ราชวงศ์การอแล็งเฌียง

ราชวงศ์กาโรแล็งเฌียง (หรือ ฌีแย็ง) (ฝรั่งเศส: Carolingiens /ka.ʁɔ.lɛ̃,ʒjɛ̃/) เป็นราชวงศ์ที่ปกครองราชอาณาจักรแฟรงก์ในยุโรปหลังการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน เป็นอาณาจักรที่นับถิอศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก สืบทอดอำนาจมาจากราชวงศ์เมโรแว็งเฌียง

ราชวงศ์เมโรแว็งเฌียงเป็นราชวงศ์ที่ปกครองอาณาจักรแฟรงก์ ก่อตั้งโดยพระเจ้าคลอวิสที่ 1 เมื่อพระองค์ขึ้นปกครองแคว้นกอทหรืออาณาจักรแฟรงก์ พระองค์หันไปนับถือศาสนาคริสต์และนำศาสนาคริสต์เข้ามาเผยแพร่ในอาณาจักร อย่างไรก็ตาม เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลง อำนาจทั้งหมดตกไปอยู่ในมือของขุนนางตระกูลคาโรลินเจียน โดยเฉพาะชาร์ล มาร์แตลที่สามารถยกกองทัพไปต้านทานการรุกรานของชาวมุสลิมจากคาบสมุทรไอบีเรีย

ต่อมาใน พ.ศ. 1294 เปแปงร่างเตี้ยบุตรของชาร์ล มาร์เตลได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ ล้มล้างราชวงศ์เมโรแว็งเฌียง ตั้งราชวงศ์กาโรแล็งเฌียงขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ สันตะปาปาได้ให้การสนับสนุนราชวงศ์ใหม่นี้ด้วย กษัตริย์ราชวงศ์นี้ได้ให้การอุปถัมภ์ศาสนาคริสต์และสนับสนุนอำนาจของสันตะปาปาจนทำให้สันตะปาปามีอำนาจทางโลกมากขึ้น จนในที่สุดสันตะปาปาลีโอที่ 3 ได้สถาปนาพระเจ้าชาร์เลอมาญพระราชโอรสของพระเจ้าเปแปงขึ้นเป็นจักรพรรดิของชาวโรมันในวันคริสต์มาส พ.ศ. 1343

จักรวรรดิแฟรงก์ในยุคของราชวงศ์กาโรแล็งเฌียงเริ่มเสื่อมสลายเมื่อจักรพรรดิหลุยส์ผู้ศรัทธาแบ่งดินแดนให้โอรส 3 พระองค์ตามสนธิสัญญาแวร์เดิง พ.ศ. 1386 หลังจากนั้น เมื่อถูกพวกไวกิ้งรุกราน การรวมศูนย์อำนาจจึงล่มสลาย อำนาจตกไปอยู่ในมือของพวกขุนนาง จนเข้าสู่การปกครองระบอบฟิวดัลในที่สุด

ประวัติศาสตร์

แก้

ตระกูลขึ้นมามีอำนาจในฐานะสมุหราชมณเฑียรที่สืบทอดทางสายเลือดของราชอาณาจักรออสเตรเชียของชาวแฟรงก์ และเมื่อเปแป็งที่ 2 แห่งเฮริสตัลขึ้นเป็นสมุหราชมณเฑียรในปี ค.ศ. 679 ตระกูลก็ลดอำนาจของกษัตริย์เมโรวินเจียนที่ไม่มีความสำคัญให้เป็นแค่กษัตริย์แต่ในนาม

ในปี ค.ศ. 687 เปแป็งที่ 2 ได้อำนาจในการปกครองอาณาจักรแฟรงก์ทั้งหมดมาเมื่อสามารถปราบคู่แข่งชาวนูสเตรียน เอโบอิน ได้ และเมื่อเสียชีวิตในปี ค.ศ. 714 เปแป็งก็ทิ้งทายาทตามกฎหมายเอาไว้หนึ่งคน เป็นเด็กน้อยวัย 6 ปี กับบุตรชายนอกสมรสอีกหนึ่งคน คือ ชาร์ลส์ มาร์เตล

ในปี ค.ศ. 725 ชาร์ลส์ มาร์เตลตั้งตนเป็นผู้ปกครองของชาวแฟรงก์ แม้จะยังเก็บระบอบกษัตริย์ของชาวเมโรวินเจียนไว้จนถึงปี ค.ศ. 737 ที่ธูเดอริคที่ 4 สิ้นพระชนม์ ชาร์ลส์ตัดสินใจทิ้งบัลลังก์ไว้ให้ว่างอยู่อย่างนั้น

ชาร์ลส์ มาร์เตลเสียชีวิตในปี ค.ศ. 741 บุตรชายของเขา เปแป็งที่ 3 ผู้ตัวเตี้ยกับแกร์โลมง แบ่งอาณาจักรกัน หลังแกร์โลมงสละตำแหน่งในปี ค.ศ. 747 เปแป็งที่ 3 กลายเป็นผู้ปกครองแต่เพียงผู้เดียว ตำแหน่งของเขามั่นคงพอจนทำให้ในปี ค.ศ. 750 เปแป็งตัดสินใจปลดกษัตริย์เมโรวินเจียนคนสุดท้าย ชิลเดอริคที่ 3 ออกจากตำแหน่ง และด้วยการสนับสนุนของพระสันตะปาปาซาคาเรียส เปแป็งได้ทำให้ตนเองได้รับเลือกเป็นกษัตริย์โดยกลุ่มขุนนางชาวแฟรงก์และได้รับการเจิมจากบิชอปของศาสนจักรโรมัน

อาณาจักรถูกแบ่งอีกครั้งเมื่อเปแป็งสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 768 แต่การสิ้นพระชนม์ในสามปีต่อมาของพระโอรสคนเล็ก แกร์โลมง ทำให้อาณาเขตกลับมารวมกันเป็นหนึ่งเดียวในมือของพระโอรสคนโตของเปแป็ง ชาร์ลส์ ที่จะกลายเป็นที่รู้จักในชื่อ ชาร์เลอมาญ

ชาร์เลอมาญขยายอำนาจของชาวแฟรงก์ด้วยการพิชิตพื้นที่ทั้งหมดของกอล เข้าสู่เยอรมนีและอิตาลี และทำให้ชาวโบฮีเมียน ชาวอาวาร์ ชาวเซิร์บ ชาวโครแอต และกลุ่มชนอื่น ๆ ของยุโรปตะวันออกตกเป็นเมืองขึ้น พระองค์สร้างสัมพันธไมตรีกับพระสันตะปาปา และสร้างรัฐของพระสันตะปาปาขึ้นมาในอิตาลีตอนกลางในปี ค.ศ. 774 ในวันคริสตมาสของปี ค.ศ. 800 ต่อหน้าพระสันตะปาปาลีโอที่ 3 ชาร์เลอมาญได้รับการสวมมงกุฎจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันที่ถูกกอบกู้ขึ้นมาใหม่

จักรวรรดิของชาร์เลอมาญสามารถบงการยุโรปตะวันตกได้ แต่กลับตกเป็นเหยื่อของจารีตของชาวแฟรงก์โบราณในการแบ่งอาณาจักรให้กับพระโอรสทุกคนของกษัตริย์ผู้ล่วงลับ เมื่อพระโอรสคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่และผู้สืบทอดของชาร์เลอมาญ หลุยส์ผู้ศรัทธา สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 840 พระโอรสสามคนของพระองค์ช่วงชิงการสืบทอดกัน ในสนธิสัญญาแวร์เดิงในปี ค.ศ. 843 ทั้งสามตกลงแบ่งจักรวรรดิออกเป็นสามราชอาณาจักร ฟรานเชียอ็อกชิเดนตาลิสตะวันตกตกเป็นของชาร์ลส์ที่ 2 ผู้ศีรษะล้าน ฟรานเชียอ็อกชิเดนตาลิสตะวันออกตกเป็นของหลุยส์ชาวเยอรมัน และฟรานเชียเมเดียที่รวมถึงมณฑลในอิตาลีและโรมตกเป็นของโลธาร์ที่ได้สืบทอดตำแหน่งจักรพรรดิด้วย

การแบ่งส่วนในภายหลังของราชอาณาจักรทั้งสาม บวกกับการขึ้นมาของกลุ่มอำนาจใหม่ ชาวนอร์มันและชาวแซ็กซัน บั่นทอนอำนาจของชาวการอแล็งเฌียง ตำแหน่งจักรพรรดิถูกส่งต่อจากโลธาร์สู่พระโอรส หลุยส์ที่ 2 ในปี ค.ศ. 855 จากหลุยส์ที่ 2 สู่พระปิตุลา ชาร์ลส์ผู้ศีรษะล้านในปี ค.ศ. 875 และหลังช่วงผลัดเปลี่ยนแผ่นดินหลังการสิ้นพระชนม์ของชาร์ลส์ในปี ค.ศ. 877 สู่ชาร์ลส์ที่ 3 ผู้ตัวอ้วน พระโอรสคนเล็กของหลุยส์ชาวเยอรมันในปี ค.ศ. 881

เมื่อชาร์ลส์ที่ 3 ถูกปลดออกจากตำแหน่งในปี ค.ศ. 887 อำนาจของชาวการอแล็งเฌียงไม่สามารถแก้ปัญหาในจักรวรรดิได้ แม้ว่ากษัตริย์การอแล็งเฌียงจะกลับมามีอำนาจในฝรั่งเศสอีกครั้งในช่วงปี ค.ศ. 893/898 – 923 และ ค.ศ. 936 – 987

สายตระกูล

แก้

ราชวงศ์การอแล็งเฌียงมี 5 สายที่แตกต่างกัน คือ

  1. สายลอมบาร์ด หรือสายแวร์ม็องดัวส์ หรือชาวแฮร์แบร์เตียง สืบเชื้อสายมาจากเปแป็งแห่งอิตาลี พระโอรสของชาร์เลอมาญ แม้จะสิ้นพระชนม์ก่อนพระบิดา แต่บุตรชายของพระองค์ บาร์นาร์ด ก็ได้รับอิตาลีไป บาร์นาร์ดก่อกบฏต่ออาของตน หลุยส์ผู้ศรัทธา และสูญเสียทั้งอาณาจักรและชีวิต ถูกริบตำแหน่งทางราชวงศ์ทั้งหมด สมาชิกของสายนี้ลงหลักปักฐานในฝรั่งเศสและกลายเป็นเคานต์แห่งแวร์ม็องดัวส์ วาลัวส์ อาเมียงส์ และทรัวส์ เคานต์แห่งแวร์ม็องดัวส์สืบทอดสายเลือดการอแล็งเฌียงไปจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 12 เคานต์แห่งชินีและลอร์ดแห่งเมลลิเยร์ ลอร์ดแห่งนูฟชาโต และลอร์ดแห่งฟัลเคินสไตน์ คือสายตระกูลของชาวแฮร์แบร์เตียง ลูกหลานของเคานต์แห่งชินีทำให้ชาวการอแล็งเฌียงสายแอร์แบร์เตียงมีไปจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14
  2. สายโลธาริงเกียน สืบเชื้อสายมาจากจักรพรรดิโลแธร์ พระโอรสคนโตของหลุยส์ผู้ศรัทธา ตอนที่พระองค์สิ้นพระชนม์ ฟรานเชียเมเดียถูกแบ่งออกเท่า ๆ กัน ให้กับพระโอรสสามคน เป็นอิตาลี โลธาริงเกีย และเบอร์กันดีล่าง พระโอรสของจักรพรรดิโลแธร์ไม่มีบุตรชายเป็นของตนเอง ฟรานเชียกลางจึงถูกแบ่งให้กับสายทางฝั่งตะวันตกและตะวันออกของตระกูลในปี ค.ศ. 875
  3. สายอากีตาเนียน สืบเชื้อสายมาจากเปแป็งแห่งอากีแตน พระโอรสของหลุยส์ผู้ศรัทธา เนื่องจากสิ้นพระชนม์ก่อนพระบิดา บุตรชายของพระองค์จึงถูกริบอากีแตนไปให้พระอนุชาของพระองค์ ชาร์ลส์ผู้ศีรษะล้าน บุตรชายของเปแป็งเสียชีวิตโดยไร้บุตร สิ้นสุดสายตระกูลในปี ค.ศ. 864
  4. สายเยอรมัน สืบเชื้อสายมาจากหลุยส์ชาวเยอรมัน กษัตริย์แห่งฟรานเชียอ็อกชิเดนตาลิสตะวันออก พระโอรสของพระเจ้าหลุยส์ผู้ศรัทธา ดินแดนของพระองค์ถูกแบ่งออกเป็นดัชชีบาวาเรีย ดัชชีแซ็กโซนี และดัชชีสวาเบีย พระโอรสคนเล็กของพระองค์ ชาร์ลส์ผู้ตัวอ้วน รวมฟรานเชียตะวันออกและตะวันตก ซึ่งก็คือจักรวรรดิการอแล็งเฌียงทั้งหมด กลับมาเป็นหนึ่งเดียวกันได้ในช่วงสั้น ๆ แต่ก็ถูกแยกออกจากกันอีกครั้งหลังพระองค์สิ้นพระชนม์ และไม่ได้กลับมาเป็นหนึ่งเดียวกันอีก ความล้มเหลวของเชื้อสายตามกฎหมายของสายเยอรมันทำให้อาร์นูล์ฟแห่งคารินเธีย พระนัดดาชาย (ลูกของพี่น้อง) นอกสมรสของชาร์ลส์ผู้ตัวอ้วน ขึ้นมาเป็นกษัตริย์แห่งฟรานเชียตะวันออก เมื่อพระโอรสของอาร์นูล์ฟ หลุยส์ผู้ยังเด็ก สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 911 การปกครองของชาวการอแล็งเฌียงในฟรานเชียตะวันออกก็สิ้นสุดลง
  5. สายฝรั่งเศส สืบเชื้อสายมาจากชาร์ลส์ผู้ศีรษะล้าน กษัตริย์แห่งฟรานเชียอ็อกชิเดนตาลิสตะวันตก พระโอรสของหลุยส์ผู้ศรัทธา สาขาฝรั่งเศสปกครองในฟรานเชียตะวันตก แต่การปกครองของพวกเขาถูกขัดโดยชาร์ลส์ผู้ตัวอ้วนแห่งสายเยอรมัน ชาวโรแบร์เตียงสองคน กับชาวโบโซนิด การปกครองของชาวการอแล็งเฌียงสิ้นสุดลงเมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 5 แห่งฝรั่งเศสสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 987 ชาร์ลส์ ดยุคแห่งโลร์แรนล่าง ทายาทชาวการอแล็งเฌียง ถูกเขี่ยออกจากการสืบทอดต่อโดยอูก กาเปต์ บุตรชายของเขาตายโดยไร้บุตร สิ้นสุดสายตระกูลในปี ค.ศ. 1012

อ้างอิง

แก้
  • อนันต์ชัย เลาหะพันธุ. เรื่องน่ารู้ในยุโรปสมัยกลาง. กทม: ศักดิ์โสภาการพิมพ์. 2550

แหล่งข้อมูล

แก้

https://www.britannica.com/topic/Carolingian-dynasty