มหาวิทยาลัยเคนต์

มหาวิทยาลัยเคนต์ (University of Kent) (เดิมชื่อ มหาวิทยาลัยเคนต์ ณ แคนเทอเบอรี) เป็นสถาบันอุดมศึกษาเน้นวิจัยขนาดกลาง ตั้งที่นอกเมืองแคนเทอร์เบอรี จังหวัดเคนต์ เปิดสอนด้านการจัดการ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และกฎหมาย มหาวิทยาลัยเคนต์ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2508 จึงถือเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ (new universities) หรือมหาวิทยาลัยกระจก (plate glass universities) ร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่นอีกหลายแห่ง

มหาวิทยาลัยเคนต์
University of Kent
ตราอาร์มประจำมหาวิทยาลัยเคนต์
คติพจน์ลาติน: Cui servire regnare est
แปลเป็นไทยได้ว่า ผู้ใดยอมรับใช้ ผู้นั้นสมควรครองราชย์ (หรือได้รับอิสระ)[1]
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาของรัฐบาล
สถาปนา4 มกราคม พ.ศ. 2508
ที่ตั้ง
แคนเทอร์เบอรี, เมดเวย์ และ ทันบริดจ์, เคนต์, สหราชอาณาจักร; บรัสเซลส์, เบลเยี่ยม; และ ปารีส, ฝรั่งเศส
วิทยาเขตชนบท
สีสีน้ำเงินและแดง
            
เครือข่ายยูนิเวอร์ซิตียูเค
เครือข่ายแซนแทนเดอร์
สมาคมมหาวิทยาลัยยุโรป
สมาคมมหาวิทยาลัยเครือจักรภพ
เว็บไซต์kent.ac.uk

มหาวิทยาลัยเป็นสมาชิกเครือข่ายแซนแทนเดอร์, สมาคมมหาวิทยาลัยเครือจักรภพ และยูนิเวอร์ซิตียูเค (Universities UK) และถูกจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยใหม่ 100 อันดับแรก[2] รวมถึงมีคะแนนความพอใจของนักศึกษาเกินกว่า 90% จากแบบสำรวจนักศึกษาแห่งชาติ[3] ในปี พ.ศ. 2553 มีนักเรียนสมัครเข้าศึกษาผ่านระบบกลาง (UCAS) จำนวนเกือบ 30,000 คน และได้ตอบรับเข้าศึกษาจำนวน 5,242 คน[4] โดยมีคะแนนเฉลี่ยขณะรับเข้า 380 คะแนน[5]

ประวัติ

แก้
 
อาคารเรียนกิลลิงแฮม

เดิมที เมืองแคนเทอร์เบอรียังไม่มีประชากรผู้ใหญ่วัยเรียนในระดับมหาวิทยาลัยมากนัก จึงยังไม่ต้องมีการสร้างมหาวิทยาลัยใหม่เพื่อรองรับนักศึกษา ผู้ใดต้องการศึกษาระดับอุดมศึกษาก็ให้ไปเมืองอื่น แต่ในเวลาต่อมาได้มีความต้องการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากขึ้น ทำให้ในปี พ.ศ. 2490 มีการพิจารณาเรื่องจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น ณ เมืองแคนเทอร์เบอรี แต่มิได้มีการดำเนินการตามแผนใด ๆ [6] จนกระทั่งสิบปีให้หลัง ความต้องการที่จะมีมหาวิทยาลัยก็สูงขึ้นจากเดิม ทำให้ในปี พ.ศ. 2502 คณะกรรมการศึกษาธิการประจำจังหวัดเคนต์ได้เริ่มการก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น[7] โดยจัดการลงมติให้ตั้งมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503[8] ต่อด้วยการจัดหาที่ดินอันเป็นที่ตั้งใกล้ ๆ กับเมืองแคนเทอร์เบอรี พร้อมกับแจ้งทางสภาอำเภอให้รับทราบถึงการก่อสร้างและยินยอมให้ทางสภาจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วม[9]

หลังจากที่ได้ค้นหาที่ดินที่ตั้งที่เหมาะสมมาพอสมควรแล้ว ราวปี พ.ศ. 2505 คณะกรรมการการศึกษาจังหวัดจึงได้ตกลงเลือกที่ดินที่ไร่เบเวอร์ลีย์ (Beverley Farm) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมือง[10] ใช้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ยังได้เลือกชื่อมหาวิทยาลัยให้ใช้ชื่อ มหาวิทยาลัยเคนต์ ณ แคนเทอร์เบอรี (University of Kent at Canterbury) ด้วยเหตุที่ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบของสภาจังหวัดเคนต์ อีกส่วนอยู่ในเขตรับผิดชอบของสภาอำเภอแคนเทอร์เบอรี[11][10][7] นอกจากนี้ยังช่วยลดความสับสนระหว่างชื่อของมหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรีซึ่งตั้งที่ประเทศนิวซีแลนด์ด้วย[12] อักษรย่อ UKC ถูกใช้เป็นอักษรย่อประจำมหาวิทยาลัยนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[13] อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้พิจารณาปรับปรุงเขตปกครองของอำเภอและจังหวัดต่าง ๆ เมื่อ พ.ศ. 2515 สมควรให้บริเวณที่ตั้งของมหาวิทยาลัยอยู่ในเขตอำเภอแคนเทอร์เบอรี มหาวิทยาลัยจึงได้ลดชื่อลงเหลือเพียง มหาวิทยาลัยเคนต์ ใช้อักษรย่อ UoK

หลังจากการเตรียมความพร้อมในเบื้องต้น สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองทรงตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2508 มหาวิทยาลัยเริ่มรับนักศึกษาในภาคการศึกษาต้น (เดือนตุลาคม) ปีเดียวกันนั้นเอง พร้อมกันนั้นได้มีการแต่งตั้งเจ้าหญิงมารีนา ดัชเชสแห่งเคนต์ (Princess Marina, Duchess of Kent) เป็นนายกสภาคนแรกของมหาวิทยาลัย[14] การดำเนินการของมหาวิทยาลัยจะแบ่งนักศึกษาออกเป็นคณะอาศัย (College) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้พักอาศัยด้วยกันและสามารถแลกเปลี่ยนความคิดแบบสหศาสตร์ร่วมกันได้[15] ถึงกระนั้นเมื่อรัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบาย ก็ทำให้การรวมคณะอาศัยเป็นไปอย่างหลวม ๆ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีคณะอาศัย 5 คณะ ได้แก่ ดาร์วิน เอเลียต เคนส์ รัทเทอร์ฟอร์ด และวูล์ฟ ทั้งหมดมีอนุสาสกประจำคณะคอยให้คำปรึกษา

ครั้นถึง พ.ศ. 2510 อาคารหลายแห่ถูกสร้างขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับการขยายตัวของมหาวิทยาลัย[16] จนต้องสร้างคร่อมอุโมงค์รถไฟสายแยกแคนเทอร์เบอรี-วิตสเตเบิล ซึ่งยุบเลิกไปแล้ว[17] เนื่องจากอุโมงค์มีความไม่แข็งแรง ตลอดจนมีอาคารสูงทับ ทำให้อุโมงค์ถล่มลงในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2517 อาคารคอร์นวัลลิส (Cornwallis Building) ซึ่งอยู่ติดกันยุบตัวลงในอุโมงค์ จนมหาวิทยาลัยต้องขอรับเงินจากบริษัทประกันภัยมาทำลายตึกส่วนที่เสียหายและสร้างส่วนทดแทน[18] หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวมหาวิทยาลัยก็ยังคงสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ หอพักปาร์กวูด และหอพักดาร์วิน ซึ่งเสร็จในปี พ.ศ. 2532

นอกเหนือจากที่ตั้งในเมืองแคนเทอร์เบอรีแล้ว มหาวิทยาลัยยังได้ขยายวิทยาเขตต่างอำเภอจำนวนหนึ่ง เช่น วิทยาเขตทันบริดจ์ (Tonbridge) ให้บริการการสอนด้านด้านการศึกษาต่อเนื่องสำหรับผู้ใหญ่ ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น[19] นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกรีนิช วิทยาลัยมิดเคนต์ และมหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรีไครสต์เชิร์ช (Canterbury Christ Church University) จัดตั้งวิทยาเขตที่อำเภอเมดเวย์ (Medway) [20] รวมทั้งมหาวิทยาลัยเองก็มีวิทยาเขตที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม เปิดสอนด้านกฎหมายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกด้วย

ส่วนงาน

แก้
 
อาคารมาร์โลว์ เป็นที่ตั้งคณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ และภาควิชามานุษยวิทยา

คณะวิชา

แก้

มหาวิทยาลัยแบ่งส่วนงานทางวิชาการเป็น 3 คณะวิชา แต่ละคณะมีภาควิชาสังกัด ดังนี้

รายชื่อคณะและภาควิชา
คณะมนุษยศาสตร์
  • ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์
  • ภาควิชาศิลปศาสตร์
  • ภาควิชาภาษาอังกฤษ
  • ภาควิชาวัฒนธรรมและภาษายุโรป
  • ภาควิชาประวัติศาสตร์
  • ภาควิชาดุริยางคศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์
คณะวิทยาศาสตร์
  • ภาควิชาชีวศาสตร์
  • ภาควิชาวิทยาการคณนา
  • ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์และศิลปะดิจิทัล (digital arts)
  • ภาควิชาคณิตศาสตร์ สถิติ และคณิตศาสตร์ประกันภัย
  • ภาควิชาเภสัชศาสตร์เมดเวย์ (Medway School of Pharmacy)
  • ภาควิชาฟิสิกส์
  • ภาควิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย
คณะสังคมศาสตร์
  • ภาควิชามานุษยวิทยาและการอนุรักษ์
  • ภาควิชาบริหารธุรกิจ
  • ภาควิชาเศรษฐศาสตร์
  • ภาควิชานิติศาสตร์
  • ภาควิชารัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
  • ภาควิชาจิตวิทยา
  • ภาควิชานโยบายสังคม สังคมวิทยา และการวิจัยสังคม

เดิม ทีในแผนจัดตั้งมหาวิทยาลัย จะไม่มีการแบ่งย่อยคณะออกเป็นภาควิชา โดยให้มีการสอนรายวิชาแบบเดียวกันในปีแรกของการเรียนระดับปริญญาตรี ต่อด้วยการสอนในวิชาเฉพาะทาง[15] เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาศาสตร์ข้ามสาย เช่น ฟิสิกส์เชิงเคมี เคมีและวิศวกรรมควบคุม เคมีเชิงชีววิทยา และวิทยาศาสตร์กายภาพเชิงสิ่งแวดล้อม[21] อย่างไรก็ตามแนวคิดดังกล่าวถูกคัดค้าน เพราะอาจทำให้เกิดความซับซ้อนขึ้นเกินกว่าที่นักศึกษาจะเรียนได้ อาจจะทำให้นักศึกษาบางคนเบื่อหน่ายในขณะที่บางคนเรียนได้ดี หรือแม้แต่ทำให้นักศึกษาบางคนประสบปัญหารุนแรง เช่น บางคนอาจจะไม่ได้เรียนเคมีมาจากชั้นเตรียมอุดมศึกษา (A-level) และมุ่งเรียนสายคณิตศาสตร์ในมหาวิทยาลัย บางคนเรียนสายสังคม แต่ไม่ได้เรียนวิชาพื้นฐานมาจากชั้นเตรียมอุดมศึกษา เมื่อถูกบังคับให้เรียนวิชากว้าง ๆ อาจเกิดความท้อถอย การที่นักศึกษามีพื้นฐานต่างกันนี้เอง ทำให้คณะวิทยาศาสตร์ต้องจัดให้มีการปรับพื้นฐานและหลักสูตรที่แตกต่างออกไป[21] ด้วยเหตุนี้นักศึกษาจำนวนมากจึงได้เริ่มเลือกวิชาพื้นฐานเฉพาะส่วนที่คล้ายกับวิชาเฉพาะเท่านั้น เพื่อลดความยุ่งยากในการเรียน

 
ภาควิชาบริหารธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ความเป็นสหศาสตร์ของมหาวิทยาลัยได้ถูกทำลายลง เนื่องจากรัฐบาลได้กำหนดให้มีการสำรวจตรวจสอบต้นทุนการผลิตบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. 2535 อาจารย์ที่เคยสอนข้ามศาสตร์จำต้องเลือกอยู่ในศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งตามนโยบายรัฐบาล เพื่อที่รัฐบาล โดยสภาจัดสรรเงินทุนระดับอุดมศึกษา (Higher Education Funding Council for England; HEFCE) จะได้จัดสรรงบประมาณอุดหนุนสถานศึกษาได้ถูกต้อง ในกาารนี้ มหาวิทยาลัยได้ถูกแบ่งเป็นภาควิชา แต่ละภาคได้รับงบอุดหนุนตามสัดส่วนจำนวนนักศึกษาและต้นทุนจริง ส่งผลให้มีการเพิ่มรายวิชาเฉพาะด้วยจะทำให้ได้เงินอุดหนุนมากขึ้น

มหาวิทยาลัยมีคณะชอเซอร์ (Chaucer College) เป็นสถาบันสมทบ ร่วมกับมหาวิทยาลัยชูเมะอิ (Shumei University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนในญี่ปุ่น

คณะอาศัย

แก้
 
ดาร์วินคอลเลจ

นอกจากคณะวิชาแล้ว มหาวิทยาลัยยังมีคณะอาศัย (คอลเลจ) ซึ่งตั้งชื่อตามนักวิชาการผู้มีชื่อเสียง แต่ละคณะอาศัยประกอบไปด้วยภาควิชา ห้องบรรยาย ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องสัมมนา ห้องรับประทานอาหาร และหอพัก มีอนุสาสกและคณะกรรมการนักศึกษาที่ได้รับเลือกปกครองความเป็นอยู่ ทั้งนักศึกษา (แม้ไม่พักในหอพัก) และอาจารย์จะสังกัดภายในคณะอาศัย มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ภายในคณะ อีกจำนวนหนึ่งอาศัยภายนอกมหาวิทยาลัยแต่เข้ามาใช้คณะอาศัยเพื่อศึกษาค้นคว้า คณะอาศัยของมหาวิทยาลัยมีดังนี้

ชื่อคณะอาศัย ก่อตั้ง (พ.ศ.) ตั้งชื่อตาม
คณะเอเลียต (Elliot) 2508 โทมัส เอเลียต นักเขียนชาวอเมริกัน
คณะรัทเทอร์ฟอร์ด (Rutherford) 2509 เออร์เนสต์ รัทเทอร์ฟอร์ด นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ
คณะเคนส์ (Keynes) 2511 จอห์น เคนส์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ
คณะดาร์วิน (Darwin) 2513 ชาลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ
คณะวูล์ฟ (Woolf) 2551 เวอร์จิเนีย วูล์ฟ นักเขียนชาวอังกฤษ
คณะทัวริง (Turing) 2557 อลัน ทัวริง นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ชาวอังกฤษ
 
ศาสตราจารย์ Jagjit Chadha ผู้มีชื่อเสียงด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเคนต์

ชื่อทั้งหมดข้างต้นเป็นชื่อที่เลือกแล้ว อย่างไรก็ตามมีชื่อที่ไม่ได้รับเลือก เช่น คณะเอเลียต มีชื่อแคกซตัน (วิลเลียม แคกซตัน (William Caxton) ผู้นำระบบการพิมพ์เข้ามาในอังกฤษ) ที่เสนอมาด้วยแต่ตกไป คณะเคนส์มีชื่อริชเบอเรอ (Richborough) ซึ่งเป็นชื่อหมู่บ้านในอำเภอโดเวอร์ จังหวัดเคนต์ และชื่ออันเซล์ม (Anselm) อดีตมุขนายกแห่งสังฆมณฑลแคนเทอร์เบอรี ส่วนคณะดาร์วิน มีชื่ออันเซล์ม, แอตทลี (เคลเมนต์ แอตทลี (Clement Attlee) อดีตนายกรัฐมนตรี), เบคเก็ต (โทมัส เบคเกต (Thomas Becker) อดีตมุขนายก ชื่อนี้ทางคณะอาศัยเห็นชอบแต่สภาคณาจารย์ไม่เห็นด้วยจึงเป็นอันตกไป), คอนราด (Conrad), เอลการ์ (เอ็ดเวิร์ด เอลการ์ (Edward Elgar) นักแต่งเพลงชาวอังกฤษ), เมตแลนด์ (Maitland), มาร์โลว์ (คริสโตเฟอร์ มาร์โลว์ (Christopher Marlowe) กวีชาวอังกฤษ), รัสเซลล์ (เบอร์แทรนด์ รัสเซลล์ (Bertrand Russell) นักปรัชญาชาวอังกฤษ ชื่อนี้ทางสภาคณาจารย์เห็นชอบ แต่สภามหาวิทยาลัยไม่เห็นชอบ), ไทเลอร์ (วอต ไทเลอร์ (Wat Tyler) ผู้นำกบฏชาวนา และชื่อเนินที่ตั้งของมหาวิทยาลัย) ชื่อทั้งหมดถูกนำมาเลือกโดยวิธีลงคะแนนลับ[22]

เนื่องจากที่พักนักศึกษาในตัวอำเภอแคนเทอร์เบอรีเองมีจำกัด ทำให้มหาวิทยาลัยต้องสร้างหอพักเพิ่มโดยไม่เพิ่มจำนวนคณะอาศัย นอกจากนี้ด้วยเหตุที่นักศึกษาแต่ละคนต้องการศึกษาแยกกันออกไปในคณะวิชาของตน ก็ทำให้บทบาทของคณะอาศัยถูกลดทอนลงไปมาก[23] ไม่เหนียวแน่นเหมือนคณะอาศัยที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

ที่ตั้ง

แก้

วิทยาเขตแคนเทอร์เบอรี

แก้

มหาวิทยาลัยมีที่ตั้งหลักที่วิทยาเขตแคนเทอร์เบอรี ครอบคลุมพื้นที่ 759 ไร่ บนเนินห่างจากตัวเมือง 3 กิโลเมตร มีนักศึกษาเต็มเวลา 12,000 คน และนักศึกษาบางเวลา 6,200 คน พร้อมกับคณาจารย์-เจ้าหน้าที่สายสนับสนุนอีกราว 600 คน ภายในวิทยาเขตประกอบด้วยศูนย์ศิลปะกุลเบนเกียน (Gulbenkian arts colplex) ตั้งชื่อตามมูลนิธิคาลูสต์ กุลเบนเกียน (Calouste Gulbenkian Foundation) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนในการก่อสร้าง ภายในศูนย์มีโถงพร้อมเวทีเล็กสำหรับกิจกรรมดนตรี โรงละครขนาด 340 ที่นั่ง และโรงอาหารสำหรับบริการนักศึกษา คณาจารย์ และบุคคลภายนอก นอกจากนี้ยังมีศูนย์กีฬามูลค่า 1.5 ล้านปอนด์ ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2546 และศูนย์นวัตกรรมแคนเทอร์เบอรี[24]

ห้องสมุดประจำวิทยาเขต มีชื่อ หอสมุดเทมเพิลแมน (Templeman Library) ซึ่งตั้งตามชื่ออธิการบดีคนแรก (เจฟฟรีย์ เทมเพิลแมน (Geoffrey Templeman)) มีหนังสือ วารสาร สื่อวีดิทัศน์จำนวนมาก รวมไปถึงวารสารไทมส์ย้อนหลังตั้งแต่ พ.ศ 2328 และหอประวัติการ์ตูนอังกฤษ[25]

วิทยาเขตแคนเทอร์เบอรีตั้งห่างจากสถานีแคนเทอร์เบอรีเวสต์ไม่ไกลนัก ซึ่งมีบริการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อกับสถานีเซนต์แพนคราสในกรุงลอนดอนโดยใช้เวลาเดินทาง 56 นาที โดยหยุดรับส่งผู้โดยสารที่สถานีชุมทางแอชฟอร์ดอินเตอร์เนชันแนลด้วย ทำให้สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟยูโรสตาร์ได้สะดวก นอกจากสถานีแคนเทอร์เบอรีเวสต์แล้ว ยังมีสถานีแคนเทอร์เบอรีอีสต์ซึ่งสามารถเดินทางไปสถานีลอนดอนวิกตอเรียและลอนดอนแชริงครอสได้ ทั้งสองสถานีและมหาวิทยาลัยเชื่อมต่อด้วยรถบัสยูนิบัส ซึ่งจัดการเดินรถโดยบริษัทสเตจโค้ช[26]

วิทยาเขตทันบริดจ์

แก้

ในปี พ.ศ. 2525 มหาวิทยาลัยจัดตั้งภาควิชาการศึกษาต่อเนื่องที่เมืองทันบริดจ์ เพื่อให้การศึกษามีความแพร่หลายมากขึ้น[27] ตัววิทยาเขตตั้งห่างจากสถานีรถไฟทันบริดจ์ไม่ไกลนัก

วิทยาเขตเมดเวย์

แก้

ในปี พ.ศ. 2543 มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแคนเทอร์เบอรีไครสต์เชิร์ช และมหาวิทยาลัยกรีนิชร่วมมือจัดตั้งศูนย์วิทยบริการภายในเมืองเมดเวย์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัด ติดกับปากแม่น้ำเทมส์[20] โดยใช้ชื่อ มหาวิทยาลัยเคนต์ ณ เมดเวย์ มีที่ตั้งระยะแรก ๆ ณ วิทยาลัยมิดเคนต์ และต่อมาได้ย้ายไปที่ท่าเรือชาแทม (Chatham Dockyard) โดยใช้พื้นที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยทั้งสองที่เหลือ

ตราสัญลักษณ์

แก้

ตราอาร์มประจำมหาวิทยาลัยเคนต์ ถูกออกแบบและอนุญาตให้ใช้โดยสำนักมุรธาธร (College of Arms) เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2510[7] ตัวตราประกอบด้วยม้าขาวกลางสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนสีแดง อยู่เบื้องล่างของโล่ เป็นสัญลักษณ์แทนจังหวัดเคนต์ (มีในตราอาร์มและธงของจังหวัดเคนต์) ด้านบนเป็นนกชัฟ (chough) สามตัว ซึ่งมีในตราประจำตัวของโทมัส เบคเกต และตราประจำอำเภอแคนเทอร์เบอรี บนหมวกเกราะมีประตูเมืองด้านตะวันตก ตั้งอยู่เหนือธารน้ำ (แทนแม่น้ำสตูร์) หน้าประตูเมืองมีไม้เท้ามุขนายกไขว้กัน เป็นสัญลักษณ์แทนมุขนายก ด้านข้างตรามีสิงห์สองตัว เท้าหลังแปรเป็นหางเสือเรือ รูปดังกล่าวได้มาจากตราอาร์มของเมืองหลายเมืองในจังหวัดอีสต์ซัสเซกส์และเคนต์ เมืองเหล่านั้นเรียกร่วมกันว่า ซิงค์พอร์ต (Cinque Ports)[28]

ตราอาร์มของมหาวิทยาลัย ใช้เฉพาะในปริญญาบัตร หนังสือหลักสูตร และสินค้าบางอย่าง ส่วนของอย่างอื่นจะใช้โลโก้แทน[29]

อ้างอิง

แก้
  1. Graham Martin, From Vision to Reality: the Making of the University of Kent at Canterbury (University of Kent at Canterbury, 1990) page 36 ISBN 978-0-904938-03-6 As Martin notes "Our former Information Officer has ventured the opinion that Cranmer would not have got very high marks had this phrase appeared in an O-Level Latin paper!"
  2. "Top hundred under fifty". The Times Higher Education. London. 27 July 2014.
  3. http://www.topuniversities.com/universities/university-kent/undergrad
  4. O'Hare, Sean (20 June 2011). "University of Kent guide". The Daily Telegraph. London.
  5. "University league table". The Guardian. London. 3 June 2013.
  6. Graham Martin, From Vision to Reality: the Making of the University of Kent at Canterbury (University of Kent at Canterbury, 1990) page 14 ISBN 978-0-904938-03-6
  7. 7.0 7.1 7.2 "About Kent – History – 1959–1969". University of Kent. 11 January 2007. สืบค้นเมื่อ 5 August 2007.
  8. "Step Towards Kent University". The Times. 25 February 1960.
  9. "Siting of a Kent University – Canterbury Area Recommended". The Times. 26 April 1960.
  10. 10.0 10.1 "Site of University For Kent". The Times. 1 February 1962.
  11. บางอำเภอโดยเฉพาะที่มีประชากรมาก อาจเป็นเขตปกครองอิสระ (unitary authority) ซึ่งมีอำนาจบริหารตนเองแยกจากจังหวัด แต่คงใช้ผู้ว่าราชการ (Lord Lieutenant) ร่วมกัน อำเภอที่ไม่เป็นเขตปกครองอิสระจะมีงานบางส่วนขึ้นกับทางจังหวัด
  12. "Second University Sponsor Resigns". The Times. 17 October 1962.
  13. Graham Martin, From Vision to Reality: the Making of the University of Kent at Canterbury (University of Kent at Canterbury, 1990) pages 29–30 ISBN 978-0-904938-03-6
  14. Graham Martin, From Vision to Reality: the Making of the University of Kent at Canterbury (University of Kent at Canterbury, 1990) pages 11–36 ISBN 978-0-904938-03-6
  15. 15.0 15.1 "University of Kent Sets Out To Be Different – Emphasis on Collegiate-Based Life". The Times. 4 April 1963.
  16. "Kent Life" in Kent: The Magazine for The University of Kent Spring 2005 No. 44 page 4
  17. Graham Martin, From Vision to Reality: the Making of the University of Kent at Canterbury (University of Kent at Canterbury, 1990) pages 225–231 ISBN 978-0-904938-03-6
  18. Graham Martin, From Vision to Reality: the Making of the University of Kent at Canterbury (University of Kent at Canterbury, 1990) page 228 - 231 ISBN 978-0-904938-03-6
  19. "Kent Life" in Kent: The Magazine for The University of Kent Spring 2005 No. 44 page 5
  20. 20.0 20.1 "About Kent – History – 2000–2006". University of Kent. 11 January 2007. สืบค้นเมื่อ 5 August 2007.
  21. 21.0 21.1 Graham Martin, From Vision to Reality: the Making of the University of Kent at Canterbury (University of Kent at Canterbury, 1990) pages 39–54 ISBN 978-0-904938-03-6
  22. Graham Martin, From Vision to Reality: the Making of the University of Kent at Canterbury (University of Kent at Canterbury, 1990) pages 122–126 ISBN 978-0-904938-03-6
  23. Graham Martin, From Vision to Reality: the Making of the University of Kent at Canterbury (University of Kent at Canterbury, 1990) ISBN 978-0-904938-03-6
  24. "Canterbury Innovation Centre". Canterbury Innovation Centre. สืบค้นเมื่อ 12 April 2010.
  25. "British Cartoon Archive website". Library.kent.ac.uk. สืบค้นเมื่อ 12 April 2010.
  26. Stagecoach Unibus
  27. "About Kent – History – 1980–1989". University of Kent. 11 January 2007. สืบค้นเมื่อ 5 August 2007.
  28. Graham Martin, From Vision to Reality: the Making of the University of Kent at Canterbury (University of Kent at Canterbury, 1990) pages 33–36 ISBN 978-0-904938-03-6
  29. "Our visual identity (pdf)" (PDF). University of Kent. 14 March 2007. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-24. สืบค้นเมื่อ 25 July 2007.

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้


51°17′49″N 1°04′08″E / 51.297°N 1.069°E / 51.297; 1.069