ระบบกะฟาละฮ์ (อาหรับ: نظام الكفالة, อักษรโรมัน: niẓām al-kafāla; แปลว่า "ระบบการอุปถัมภ์") เป็นระบบที่ใช้สำหรับกำกับดูแลแรงงานต่างด้าวที่ทำงานหลัก ๆ อยู่ในภาคการก่อสร้างและภาคครัวเรือนในรัฐสมาชิกสภาความร่วมมืออ่าวและในประเทศข้างเคียงอีกสองสามประเทศ ได้แก่ บาห์เรน คูเวต เลบานอน โอมาน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์[1][2] ระบบนี้บังคับให้แรงงานต่างด้าวทุกคน[3] ต้องมีคนในประเทศเป็นผู้อุปถัมภ์ โดยทั่วไปจะเป็นนายจ้าง ผู้อุปถัมภ์นี้มีภาระในการดูแลเรื่องวีซาและสถานะทางกฎหมายของลูกจ้าง ระบบนี้ถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนวิจารณ์ว่าทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการขูดรีดแรงงาน เนื่องจากนายจ้างจำนวนมากริบหนังสือเดินทางของลูกจ้างไว้และกระทำกับลูกจ้างในทางที่ไม่ถูกต้อง โดยแทบไม่ได้รับผลทางกฎหมายเลย[4]

ระบบกะฟาละฮ์ในกาตาร์ถูกนำไปเชื่อมโยงกับปัญหาการลิดรอนสิทธิแรงงานในการก่อสร้างสถานที่แข่งฟุตบอลโลก 2022 (ในภาพ: สนามกีฬาอัษษุมามะฮ์ หนึ่งในสนามสำหรับใช้แข่งฟุตบอลโลก ระหว่างการก่อสร้างในปี ค.ศ. 2013)

นักวิชาการเช่น Omar Hesham AlShehabi และ Shirleen Anushika Datt ได้บรรยายไว้ว่ารากฐานของระบบกะฟาละฮ์มีมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม เมื่อจักรวรรดิอังกฤษนำเอาแรงงานจากอนุทวีปอินเดียมายังตะวันออกกลาง[5][6]

กาตาร์ แก้

กาตาร์มีแรงงานต่างด้าวประมาณ 1.2 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากอินเดีย ปากีสถาน เนปาล และฟิลิปปินส์ แรงงานต่างด้าวคิดเป็นร้อยละ 94 ของแรงงานทั้งหมดในประเทศกาตาร์ กาตาร์มีสัดส่วนแรงงานต่างด้าว 5 คนต่อพลเมืองกาตาร์ 1 คน โดยแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานทักษะต่ำกับคนทำความสะอาด[7]

แรงงานส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในสภาพที่องค์การฮิวแมนไรตส์วอตช์ระบุว่าเข้าข่าย "แรงงานบังคับ"[8] Sharan Burrow เลขาธิการใหญ่สมาพันธ์สหภาพแรงงานระหว่างประเทศ (International Trade Union Confederation) ระบุว่า "ในปลายปี ค.ศ. 2010 เราได้ประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน ภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียโดดเด่นขึ้นมาราวกับไฟสีแดง ประเทศเหล่านี้อยู่ที่จุดต่ำสุดในประเด็นสิทธิแรงงาน โดยพื้นฐานแล้วประเทศเหล่านี้เป็นรัฐแห่งทาส (slave states)"[8] ระบบวีซาขาออก (exit visa system) ของกาตาร์ห้ามมิให้แรงงานเดินทางออกนอกประเทศหากไม่ได้รับการอนุญาตจากนายจ้าง[8] นอกจากนี้ ลูกจ้างยังต้องได้รับการอนุญาตจากนายจ้างในการเปลี่ยนงาน ออกจากประเทศ ได้รับใบขับขี่ เช่าบ้าน หรือเปิดบัญชีเช็ค องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สำรวจพบว่ามีแรงงานต่างด้าวในกาตาร์ลงนามในเอกสารว่าตนได้รับเงินเดือนแล้ว ทั้งที่ความจริงไม่ได้รับ เพื่อที่จะได้รับหนังสือเดินทางของตนคืน[9] และได้เรียกร้องให้กาตาร์ปฏิรูประบบการอุปถัมภ์จากนายจ้าง[9] ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2022 จันนี อินฟันตีโน ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ได้เดินทางเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของกาตาร์เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาแรงงาน การประชุมครั้งนี้ได้เปิดเผยให้เห็นว่ากฎหมายหมายเลข 18 จากกฎหมายปฏิรูปแรงงานปี ค.ศ. 2022 กำหนดให้ยกเลิกการขอใบยินยอมจากนายจ้างในการเปลี่ยนงาน พร้อมกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่เลือกปฏิบัติสำหรับแรงงานทุกคน[10]

ฟุตบอลโลก 2022 แก้

นับตั้งแต่การประกาศให้กาตาร์เป็นประเทศผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 สื่อได้หันมาให้ความสนใจต่อระบบกะฟาละฮ์ในกาตาร์มากขึ้น[11][12] โดยผลการศึกษาของหนังสือพิมพ์ เดอะการ์เดียน ในปี ค.ศ. 2013 อ้างว่าแรงงานจำนวนมากถูกปฏิเสธน้ำและอาหาร ถูกริบเอกสารระบุตัวตน ถูกบังคับใช้แรงงาน และไม่ได้รับค่าจ้างตรงเวลาหรือไม่ได้รับเลย ทำให้แรงงานบางคนกลายเป็น "ทาส" ไปโดยปริยาย[13] เดอะการ์เดียน ประมาณไว้ว่าหากยังไม่มีการปฏิรูประบบกะฟาละฮ์[13] เมื่อถึงเวลาจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก แรงงานจำนวนมากถึง 4,000 คน[14] จากแรงงานต่างด้าวรวม 2 ล้านคน[15] อาจเสียชีวิตจากมาตรการความปลอดภัยที่หละหลวมและจากสาเหตุอื่น ๆ คำกล่าวอ้างนี้มีพื้นฐานมาจากรายงานการเสียชีวิตของแรงงานต่างด้าวจากเนปาลรวม 522 คน และจากอินเดียอีกกว่า 700 คน[16] สะสมมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 นอกจากนี้ นับตั้งแต่การประกาศว่ากาตาร์เป็นประเทศผู้จัดฟุตบอลโลก มีรายงานว่ามีแรงงานชาวอินเดียเสียชีวิต 250 คนต่อปี[17] อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินเดียระบุว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตนี้ "ค่อนข้างปกติ" เนื่องจากมีแรงงานชาวอินเดียในกาตาร์ถึงสองล้านคน[17]

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2016 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่าแรงงานต่างด้าวในกาตาร์ถูกบังคับให้อาศัยในสภาพที่ย่ำแย่ ถูกยึดค่าจ้างและหนังสือเดินทาง องค์การยังกล่าวโทษว่าฟีฟ่าล้มเหลวที่ไม่สามารถหยุดยั้งการก่อสร้างสนามแข่งขันฟุตบอลโลกจาก "การละเมิดสิทธิมนุษยชน" ได้[18] ในปี ค.ศ. 2015 แรงงานต่างด้าวจากเนปาลยังถูกปฏิเสธการเดินทางออกจากกาตาร์ไปเยี่ยมครอบครัวหลังเหตุแผ่นดินไหวเนปาลปี ค.ศ. 2015[19] ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2019 การศึกษาของหนังสือพิมพ์ เดลีมีร์เรอร์ พบว่าแรงงานราว 28,000 คนที่ทำงานก่อสร้างสนามแข่งขันฟุตบอลโลกได้รับค่าจ้างเพียง 750 ริยาลกาตาร์ (ราว 6,500 บาท) ต่อเดือน[20]

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แก้

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีระบบอุปถัมภ์วีซาทำงานเพื่อออกใบอนุญาตทำงานแก่บุคคลต่างชาติที่ประสงค์จะอพยพมาทำงานในประเทศ วีซาส่วนใหญ่ได้รับการอุปถัมภ์จากสถาบันและบริษัทต่าง ๆ บุคคลที่ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศเพื่อทำงานจะต้องมีใบอนุญาตทำงานซึ่งกระทรวงทรัพยากรมนุษย์เป็นผู้ออกให้และมีอายุสองเดือน ผู้อุปถัมภ์มีหน้าที่รับผิดชอบการตรวจทางการแพทย์และการจัดหาบัตรระบุตัวตน เอกสารที่จำเป็น และการจ่ายค่าอากรในการดำเนินเอกสารต่าง ๆ ให้แก่ลูกจ้าง จากนั้นลูกจ้างยังสามารถอุปถัมภ์ครอบครัวของตนและพามาที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เช่นกัน ข้อ 1 ของกฎกระทรวงหมายเลข 766 ซึ่งตราขึ้นในปี ค.ศ. 2015 ระบุไว้ว่าลูกจ้างที่สิ้นสุดสัญญาจ้างแล้วสามารถขอรับใบอนุญาตใหม่ได้ และยังคงอยู่ในประเทศได้ถึง 6 เดือนด้วยวีซาผู้หางาน[21][22]

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2014 ฮิวแมนไรตส์วอตช์ประมาณไว้ว่ามีแรงงานหญิงต่างด้าวราว 146,000 คนที่อยู่ภายใต้ระบบการอุปถัมภ์จากนายจ้างในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จากการสัมภาษณ์กับแรงงานหญิงในภาคครัวเรือน 99 คน ฮิวแมนไรตส์วอตช์ได้ระบุรายการการกระทำกับแรงงานในทางที่ไม่ถูกต้องตามที่ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวไว้ โดยพบว่าส่วนใหญ่ถูกนายจ้างริบหนังสือเดินทาง ถูกบังคับทำงานล่วงเวลา (มากถึง 21 ชั่วโมงต่อวัน) และอาหาร สภาพความเป็นอยู่ และการรักษาพยาบาลยังไม่เหมาะสมหรือเพียงพอ ในจำนวนนี้มี 24 คนที่ถูกทำร้ายร่างกายหรือคุกคามทางเพศ[23] ฮิวแมนไรตส์วอตช์ประณามรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ไม่สามารถปกป้องแรงงานต่างด้าวจากการขูดรีดและการใช้อำนาจในทางมิชอบได้ พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอแนะในการแก้ไขกฎหมายแรงงานต่อรัฐบาล[23]

อ้างอิง แก้

  1. "'As If I Am Not Human' — Abuses against Asian Domestic Workers in Saudi Arabia (pdf)" (PDF). Human Rights Watch. 8 กรกฎาคม 2008. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 23 มกราคม 2013. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2012.
  2. Khan, Azfar; Harroff-Tavel, Hélène (1 กันยายน 2011). "Reforming the Kafala: Challenges and Opportunities in Moving Forward". Asian and Pacific Migration Journal. 20 (3–4): 293–313. doi:10.1177/011719681102000303. S2CID 154570877.
  3. "Kafala System - Facts about Sponsorship System for UPSC". BYJU'S.
  4. Harmassi, Mohammed (6 พฤษภาคม 2009). "Bahrain to end 'slavery' system". BBC News.
  5. AlShehabi, Omar Hesham (2021). "Policing labour in empire: the modern origins of the Kafala sponsorship system in the Gulf Arab States". British Journal of Middle Eastern Studies. 48 (2).
  6. Datt, Shirleen Anushika (2018). "Born to Work: An In-Depth Inquiry on the Commodification of Indian Labour – A Historical Analysis of the Indian Indentureship and Current Discourses of Migrant Labour Under the Kafala System". ใน Sefa Dei, George J.; Hilowle, Shukri (บ.ก.). Cartographies of Race and Social Difference. pp. 49–50. doi:10.1007/978-3-319-97076-9. ISBN 978-3-319-97076-9.
  7. Morin, Richard (12 เมษายน 2013). "Indentured Servitude in the Persian Gulf". The New York Times (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2022.
  8. 8.0 8.1 8.2 Montague, James (1 พฤษภาคม 2013). "Desert heat: World Cup hosts Qatar face scrutiny over 'slavery' accusations". CNN. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 ธันวาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2013.
  9. 9.0 9.1 "Qatar: End corporate exploitation of migrant construction workers". Amnesty International. 17 พฤศจิกายน 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2013. สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2022.
  10. "FIFA President and Qatar Minister of Labour meet to discuss progress of labour rights". www.fifa.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2022.
  11. McTague, Tom (19 พฤศจิกายน 2022). "The Qatar World Cup Exposes Soccer's Shame". The Atlantic. Washington, D.C.: Emerson Collective. ISSN 2151-9463. OCLC 936540106. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2022. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2022.
  12. Boehm, Eric (21 พฤศจิกายน 2022). "The Qatar World Cup Is a Celebration of Authoritarianism". Reason. Reason Foundation. OCLC 818916200. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2022. สืบค้นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2022.
  13. 13.0 13.1 Gibson, Owen (18 กุมภาพันธ์ 2014). "More than 500 Indian Workers Have Died in Qatar Since 2012, Figures Show". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 มีนาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2021.
  14. Booth, Robert. "Qatar World Cup construction 'will leave 4,000 migrant workers dead'". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 พฤษภาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2013.
  15. Pete Pattisson (1 กันยายน 2020). "New Labour Law Ends Qatar's Exploitative Kafala System". The Guardian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 กรกฎาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2021.
  16. "Fifa 2022 World Cup: Is Qatar doing enough to save migrant workers' lives?". ITV News. 8 มิถุนายน 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 มีนาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2019.
  17. 17.0 17.1 Stephenson, Wesley (6 มิถุนายน 2015). "Have 1,200 World Cup workers really died in Qatar?". BBC. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 มิถุนายน 2019. สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2018.
  18. "Qatar World Cup of Shame". Amnesty International. 31 มีนาคม 2016.
  19. "Qatar 2022: 'Forced labour' at World Cup stadium". BBC News. 31 มีนาคม 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2020. สืบค้นเมื่อ 3 เมษายน 2016.
  20. Armstrong, Jeremy (20 พฤษภาคม 2019). "Qatar World Cup stadium migrant workers being paid as little as 82p-an-hour". The Mirror. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 พฤษภาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2019.
  21. "Getting a work and residency permit". UAE Government.
  22. "UAE Amnesty 2018: 6-month visa for violators who seek jobs a golden opportunity". Gulf News. 30 กรกฎาคม 2018.
  23. 23.0 23.1 "'I Already Bought You' — Abuse and Exploitation of Female Migrant Domestic Workers in the United Arab Emirates (pdf)" (PDF). Human Rights Watch. 9 ตุลาคม 2014. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 10 ธันวาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2015.