มูลนิธินวราชดำริอนุรักษ์ฝ่ายเหนือ
มูลนิธินวราชดำริอนุรักษ์ฝ่ายเหนือ[1] เป็นมูลนิธิในประเทศไทย ที่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิ ลำดับที่ ชม 4 ก่อตั้งขึ้นวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2535 เกิดจากพระราชดำรัสใน พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทาน พลตรี เจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) กลุ่มเจ้านายฝ่ายเหนือ และทายาท ให้รวมกลุ่มกันรักษาความดีไว้ในฐานะทายาทผู้ครองนคร โดยมีพระราชดำริให้มีการอนุรักษ์ฟื้นฟูและเผยแพร่ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมโบราณของฝ่ายเหนือ
ประวัติ
แก้เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จเยือนเชียงใหม่เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2501 ทรงเล็งเห็นประวัติศาสตร์ที่ร้อยเรียงความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับล้านนา จึงได้มีพระราชกระแสรับสั่ง ให้ พลตรี เจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่) รวมกลุ่มเจ้านายฝ่ายเหนือและทายาททั้งหมดเข้าเฝ้าในเวลาพระกระยาหารกลางวัน ณ คุ้มวงศ์ตะวัน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และทรงรับสั่งว่า
ถึงแม้บ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรให้สามัคคีกัน ให้รวมกลุ่มกันรักษาความดีไว้ ในฐานะทายาทผู้ครองนคร
— พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ คุ้มวงษ์ตะวัน พ.ศ. 2501
ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำริให้มีการอนุรักษ์ฟื้นฟูและเผยแพร่ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมโบราณของฝ่ายเหนือ และเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้ง "มูลนิธินวราชดำริอนุรักษ์ฝ่ายเหนือ" ในเวลาต่อมา โดยได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2535 มีทุนเริ่มแรกเป็นเงินสด จำนวน 900,000 บาท และมีสำนักงานตั้งอยู่ที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ชั้น 4 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ ดังนี้
- เพื่อส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีพื้นเมืองโบราณของฝ่ายเหนือ
- เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถาน และโบราณวัตถุของฝ่ายเหนือ
- เพื่อส่งเสริมการศึกษา วิจัย และเผยแพร่ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมพื้นเมืองโบราณของฝ่ายเหนือ
คณะกรรมการมูลนิธิ
แก้ในตอนแรกนั้นทางมูลนิธิจะให้เจ้านายฝ่ายเหนือชั้นผู้ใหญ่ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ แต่ทางเจ้านายฝ่ายเหนือต้องการให้มูลนิธิอยู่ในความดูแลของข้าราชการ จึงได้ให้นายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในสมัยนั้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการดำเนินงาน และหลังจากนั้นมูลนิธิฯ ก็มีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในแต่ละสมัยดำรงตำแหน่งประธานสืบต่อกันมา รายนามคณะกรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธินวราชดำริอนุรักษ์ฝ่ายเหนือมีสองพระองค์เท่านั้นที่อยู่ในครอบครัวประธานเจ้านายฝ่ายเหนือและในราชกิจจานุเบกษาใช้คำนำหน้าชื่อว่า "เจ้า"
- เจ้าศรีรัตน์ ณ ลำปาง
- คุณหญิงเจ้าระวีพันธุ์ สุจริตกุล (ณ เชียงใหม่)
บุคคลนอกเหนือจากนี้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการดำเนินงานมูลนิธินวราชดำริอนุรักษ์ฝ่ายเหนือทั้งในอดีตและปัจจุบันจะไม่มีคำนำหน้าชื่อว่า "เจ้า" เพราะว่าไม่ใช่ครอบครัวของประธานเจ้านายฝ่ายเหนือ (สมาชิกครอบครัวทายาทบุตรหลานเหลนสืบต่อจากเจ้าผู้ครองนครพระองค์สุดท้ายของ จังหวัดลำปาง จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน)
ในปัจจุบันคณะกรรมการมูลนิธินวราชดำริอนุรักษ์ฝ่ายเหนือส่วนมากจะไม่ใช่บุตรหลานเหลนในเจ้าผู้ครองนครพระองค์สุดท้าย (ครอบครัวประธานเจ้านายฝ่ายเหนือ) และไม่ใช่สายตรงจากเจ้าผู้ครองนครพระองค์สุดท้าย (บุตรหลานเหลนในเจ้าผู้ครองนครพระองค์สุดท้ายกับชายาพระองค์แรกของ จังหวัดลำปาง จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน) ในส่วนของรองประธานมูลนิธิในปัจจุบันก็ไม่ใช่สายของประธานเจ้านายฝ่ายเหนือและไม่ใช่ผู้สืบสกุลลำดับแรกในสามราชตระกูล (ณ ลำปาง ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน) ของทั้งสามจังหวัดซึ่งครอบครัวของประธานเจ้านายฝ่ายเหนือในปัจจุบันคือ:
- ประธานเจ้านายฝ่ายเหนือของจังหวัดเชียงใหม่คือ ครอบครัวทายาทสืบไปในพลตรีเจ้าราชบุตร (เจ้าวงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่ ท.จ.ว.) เช่น คุณหญิงเจ้าพงศ์แก้ว ณ ลำพูน ท.จ. (ณ เชียงใหม่), คุณหญิงเจ้าระวีพันธุ์ สุจริตกุล (ณ เชียงใหม่), เจ้าศักดิ์ขจร ณ ลำพูน (ณ เชียงใหม่), พลตรีเจ้าราชบุตรวงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่พระองค์เป็นโอรสในชายา (ภริยาเอกองค์แรกที่มียศเป็น ”ชายา” หรือ “แม่เจ้า”) ของพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่พระองค์สุดท้าย
- ประธานเจ้านายฝ่ายเหนือของจังหวัดลำปางคือ ครอบครัวทายาทบุตรหลานเหลนสืบไปในพันเอกพระเพชรคีรีศรีราชสงคราม (เจ้าแก้วเมืองไท ณ ลำปาง ท.จ.) เช่น เจ้าญาณรังษี ณ ลำปาง, เจ้าศรีรัตน์ ณ ลำปาง (ไม่มีทายาท) พันเอกพระเพชรคีรีศรีราชสงคราม (เจ้าแก้วเมืองไท ณ ลำปาง ท.จ.) เป็นโอรสในพลตำรวจตรีเจ้าราชวงศ์ (แก้วปราบเมรุ ณ ลำปาง) ตามลำดับในเจ้าขันห้าของราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์พระองค์คือเจ้าผู้ครองนครลำปางพระองค์สุดท้าย และเป็นผู้ก่อตั้งกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 รวมถึงเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 พระองค์แรกในภาคเหนือ
- ประธานเจ้านายฝ่ายเหนือของจังหวัดลำพูนคือ ครอบครัวทายาทสืบไปในเจ้าพงศ์ธาดา ณ ลำพูน (โอรสองค์โตในเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนพระองค์สุดท้าย) กับหม่อมเจ้าจิตรจง ณ ลำพูน (จักรพันธุ์) เช่น พล.อ.ต.เจ้าวัฒนัน ณ ลำพูน, เจ้าวันทนีย์ ณ ลำพูน
ชุดแรก
แก้คณะกรรมการมูลนิธิฯ ชุดแรก[2][3] ประกอบด้วย
- ท่านผู้หญิง ฉัตรสุดา วงศ์ทองศรี องค์ประธานที่ปรึกษา
- นายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ ประธานกรรมการ
- คุณหญิง เจ้าระวีพันธุ์ สุจริตกุล รองประธานกรรมการ
- นายชวพงษ์ วัฒนสินธุ์ กรรมการ
- นายสิทธิพร เกียรติศิริโรจน์ กรรมการ
- นายธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ กรรมการ
- คุณ เจ้าดารารัตน์ ณ ลำพูน กรรมการ
- เจ้าศรีรัตน์ ณ ลำปาง กรรมการ
- นายสมพงษ์ ณ เชียงใหม่ กรรมการ
- คุณหญิง เจ้าวิจันทรา บุนนาค กรรมการ
- เจ้าวรจักร ณ เชียงตุง กรรมการ
- นางโสภา เมืองกระจ่าง กรรมการ
- นางแจ่มจิตต์ เลาหวัฒน์ กรรมการ
- นายชุมพร แสงมณี กรรมการ
- นางชวนชื่น ณ ลำปาง กรรมการและเหรัญญิก
- นายบัญญัติ อินทรธนู กรรมการและเลขานุการ
กิจกรรมของมูลนิธิ
แก้ดำเนินงานอนุรักษ์ฟื้นฟู ส่งเสริมการศึกษา วิจัย และเผยแพร่ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมโบราณของฝ่ายเหนือ รวมทั้ง สนับสนุนการซ่อมแซมโบราณสถานและโบราณวัตถุ เช่น
- จัดพิธีบายศรีทูลพระขวัญ ทูลเกล้าถวายการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนพระราชอาคันตุกะ ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2501 จนถึงปี พ.ศ. 2547[1]
- จัดพิธีสักการะกู่เจ้าหลวงเชียงใหม่ ณ วัดสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นประจำทุกปี[4]
- จัดทำเอกสารเผยแพร่พระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายเหนือ เช่น หนังสือ “เจ้าพ่อหลวง” ซึ่งรวบรวมภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่เสด็จเยือนนครเชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501–2544
- จัดทำโครงการป้ายโบราณสถานและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในนครเชียงใหม่ เพื่อแสดงความจงรักภักดีและน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมเป็นพระราชกุศล รวมถึงเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในนครเชียงใหม่ให้แก่ประชาชนและเยาวชน โดยได้สร้างป้ายโบราณสถานจำนวน 72 แห่ง ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา ในปี พ.ศ. 2542
- จัดทำหนังสือ “ขัตติยานีศรีล้านนา” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสที่ทรงมีพระชนมพรรษา ครบ 6 รอบ 72 พรรษา ในปี พ.ศ. 2547
- จัดนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชประวัติและการเสด็จเยือนเชียงใหม่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในโอกาสที่ครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปี พ.ศ. 2549 ณ หอศิลปวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่
- จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติเรื่องบายศรีทูลพระขวัญ และจัดทำหนังสือ “บายศรีทูลพระขวัญ” ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ในปี พ.ศ. 2550 ณ หอศิลปวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นนิทรรศการที่จัดแสดงถาวร
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 รณวัฒน์ จันทร์จารุวงศ์ (บ.ก.). "สัมพันธ์ล้านนา-สยามในนาม "มูลนิธินวราชดำริอนุรักษ์ฝ่ายเหนือ".
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง "มูลนิธินวราชดำริอนุรักษ์ฝ่ายเหนือ". เล่ม 109 ตอนที่ 141 หน้า 12440. วันที่ 3 พฤศจิกายน 2535.
- ↑ ราตรี จักร์แก้ว, บ.ก. (21 มกราคม 2011). "ข่าวรอบเมืองเหนือ". ส.ปชส.เชียงใหม่ สำนักประชาสัมพันธ์เขต. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กรกฎาคม 2013.
- ↑ "ชม.จัดยิ่งใหญ่ สักการะกู่เจ้าหลวง ผู้ว่าฯนำ ริ้วขบวน อลังการ". เชียงใหม่นิวส์. 18 เมษายน 2017.