัฒนธรรมหย่างเฉายังจับปลาและล่าสัตว์ด้วย ในบรรดาโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมที่ขุดพบ ได้แก่ ตะขอกระดูก ฉมวก ลูกศร ฯลฯ เครื่องปั้นดินเผาส่วนใหญ่ในช่วงต้นของวัฒนธรรมหย่างเฉาทำด้วยมือและในช่วงกลางเริ่มปรากฏการขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน เครื่องปั้นดินเผาบางชิ้นมีลวดลายคล้ายลายพิมพ์บนผ้าทอซึ่งแสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมหย่างเฉามีงานหัตถกรรมทอผ้า เครื่องมือในการผลิตส่วนใหญ่ได้รับการพัฒนาจากหินเจียร เช่น มีด ขวาน จอบถาก สิ่ว ลูกศร และ ล้อหมุนหินสำหรับการทอผ้า เครื่องมือทำจากกระดูกที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน เครื่องปั้นดินเผาประจำวันทุกชนิด เช่น ภาชนะใส่น้ำต่าง ๆ เตา ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องปั้นดินเผาสีแดงโคลนและเครื่องปั้นดินเผาสีน้ำตาลแดงที่เต็มไปด้วยทรายในเนื้อดินเผา เครื่องปั้นดินเผาสีแดงมักเขียนด้วยลวดลายเรขาคณิตหรือลวดลายสัตว์ซึ่งเป็นลักษณะที่ชัดเจนที่สุดของวัฒนธรรมหย่างเฉา ทำให้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่าวัฒนธรรมเครื่องปั้นดินเผาที่ทาสี[8]

บ้าน แก้

วัฒนธรรมหย่างเฉาเป็นวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากเกษตรกรรม หมู่บ้านมีขนาดทั้งใหญ่และเล็ก แต่ละแห่งมักมีขนาดพื้นที่ 10 - 14 เอเคอร์ (25 ถึง 35 ไร่) และสร้างบ้านล้อมรอบลานหมู่บ้านที่อยู่ตรงกลาง

บ้านในหมู่บ้านขนาดใหญ่มีรูปแบบที่แน่นอนและมีสุสานและแท่นเผาศพอยู่นอกหมู่บ้าน บ้านส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นโดยการขุดหลุมไม่ลึกมากนักรูปสี่เหลี่ยมมุมมน แล้วบดอัดพื้นหลุม ปูรองด้วยแผงไม้ขัดแตะ ฉาบทับแผงไม้ด้วยโคลน และอัดพื้นซ้ำ เป็นลักษณะห้องลดระดับใต้ดินทรงกลมหรือสี่เหลี่ยมจัตุรัส ในยุคแรกบ้านส่วนใหญ่เป็นห้องเดี่ยวทรงกลมและต่อมาสร้างเป็นห้องสี่เหลี่ยม ผนังบ้านสร้างจากการปักเสาไม้สั้น ๆ เป็นโครงไม้สำหรับรองรับหลังคาและสำหรับขัดแตะเป็นผนังไว้รอบ ๆ ขอบบนของหลุม สานแผงไม้ขัดแตะจากล่างขึ้นบน ฉาบด้วยโคลนที่มีฟางเป็นส่วนผสม ด้านนอกของผนังมักถูกคลุมด้วยฟางหญ้าและเผาฟางนั้นเพื่อเพิ่มความแข็งแรงแน่นหนาของผนังและกันน้ำ จากนั้นวางโครงไม้เป็นรูปทรงกรวยมุงหลังคา อาจต้องเพิ่มเสาในบางส่วนเพื่อรองรับหลังคาที่มุงด้วยฟางและทางข้าวฟ่าง

ภายในมีเครื่องเรือนไม่มาก ได้แก่ หลุมเตาตื้นตรงกลางและที่นั่งข้างเตา ม้านั่งวางริมผนัง เตียงทำด้วยผ้า อาหารและเครื่องใช้ถูกวางหรือแขวนไว้กับผนัง และสร้างคอกสัตว์แยกต่างหากนอกตัวบ้าน

อย่างไรก็ตามการตั้งถิ่นฐานของวัฒนธรรมหย่างเฉาในตอนกลางเช่น เจียงไจ้ (Jiangzhai) มีอาคารที่ยกพื้นสูงซึ่งอาจใช้สำหรับเก็บธัญพืชที่เหลือใช้ นอกจากนี้ยังพบหินบดสำหรับทำแป้ง [7][9]

งานฝีมือ แก้

 
ชามตกแต่งรูปมนุษย์เงือก อายุ 5,000 - 4,000 ปีก่อนคริสตกาล หมู่บ้านปั้นพัว (Banpo) มณฑลส่านซี

วัฒนธรรมหย่างเฉาประดิษฐ์ เครื่องปั้นดินเผา สีขาวแดงและดำที่มีลวดลายใบหน้าของมนุษย์ สัตว์ และรูปทรงเรขาคณิต ซึ่งไม่เหมือนกับ วัฒนธรรมหลงซานที่อยู่ในยุคหลัง วัฒนธรรมหย่างเฉาไม่ได้ใช้แป้นหมุนในการทำเครื่องปั้นดินเผาช่วงระยะต้นและกลางของวัฒนธรรม การขุดสำรวจพบว่าพื้นที่บางแห่งใช้ไหดินเผาที่ทาสีเหล่านี้ในการฝังร่างเด็ก

วัฒนธรรมหยางเชาผลิต ผ้าไหม ในระดับเล็กและทอ ป่าน ผู้ชายสวม เสื้อผ้าเนื้อซี่โครง และมัดผมเป็นปมด้านบน ผู้หญิงเอาผ้ายาว ๆ มาพันรอบตัวแล้วมัดผมมวย

รอยบากบนเครื่องปั้นดินเผาจากทั้ง ปั้นพัว และ เจียงไจ้ อาจเป็นร่องรอยที่สำคัญซึ่งมีนักวิจัยโบราณคดีจำนวนไม่มากที่ตีความว่าอาจเป็นรูปแบบแรกเริ่มของ อักษรจีน [10] แต่การตีความดังกล่าวยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

 
เครื่องปั้นดินเผารูปปั้นหน้านกฮูกวัฒนธรรมหย่างเฉา ช่วงระยะเหมียวตี่โกว (Miaodigou)
 
สัญลักษณ์ที่พบบนเครื่องปั้นดินเผาต่าง ๆ จากแหล่งโบราณคดี ปั้นพัว และ เจียงไจ้ ยังไม่มีการตีความที่ชัดเจน ซึ่งรวบรวมขึ้นโดย นักอักขรวิทยา Yu Shengwu (ปี 2439 - 2527) นักวิชาการบางคนตีความตามความเป็นไปได้ของอักขระ เช่น ตัวเลข (เจ็ด, สิบ, ยี่สิบ), วัตถุ (หอก) หรือคำกริยา (แสดง)

โครงสร้างสังคม แก้

แม้ว่างานวิจัยในช่วงต้นจะเสนอว่าวัฒนธรรมหย่างเฉามีการปกครองฉันแม่กับลูก[11] (มาตาธิปไดย - การปกครองที่ผู้หญิงเป็นใหญ่) ซึ่งงานวิจัยฉบับอื่นต่อมา ให้เหตุผลว่าโครงสร้างสังคมของวัฒนธรรมหย่างเฉาน่าจะอยู่ในช่วงการเปลี่ยนจากการปกครองแบบมาตาธิปไดยเป็นปิตาธิปไตย และแม้กระทั่งในงานวิจัยบางฉบับยังเชื่อว่ามีโครงสร้างเป็นปิตาธิปไตยแต่แรก ข้อโต้แย้งเหล่านี้เกิดจากการตีความในเรื่องระเบียบวิธีการฝังศพที่แตกต่างกัน[12][13]

การค้นพบปฏิมากรรมรูปมังกรในวัฒนธรรมหย่างเฉาที่เมืองผู่หยาง (濮阳市) มณฑลเหอหนาน มีลักษณะเป็นหินทรายรูปนูนต่ำประดับด้วยการฝังเปลือกหอย สามารถระบุอายุย้อนหลังไปถึง 5,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช[14] ทำให้เป็นรูปสลักมังกรที่เก่าแก่ที่สุดในโลก[15] และ ชาวจีนฮั่น ยังคงบูชา มังกร มาจนถึงทุกวันนี้

 
การบูรณะสถานที่ฝังศพ Bianjiagou ใน เหลียวหนิง วัฒนธรรมหย่างเฉา - พิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุตะวันออกไกลสตอกโฮล์ม

โบราณวัตถุ แก้

ดูเพิ่ม แก้


อ้างอิง แก้

  1. "Yangshao Culture Museum". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-13. สืบค้นเมื่อ 2020-08-25.
  2. https://www.ostasiatiskamuseet.se/
  3. ISBN 9789868538627
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-14. สืบค้นเมื่อ 2020-08-25.
  5. https://web.archive.org/web/20111218045034/http://db1x.sinica.edu.tw/caat/caat_rptcaatc.php?_op=%3FSUBJECT_ID%3A300173481
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 Liu & Chen (2012).
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 Chang (1986).
  8. ISBN 9789868538627
  9. ISBN 978-0-300-03782-1
  10. Woon, Wee Lee (1987). Chinese Writing: Its Origin and Evolution. Joint Publishing, Hong Kong.
  11. ISBN 978-0-275-96631-7
  12. ISBN 978-0-7591-0137-1
  13. ISBN 978-0-7591-0409-9
  14. "Dragon-shaped pattern discovered within a clam shell". People's Daily Online. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-29. สืบค้นเมื่อ August 27, 2020.
  15. Howard Giskin and Bettye S. Walsh (2001). An introduction to Chinese culture through the family. State University of New York Press. p. 126. ISBN 0-7914-5047-3.