อาสนวิหารแม็ส

(เปลี่ยนทางจาก มหาวิหารแม็ส)

อาสนวิหารแม็ส (ฝรั่งเศส: Cathédrale de Metz) หรือมีชื่อเต็มว่า อาสนวิหารนักบุญสเทเฟนแห่งแม็ส (Cathédrale Saint Étienne de Metz) เป็นอาสนวิหารโรมันคาทอลิกและที่ตั้งของมุขนายกประจำมุขมณฑลแม็ส[1] ตั้งอยู่ที่เมืองแม็ส จังหวัดมอแซล แคว้นกร็องแต็สต์[2] ประเทศฝรั่งเศส สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่นักบุญสำคัญคือนักบุญสเทเฟน[3]

อาสนวิหารนักบุญสเทเฟนแห่งแม็ส
อาสนวิหาร
แผนที่
49°4′16.32″N 6°6′11.52″E / 49.0712000°N 6.1032000°E / 49.0712000; 6.1032000
ที่ตั้งแม็ส มอแซล
ประเทศ ประเทศฝรั่งเศส
นิกายโรมันคาทอลิก
สถานะอาสนวิหาร
ประเภทสถาปัตย์กางเขน
รูปแบบสถาปัตย์กอทิก
ฟื้นฟูกอทิก
แล้วเสร็จค.ศ. 1550
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ (ค.ศ. 1930)

ห้องเก็บสมบัติของอาสนวิหารได้สะสมของมีค่ามานานนับพันปี โดยเป็นของสะสมของมุขมณฑลแม็สที่รวมถึงผ้าคลุมแท่นบูชาและสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ใช้ในพิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์[2][4][5]

อาสนวิหารแม็สถือเป็นหนึ่งในอาสนวิหารที่มีโถงทางเดินโบสถ์ที่สูงที่สุดแห่งหนี่งของโลก และยังมีชื่อเล่นว่า "โคมไฟแห่งพระผู้เป็นเจ้า" (La Lanterne du Bon Dieu) อันเนื่องมาจากมีโครงสร้างหน้าต่างที่เป็นงานกระจกสีมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก[6] คิดเป็นพื้นที่ถึง 6,496 ตารางเมตร ซึ่งงานกระจกสีเหล่านั้นล้วนเป็นงานสร้างสรรค์ของศิลปินงานกระจกสีต่าง ๆ ทั้งในยุคกอทิกและสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา อาทิ แฮร์มันน์ ฟ็อน มึนส์เทอร์, เตออบาลแห่งลิกไซม์ และวาล็องแต็ง บุช, ศิลปินแห่งยุคจินตนิยม ได้แก่ ชาร์ล-โลร็อง มาเรชาล, ศิลปินนามธรรม ได้แก่ รอเฌ บีเซียร์, ศิลปินบาศกนิยม ได้แก่ ฌัก วียง และรวมถึงศิลปินนวยุคนิยม ได้แก่ มาร์ก ชากาล[6]

อาสนวิหารแม็สได้ขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เมื่อปี ค.ศ. 1930[7]

สถาปัตยกรรม แก้

อาสนวิหารถูกสร้างขึ้นด้วยหินปูนสีเหลืองนวลที่พบได้ทั่วไปแถบภูมิภาคนั้น เรียกหินปูนประเภทนี้ว่า "หินปูนโฌมง" โดยสร้างเป็นแบบกอทิกแรยอน็อง ซึ่งยังคงแบบการก่อสร้างเหมือนวิหารแบบกอทิกทั่วไป โดยมีแขนกางเขนที่ขนาดเล็กกว่า และมีชาเปลขนาดเล็กตั้งอยู่รายรอบภายในทางเดินด้านข้าง แต่ยังมีสิ่งที่แตกต่างเด่นชัดเกิดขึ้นที่ไม่เหมือนการสร้างอาสนวิหารเหมือนแห่งอื่น ๆ นั่นคือ ทิศในการสร้างวิหารได้เปลี่ยนเป็นหันหน้าทางทิศเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ แทนการหันหน้าทางทิศตะวันตกและตะวันออกเหมือนทั่ว ๆ ไป อันเนื่องมากจากสภาพทางภูมิศาสตร์ของหุบเขามอแซล อีกสิ่งหนึ่งที่แตกต่าง คือ ประตูทางเข้าหลักของอาสนวิหาร ซึ่งโดยปกติแล้วอาสนวิหารแบบกอทิกมักจะมีถึง 3 ประตูใหญ่ ขนาบด้วยหอระฆังทั้งสองข้าง และเหนือประตูกลางจะเป็นที่ตั้งของหน้าต่างกุหลาบ แต่ที่อาสนวิหารแห่งนี้ประกอบด้วยประตูทางเข้าใหญ่แค่เพียงหนึ่งประตู มีลักษณะเป็นมุขทางเข้า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก และยังมีประตูทางเข้าเล็กด้านหน้าอีกประตูซึ่งตั้งอยู่เฉียง ๆ ด้านข้างทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของโถงทางเข้า ซึ่งในกรณีปกติ ประตูทางเข้ามักจะตรงกับโถงทางเดินโบสถ์และบริเวณร้องเพลงสวดเสมอ

ผนังของโถงทางเดินโบสถ์รับน้ำหนักโดยครีบยันลอยที่ความสูงถึง 41.41 เมตร จึงทำให้เป็นโถงทางเดินโบสถ์ที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยความสูงนี้ยังตัดกับความเตี้ยของทางเดินด้านข้างที่มีความสูงเพียง 14.30 เมตร เพื่อเน้นให้เห็นถึงความสูงของโถงทางเดินโบสถ์มากขึ้นไปอีก ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ มีพื้นที่สำหรับการประดับกระจกสีที่มีขนาดทั้งกว้างและสูงกว่าปกติ ซึ่งตลอดอายุของอาสนวิหารนี้ ได้มีการปรับเปลี่ยนทางสถาปัตยกรรมมาตลอดรวมถึงยุคนีโอคลาสสิก และฟื้นฟูกอทิก

ลำดับการก่อสร้าง แก้

  • ค.ศ. 984 – ค.ศ. 1040

เริ่มก่อสร้างมหาวิหาร (basilica) แบบออตโตเนียน ทับบนสักการสถานโบราณซึ่งอุทิศให้กับนักบุญสเทเฟน

องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม แก้

ส่วนประกอบภายนอกของอาสนวิหาร
หน้าบันฝั่งทางเข้าหลัก
อาสนวิหารจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ และหอระฆังสูง 69 เมตร (226 ฟุต)
ส่วนบริเวณร้องเพลงสวดมองจากทิศเหนือ
ส่วนประกอบภายนอกของอาสนวิหาร
ด้านในของอาสนวิหารมีความยาวถึง 123.2 เมตร (404 ฟุต)

แผนผังแสดงตำแหน่งองค์ประกอบสำคัญของอาสนวิหารแม็ส

ตำแหน่ง องค์ประกอบ แผนผังของอาสนวิหาร
1 มุขตะวันตก
2 มุขทางเข้า
3 หน้าบันประตู (Portal of the Virgin)
4 โถงทางเข้าโบสถ์
5 ชาเปลด้านข้าง (Blessed Sacrament Chapel)
6 ยอดหลังคา หอคอย Mutte
7 ชาเปลพระแม่ (Lady Chapel)
8 ทางเดินข้าง
9 ออแกน
10 แขนกางเขนฝั่งทิศใต้
11 ทางเข้าบริเวณคริพท์
12 ชาเปลบริเวณมุขโค้งด้านสกัด
13 จรมุข
14 มุขโค้งด้านสกัด (Chevet)
15 มุขฝั่งตะวันออก
16 ชาเปลบริเวณมุขโค้งด้านสกัด
17 แขนกางเขนฝั่งทิศเหนือ
18 ทางเดินข้าง
19 หอระฆัง Capitulum
20 เทียนพิธี
21 แขนกางเขน
22 บริเวณจุดตัดกลางโบสถ์
23 แท่นบูชา
24 แท่นอ่าน
25 บริเวณร้องเพลงสวด (choirstalls)
26 แกน องค์ประกอบหมายเลข 1, 2, 4, 13, 14, 15, 19, 21, 22, 23, และ 25 จัดว่าเป็นแกนตามแนวทิศใต้-ตะวันตกเฉียงใต้ และเหนือ-ตะวันออกเฉียงเหนือตามลำดับ วัดจากด้านนอกของอาสนวิหาร มีความยาวทั้งสิ้นถึง 136 เมตร (446 ฟุต).

อ้างอิง แก้

  1. "Official webiste of the Bishopric of Metz". สืบค้นเมื่อ 6 January 2013. (ฝรั่งเศส)
  2. 2.0 2.1 "Official website of the Saint-Stephen Cathedral". สืบค้นเมื่อ 29 June 2012. (ฝรั่งเศส)
  3. Vallery-Radot J. (1931) La cathédrale de Metz, description archéologique. Eds A. Picard, Paris. (ฝรั่งเศส)
  4. "INA Archive (1969) Trésor de la cathédrale de Metz, Lorraine soir, ORTF". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (VIDEO)เมื่อ 2010-01-14. สืบค้นเมื่อ 2 July 2012. (ฝรั่งเศส)
  5. "INA Archive (1980) Patrimoine: trésor de la cathédrale de Metz, Lorraine soir, France 3 régions" (VIDEO). สืบค้นเมื่อ 2 July 2012.[ลิงก์เสีย] (ฝรั่งเศส)
  6. 6.0 6.1 Jolin J.L. (2001) La lanterne du Bon Dieu. Eds. Serpnoise. ISBN 2-87692-495-1. (ฝรั่งเศส)
  7. http://www.culture.gouv.fr/public/mistral/merimee_fr?ACTION=CHERCHER&FIELD_1=REF&VALUE_1=PA00106817 กระทรวงวัฒนธรรมแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส