ลัทธิกัลโบ (อังกฤษ: Calvo Doctrine) คือลัทธินโยบายการต่างประเทศที่มองว่าอำนาจตัดสินข้อพิพาทในประเด็นการลงทุนระหว่างประเทศควรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของประเทศที่ได้ไปลงทุน ดังนั้นลัทธิกัลโบจึงได้เสนอให้ห้ามการปกป้องทางการทูตหรือการแทรกแซง (ด้วยกำลังอาวุธ) ก่อนที่การแก้ไขในระดับท้องถิ่นจะถูกใช้หมดทุกหนทางแล้ว ซึ่งตามแนวทางนี้นักลงทุนจะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากใช้ระบบศาลในท้องถิ่นเท่านั้น จึงถือได้ว่าลัทธินี้เป็นการแสดงออกถึงแนวคิดชาตินิยมในทางกฎหมาย ทั้งนี้หลักการของลัทธิกัลโบซึ่งถูกตั้งชื่อตามนักกฎหมายชาวอาร์เจนตินา การ์โลส กัลโบ ได้ถูกประยุกต์ใช้ทั่วทั้งภูมิภาคละตินอเมริกาและส่วนอื่น ๆ ของโลกด้วย

ลัทธินี้ถือกำเนิดขึ้นจากแนวคิดของกัลโบที่ได้แสดงไว้ใน กฎหมายระหว่างประเทศเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติในยุโรปและอเมริกา (สเปน: Derecho internacional teórico y práctico de Europa y América) ของเขาที่ปารีส ค.ศ. 1868 (ภายหลังได้ตีพิมพ์ออกมาอีกหลายครั้งและถูกตีพิมพ์ในภาษาฝรั่งเศส) โดยกัลโบได้แสดงให้เห็นว่าลัทธิของเขามีความจำเป็นต่อการป้องกันไม่ให้ประเทศที่มีอำนาจมากกว่าล่วงละเมิดอำนาจศาลของประเทศที่อ่อนแอกว่า ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมาหลักการดังกล่าวได้ถูกนำไปบรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งในรัฐธรรมนูญของประเทศละตินอเมริกาหลายแห่ง เช่นเดียวกับในสนธิสัญญา บทบัญญัติ และสัญญาอื่น ๆ อีกหลายฉบับ นอกจากนี้หลักการของลัทธิกัลโบยังถูกนำไปใช้ในสัญญาสัมปทานเสียเป็นส่วนมาก โดยจะมีวรรคหนึ่งวรรคที่ให้ศาลท้องถิ่นมีอำนาจตัดสินเด็ดขาดและลบล้างคำอุทธรณ์ใดก็ตามที่ทำเกิดการแทรกแซงทางการทูต

อนึ่ง หลักการในลัทธิกัลโบยังถูกนำไปประยุกต์ใช้เฉพาะเจาะจงในลัทธิดราโกด้วยเช่นกัน

อ้างอิง แก้