ลำพู

สปีชีส์ของพืช
ลำพู
ดอกของลำพู
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Myrtales
วงศ์: Lythraceae
สกุล: Sonneratia
สปีชีส์: S.  caseolaris
ชื่อทวินาม
Sonneratia caseolaris
(L.)
ชื่อพ้อง
  • Sonneratia acida L.

ลำพู เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ลำต้นสูง 10-25 เมตร ในวงศ์ Sonneratiaceae พบทั่วไปตามดินเลนริมแม่น้ำหรือคลอง ที่มีระดับน้ำขึ้นน้ำลงท่วมถึง ขึ้นได้ทั้งในน้ำจืดหรือน้ำกร่อย

ลำพูมีลักษณะเรือนยอดเป็นทรงพุ่ม ลำต้นเป็นแบบ Pettis's model[1] มีการเจริญติดต่อกันไป ลำต้นค่อนข้างกลมมีกิ่งเกิดในแนวตั้ง เจริญทางด้านข้างมากกว่าทางยอด [1] เมื่อลำต้นแตกหักจะสร้างกิ่งใหม่ขึ้นได้เนื่องจากมีตาสำรองอยู่เป็นจำนวนมาก ลักษณะใบเป็นใบเดี่ยวขนาดเล็ก สีเขียว ขอบใบเรียบ [2] แตกใบตรงกันข้ามกันเป็นคู่ มีก้านใบสีชมพูมองเห็นแต่ไกล ดอกเป็นดอกเดี่ยวออกบริเวณปลายยอด ลักษณะผลแก่มีเปลือกหนาสีเขียวอมเหลือง เนื้ออ่อนนุ่ม ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก ประมาณ 1000 ถึง 2500 เมล็ด [1] ผลลำพูแก่มีกลิ่นแรง จะร่วงหล่นระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน เป็นพืชที่รับประทานได้ ดอกนำไปแกงส้ม หรือใช้เป็นผักสด รับประทานกับขนมจีน[3]

ลำพูไม่มีรากแก้ว จะเกิดรากแผ่กระจายไปด้านข้างขนานกับผิวดินตื้น ๆ และมีรากเล็ก ๆ แตกแขนงทางด้านล่างทำหน้าที่ยึดเกาะ และมีรากฝอยอีกชั้นทำหน้าที่ดูดซึมน้ำและสารอาหาร ลำพูยังมีรากพิเศษช่วยในการหายใจ ลักษณะรูปกรวยแหลมยาวแทงโผล่พื้นดินรอบโคนต้น มีความยาวประมาณ 10–50 เซนติเมตร ใหญ่และยาวกว่าไม้ชนิดอื่น รากหายใจ (pneumatophore) ของลำพูนี้เจริญได้รวดเร็วและทนทานน้ำท่วมได้เป็นเวลานาน [1]

ลำพูต้นสุดท้ายของย่านบางลำพูที่สวนสันติชัยปราการ ปัจจุบันไม่เหลืออีกแล้ว

ลำพูเป็นไม้ที่หิ่งห้อยชอบมาเกาะ ทำให้เกิดความสวยงามโดยเฉพาะในยามค่ำคืน ในอดีต ในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยเฉพาะในเขตพระนครมีต้นลำพูอยู่มาก เป็นที่มาของชื่อ "บางลำพู" ซึ่งเป็นชื่อย่านแห่งหนึ่งในเขต แต่ต่อมาต้นลำพูได้ถูกตัดทิ้งลงเป็นจำนวนมาก จนเหลือต้นสุดท้ายเพียงต้นเดียวในสวนสันติชัยปราการซึ่งเป็นสวนสาธารณะติดแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ในช่วงเหตุการณ์มหาอุทกภัย พ.ศ. 2554 ลำพูต้นนี้ได้ตายลง และกรุงเทพมหานครก็ได้ตัดจนเหลือแต่ตอ[4]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งคู่มือการเพาะชำ กล้าไม้ป่าชายเลน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2552. 122 หน้า. ISBN 978-974-286-693-8
  2. "Cork tree". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-17. สืบค้นเมื่อ 2011-06-10.
  3. อรทัย เนียมสุวรรณ นฤมล เล้งนนท์ กรกนก ยิ่งเจริญ พัชรินทร์ สิงห์ดำ. 2555. พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของพืชกินได้จากป่าชายเลนและป่าชายหาดบริเวณเขาสทิงพระ จังหวัดสงขลา[ลิงก์เสีย]. วารสารวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 40 (3): 981 - 991
  4. [https://web.archive.org/web/20120728112404/http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9550000087287 เก็บถาวร 2012-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน บางลำพู...ในวันที่ไม่มีต้นลำพู จากผู้จัดการออนไลน์]

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Sonneratia caseolaris ที่วิกิสปีชีส์