มหาวิทยาลัยเดอรัม

(เปลี่ยนทางจาก มหาวิทยาลัยเดอแรม)

มหาวิทยาลัยเดอรัม (อังกฤษ: University of Durham) เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยของรัฐในเมืองเดอรัม ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร ก่อตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ (Act of Parliament) ในปี ค.ศ. 1832 และได้รับการรับรองโดยกฎบัตรพระราชทาน (Royal Charter) ในปี ค.ศ. 1837 มหาวิทยาลัยเดอรัมเป็นมหาวิทยาลัยแรกใน 600 ปี ที่ได้รับการยอมรับและได้รับสถานะมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ หลังจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จึงมีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดเป็นอันดับสามของประเทศอังกฤษ[1]

มหาวิทยาลัยเดอรัม
University of Durham
ตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัย
ตราอาร์มประจำมหาวิทยาลัยเดอรัม
ละติน: Universitas Dunelmensis
คติพจน์
Fundamenta eius super montibus sanctis
คติพจน์อังกฤษ
Her foundations are upon the holy hills
ประเภทรัฐ
สถาปนา1832; 192 ปี (สถานะเป็นมหาวิทยาลัย)
สังกัดการศึกษาACU
กลุ่มกูอิงบรา
EUA
Matariki Network of Universities
N8 Research Partnership
กลุ่มรัสเซล
Universities UK
ทุนทรัพย์101.7 ล้านปอนด์ (ประมาณ 4,770 ล้านบาท ในปี 2023 โดยไม่รวมกับวิทยาลัยอิสระ)
งบประมาณ483.6 ล้านปอนด์​ (ประมาณ 20,570 ล้านบาท)
อธิการบดีฟิโอน่า​ ฮิลล์ (Fiona Hill)
รองอธิการบดีศาสตราจารย์​ แคเรน โอไบรอัน (Professor Karen O'Brien)
ผู้ศึกษา22,130 คน (ปี 2023)
ที่อยู่
สหราชอาณาจักร พาลาทีนเซนเตอร์
, ,
ฉายาTeam Durham
เครือข่ายกีฬาBritish Universities and Colleges Sport
Wallace Group
เว็บไซต์http://www.durham.ac.uk/

มหาวิทยาลัยเดอรัมเป็นมหาวิทยาลัยที่มีระบบวิทยาลัย (collegiate) หน้าที่หลักจะถูกแบ่งระหว่างภาควิชา (department) ของมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย (colleges) ทั้ง 17 แห่ง โดยทั่วไปแล้ว ภาควิชาการจะทำการวิจัยและดำเนินการจัดการเรียนการสอนแก่นักศึกษา ในขณะที่วิทยาลัยรับผิดชอบในเรื่องที่พักอาศัยและสวัสดิการของนักศึกษา[2]

มหาวิทยาลัยเป็นสมาชิกของกลุ่มรัสเซล (Russell Group)[3] ซึ่งเป็นกลุ่มของมหาวิทยาลัยวิจัยในประเทศอังกฤษ และยังเป็นพันธมิตรกับ N8 Research Partnership ในระดับภูมิภาค[4] รวมถึงกลุ่มมหาวิทยาลัยนานาชาติ เช่น Matariki Network of Universities[5] และกลุ่มกูอิงบรา (Coimbra Group)[6] อีกด้วย

มหาวิทยาลัยเดอรัมประกอบไปด้วยอาคารที่มีชื่อเสียงจำนวน 83 แห่ง ตั้งแต่ปราสาทเดอรัมในศตวรรษที่ 11 ไปจนถึงอาคารสหภาพนักศึกษา (Durham Student Union) แบบบรูทาลิสต์ในทศวรรษ 1960 มหาวิทยาลัยยังเป็นเจ้าของและบริหารจัดการแหล่งมรดกโลกเดอรัมร่วมกับอาสนวิหารเดอรัม (Durham Cathedral) โดยแหล่งมรดกโลกที่มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าของประกอบด้วยปราสาทเดอรัม พาเลซกรีน (Palace Green) และอาคารโดยรอบ รวมถึงห้องสมุดบิชอปจอห์น คอสซิน (Bishop Cosin Library)

มหาวิทยาลัยเดอรัมได้รับการยกย่องให้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นสูง ได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในสหราชอาณาจักรของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในประเทศอย่างสม่ำเสมอ และเป็นหนึ่งในตัวเลือกของผู้สมัครที่ต้องการเข้าศึกษาต่อที่ Oxford และ Cambridge โดยได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งปี (University of The Year) จากหนังสือ The Times Good University Guide ในปี 2005

ในปี 2024 มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับจาก Times and Sunday Times Good University Ranking[7] The Complete University Guide และ The Guardian ให้อยู่ลำดับที่ 7 ของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในสหราชอาณาจักร[8][9] และอยู่ในลำดับที่ 89 ของโลกจากการจัดอันดับของ QS World University Ranking[10] โดยมหาวิทยาลัยได้รับการจัดลำดับให้ 3 สาขาวิชาอยู่ในลำดับต้น ๆ ของมหาวิทยาลัยทั่วโลก ได้แก่ สาขาวิชาโบราณคดี ในลำดับที่ 5 ของโลก สาขาวิชาคลาสสิกและประวัติศาสตร์สมัยโบราณ ในลำดับที่ 6 ของโลก และสาขาวิชาเทววิทยาและศาสนา ในลำดับที่ 7 ของโลก นอกไปจากนั้นสาขาวิชาภูมิศาสตร์ มานุษยวิทยา การศึกษาภาษาอังกฤษ ปรัชญา ประวัติศาสตร์ โลกศาสตร์ และ นิติศาสตร์ อยู่ในลำดับ 50 อันดับสูงสุดอีกด้วย[11]

ปัจจุบัน อธิการบดีของมหาวิทยาลัยคือฟิโอน่า ฮิลล์ (Fiona Hill) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศที่มีชื่อเสียง นักเขียน และอดีตที่ปรึกษาประธานาธิบดีให้กับจอร์จ ดับเบิลยู. บุช บารัค โอบามา และดอนัลด์ ทรัมป์ เธอทำงานในสภาข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Intelligence Council) ระหว่างปี 2006 ถึง 2009 และเป็นสมาชิกของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐระหว่างปี 2017 ถึง 2019[12][13]

ประวัติ

แก้

รากฐานยุคกลางและความพยายามในการก่อตั้งมหาวิทยาลัย

แก้

ชาวเดอรัมมีบทบาทสำคัญในพัฒนาการของการศึกษาระดับสูงในอังกฤษก่อนที่จะมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเดอรัมอย่างเป็นทางการ อัครพันธบริกรวิลเลียมแห่งเดอรัมได้ก่อตั้งวิทยาลัยแรกในออกซ์ฟอร์ดที่ชื่อว่า เดอรัมฮอลล์ (Durham Hall) ซึ่งปัจจุบันคือวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ (University College) ของ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ตามมาด้วยจอห์น เดอ บัลลิออล ที่ก่อตั้งวิทยาลัยที่สองของเมืองนี้ที่ชื่อว่า วิทยาลัยบัลลิออล (Balliol College) ในเวลาต่อมา[14][15]

อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมโดยตรงของอาสนวิหารเดอรัมกับการศึกษาระดับสูงเริ่มต้นตั้งแต่การก่อตั้งเดอรัมฮอลล์ที่อ็อกซ์ฟอร์ดในช่วงประมาณปี ค.ศ. 1286 ซึ่งพระนักบวชของแอบบีเดอรัมสามารถไปศึกษาได้ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งวิทยาลัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากบิชอปโธมัส แฮตฟิลด์ แห่งเดอรัมในช่วงประมาณปี ค.ศ. 1380 จนกลายเป็นวิทยาลัยเดอรัม (Durham College) ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ซึ่งประกอบด้วยพระแปดรูป โดยหนึ่งในนั้นทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ดูแล และนักศึกษาทั่วไปอีก 8 คน วิทยาลัยนี้ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของแอบบีเดอรัมมากกว่าที่จะเป็นสถาบันอิสระ จนกระทั่งเกิดการปฏิรูปศาสนาในปี ค.ศ. 1540 วิทยาลัยนี้ถูกยุบและงบประมาณต่าง ๆ ถูกโอนไปยังอธิการและคณะกรรมการใหม่ของอาสนวิหารเดอรัม

ในปี ค.ศ. 1541 พระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 แห่งอังกฤษ ได้เสนอให้ใช้เงินทุนจากวิทยาลัยที่ถูกยุบนี้เพื่อก่อตั้งมหาวิทยาลัยในภาคเหนือของอังกฤษที่เมืองเดอรัม แต่แผนการดังกล่าวถูกลดขนาดลงจากการก่อตั้งวิทยาลัยที่มีอธิการบดีและศาสตราจารย์ในวิชาเทววิทยา กรีก ฮีบรู และการแพทย์ มาเป็นเพียงโรงเรียนมัธยม (grammar school) ที่มีครูใหญ่และผู้ช่วยครูที่ได้รับเงินเดือนจากทุนของมหาวิหาร นอกจากนั้นยังมีความพยายามอยู่ช่วงหนึ่งในการที่จะสืบทอดวิทยาลัยในอ็อกซ์ฟอร์ดให้เป็นสถาบันทางโลก แต่อยู่ได้ไม่ถึงหนึ่งปี ที่ดินของวิทยาลัยจึงถูกขายให้กับ เซอร์โธมัส โพพ (Sir Thomas Pope) ในปี ค.ศ. 1555 และถูกใช้ในการก่อตั้ง วิทยาลัยทรินิตี้ อ็อกซ์ฟอร์ด (Trinity College, Oxford)[16]

ความพยายามครั้งต่อมาในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยในเดอรัมเกิดขึ้นภายใต้โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ในปี ค.ศ. 1649 มหาวิหารต่าง ๆ ในอังกฤษถูกยุบตามพระราชบัญญัติของรัฐสภา ทำให้ปราสาทเดอรัมซึ่งเป็นที่พักของบิชอป อาสนวิหาร และวิทยาลัย (พื้นที่ใกล้อาสนวิหาร) ถูกทิ้งร้างว่างเปล่า ซึ่งได้มีคำร้องหลายฉบับถูกยื่นให้ครอมเวลล์ให้ออกหนังสือตราตั้ง (letter patents) เพื่อก่อตั้ง วิทยาลัยเดอรัม (Durham College) ขึ้น จนกระทั่งได้มีการออกหนังสือตราตั้งดังกล่าวในปี 1657

วิทยาลัยเดอรัมในยุคนั้นได้มี ฟิลิป ฮันตัน ถูกเสนอชื่อให้เป็นอธิการบดี พร้อมด้วยผู้สอนศาสนาสองคน ศาสตราจารย์สี่คน ติวเตอร์สี่คน และครูสี่คน โดยวิทยาลัยได้รับมอบที่ดินที่เคยเป็นของอาสนวิหาร รวมถึงอาคารของวิทยาลัยและห้องสมุดของอาสนวิหารด้วย อย่างไรก็ตาม หนังสือตราตั้งในปี ค.ศ. 1657 ดังกล่าวนั้น ไม่ได้ให้สิทธิ์แก่วิทยาลัยในการเป็นสถานะมหาวิทยาลัย โดยได้มีคำร้องเพิ่มเติมถึงครอมเวลล์ในปี ค.ศ. 1658 แต่ไม่มีการดำเนินการใด ๆ ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลง

ต่อมาในปี ค.ศ. 1659 มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ได้ยื่นคำร้องต่อริชาร์ด ครอมเวลล์ ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ เพื่อคัดค้านการก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งที่สามในประเทศอังกฤษ และโดยเฉพาะในเรื่องของการให้สิทธิ์ในการมอบปริญญา อีกทั้งวิทยาลัยยังถูกคัดค้านโดยจอร์จ ฟ็อกซ์และกลุ่มเควกเกอร์ (Quakers) อื่น ๆ

จนกระทั่ง การฟื้นฟูราชบัลลังก์ในปี ค.ศ. 1660 ทำให้เกิดการก่อตั้งคณะกรรมการของอาสนวิหารขึ้นใหม่อีกครั้ง และทำให้มีการปิดวิทยาลัยเดอรัมลง อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการศึกษาในเดอรัมนั้นไม่ได้ถูกลืมโดยสิ้นเชิง เพราะบิชอปจอห์น คอสซินได้ก่อตั้งห้องสมุดของเขาที่พาเลซกรีนไว้ในปีค.ศ. 1669[17]

การกำเนิดของสถานะมหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ 19

แก้

ในฤดูร้อนปี 1831 ความคิดในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยที่เดอรัมได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งโดยชาร์ลส์ ธอร์ป นักบวชประจำอาสนวิหารเดอรัมและบาทหลวงประจำบ้านของชาลส์ เกรย์ เอิร์ลเกรย์ที่ 2 นายกรัฐมนตรีของอังกฤษในขณะนั้น (และตั้งแต่เดือนธันวาคม 1831 โดยอัครพันธบริกรแห่งเดอรัม) เมื่อวันที่ 28 กันยายน คณะของอาสนวิหารได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการผ่านพระราชบัญญัติ รวมถึงให้มีการจัดตั้งสถาบันการศึกษา และภายในสิ้นปีนั้น สถาบันนี้ได้ถูกโฆษณาภายใต้นามของมหาวิทยาลัยเดอรัม

ในปี 1832 วิลเลียม แวน มิลเดิร์ต บิชอปแห่งเดอรัม ได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติในรัฐสภาที่มีชื่อว่า "พระราชบัญญัติเพื่อให้อธิการและคณะกรรมการของอาสนวิหารเดอรัมสามารถใช้ทรัพย์สินส่วนหนึ่งของอาสนวิหารของพวกเขาเพื่อการก่อตั้งมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกัน (An Act to enable the Dean and Chapter of Durham to appropriate part of the property of their church to the establishment of a University in connection therewith)" โดยสองประการสำคัญของร่างพระราชบัญญัตินี้คือ: (1) ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเป็นทรัสต์การกุศลภายใต้การควบคุมของอธิการและคณะกรรมการของเดอรัมในฐานะผู้ว่าการและผู้ดูแล และบิชอปแห่งเดอรัมในฐานะผู้เยี่ยมเยือน; (2) อนุญาตให้ใช้ทรัพย์สินบางส่วนของอาสนวิหารเพื่อสนับสนุนมหาวิทยาลัยนี้ ร่างพระราชบัญญัตินี้ผ่านการอนุมัติด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลของเอิร์ล เกรย์ และได้รับพระบรมราชานุญาตเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 1832 ซึ่งถือเป็นวันที่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ

อ้างอิง

แก้
  1. Burkett, Jodi (2017-09-22). Students in Twentieth-Century Britain and Ireland (ภาษาอังกฤษ). Springer. ISBN 978-3-319-58241-2.
  2. University, Durham. "Our Colleges". www.durham.ac.uk (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  3. "Russell Group | Durham University". The Russell Group (ภาษาอังกฤษ). 2024-07-09.
  4. Partnership, N8 Research. "Who We Are". N8 Research Partnership (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  5. Network, Matariki. "Durham University". Matariki Network (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  6. "Durham (UK) | Coimbra". www.coimbra-group.eu (ภาษาอังกฤษ).
  7. University, Durham. "QS World University Rankings - Durham University". www.durham.ac.uk (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  8. "University League Tables 2025". www.thecompleteuniversityguide.co.uk (ภาษาอังกฤษ).
  9. "The Guardian University Guide 2024 – the rankings". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
  10. "Durham University". Top Universities (ภาษาอังกฤษ).
  11. University, Durham. "QS World Rankings By Subject - Durham University". www.durham.ac.uk (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  12. University, Durham. "Chancellor - Durham University". www.durham.ac.uk (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
  13. "Dr Fiona Hill appointed Durham University chancellor". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2023-06-29. สืบค้นเมื่อ 2024-07-15.
  14. "About". DU History Society (ภาษาอังกฤษ).
  15. "Dictionary of National Biography, 1885-1900/William of Durham - Wikisource, the free online library". en.wikisource.org (ภาษาอังกฤษ).
  16. Fowler, J. T. (Joseph Thomas) (1904). Durham university; earlier foundations and present colleges. Robarts - University of Toronto. London, F. E. Robinson & co.
  17. The Penny Cyclopædia of the Society for the Diffusion of Useful Knowledge (ภาษาอังกฤษ). C. Knight. 1838.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้