มรณกรรมของพระนางพรหมจารี (การาวัจโจ)

ดูบทความหลักที่ แม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์

มรณกรรมของพระนางพรหมจารี
ศิลปินการาวัจโจ
ปีค.ศ. 1604 - ค.ศ. 1606
ประเภทจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ
สถานที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์, ปารีส

มรณกรรมของพระนางพรหมจารี[1] (อังกฤษ: Death of the Virgin) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดยการาวัจโจจิตรกรสมัยเรอเนซองส์คนสำคัญชาวอิตาลีที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ปารีสในประเทศฝรั่งเศส

ภาพ “มรณกรรมของพระนางพรหมจารี” เขียนราวระหว่างปี ค.ศ. 1604 ถึงปี ค.ศ. 1606 เป็นภาพที่การาวัจโจได้รับจ้างให้เขียนโดยเลร์ซิโอ อัลเบร์ติ (Laerzio Alberti) ทนายความของพระสันตะปาปาสำหรับชาเปลส่วนตัวภายในซันตามาเรียเดลลาสกาลาซึ่งเป็นโบสถ์คณะคาร์เมไลท์ใหม่ที่ ทรัสเตเวเร (Trastevere) ในกรุงโรม “Renaissance” เป็นภาพที่ก่อให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงเมื่อเขียนเสร็จและถูกปฏิเสธจากนักบวชไม่ให้ตั้งในชาเปลที่ตั้งใจไว้

แต่ต่อมาปีเตอร์ พอล รูเบนส์ก็แนะนำให้ชาร์ลส์ที่ 1 ดยุกแห่งมานทัวซื้อโดยสรรเสริญว่าเป็นงานเขียนที่ดีที่สุดในสมัยนั้น หลังจากนั้นภาพเขียนถูกขายต่อให้แก่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ หลังจากพระเจ้าชาร์ลส์ถูกสำเร็จโทษภาพเขียนก็ถูกประมูลขายอีกครั้งๆ นี้ตกไปเป็นของงานสะสมหลวงของฝรั่งเศส และในที่สุดก็กลายไปเป็นของรัฐหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ในปัจจุบันภาพนี้ตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ในกรุงปารีส

ก่อนที่จะออกจากโรมภาพเขียนตั้งแสดงที่วิทยาสถานนักบุญลูการาวสองอาทิตย์ แต่ขณะนั้นการาวัจโจก็หนีออกจากโรมไปแล้วหลังจากที่ฆ่ารานุชโช โตมัสโซนีในการดวลดาบหลังจากเกมเทนนิสหลังจากที่เกิดการวิวาท

ภาพเขียนทำให้นึกถึงภาพ “ชะลอร่างจากกางเขน” ในนครรัฐวาติกันในด้านความครอบคลุม, ความสุขุม และความมีลักษณะเหมือนจริงที่คล้ายภาพถ่าย ขนาดตัวแบบในภาพเกือบเท่าคนจริง ล้อมรอบพระแม่มารีย์เป็นผู้กำลังโทมนัสที่รวมทั้งมารีย์ชาวมักดาลาและอัครทูตและกลุ่มคนถัดออกไป การาวัจโจแสดงความโศรกเศร้าของผู้ที่อยู่ในภาพไม่ใช่ด้วยการแสดงหน้าที่บ่งอารมณ์แต่โดยการซ่อนใบหน้า การาวัจโจผู้มีความสามารถในการใช้สีมืดบนผืนผ้าใบไม่สนใจในลักษณะการเขียนแบบแมนเนอริสม์ที่มักจะแสดงอารมณ์ต่างๆ กันไปในภาพเขียน การแสดงความเศร้าของการาวัจโจเป็นการแสดงความเศร้าที่ลึกและเงียบไม่โวยวายด้วยคนร้องไห้ การสะอื้นเกิดจากความเงียบใบหน้าที่ไม่ปรากฏของผู้มีอารมณ์

ความศักดิ์สิทธิ์ของพระแม่มารีย์แสดงโดยรัศมีบางๆ ราวเส้นด้ายเหนือพระเศียร ม่านสีแดงผืนใหญ่ที่ขึงหัอยบนส่วนบนของภาพเป็นโมทีฟที่มักจะใช้ในภาพเกี่ยวกับความตาย

ภาพนี้เขียนเสร็จเมื่อทฤษฎีความเชื่อเกี่ยวกับแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์หรือการขึ้นสวรรค์ของพระแม่มารียังไม่เป็นที่ตกลงกันอย่างเป็นทางการโดยพระสันตะปาปา แต่ความคิดเรื่องนี้ก็เริ่มมีรากฐานมาเป็นเวลาสองสามร้อยปีแล้วจนกระทั่งการออกธรรมนูญเรื่องแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ (Munificentissimus Deus) ในปี ค.ศ. 1950 ที่กล่าวถึงการขึ้นสวรรค์ของ “ร่างและวิญญาณ” ของพระแม่มารี ธรรมนูญเลี่ยงการประกาศว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนหรือหลังจากมรณกรรมตามที่เข้าใจกันตามปกติ ในเมื่อพันธสัญญาใหม่มิได้กล่าวถึงหัวข้อนี้แต่อย่างใด การจากของพระแม่มารีย์จากโลกนี้จึงเป็นเรื่องของทฤษฎีความเชื่อเฉพาะในนิกายโรมันคาทอลิกเท่านั้น แม้ว่าในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ทฤษฎีโดยทั่วไปของโรมันคาทอลิกเชื่อว่าพระแม่มารีย์ถูกนำขึ้นสวรรค์ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งจะเป็นเห็นได้จากภาพเขียนร่วมสมัยในหัวข้อนั้นเป็นจำนวนมากมาย บางความเชื่อก็ว่าพระเจ้าทรงนำร่างพระแม่มารีย์ขึ้นสวรรค์เมื่อเพิ่งสิ้นพระชนม์ใหม่ๆ แต่โดยทั่วไปแล้วก็หมายถึงการที่ทรงได้รับการนำขึ้นสวรรค์โดยปราศจากความเจ็บป่วยและความเจ็บปวดและร่างที่ถูกนำขึ้นไปเป็นร่างที่สมบูรณ์ด้วยพลานามัยก่อนที่จะ “ถึงแก่มรณกรรม” แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือการแสดงภาพมรณกรรมในยุคกลางจะเป็นจริงมากกว่ายุคเรอเนซองหรือบาโรกต่อมาเช่นในภาพ “มรณกรรมของพระนางพรหมจารี” โดยดุชโช ที่เขียนราวปี ค.ศ. 1308

“มรณกรรมของพระนางพรหมจารี” โดยดุชโช ราว ค.ศ. 1308

ภาพเขียนของการาวัจโจเป็นงานศิลปะชิ้นเอกชิ้นสุดท้ายของโรมันคาทอลิกที่แสดงมรณกรรมจริง ๆ ของพระแม่มารีย์ แต่ภาพนี้เท้าของพระแม่มารีย์บวมและในภาพไม่มีเครูบที่นำพระองค์ขึ้นสู่สวรรค์เช่นในภาพ “แม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์” โดย อันนิบาเล คารัคชี ที่เขียนก่อนหน้านั้นเพียงน้อยกว่าสิบปีสำหรับชาเปลในซันตามาเรียเดลโปโปโล ภาพของคารัคชีไม่ได้เขียนภาพการถึงแก่มรณกรรมแต่เป็นภาพ “แม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์” หรือการลอยขึ้นไปบนสวรรค์ ร่างเหมือนกับภาพเรอเนซองหรือบาโรกภาพอื่นๆ ที่ดูอ่อนกว่าสตรีที่มีอายุราวห้าสิบปีหรือกว่านั้นเมื่อถึงแก่มรณกรรม[2] ผู้ร่วมสมัยกล่าวหาการาวัจโจว่าใช้โสเภณีเป็นแบบสำหรับพระแม่มารีย์

เมื่อเขียนเสร็จภาพเขียนถูกปฏิเสธไม่ให้ตั้งในวัดโดยนักบวชผู้กล่าวหาว่าเป็นภาพที่ไม่เหมาะกับการตั้งในชาเปล จูลีโอ มันชีนี (Giulio Mancini) ผู้ร่วมสมัยของการาวัจโจ บันทึกว่าสาเหตุที่ถูกปฏิเสธเป็นเพราะคาราวัจโจใช้โสเภณีมีชื่อเป็นแบบสำหรับพระแม่มารี;[3] แต่โจวันนี บากลีโอเน (Giovanni Baglione) ผู้ร่วมสมัยอีกคนหนึ่งกล่าวว่าเป็นเพราะการาวัจโจแสดงช่วงขาที่ออกจะเปิดเผยของพระแม่มารีย์[4] — ทั้งสองกรณีต่างก็อ้างมาตรฐานของสังคมในขณะนั้น แต่นักวิชาการคาราวัจโจ จอห์น แกชตั้งข้อเสนอว่าปัญหาของนักบวชคาร์เมไลท์อาจจะไม่ใช่ความพอใจหรือไม่พอใจในความสวยงามของภาพ แต่ข้อขัดแย้งมีรากฐานมาจากความแตกต่างทางมุมมองของปรัชญาศาสนา ที่นักบวชคาร์เมไลท์มีความเห็นว่าภาพของการาวัจโจละเลยความเชื่อในเรื่องแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ ที่ว่าพระแม่มารีย์มิได้ถึงแก่มรณกรรมอย่างธรรมดาแต่ถูก “นำ” (Assume) ขึ้นสวรรค์ ภาพเขียนที่นำมาแทนเป็นงานเขียนของผู้ติดตามของการาวัจโจเอง คาร์โล ซาราเชนิ (Carlo Saraceni) ซึ่งเป็นภาพพระแม่มารีย์ที่มิได้นอนเสียชีวิตเช่นในภาพของการาวัจโจแต่นั่งอยู่ แต่ภาพนี้ก็ยังถูกปฏิเสธ และในที่สุดก็แทนด้วยภาพที่พระแม่มารีย์ที่มิได้นอนหรือนั่งเสียชีวิตแต่ขึ้นสวรรค์พร้อมกับหมู่ทูตสวรรค์ แต่จะอย่างไรก็ตามการปฏิเสธก็ไม่ได้หมายความว่างานของคาราวัจโจไม่เป็นที่นิยม ไม่นานหลังจากที่ถูกปฏิเสธดยุกแห่งมานทัวก็ซื้อภาพตามคำแนะนำของปีเตอร์ พอล รูเบนส์ และต่อมาพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษก็ทรงซื้อต่อ ก่อนที่จะตกไปเป็นของงานสะสมของหลวงในฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1671 หลังจากที่ถูกปลงพระชนม์

อ้างอิง แก้

  1. สุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์, บาทหลวง, 50 คำถามเกี่ยวกับศาสนาคริสต์คาทอลิก, 2551, หน้า 100-3
  2. By the conventional chronology, Mary was about 48 at Pentecost, her last appearance in scripture. She was generally thought to have lived on for some years after this, though there was no generally accepted tradition for how long.
  3. Mancini: "Thus one can understand how badly some modern artists paint, such as those who, wishing to portray the Virgin Our Lady, depict some dirty prostitute from the Ortaccio, as Michelangelo da Caravaggio did in the Death of the Virgin in that painting for the Madonna della Scala, which for that very reason those good fathers rejected it, and perhaps that poor man suffered so much trouble in his lifetime."
  4. Baglione: "For the [church of] Madonna della Scala in Trastevere he painted the death of the Madonna, but because he had portrayed the Madonna with little decorum, swollen and with bare legs, it was taken away, and the Duke of Mantua bought it and placed it in his most noble gallery."
  • Hibbard, Howard (1983). Caravaggio. Harper and Rowe.

ดูเพิ่ม แก้

ภาพเขียนพระแม่มารีอื่นๆ ของคาราวัจโจ: