ยุทธการที่กัรบะลาอ์

การรบระหว่างกองทัพยะซีดที่ 1 กับฮุซัยน์ อิบน์ อะลีในเดือนตุลาคม ค.ศ. 680

ยุทธการที่กัรบะลาอ์ (อาหรับ: مَعْرَكَة كَرْبَلَاء, อักษรโรมัน: maʿraka Karbalāʾ) เป็นการสู้รบระหว่างกองทัพของยะซีดที่ 1 เคาะลีฟะฮ์อุมัยยะฮ์องค์ที่ 2 กับกองทัพขนาดเล็กที่นำโดยฮุซัยน์ อิบน์ อะลี หลานชายของศาสดามุฮัมมัด ยุทธการนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 680 (10 มุฮัรร็อม ฮ.ศ. 61) สนามรบตั้งอยู่ที่เมืองกัรบะลาอ์ ซาวัด (ตอนใต้ของอิรักในปัจจุบัน)

ยุทธการที่กัรบะลาอ์
ส่วนหนึ่งของ ฟิตนะฮ์ครั้งที่สอง

ภาพวาด ยุทธการที่กัรบะลาอ์ โดยอับบาส อัลมูซาวี,
พิพิธภัณฑ์บรุกลิน
วันที่10 ตุลาคม ค.ศ. 680 (10 มุฮัรร็อม ฮ.ศ. 61)
สถานที่32°36′55″N 44°01′53″E / 32.61528°N 44.03139°E / 32.61528; 44.03139
ผล

รัฐเคาะลีฟะฮ์อุมัยยะฮ์ชนะ

คู่สงคราม
รัฐเคาะลีฟะฮ์อุมัยยะฮ์ ฮุซัยน์ อิบน์ อะลีและผู้ติดตาม
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
อุบัยด์ อัลลอฮ์ อิบน์ ซิยาด
อุมัร อิบน์ ซะอด์
ชิมร์ อิบน์ ซีล-เญาชัน
อัล-ฮูร์ อิบน์ ยะซีด อัล-ทามีมี (แปรพักตร์)
ฮุซัยน์ อิบน์ อะลี 
อัล-อับบาส อิบน์ อะลี 
ฮะบีบ อิบน์ มะซอฮิร 
สุฮัยร อิบน์ อัล-เกย์น 
กำลัง
4,000–5,000 คน[1][2][3][4][5][a] 70–145 คน
ความสูญเสีย
88 คน มากกว่า 72 คน
ยุทธการที่กัรบะลาอ์ตั้งอยู่ในประเทศอิรัก
ยุทธการที่กัรบะลาอ์
ที่ตั้งในประเทศอิรัก

มุอาวิยะฮ์ที่ 1 เคาะลีฟะฮ์อุมัยยะฮ์องค์แรก (ครองราชย์ ค.ศ. 661–680) เสนอยะซีด โอรสของตนเป็นผู้สืบทอดก่อนพระองค์จะสวรรคต การแต่งตั้งยะซีดได้รับการโต้แย้งจากบรรดาบุตรของเศาะฮาบะฮ์ (สหายของศาสดา) รวมถึงฮุซัยน์ บุตรของอะลี อิบน์ อะบี ฏอลิบ เคาะลีฟะฮ์รอชิดูนองค์ที่ 4 และอับดุลละฮ์ อิบน์ อัลสุบัยร บุตรของสุบัยร อิบน์ อัล-เอาวาม เมื่อมุอาวิยะฮ์สวรรคตในปี ค.ศ. 680 ยะซีดเรียกร้องความสวามิภักดิ์จากฮุซัยน์และผู้เห็นต่างคนอื่น ๆ แต่ฮุซัยน์ปฏิเสธและลี้ภัยจากนครอัลมะดีนะฮ์ไปยังนครมักกะฮ์[6] อีกด้านหนึ่งชาวเมืองกูฟะฮ์อันเป็นศูนย์กลางของฝ่ายอะลีและเกลียดชังอุมัยยะฮ์[7] ส่งคำเชิญให้ฮุซัยน์มาที่เมืองนี้เพื่อก่อการกบฏล้มล้างยะซีด ระหว่างที่ฮุซัยน์เดินทางไปที่กูฟะฮ์พร้อมผู้ติดตามราว 70 คน พวกเขาถูกขัดขวางโดยกองทัพอุมัยยะฮ์จำนวน 1,000 คน ฮุซัยน์จึงเดินทางขึ้นเหนือไปตั้งค่าย ณ ที่ราบกัรบะลาอ์ในวันที่ 2 ตุลาคม[1][5] หลังจากนั้นกองทัพอุมัยยะฮ์มาสมทบอีก 4,000 คน[8][a] การเจรจาระหว่างฮุซัยน์กับอุบัยด์ อัลลอฮ์ อิบน์ ซิยาด ข้าหลวงอุมัยยะฮ์ไม่เป็นผลเมื่อซิยาดไม่อนุญาตให้ฮุซัยน์เข้าเมืองกูฟะฮ์หรือกลับไปยังมะดีนะฮ์ ขณะที่ฮุซัยน์ปฏิเสธที่จะยอมรับอำนาจของยะซีด[10] การสู้รบจึงเกิดขึ้นในวันที่ 10 ตุลาคม ฮุซัยน์และผู้ติดตามเกือบทั้งหมดถูกสังหาร ส่วนสมาชิกในครอบครัวของเขาถูกจับเป็นเชลย[11] ยุทธการนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของฟิตนะฮ์ครั้งที่สอง ซึ่งเป็นสงครามกลางเมืองหลายฝ่ายเพื่อล้มล้างยะซีด

ยุทธการที่กัรบะลาอ์กระตุ้นพัฒนาการของฝ่ายอะลี (ชีอะตุอะลี) ให้กลายเป็นนิกายที่มีพิธีกรรมและความทรงจำร่วมเป็นของตนเอง เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ประเพณีและเทววิทยาของชีอะฮ์ และมักถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งในวรรณกรรมชีอะฮ์ ชีอะฮ์มองว่าความทุกข์ทรมานและความตายของฮุซัยน์เป็นการเสียสละเพื่อความถูกต้องและความยุติธรรม[12] มุสลิมชีอะฮ์ระลึกถึงยุทธการนี้ทุกปีเป็นเวลา 10 วันในเดือนมุฮัรร็อม โดยวันที่สำคัญที่สุดคือวันที่ 10 ของเดือนหรือวันอาชูรออ์ ซึ่งมุสลิมชีอะฮ์จะจัดงานเพื่อไว้ทุกข์ สวดเพลงไว้อาลัยหรือเพลงโศก จำลองเหตุการณ์ เลี้ยงอาหารแก่ผู้ร่วมงานและทำร้ายตนเอง[13] ขณะที่มุสลิมซุนนีถือเหตุการณ์นี้เป็นโศกนาฏกรรมเช่นกัน[14] ทั้งมุสลิมชีอะฮ์และซุนนีต่างถือว่าฮุซัยน์และผู้ติดตามเป็นผู้พลีชีพเพื่อศาสนา[15]

เชิงอรรถ

แก้

หมายเหตุ

แก้
  1. 1.0 1.1 แหล่งข้อมูลของชีอะฮ์ยืนยันว่ากองทัพอุมัยยะฮ์มีกำลังถึง 30,000 คน[9]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 Wellhausen 1901, p. 65.
  2. Vaglieri 1971, p. 609.
  3. Madelung 2004, pp. 493–498.
  4. Ayoub 1978, p. 109.
  5. 5.0 5.1 Halm 1997, p. 9.
  6. Wellhausen 1901, p. 61.
  7. Daftary 1990, p. 47.
  8. Wellhausen 1901, pp. 65–66.
  9. Munson 1988, p. 23.
  10. Donner 2010, p. 178.
  11. Kennedy 2004, p. 77.
  12. Veccia Vaglieri 1971, p. 614.
  13. As-Saadi, Abdul-Ilah. "Ashura: Why Muslims fast and mourn in Muharram". August 28, 2020. สืบค้นเมื่อ November 3, 2023.
  14. Hawting 2000, p. 50.
  15. Ayoub 1978, pp. 134–135.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้