พระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ

พระเจ้าชาลส์ที่ 1[1] (อังกฤษ: Charles I; 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1600 — 30 มกราคม ค.ศ. 1649)[a] เป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรอังกฤษสมัยราชวงศ์สจวต รวมทั้งพระมหากษัตริย์แห่งสกอตแลนด์ และไอร์แลนด์ตั้งแต่ ค.ศ. 1625 กระทั่งทรงถูกสำเร็จโทษใน ค.ศ. 1649

พระเจ้าชาลส์ที่ 1
พระมหากษัตริย์อังกฤษและไอร์แลนด์
ครองราชย์27 มีนาคม 1625 – 30 มกราคม 1649
ราชาภิเษก2 กุมภาพันธ์ 1626
ก่อนหน้าเจมส์ที่ 1
ถัดไป
พระมหากษัตริย์แห่งชาวสกอต
ครองราชย์27 มีนาคม 1625 – 30 มกราคม 1649
ราชาภิเษก18 มิถุนายน 1633
ก่อนหน้าเจมส์ที่ 6
ถัดไปชาลส์ที่ 2
พระราชสมภพ19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1600
พระราชวังดันเฟิร์มลิน ดันเฟิร์มลิน ประเทศสกอตแลนด์
สวรรคต30 มกราคม ค.ศ. 1649(1649-01-30) (48 ปี)
ไวต์ฮอล เวสต์มินสเตอร์ ประเทศอังกฤษ
สาเหตุเสียชีวิตสำเร็จโทษด้วยการตัดพระเศียร
ฝังพระบรมศพ9 กุมภาพันธ์ 1649
โบสถ์น้อยเซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์ ประเทศอังกฤษ
คู่อภิเษกอ็องเรียต มารีแห่งฝรั่งเศส (สมรส 1625)
พระราชบุตร
องค์อื่น ๆ...
ราชวงศ์สจวต
พระราชบิดาเจมส์ที่ 6 และ 1
พระราชมารดาแอนน์แห่งเดนมาร์ก
ศาสนาโปรเตสแตนต์
ลายพระอภิไธย

พระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่สองในพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ พระองค์ทรงขัดแย้งทางอำนาจการเมืองกับรัฐสภาอังกฤษ ด้วยทรงดำริว่าการเป็นพระมหากษัตริย์เป็นอำนาจที่รับมอบหมายจากพระเจ้าโดยตรงตามปรัชญาเทวสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ ในขณะที่ฝ่ายรัฐสภาต้องการลดพระราชอำนาจของพระองค์ พระองค์ทรงถูกต่อต้านจากประชาชน เนื่องจากการเข้าแทรกแซงในคริสตจักรแห่งอังกฤษและสกอตแลนด์ รวมทั้งการจัดเก็บภาษีโดยปราศจากการอนุมัติจากรัฐสภา ซึ่งทำให้พระองค์ทรงถูกมองว่าเป็นทรราชในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

นอกจากความขัดแย้งทางอำนาจแล้วก็ยังมีความขัดแย้งทางศาสนาด้วย รวมทั้งความล้มเหลวในการสนับสนุนกองกำลังโปรเตสแตนต์ระหว่างสงครามสามสิบปี ประกอบกับการอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเฮนเรียตตา มาเรียแห่งฝรั่งเศสซึ่งนับถือนิกายโรมันคาทอลิก ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจร้าวลึกเกี่ยวกับสิทธันต์ของพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงเป็นพันธมิตรกับผู้นำทางศาสนาที่มีความขัดแย้ง รวมทั้งริชาร์ด มอนทากีว (Richard Montagu) และวิลเลียม ลอด ผู้ที่พระองค์ทรงแต่งตั้งให้เป็นอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ซึ่งทำให้ข้าราชสำนักมีเกรงว่าพระองค์ได้ทรงนำคริสตจักรแห่งอังกฤษเข้าใกล้นิกายโรมันคาทอลิกมากเกินไป ในภายหลังพระเจ้าชาลส์ยังทรงพยายามทรงบังคับให้เกิดการปฏิรูปทางศาสนาในสกอตแลนด์จนกระทั่งนำไปสู่สงครามของบิชอป ซึ่งทำให้รัฐสภาอังกฤษมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น และเป็นปัจจัยที่ทำให้พระองค์สูญเสียพระราชอำนาจในที่สุด

ช่วงบั้นปลายชีวิต พระองค์ทรงเผชิญกับสงครามกลางเมืองอังกฤษ ซึ่งเป็นการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามอันประกอบด้วยรัฐสภาอังกฤษและสกอตแลนด์ ผู้ซึ่งท้าทายความพยายามมีอำนาจเหนือและปฏิเสธอำนาจของรัฐสภา ในเวลาเดียวกับที่ได้ชักจูงกลุ่มปรปักษ์ต่อนโยบายทางการศาสนาของพระองค์ที่เอนเอียงไปทางโรมันคาทอลิก เช่น กลุ่มพิวริตัน พระเจ้าชาลส์ทรงพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมืองครั้งแรก (ค.ศ. 1642–1645) โดยฝ่ายรัฐสภาหวังว่าจะพระองค์ทรงยอมรับข้อเรียกร้องให้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่ทรงยอมรับและยังทรงไปสร้างพันธมิตรกับสกอตแลนด์และหนีไปเกาะไวท์ อันนำไปสู่สงครามกลางเมืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง (ค.ศ. 1648–1649) พระองค์ทรงพ่ายแพ้อีกครั้งหนึ่ง ทรงถูกจับกุมและถูกตัดสินสำเร็จโทษในข้อหากบฏต่อแผ่นดิน ระบอบราชาธิปไตยของอังกฤษจึงถูกยุบเลิก และเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ โดยมีการประกาศก่อตั้งเครือจักรภพอังกฤษแทนที่ บ้างก็เรียกว่าสมัยอังกฤษไร้พระมหากษัตริย์ เมื่อสมัยการปกครองของริชาร์ด ครอมเวลล์สิ้นสุดลง พระราชโอรสของพระเจ้าชาร์ลส์ พระเจ้าชาลส์ที่ 2 ทรงขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อีก ภายหลังการฟื้นฟูราชาธิปไตย ใน ค.ศ. 1660 ในปีเดียวกัน

เบื้องต้น

แก้
 
ภาพพิมพ์ลายแกะของชาลส์กับพระราชบิดามารดาโดย Simon de Passe, ป. ค.ศ. 1612

พระเจ้าชาลส์ที่ 1 เป็นพระราชโอรสองที่สองในพระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ และพระนางแอนน์แห่งเดนมาร์ก เสด็จพระราชสมภพที่พระราชวังดันเฟิร์มลิน (Dunfermline Palace) ในไฟฟ์ สกอตแลนด์ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1600[2] พระองค์ทรงผ่านพิธีบัพติศมาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1600 โดยบิชอปแห่งรอส ในพระราชพิธีซึ่งจัดขึ้นที่พระราชวังฮอลีรูด และทรงได้รับพระอิสริยยศดยุกแห่งออลบานี เอิร์ลแห่งออร์มอนด์ เอิร์ลแห่งรอส และลอร์ดอาด์มันนอค[3]

เมื่อยังทรงพระเยาว์ทรงเป็นเด็กที่ค่อนข้างอ่อนแอและขี้โรค เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 เสด็จสวรรคตในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1603 พระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ก็ได้ขึ้นครองราชบังลังก์อังกฤษเป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ชาลส์ทรงถูกพิจารณาว่าไม่แข็งแรงพอที่จะทรงรอดชีวิตจากการเดินทางมายังกรุงลอนดอน เนื่องจากสุขภาพที่อ่อนแอ[4] พระองค์ยังทรงประทับอยู่ที่สกอตแลนด์ ในขณะที่ครอบครัวทั้งหมดออกเดินทางไปอังกฤษเมื่อเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1603 โดยอเล็กซานเดอร์ เซตอน เอิร์ลที่ 1 แห่งดันเฟิร์มลิน ประธานศาลสูงสุดแห่งสกอตแลนด์ พระสหายของพระบิดา ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองของพระราชโอรส[5]

ใน ค.ศ. 1604 ชาร์ลส์ทรงมีอายุได้ 3 ปีครึ่ง และทรงสามารถดำเนินตามความยาวของห้องโถงใหญ่แห่งดันเฟิร์มลินได้ด้วยพระองค์เอง จึงพิจารณาว่าพระองค์ทรงมีความแข็งแรงมากพอที่จะเดินทางไปยังอังกฤษเพื่อสมทบกับสมาชิกครอบครัวพระองค์อื่น ๆ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1604 ชาร์ลส์ออกเดินทางจากดันเฟิร์มไลน์ไปยังอังกฤษ ที่ซึ่งพระองค์ทรงใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่เหลือของพระองค์[6] ในอังกฤษ พระองค์ทรงอยู่ภายใต้การดูแลของอัลเล็ตตา (โฮเก็นโฮฟ) แครีย์ ภรรยาชาวดัทช์โดยดำเนิดของข้าราชสำนัก เซอร์โรเบิร์ต แครีย์ (Robert Carey) ผู้สอนให้ดำเนินและตรัส และย้ำให้พระองค์ทรงรองเท้าบูทที่ทำจากหนังสเปนที่เสริมด้วยทองเหลืองเพื่อช่วยพยุงข้อเท้าที่อ่อนแอของพระองค์[7]

 
พระบรมสาทิสลักษณ์โดย Robert Peake, ป. ค.ศ. 1611

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1605 ชาลส์ทรงได้รับพระราชทานอิสริยศขึ้นเป็นดยุกแห่งยอร์ก ซึ่งเป็นตำแหน่งสำหรับพระราชโอรสองค์ที่สองของพระเจ้าแผ่นดิน และได้รับ[เครื่องราชอิสริยาภรณ์บาธ ชั้นอัศวิน[8] ทอมัส เมอร์รีย์ ชาวสกอตเพรสไบทีเรียน ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ฝึกสอน[9] ชาลส์ทรงเรียนรู้วิชาคลาสสิก ภาษา คณิตศาสตร์ และศาสนาตามปกติ[10] ใน ค.ศ. 1611 พระองค์ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เทอร์ ชั้นอัศวิน[11]

ท้ายที่สุด ชาลส์ดูเหมือนจะพิชิตความอ่อนแอทางกายภาพของพระองค์ได้[11] ซึ่งอาจเนื่องมาจากโรคกระดูกอ่อน[7] พระองค์กลายเป็นนักขี่ม้าและนักแม่นปืนที่เชี่ยวชาญ และเข้าฟันดาบ[10] ถึงกระนั้น ชาร์ลส์ไม่ทรงมีลักษณะเป็นที่นิยมเท่ากับเฮนรี เฟรเดอริก เจ้าชายแห่งเวลส์ พระเชษฐาที่แข็งแรงและสูงกว่า[b] ผู้ซึ่งชาลส์ทรงมีความนิยมในตัวของพระองค์และพยายามเลียนแบบพระลักษณะของเชษฐา[13] แต่ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1612 เฮนรีสิ้นพระชนม์โดยสงสัยว่าเป็นไข้รากสาดน้อย (หรืออาจเป็นโรคผีดูดเลือด) เมื่อพระชนมายุได้ 18 พรรษา[14] ชาลส์ผู้จะมีชนมายุได้ 12 พรรษาเพียง 2 สัปดาห์ กลายเป็นรัชทายาทไปโดยปริยาย เนื่องจากพระองค์เป็นพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์ที่ยังมีพระชนม์อยู่ พระองค์จึงทรงได้รับแต่งตั้งพระอิสรริยยศเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก รวมทั้ง ดยุกแห่งคอร์นวอลล์และดยุกแห่งรอธซี พระองค์ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์และเอิร์ลแห่งเชสเตอร์ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1616 [15]

ทายาทผู้มีสิทธิโดยตรง

แก้

ใน ค.ศ. 1613 พระขนิษฐาของพระองค์ เอลิซาเบธ (Elizabeth of Bohemia) ทรงเสกสมรสกับเฟรเดอริกที่ 5 ผู้คัดเลือกแห่งพาลาทิเนตและทรงย้ายตามพระสวามีไปประทับที่ไฮเดลบูร์ก[16] จากนั้นใน ค.ศ. 1617 จักรพรรดิเฟอร์ดินานด์ที่ 2 ผู้ทรงนับถือนิกายโรมันคาทอลิก ทรงได้รับเลือกให้เป็นพระมหากษัตริย์แห่งโบฮีเมีย ในปีต่อมา ประชาชนโบฮีเมียก่อกบฏต่อพระมหากษัตริย์ของตน และเลือกที่จะให้เฟรเดอริกที่ 5 แห่งพาลาทิเนตเป็นพระมหากษัตริย์และหัวหน้าสหภาพโปรเตสแตนต์แทน การยอมรับมงกุฎของเฟรเดอริกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1619 นำไปสู่ความยุ่งยากซึ่งพัฒนาจนกลายมาเป็นสงครามสามสิบปี ความขัดแย้งดังกล่าวก่อให้เกิดรอยประทับอันยิ่งใหญ่ต่อรัฐสภาอังกฤษและต่อสาธารณชน ผู้ซึ่งมองว่าในยุโรปภาคพื้นทวีป เกิดการต่อสู้แบ่งฝ่ายระหว่างคาทอลิกและโปรเตสแตนต์[17] ใน ค.ศ. 1620 พระเจ้าเฟรเดอริกทรงพ่ายแพ้ในยุทธการที่ภูเขาขาวใกล้ปราก และดินแดนในรัฐผู้คัดเลือกฟัลทซ์ถูกกองทัพฮาพส์บวร์ครุกรานจากเนเธอร์แลนด์ของสเปน[18] เจมส์ ผู้สนับสนุนของพระเจ้าเฟรเดอริก และได้มองหาการเสกสมรสระหว่างเจ้าชายแห่งเวลส์พระองค์ใหม่ และพระราชธิดาแห่งพระเจ้าแผ่นดินสเปน มาเรีย อันนาแห่งสเปน นับตั้งแต่การสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายเฮนรี เริ่มจะมองว่าการจับคู่แบบสเปนเป็นหนทางที่เป็นไปได้ในการบรรลุสันติภาพในทวีปยุโรป[19]

 
พระเจ้าชาลส์และพระนางเฮนเรียตตา มาเรีย โดยแอนโทนี แวน ไดค์

โชคไม่ดีสำหรับเจมส์ การเจรจาสันติภาพทางการทูตดังกล่าวกับสเปนพิสูจน์ว่าไม่ได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้งต่อสาธารณชนและต่อศาลของเจมส์[20]

ชาลส์ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจอร์จ วิลเลียร์ส ดยุกที่ 1 แห่งบักกิงแฮม[21] ข้าราชสำนักคนโปรดของพระราชบิดา ทั้งสองเดินทางไปสเปนเป็นการส่วนตัวในปี ค.ศ. 1623 เพื่อไปพยายามทำความตกลงที่ยืดเยื้อมานานในการเสนอการแต่งงานระหว่างชาร์ลส์เองและเจ้าหญิงมาเรียแอนนาแห่งสเปนพระราชธิดาของพระเจ้าเฟลีเปที่ 3 แห่งสเปน แต่ก็ไม่ทรงประสบความสำเร็จเพราะทางฝ่ายสเปนยื่นคำขาดให้ชาลส์เปลื่ยนไปนับถือนิกายโรมันคาทอลิกและประทับในประเทศสเปนปีหนึ่งหลังจากการเสกสมรสเพื่อเป็นตัวประกันในการทำตามข้อตกลงระหว่างอังกฤษและสเปนตามสนธิสัญญาที่อาจจะตกลงกัน ชาลส์พิโรธต่อเงื่อนไขของสเปนและหลังจากที่เสด็จกลับจากสเปน ชาลส์และดยุกแห่งบักกิงแฮมก็เรียกร้องให้พระเจ้าเจมส์ประกาศสงครามกับสเปน

โดยการหนุนหลังของที่ปรึกษานิกายโปรเตสแตนต์ พระเจ้าเจมส์ทรงเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อขอให้รัฐสภาอนุมัติทุนในการทำสงครามกับสเปน และทรงขอให้รัฐสภาอนุมัติการเสกสมรสระหว่างชาลส์และเจ้าหญิงเฮนเรียตตา มาเรียแห่งฝรั่งเศส ผู้ที่ชาลส์ทรงพบปะคุ้นเคยที่ปารีสระหว่างที่ทรงเดินทางไปสเปน ซึ่งเป็นคู่หมายที่เหมาะเพราะเจ้าหญิงเฮนเรียตตา มาเรียเป็นพระขนิษฐาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 แห่งฝรั่งเศส ผู้เป็นพระราชโอรสธิดาของพระเจ้าอ็องรีที่ 4 แห่งฝรั่งเศส รัฐสภาตกลงอนุมัติการอภิเษกสมรสแต่วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อความพยายามในการจับคู่กับสเปนก่อนหน้านั้น พระสติสัมปชัญญะของพระเจ้าเจมส์เองก็เริ่มเสื่อมลงและทรงมีความรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมรัฐสภาได้ซึ่งเป็นปัญหาที่ชาลส์เองก็มาทรงประสพเมื่อทรงขึ้นครองราชย์ต่อมา ในปีสุดท้ายอำนาจทางการเมืองของพระเจ้าเจมส์ก็ตกไปอยู่ในมือของพระโอรสและดยุกแห่งบักกิงแฮม

พระลักษณะนิสัยและความสามารถของชาร์ลส์แตกต่างเป็นอย่างมากจากพระราชบิดาและทรงขาดประสกการณ์ทางด้านการปกครอง ทั้งสองพระองค์มีความเชื่อมั่นในระบอบเทวสิทธิ์ (Divine Right) แต่พระเจ้าเจมส์ทรงฟังความเห็นของข้าแผ่นดินและทรงพยายามประนีประนอมและทรงยอมรับการตัดสินโดยเสียงส่วนมาก ชาร์ลส์มีพระนิสัยขึ้อายแต่ขณะเดียวกันก็มีพระนิสัยดื้อรั้น ความคิดเห็นแรง พระทัยเด็ดเดี่ยว ชอบปะทะความคิดเห็นโดยไม่เลี่ยง นอกจากนั้นยังทรงเชื่อว่าความคิดเห็นของพระองค์เองเท่านั้นที่ถูก ทรงเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องประนีประนอมหรือต้องอธิบายนโยบายของพระองค์เองให้ใครฟังเพราะทรงขึ้นอยู่กับพระเจ้าเท่านั้นหรือผู้ที่อยู่เหนือพระองค์มีเพียงผู้เดียวเท่านั้น--พระเจ้า พระดำรัสที่เป็นที่รู้จักคือ “พระมหากษัตริย์ไม่ต้องให้คำอธิบายในพระราชกรณียกิจที่ทรงกระทำต่อผู้ใดนอกไปจากพระเจ้าเท่านั้น”, “ข้าพเจ้าจะแสดงในสิ่งที่ข้าพเจ้าจจะพูดจากการกระทำของข้าพเจ้า” พระราชกรณียกิจต่างๆ ทำให้ถูกตีความไปในทางที่ผิดและเกิดความกลัวกันว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์แบบเผด็จการมาตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 1626

ต้นรัชสมัย

แก้
 
ภาพเหมือนพระเจ้าชาลส์ที่ 1 เขียนโดยแอนโทนี แวน ไดค์เมื่อเดียนเมษายน ค.ศ. 1634
 
ภาพเหมือน “พระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ” มองจากสามมุมที่รู้จักกันในชื่อ “Triple Portrait” โดย แอนโทนี แวน ไดค์
 
พระเจ้าชาลส์และพระนางเฮนเรียตตา มาเรียกับพระราชโอรสองค์โตสองพระองค์เจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์และเจมส์ ดยุกแห่งยอร์ก

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1625 พระเจ้าชาลส์ทรงอภิเษกสมรสทางฉันทะกับเจ้าหญิงเฮนเรียตตา มาเรียแห่งฝรั่งเศสผู้มีพระชันษาอ่อนกว่าพระองค์ 9 พรรษา ในการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม สมาชิกสภาหลายคนคัดค้านกับการอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงเฮนเรียตตา มาเรียผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิก เพราะความหวาดระแวงที่ว่าพระเจ้าชาลส์จะทรงผ่อนผันกฎหมายที่มีผลบังคับต่อผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งเป็นการทำให้สถาบันการปกครองภายในการนำของผู้นับถือนิกายโปรเตสแตนต์อ่อนแอลง ถึงแม้ว่าพระเจ้าชาลส์จะทรงประกาศต่อรัฐสภาว่าจะไม่ทรงผ่อนผันกฎหมายที่เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิของผู้นับถือลัทธิศาสนาที่ต่างกับศาสนาของรัฐบาล (Recusancy) แต่ในทางส่วนพระองค์แล้วกลับทรงหันไประบุนโยบายที่ตรงกันข้ามกับที่ทรงประกาศต่อรัฐสภาเป็นการลับๆ ในสนธิสัญญาการแต่งงานที่ทำกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 แห่งฝรั่งเศส พระเจ้าชาลส์ทรงเสกสมรสกับเจ้าหญิงอ็องเรียต มารีอีกครั้งเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1625 ที่มหาวิหารแคนเทอร์เบอรี และทรงทำพิธีราชาภิเษกเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1626 ที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ แต่มิได้มีเจ้าหญิงเฮนเรียตตา มาเรียพระชายาเข้าร่วมพิธี อาจจะเป็นได้ว่าทรงกลัวว่าถ้าเสด็จก็จะกลายเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ชาร์ลส์และเฮนเรียตตา มาเรียมีพระโอรสธิดาด้วยกัน 9 พระองค์ 6 พระองค์รอดชีวิตมาจนโต

ความไม่ไว้วางใจในพระราชนโยบายทางศาสนาของรัฐสภายิ่งเพิ่มมากขึ้นในกรณีที่พระเจ้าชาร์ลส์ทรงสนับสนุนนโยบายทางศาสนาต่าง ๆ ที่ไม่ตรงกับนโยบายโดยทั่วไปของรัฐสภา กรณีที่ว่าเกิดขึ้นเมื่อริชาร์ด มอนทากีวแจกจ่ายใบปลิวออกความเห็นค้านกับคำสอนของจอห์น คาลวิน (John Calvin) มอนทากีวจึงกลายเป็นศัตรูโดยตรงของกลุ่มพิวริตัน หลังจากที่จอห์น พิม (John Pym) สมาชิกสภาสามัญกล่าวโจมตีใบปลิวของมอนทากีวระหว่างการประชุมสภา มอนทากีวก็ขอให้พระเจ้าชาร์ลส์ช่วย ใบปลิวฉบับต่อมาชื่อ "ข้ายื่นคำร้องต่อซีซาร์" (Appello Caesarem) ซึ่งมีความหมายเป็นนัยถึงการยื่นคำร้องของนักบุญเปาโลอัครทูตต่อซีซาร์ให้หยุดยั้งการทำร้ายชาวยิว[22] พระเจ้าชาร์ลส์จึงพระราชทานความช่วยเหลือด้วยการทรงแต่งตั้งให้มอนทากีวเป็นนักบวชประจำราชสำนักคนหนึ่ง ซึ่งยิ่งทำให้กลุ่มเพียวริตันไม่พอใจหนักขึ้นและเพิ่มความไม่ไว้วางใจในนโยบายทางศาสนาของพระองค์มากขึ้น

สิ่งสำคัญที่พระเจ้าชาร์ลส์ทรงกังวลเมื่อต้นรัชสมัยคือนโยบายต่างประเทศ สงครามสามสิบปีที่เดิมต่อสู้กันเฉพาะในบริเวณโบฮีเมียเริ่มขยายตัวมาเป็นสงครามระหว่างผู้นับถือนิกายโปรเตสแตนต์และผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกในยุโรป ในปี ค.ศ. 1620 พระเจ้าเฟรเดอริกที่ 5 (Frederick V, Elector Palatine) พระสวามีของพระนางเอลิซาเบธพระขนิษฐาสูญเสียดินแดนให้กับจักรพรรดิแฟร์ดีนันด์ที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าชาลส์จึงทรงสัญญาจะช่วยยึดดินแดนคืนโดยการประกาศสงครามกับสเปน เพราะทรงหวังจะบังคับให้พระเจ้าเฟลีเปที่ 4 แห่งสเปนเข้าร่วมสงครามเพื่อสนับสนุนพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 5 ในฐานะกษัตริย์โรมันคาทอลิกด้วยกัน

ในการเข้าร่วมสงครามครั้งนี้รัฐสภาประสงค์จะใช้วิธีที่ใช้ค่าใช้จ่ายน้อยกว่าโดยการโจมตีทางเรือในอาณานิคมของสเปนในทวีปอเมริกาเพื่อที่จะยึดกองเรือที่สเปนใช้ในการบรรทุกสมบัติที่ไปขนมาจากอเมริกาเพื่อจะนำมาเป็นทุนในการทำสงคราม แต่พระเจ้าชาร์ลส์มีพระประสงค์ที่จะทำสงครามแบบเผชิญหน้ากับสเปนโดยตรงในยุโรป ซึ่งเป็นนโยบายการสงครามที่สิ้นเปลืองงบประมาณมากกว่าวิธีที่รัฐสภาเสนอ รัฐสภาจึงอนุมัติงบประมาณในการทำสงครามเพียง £140,000 ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่น้อยกว่าที่พระเจ้าชาร์ลส์ทรงเรียกร้อง นอกจากนั้นสภาสามัญก็ยังจำกัดสิทธิส่วนพระองค์ในการเก็บ “ภาษีตันภาษีปอนด์” (Tonnage and Poundage) เป็นเวลาหนึ่งปี ซึ่งตามปกติแล้วสิทธินี้เป็นสิทธิที่พระมหากษัตริย์ก่อนปี ค.ศ. 1414 มีสิทธิเรียกเก็บได้ตลอดพระชนม์ชีพ การออกข้อบังคับนี้ทำให้รัฐสภาสามารถควบคุมการใช้จ่ายของพระเจ้าชาลส์โดยการบังคับให้พระองค์ต้องต่อสัญญาการเก็บภาษีดังว่าทุกปี แต่สภาขุนนางที่นำโดยดยุกแห่งบัคคิงแฮมคัดค้านเข้าข้างพระเจ้าชาร์ลส์โดยการไม่ยอมผ่านกฎหมายที่ว่า แต่แม้ว่าตามกฎหมายแล้วพระเจ้าชาร์ลส์ไม่ทรงได้รับการอนุญาตให้เก็บภาษีตันภาษีปอนด์แต่ก็ยังทรงเก็บภาษีตามที่เคยมา

สงครามกับสเปนสิ้นสุขลงด้วยความล้มเหลวเพราะความขาดสมรรถภาพในการเป็นผู้นำของดยุกแห่งบักกิงแฮมในฐานะผู้นำทางการทหาร แต่ไม่ว่ารัฐสภาจะประท้วงอย่างใดพระเจ้าชาร์ลส์ก็ไม่ทรงยอมปลดดยุกแห่งบัคคิงแฮมออก และทรงหันกลับไปยุบสภาแทนที่ นอกจากนั้นก็ยังทรงพยายามก่อความขัดแย้งเพิ่มขึ้นโดยเสนอการ “กู้เงินแบบบังคับ” ซึ่งเป็นการเรียกเก็บภาษีโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา แม้ว่าจะทรงมีความสำเร็จในการเก็บภาษีอยู่บ้างแต่เงินที่ได้มาก็ไปถูกเผาผลาญหมดกับการสงครามอีกสงครามหนึ่งที่นำโดยดยุกแห่งบัคคิงแฮมอีกเช่นกัน เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ทรงเรียกประชุมรัฐสภาอีกครั้งในปี ค.ศ. 1628 รัฐสภาก็ยื่นคำร้องขอสิทธิฟ้องร้องรัฐซึ่งเป็นคำร้องที่เรียกร้องให้พระเจ้าชาร์ลส์ทรงยอมรับว่าพระองค์ไม่มีสิทธิในการเรียกเก็บภาษีโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา; ในการออกกฎอัยการศึก; จำขังประชาชนโดยไม่มีการพิจารณาทางศาล; หรือใช้ที่พักของประชาชนในการที่พำนักของกองทหาร พระเจ้าชาลส์ทรงยอมรับตามคำเรียกร้องแต่ก็ยังทรงยืนยันว่าสิทธิในการเก็บภาษีตันภาษีปอนด์เป็นสิทธิส่วนพระองค์ซึ่งรัฐบาลไม่มีสิทธิมีเสียง เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1628 ดยุกแห่งบัคคิงแฮมถูกลอบสังหาร ถึงแม้ว่าความตายของดยุกแห่งบัคคิงแฮมจะเป็นการทำให้สงครามยุติลงโดยปริยาย แต่ความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างพระเจ้าชาลส์และรัฐสภาในปัญหาเรื่องการเก็บภาษีและนโยบายทางศาสนาของพระองค์ก็มิได้ยุติลงตามไปด้วย [23]

ในเดือนมกราคมปี ค.ศ. 1629 พระเจ้าชาลส์ทรงเปิดสมัยประชุมครั้งที่สองของรัฐสภาที่ได้ถูกปิดไปเมื่อเดือนมิถุนายนปี ค.ศ. 1628 โดยมีพระราชดำรัสเรื่องภาษีศุลกากร “ภาษีตันภาษีปอนด์” สมาชิกสภาสามัญชนเริ่มมีเสียงต่อต้านในกรณีของโรลล์ โรลล์เป็นสมาชิกสภาสามัญผู้ถูกริบสินค้าเพราะไม่สามมารถจ่ายภาษีที่ว่าได้ สมาชิกสภาเห็นว่าการริบสินค้าเพราะการที่ไม่สามารถจ่ายค่าภาษีได้เป็นการฝ่าฝืนคำร้องสิทธิ[24] โดยอ้างว่าการไม่มีสิทธิในการจับกุมของพระองค์ที่ระบุในคำร้องสิทธิไม่จำกัดเฉพาะแต่การจับกุมบุคคลเท่านั้นแต่ครอบคลุมไปถึงสินค้าด้วย เมื่อพระเจ้าชาลส์พยายามเลื่อนการประชุมรัฐสภาในเดือนมีนาคม สมาชิกสภาก็บังคับให้เซอร์จอห์น ฟินช์ (Sir John Finch) นั่งเป็นประธานในการอ่านสภามติสามข้อ ข้อสุดท้ายระบุว่าผู้ใดที่จ่ายค่า “ภาษีตันภาษีปอนด์” ที่ไม่ได้รับอนุมัติจากรัฐสภาถือว่าเป็นผู้ทรยศต่อเสรีภาพของอังกฤษและเป็นศัตรูของชาติ แม้ว่ามติของสภาจะมิได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการแต่ก็มีสมาชิกหลายคนที่ยอมรับ การที่สมาชิกสภาสามัญถูกบังคับให้นั่งประชุมในรัฐสภาอาจจะเป็นการตีความหมายได้ว่าการเป็นปฏิปักษ์ต่อพระเจ้าชาลส์มิได้เป็นเสียงเดียวกันกันทั้งสภา แต่กระนั้นความขัดแย้งก็มีผลกระทบกระเทือนทางพระทัยต่อพระเจ้าชาร์ลส์ผู้มีพระราชโองการให้ยุบรัฐสภาในวันเดียวกัน[25][26] ทันทีหลังจากนั้นพระเจ้าชาร์ลส์ก็ทรงทำสัญญาสงบศึกกับฝรั่งเศสและสเปน ระหว่างสิบเอ็ดปีต่อมาพระองค์ก็ปกครองอังกฤษโดยไม่มีรัฐสภา สมัยนี้เป็นสมัยที่เรียกว่า “สมัยการปกครองส่วนพระองค์” (Personal Rule) หรือ “สมัยสิบเอ็ดปีแห่งความกดขี่” (Eleven Years' Tyranny)

ปัญหาทางเศรษฐกิจ

แก้

แม้ว่าพระเจ้าชาลส์จะทรงทำสัญญาสงบศึกกับฝรั่งเศสและสเปนแล้วพระองค์ก็ยังทรงต้องหารายได้เพื่อจะบำรุงพระคลังต่อไป เพื่อที่จะหารายได้เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องเรียกประชุมรัฐสภาพระเจ้าชาลส์ก็รื้อฟื้นพระราชบัญญัติเก่าชื่อ “Distraint of Knighthood” ที่ออกเมื่อ ค.ศ. 1279 ซึ่งระบุว่าผู้ไดที่มีรายได้ £40 ต่อปีขึ้นไปต้องมาปรากฏตัวต่อพระราชพิธีราชาภิเษกและถวายตัวเข้ารับราชการในราชสำนักเป็นขุนนาง พระเจ้าชาร์ลส์ทรงใช้พระราชบัญญัตินี้สืบหาตัวผู้ที่มีรายได้ตามที่ระบุแต่มิได้เข้าร่วมพระราชพิธีราชาภิเษกของพระองค์ในปี ค.ศ. 1626

ต่อมาพระเจ้าชาร์ลส์ทรงนำภาษีขุนนางเก่าที่เรียกว่า “ภาษีเรือ” (ship money) กลับมาเสนอใช้ซึ่งยิ่งทำให้เกิดความไม่พึงพอใจกันหนักขึ้น ภายใต้พระราชบัญญัติของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 และพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 การเก็บภาษีเรือเป็นการเก็บภาษีที่ใช้เรียกเก็บได้เฉพาะในยามสงคราม แต่พระเจ้าชาร์ลส์ทรงพยายามบังคับใช้กฎหมายนี้ในยามสงบ แม้ว่าการเก็บภาษีเรือครั้งแรกที่ประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1634 มิได้ทำให้เกิดปัญหาเท่าใดนัก แต่เมื่อทรงประกาศเก็บอีกสองครั้งในปี ค.ศ. 1635 และปี ค.ศ. 1636 ก็เริ่มทำให้มีผู้เป็นปฏิปักษ์มากขึ้นเพราะเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าการเก็บภาษีเรือในยามสงบเป็นสิ่งที่ยกเลิกกันไปแล้ว มีผู้พยายามต่อต้านการจ่ายภาษีแต่ทางสำนักพระราชวังอ้างว่าการเก็บภาษีเป็นสิทธิส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ การเก็บภาษีเรือในยามสงบเป็นปัญหาใหญ่ที่เป็นที่น่าวิตกในบรรดาชนชั้นปกครอง

“สมัยการปกครองส่วนพระองค์” มาสิ้นสุดลงเมื่อมีการพยายามบังคับของอังกลิคันและการบังคับใช้หนังสือสวดมนต์แบบอาร์มิเนียน (Arminianism) ภายใต้การนำของวิลเลียม ลอด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ในที่สุดทำให้เกิดการปฏิวัติในสกอตแลนด์ในปี ค.ศ. 1640[27]

ความขัดแย้งทางศาสนา

แก้

พระเจ้าชาลส์มีพระประสงค์ที่จะแยกคริสตจักรแห่งอังกฤษให้ใกลจากลัทธิคาลวิน (Calvinism) ไปทางที่ใช้ระบอบประเพณีทางศาสนาเช่นที่ใกล้เคียงกับธรรมเนียมโบราณมากขึ้นกว่าที่ปฏิบัติกันในลัทธิคาลวิน[28] พระประสงค์นี้ได้รับการสนับสนุนโดยอาร์ชบิชอปวิลเลียม ลอดที่ปรึกษาทางการเมืองส่วนพระองค์ ผู้ได้รับการแต่งตั้งโดยพระองค์ให้เป็นอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ในปี ค.ศ. 1633[29][30] และทรงริเริ่มการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ที่เป็นการพยายามเพิ่มอำนาจให้แก่คริสตจักรแห่งอังกฤษมากขึ้น อาร์ชบิชอปลอดพยายามทำให้สถาบันศาสนาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยการปลดนักบวชที่เป็นปฏิปักษ์ต่อนโยบายและปิดองค์การต่างๆ ของพิวริตัน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นการต่อต้านนโยบายการปฏิรูปศาสนาของประชาชนทั้งในราชอาณาจักรอังกฤษและราชอาณาจักรสกอตแลนด์ พระราชนโยบายของพระองค์เป็นนโยบายที่ค้านกับปรัชญาของลัทธิคาลวินที่ต้องการให้นิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ทำพิธีศาสนาเช่นที่ระบุไว้ใน “หนังสือสวดมนต์สามัญ” (Book of Common Prayer) นอกไปจากนั้นอัครบาทหลวงลอดก็ยังนิยมคริสต์ศาสนปรัชญาของลัทธิอาร์มิเนียนนิสม์ (Arminianism) ของจาโคบัส อาร์มิเนียส (Jacobus Arminius) ซึ่งเป็นปรัชญาที่ผู้เคร่งครัดในลัทธิคาลวินถือว่าแทบจะเป็นปรัชญา “โรมันคาทอลิก”

 
อาร์ชบิชอปวิลเลียม ลอด

เพื่อจะเป็นควบคุมผู้เป็นปฏิปักษ์อาร์ชบิชอปวิลเลียม ลอดตั้งระบบศาลที่เป็นที่น่ายำเกรงขึ้นสองศาล “Court of High Commission” และ “Court of Star Chamber” เพื่อใช้ในการลงโทษผู้ที่ไม่ยอมรับการปฏิรูปของท่าน ศาลแรกมีอำนาจที่จะบังคับให้ผู้ถูกกล่าวหาให้การที่ให้ความเสียหายต่อตนเอง ศาลหลังมีอำนาจออกบทลงโทษใดๆ ก็ได้รวมทั้งการทรมานยกเว้นแต่เพียงการประหารชีวิตเท่านั้น

อำนาจเหนือกฎหมายของ “Court of Star Chamber” ในรัชสมัยของพระเจ้าชาลส์เป็นอำนาจที่เหนือกว่าอำนาจใด ๆ ที่เคยใช้กันมาก่อนในรัชสมัยของพระองค์ ภายในรัชสมัยของพระองค์ผู้ถูกกล่าวหามักจะถูกลากตัวขึ้นศาลโดยไม่มีข้อกล่าวหาใด ๆ และไม่มีสิทธิในการคัดค้านข้อกล่าวหาใด ๆ ทั้งสิ้นด้วย นอกจากนั้นคำให้การที่ได้มาก็มักจะได้มาจากการทรมาน

ปีแรกของ “สมัยการปกครองส่วนพระองค์” เป็นสมัยที่บ้านเมืองค่อนข้างจะสงบเพราะรัฐบาลควบคุมอย่างขันแข็ง ก็มีอยู่บ้างที่มีผู้ที่แข็งข้อต่อการเก็บภาษีของพระเจ้าชาร์ลส์หรือนโยบายของอัครบาทหลวงวิลเลียม ลอด เช่นในปี ค.ศ. 1634 เมื่อเรือกริฟฟินที่พยายามบรรทุกผู้ลี้ภัยทางศาสนาที่จะเดินทางไปทวีปอเมริกาเช่นนักเทศน์พิวริตันแอนน์ ฮัทชินสัน (Anne Hutchinson) แต่โดยทั่วไปแล้วบ้านเมืองก็ไม่มีปัญหาที่ใหญ่โตอะไร แต่เมื่อพระเจ้าชาลส์ทรงพยายามดำเนินนโยบายทางศาสนาเช่นเดียวกันในสกอตแลนด์พระองค์ก็ได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรง เมื่อมีพระราชโองการบังคับใช้หนังสือสวดมนต์คล้าย “หนังสือสวดมนต์สามัญ” ของอังกฤษในสกอตแลนด์ ซึ่งแม้ว่าพระราชโองการจะได้รับการสนับสนุนจากบาทหลวงในสกอตแลนด์แต่ก็ถูกต่อต้านโดยชาวสกอตแลนด์ที่เป็นเพรสไบทีเรียน (Presbyterian) ที่เห็นว่าหนังสือสวดมนต์เล่มใหม่เป็นเครื่องมือที่จะนำลัทธิอังกลิคันเข้ามายังสกอตแลนด์ เมื่อการประชุมทั่วไปของคริสตจักรแห่งสกอตแลนด์ปลดรัฐบาลเอพิสเคอเพเลียน (ระบบการปกครองโดยบิชอป) และแต่งตั้งรัฐบาลเพรสไบทีเรียน (ระบบการปกครองโดยเพรสไบเทอร์) พระเจ้าชาลส์ทรงเห็นว่าการกระทำนี้เป็นการเป็นปฏิปักษ์ต่อพระราชอำนาจของพระองค์

ในปี ค.ศ. 1639 เมื่อสงครามบาทหลวงครั้งแรก (Bishops' Wars) เกิดขึ้นพระเจ้าชาร์ลส์ก็ทรงพยายามเรียกเก็บภาษีเพื่อสนับสนุนการสงครามแต่ประชาชนไม่ยอม สงครามจบลงด้วยการลงนามในสัญญาสงบศึกสนธิสัญญาเบริค ค.ศ. 1639 (Treaty of Berwick (1639)) โดยพระเจ้าชาร์ลส์ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน ในสนธิสัญญาพระองค์พระราชทานพระราชานุญาตให้ประชาชนชาวสกอตแลนด์มีเสรีภาพในทางส่วนบุคคลและในทางศาสนา

การพ่ายแพ้ในสงครามบิชอปครั้งแรกทำให้พระเจ้าชาร์ลส์มีปัญหาทั้งทางการทหารและทางเศรษฐกิจและเป็นสาเหตที่ทำให้ “สมัยการปกครองส่วนพระองค์” ต้องสิ้นสุดลง เพราะสภาวะทางเศรษฐกิจอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่จนต้องทรงเรียกประชุมรัฐสภาในปี ค.ศ. 1640 เพื่อที่จะหาทุนเพิ่ม แม้ว่าชนชั้นปกครองในอังกฤษจะไม่พึงพอใจต่อการปกครองแบบราชาธิปไตยของพระเจ้าชาร์ลส์ในช่วงระยะเวลาสิบเอ็ดปีที่ผ่านมา แต่สาเหตุที่ทำให้ระบบการปกครองส่วนพระองค์ของพระองค์มาสิ้นสุดลงก็คือการปฏิวัติในสกอตแลนด์

“รัฐสภาสั้น” และ “รัฐสภายาว”

แก้
 
พระเจ้าชาลส์ราวคริสต์ทศวรรษ 1640

ความไม่ตกลงกันได้ในการตีความหมายของสนธิสัญญาสงบศึกระหว่างพระเจ้าชาลส์และคริสตจักรแห่งสกอตแลนด์ตามมาด้วยความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ทรงพระประสงค์จะหาเงินทุนเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาความสงบในสกอตแลนด์จากรัฐสภาแห่งอังกฤษ พระองค์ก็ทรงเรียกประชุมรัฐสภาในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1640 แม้ว่าพระเจ้าชาลส์จะทรงยอมยุบภาษีเรือและสภาสามัญชนจะอนุมัติให้เงินทุนในการทำสงคราม แต่สภาและพระองค์ก็ไม่สามารถตกลงกันกันได้ในเรื่องที่รัฐบาลเรียกร้องให้มีการเจรจากันในเรื่องการใช้อำนาจในทางที่ผิดระหว่าง “สมัยการปกครองส่วนพระองค์” ทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่ยอมแก่กัน พระเจ้าชาร์ลส์จึงทรงยุบรัฐสภาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1640 เพียงไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังจากที่ทรงเรียกประชุม รัฐสภานี้จึงเรียกกันว่า “รัฐสภาสั้น[31]

ขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงโจมตีสกอตแลนด์แต่ก็ทรงพ่ายแพ้อย่างยับเยินในสงครามบิชอปครั้งที่สอง ครั้งนี้ทรงลงนามในสนธิสัญญาริพพอน (Treaty of Ripon) ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1640 สนธิสัญญาระบุให้ทรงจ่ายค่าใช้จ่ายสำหรับกองทหารสกอตแลนด์ที่เพิ่งทรงต่อสู้ด้วย พระเจ้าชาลส์จึงทรงเรียกประชุม “magnum concilium” ซึ่งเป็นการเรียกประชุมองคมนตรีแบบโบราณที่มิได้ทำกันมาเป็นร้อยๆ ปีก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นองคมนตรีที่ประกอบด้วยขุนนางแห่งราชอาณาจักรที่มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ องคมนตรีก็ถวายคำปรึกษาให้พระองค์เรียกประชุมรัฐสภาอีกครั้ง ซึ่งต่างจากรัฐสภาครั้งก่อนที่มาเรียกกันว่า “รัฐสภายาว

รัฐสภายาวประชุมครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1640 ภายใต้การนำของจอห์น พิม (John Pym) แต่รัฐสภานี้ก็ยังเป็นรัฐสภาที่เป็นปัญหาแก่พระเจ้าชาร์ลส์พอ ๆ กับรัฐสภาสั้น แม้ว่าสมาชิกสภาสามัญชนจะคิดว่าตนเองเป็นสภาที่สนับสนุนระบบการปกครองโดยกษัตริย์และสถาบันศาสนา และช่วยป้องกันพระเจ้าชาลส์จากการปฏิรูปทางศาสนาและการใช้อำนาจในทางที่ผิดของที่ปรึกษาที่ใกล้ชิดของพระองค์ แต่พระเจ้าชาร์ลส์ไม่ทรงเห็นเช่นนั้นและทรงมีความเห็นว่าสมาชิกสภาเป็นปฏิปักษ์ต่อพระองค์และพยายามบ่อนทำลายพระราชอำนาจ

เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการยุบสภาโดยไม่มีการบอกกล่าวแก่สมาชิกขึ้นอีก รัฐสภาอนุมัติจึงพระราชบัญญัติการประชุมสภาสามปีต่อครั้ง (Triennial Act) ในเดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ. 1641 ที่ระบุว่ารัฐสภาต้องเข้าประชุมร่วมกันอย่างน้อยหนึ่งครั้งทุกสามปีและถ้าสภามิได้รับการเรียกประชุมจากพระมหากษัตริย์ในช่วงระยะเวลานั้น รัฐสภาก็สามารถเรียกประชุมด้วยตนเองได้ ในเดือนพฤษภาคมจอห์น พิมก็ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติที่ยิ่งทะเยอทะยานไปกว่าฉบับเดิมที่เสนอว่ารัฐสภาไม่สามารถถูกยุบได้ถ้าไม่รับการอนุมัติจากสมาชิกรัฐสภาเอง หลังจากนั้นพระเจ้าชาลส์ก็ทรงถูกบังคับให้ทรงยอมรับพระราชบัญญัติต่าง ๆ ฉบับแล้วฉบับเล่า เช่นทรงต้องยอมรับร่างพระราชบัญญัติการลงโทษ (Bill of attainder) ที่อนุมัติการประหารชีวิตของทอมัส เวนท์เวิร์ธ เอิร์ลแห่งสตราฟฟอร์ดที่ 1 และอาร์ชบิชอปวิลเลียม ลอด ส่วนภาษีเรือและการเก็บภาษีอื่น ๆ ของพระองค์ถูกประกาศว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ศาล “Court of High Commission” และ “Court of Star Chamber” ถูกสั่งยุบ แม้ว่าพระเจ้าชาลส์จะทรงยอมรับข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของรัฐสภา แต่สถานะการณ์ทางการทหารของพระองค์ก็เริ่มแข็งแรงขึ้นเมื่อทรงได้รับการสนับสนุนจากสกอตแลนด์หลังจากที่ทรงยอมให้สกอตแลนด์ก่อตั้งรัฐบาลเพรสไบทีเรียนซึ่งทำให้ทรงได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายที่ต่อต้านรัฐสภา

 
พระนางเฮนเรียตตา มาเรีย (ราว ค.ศ. 1633) โดยแอนโทนี แวน ไดค์

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1641 สภาสามัญอนุมัติบทร้องทุกข์ (Grand Remonstrance) ซึ่งลำดับรายการอันยาวเหยียดที่ร้องทุกข์เรื่องต่าง ๆ ที่เกิดจากการกระทำขององค์มนตรีหลายคนของพระเจ้าชาลส์ที่ใช้อำนาจในทางที่ผิดตั้งแต่ต้นรัชสมัย ความตึงเครียดยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อเกิดกบฏไอร์แลนด์ ค.ศ. 1641 (Irish Rebellion of 1641) ซึ่งเป็นการแข็งข้อต่ออำนาจการปกครองของชาวอังกฤษของผู้นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ รัฐสภาได้รับข่าวลือทีว่าพระเจ้าชาร์ลส์อาจจะทรงมีส่วนสนับสนุนผู้เป็นกบฏ ซึ่งทำให้รัฐสภาไม่ไว้วางใจเมื่อทรงพยายามรวบรวมกำลังเพื่อปราบกบฏเพราะกลัวว่าจะทรงใช้กองทหารที่ทรงพยายามรวบรวมในทางที่เป็นปรปักษ์ต่อรัฐสภาเองในอนาคต รัฐสภาจึงเสนอร่างพระราชบัญญัติทหารอาสาสมัคร (Militia Bill) เพื่อควบคุมอำนาจในการใช้กองทหารของพระเจ้าชาร์ลส์ แต่พระองค์ไม่ทรงยอมตกลง รัฐสภาจึงออกประกาศ “ปฏิญาณความภักดี” (The Protestation) เพื่อพยายามผ่อนคลายความตึงเครียด โดยการให้สมาชิกลงนามใน “ปฏิญาณความภักดี” ต่อพระเจ้าชาร์ลส์

แต่เมื่อมีข่าวลือว่ารัฐบาลจะสอบสวนพระราชินีเฮนเรียตตา มาเรียพระเจ้าชาร์ลส์ก็ทรงโต้ตอบทันที อาจจะเป็นไปได้ว่าพระราชินีเฮนเรียตตา มาเรียเป็นผู้ยุยงให้พระเจ้าองค์จับสมาชิกสภาสามัญชนห้าคนที่เป็นผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นอันตรายต่อพระเจ้าชาร์ลส์และตั้งข้อหาว่าเป็นกบฏต่อแผ่นดิน แต่สมาชิกสภารู้ข่าวผู้ถูกกล่าวหารู้ตัวเสียก่อนและหลบหนีไปทันก่อนที่พระเจ้าองค์จะเสด็จมา เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ทรงนำกองทหารมาถึงรัฐสภาเมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1642 ก็ทรงพบว่าสมาชิกสภาหนีกันไปหมดแล้วยกเว้น โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ที่มิได้หนีไปกับผู้อื่นแต่ก็เลี่ยงจากการถูกจับกุมได้ พระเจ้าชาลส์ทรงถามประธานสภา วิลเลียม เลนทาลล์ (William Lenthall) ว่าสมาชิกสภาหลบหนีกันไปไหนซึ่งเล็นทาลล์ให้คำตอบที่เป็นที่รู้จักกันว่า "ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้าไร้ซึ่งทั้งดวงตาและลิ้นเพื่อมองและกล่าวในที่นี้ ทว่า สภาอันข้าพระพุทธเจ้าเป็นข้ารับใช้นั้นได้นำพาข้าพระองค์มานี่ด้วยพระกรุณาธิคุณ" ("May it please your Majesty, I have neither eyes to see nor tongue to speak in this place but as the House is pleased to direct me, whose servant I am here.")[32] ซึ่งเท่ากับว่าเล็นทาลล์ประกาศตนเป็นผู้รับใช้รัฐสภาแทนที่จะเป็นพระมหากษัตริย์

เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นวิกฤตกาลที่ทำให้ระบบรัฐบาลของอังกฤษล้มเหลว หลังจากนั้นพระเจ้าชาลส์ก็ไม่ทรงมีความรู้สึกปลอดภัยพอที่จะประทับอยู่ในลอนดอนอีกต่อไปและทรงเริ่มเสด็จหลบหนีไปทางตอนเหนือของอังกฤษเพื่อไปรวบรวมกำลังเพื่อต่อต้านรัฐบาล พระราชินีอ็องเรียต มารีเองก็เสด็จไปแผ่นดินใหญ่ยุโรปเพื่อหาทุนในการทำสงคราม

สงครามกลางเมืองอังกฤษ

แก้
 
ยุทธการดันบาร์

สงครามกลางเมืองอังกฤษยังมิได้เกิดขึ้นแต่ทั้งสองฝ่ายก็เริ่มรวบรวมกองทหาร หลังจากการที่พระเจ้าชาลส์ไม่ทรงประสพความสำเร็จในการเจรจาพระองค์ก็ทรง “ยกธง” (raise the royal standard) ซึ่งเป็นพิธีโบราณที่หมายถึงการประกาศศึกที่นอตติงแฮมเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1642 และทรงตั้งราชสำนักที่เมืองออกซฟอร์ด ขณะที่รัฐบาลของพระองค์มีอำนาจควบคุมบริเวณทางเหนือและทางตะวันตกของอังกฤษ ฝ่ายรัฐสภามีอำนาจควบคุมกรุงลอนดอนและบริเวณทางใต้และตะวันออกของอาณาจักร พระเจ้าชาร์ลส์ทรงเกณฑ์ทหารด้วยวิธีโบราณที่เรียกว่า “พระราชกฤษฎีการะดมไพร่พล” ที่มอบอำนาจให้พระเจ้าแผ่นดินในการมีสิทธิเรียกเกณฑ์ทหารในการทำสงครามได้ สงครามกลางเมืองเริ่มต้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1642 ด้วยยุทธการเอ็ดจฮิลล์โดยไม่มีฝ่ายใดที่ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด หลังจากนั้นก็มีการปะทะกันต่อมาตลอดปี ค.ศ. 1643 และปี ค.ศ. 1644 จนถึงยุทธการเนสบีย์ (Battle of Naseby) ซึ่งฝ่ายรัฐสภาเป็นฝ่ายได้เปรียบ หลังจากนั้นฝ่ายสนับสนุนพระเจ้าชาลส์ก็พ่ายแพ้เรื่อยมาอีกหลายครั้ง จนกระทั่งถึงเหตุการณ์การล้อมเมืองอ็อกฟอร์ด (Siege of Oxford) ซึ่งต้องทำให้พระองค์ต้องทรงหลบหนีในเดือนเมษายน ค.ศ. 1646[33] ไปตกอยู่ในมือของกองทหารสกอตเพรสไบทีเรียนที่นิวอาร์ค และทรงถูกนำพระองค์ไปเซาท์เวลล์ที่ไม่ไกลจากนิวอาร์คเท่าใดนักในขณะที่ทหารสกอตพยายามตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับพระองค์ ในที่สุดกองทหารเพรสไบทีเรียนก็ตกลงกับรัฐสภาอังกฤษในการส่งตัวพระองค์คืนในปี ค.ศ. 1647 พระเจ้าชาลส์ทรงถูกจำขังอยู่ที่คฤหาสน์โฮลเด็นบี (Holdenby House) ในแคว้นนอร์แธมตันเชอร์ จนกระทั่งพลทหารจอร์จ จ็อยซ์ (George Joyce) บังคับนำตัวพระองค์ไปนิวมาร์เค็ตในแคว้นซัฟโฟล์ค ในนามของ “กองทัพตัวแบบใหม่” (New Model Army) ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น แต่ในขณะนั้นทั้งรัฐสภาและกองทัพตัวแบบใหม่ต่างก็ไม่มีความไว้วางใจกันซึ่งกันและกันซึ่งเป็นผลให้พระเจ้าชาร์ลส์ทรงพยายามหาประโยชน์จากความขัดแย้งนี้

หลังจากนั้นพระเจ้าชาร์ลส์ก็ทรงถูกย้ายตัวไปโอตแลนด์ (Oatlands) และต่อมาพระราชวังแฮมพ์ตัน (Hampton court) ที่ติดตามด้วยการเจรจาต่อรองกับรัฐสภาที่ไม่ประสพความสำเร็จหลายครั้ง พระองค์ทรงได้รับการยุยงว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพระองค์ในขณะนั้นคือการหนี — เช่นไปต่างประเทศเช่นฝรั่งเศสหรือไปอยู่ภายใต้การอารักของนายพันโรเบิร์ต แฮมมอนด์ (Robert Hammond) ผู้เป็นข้าหลวงฝ่ายรัฐสภาของเกาะไวท์[34] พระเจ้าชาลส์ทรงตัดสินพระทัยทำตามข้อแนะนำหลังโดยเสด็จไปเกาะไวท์เพราะทรงคาดการณ์ว่านายพันแฮมมอนด์จะเป็นฝ่ายสนับสนุนพระองค์ พระเจ้าชาร์ลส์จึงเสด็จหนีเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน[35] แต่นายพันแฮมมอนด์กลับเป็นปฏิปักษ์ต่อพระเจ้าชาลส์และนำพระองค์ไปจำขังไว้ที่ปราสาทคาริสบรุค (Carisbrooke Castle)[36] จากปราสาทพระองค์ก็ทรงพยายามเจรจาต่อรองกับหลายฝ่าย ในที่สุดก็ทรงตกลงกับกลุ่มสกอตเพรสไบทีเรียนในอังกฤษและสกอตแลนด์ให้เป็นระยะเวลาปลอดศึกอยู่ระยะหนึ่ง แต่ผู้สนับสนุนพระเจ้าชาร์ลส์ลุกขึ้นต่อสู้อีกครั้งหนึ่งในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1648 ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสงครามกลางเมืองอังกฤษครั้งที่ 2 แต่ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเพียงการต่อสู้อย่างย่อย ๆ ซึ่งก็ถูกปราบปรามโดยฝ่ายรัฐสภานอกจากการสู้รบที่เคนต์ เอสเซ็กส์ และคัมเบอร์แลนด์ ส่วนการสู้รบในเวลส์และการรุกรานของสกอตแลนด์ตามข้อตกลงของพระเจ้าชาลส์เป็นสงครามที่ยืดเยื้อกว่า แต่หลังจาการพ่ายแพ้ของสกอตแลนด์ในยุทธการเพรสตัน ค.ศ. 1648 (Battle of Preston 1648) ฝ่ายที่สนับสนุนพระเจ้าชาร์ลส์ก็พ่ายแพ้และพระองค์เองก็ทรงถูกจับกุม

พิจารณาโทษ

แก้
 
ภาพการพิจารณาคดีของพระเจ้าชาลส์เมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1649

พระเจ้าชาร์ลส์ทรงถูกย้ายไปประทับที่ปราสาทเฮิสท์ (Hurst Castle) ในปลายปี ค.ศ. 1648 และหลังจากนั้นที่พระราชวังวินด์เซอร์ หลังจากที่พระเจ้าชาร์ลส์ทรงต่อต้านรัฐสภาและทรงก่อความวุ่นวายต่าง ๆ ในระหว่างที่ทรงถูกจับคุมขังที่นำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองอังกฤษครั้งที่ 2 หลังสงครามกลางเมืองอังกฤษครั้งแรกฝ่ายรัฐสภายอมรับว่าการกระทำสงครามของพระองค์แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่ไม่ถูกแต่ก็ระบุว่ายังทรงมีอำนาจแต่อย่างจำกัดในการเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้การตกลงทางรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อทรงก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองครั้งที่ 2 ขณะที่ยังทรงถูกจำขังก็เหมือนเป็นประกาศว่าพระองค์ไม่ทรงสามารถร่วมมือกับฝ่ายรัฐสภาในการปกครองราชอาณาจักรและทรงเป็นผู้ก่อให้เกิดการนองเลือดโดยใช่เหตุ สภาสามัญชนจึงออกพระราชบัญญัติแต่งตั้ง “ศาลยุติธรรมสูงสุด” (The High Court of Justice) เพื่อพิจารณาคดีของพระเจ้าชาลส์ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1649

การพิจารณาคดีพระมหากษัตริย์เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้น ในกรณีที่มีปัญหาพระมหากษัตริย์องค์ก่อน ๆ ก็อาจจะถูกปลดแต่ไม่มีพระองค์ใดที่ถูกนำขึ้นศาล “ศาลยุติธรรมสูง” ที่ประกอบด้วยมาชิกด้วยกันทั้งสิ้น 135 คนแต่ในจำนวนนั้นมีเพียงครึ่งเดียวที่เคยนั่งศาล; การพิจารณาคดีนำโดย จอห์น คุค (John Cooke) ผู้มีตำแหน่งเป็น “อัยการสูงสุดแห่งอังกฤษและเวลส์”(Solicitor General for England and Wales)

ข้อกล่าวหาในการการพิจารณาคดีของพระเจ้าชาร์ลส์คือทรงเป็นกบฏต่อแผ่นดินและ “ความผิดทางอาญาอื่น ๆ” การพิจารณาคดีเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1649 แต่พระเจ้าชาร์ลส์ไม่ทรงยอมรับอำนาจของศาลและทรงอ้างว่าไม่มีศาลใดในแผ่นดินที่มีอำนาจเหนือกว่าพระมหากษัตริย์[37] ทรงมีความเชื่อว่าอำนาจในการปกครองของพระองค์เป็นอำนาจที่ทรงได้รับโดยตรงจากพระเจ้า และอำนาจจากผู้ที่พยายามพิจารณาพระองค์เป็นอำนาจที่มากจากดินปืน เมื่อทรงถูกถวายคำแนะนำให้ยอมรับผิดพระองค์ก็ไม่ทรงยอมรับและมีพระราชดำรัสว่า “ข้าจะรู้ว่าอำนาจใดที่ข้าถูกเรียกมาที่นี่ อะไรคืออำนาจตามกฏหมาย...?”[37] แต่ศาลประกาศตนว่าเป็นศาลที่มีอำนาจในการดำเนินคดีที่ถูกต้องตามกฎหมาย ในช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์พระเจ้าชาร์ลส์ก็ทรงได้รับคำร้องให้ยอมรับข้อกล่าวหาสามครั้งแต่ก็ไม่ทรงยอมรับทั้งสามครั้ง ซึ่งตามประเพณีแล้วถือว่าเป็น “pro confesso” คือเป็นการยอมรับว่าผิดโดยปริยาย ซึ่งหมายความว่าอัยการไม่สามารถเรียกพยานมาให้การได้ แต่อันที่จริงแล้วศาลได้ฟังคำให้การจากพยาน ในที่สุดผู้พิพากษาห้าสิบเก้าคน (List of regicides of Charles I) ก็ลงนามตัดสินปลงพระชนม์พระเจ้าชาลส์ การลงนามอาจทำกันที่โรงแรมเรดไลอ็อนที่สเตเธิร์นในแคว้นเลสเตอร์เชอร์[38] on 29 มกราคม ค.ศ. 1649

เมื่ออัยการจอห์น คุคพยายามอ่านคำพิพากษาพระเจ้าชาร์ลส์ก็ทรงพยายามขัดจังหวะโดยการเคาะพระคธาของพระองค์จนส่วนที่เป็นหัวเงินร่วงลงมาแต่อัยการคุคไม่ยอมหยิบขึ้นถวาย ในที่สุดพระเจ้าชาร์ลส์ก็ต้องทรงต้องหยิบขึ้นด้วยพระองค์เองซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าอำนาจอันสูงสุดจากเทพต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย[37] หลังจากได้ฟังคำพิพากษาแล้วพระเจ้าชาร์ลส์ก็ทรงถูกนำตัวไปจำขังไว้ที่พระราชวังเซนต์เจมส์ และต่อมาที่พระราชวังไวท์ฮอล ที่เป็นที่ตั้งของตะแลงแกง

การปลงพระชนม์

แก้
 
ภาพการสำเร็จโทษของพระเจ้าชาร์ลส์ในสิ่งพิมพ์ในเยอรมนีในสมัยเดียวกัน

พระเจ้าชาร์ลส์ทรงถูกปลงพระชนม์ด้วยการตัดพระเศียรเมื่อวันอังคารที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1649 พระราชโอรส 2 พระองค์ยังอยู่ในอังกฤษภายใต้การควบคุมของฝ่ายรัฐสภา: เอลิซาเบธกับเฮนรี ทั้งคู้ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมพระองค์ในวันที่ 29 มกราคม และพระองค์ทรงร่ำลาโอรสธิดาทั้งน้ำตา[39] เช้าวันถัดมา พระองค์ทรงเสื้อเชิร์ตฝ้ายสองตัวสำหรับป้องกันความหนาวเพื่อที่จะไม่ให้ผู้ใดเห็นว่าพระองค์สั่นจากความประหวั่นที่อาจจะตีความหมายว่าทรงมีความหวาดกลัวและอ่อนแอ[40][41] พระองค์ทรงวางพระเศียรลงบนตอหลังจากที่ทรงสวดมนต์และทรงให้สัญญาณแก่เพชฌฆาตเมื่อทรงพร้อม พระราชดำรัสประโยคสุดท้ายคือ “ข้าจะไปจากบัลลังก์ที่เสียหายไปยังบัลลังก์ที่ดีที่ไม่มีผู้ใดเป็นปรปักษ์”[42]

ฟิลิป เฮนรีบันทึกเหตุการณ์การปลงพระชนม์ว่าหลังจากที่ถูกตัดพระเศียรแล้วประชาชนที่มามุงดูอยู่ก็ส่งเสียงคราง[43] บางคนก็รีบกรูกันเข้าไปเอาผ้าเช็ดหน้าซับพระโลหิตที่ไหลนองลงมา[44] ซึ่งเป็นที่เริ่มของลัทธิบูชาของสมาคมพระเจ้าชาลส์มรณสักขี (Society of King Charles the Martyr) แต่ก็ไม่มีบันทึกจากพยานอื่น ๆ นอกไปจากของซามูเอล พีพส์

เพชฌฆาตต่างก็สวมหน้ากากฉะนั้นจะเป็นใครก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่เป็นที่ทราบกันว่าคณะกรรมการได้ทาบทามริชาร์ด แบรนดอน (Richard Brandon) เพชฌฆาตทั่วไปแห่งลอนดอนแต่แบรนดอนปฏิเสธ ฉะนั้นหลักฐานจากสมัยนั้นจึงไม่เชื่อว่าแบรนดอนเป็นผู้ปลงพระชนม์ แต่ “Ellis's Historical Inquiries” กล่าวว่าแบรนดอนเป็นเพชฌฆาตและอ้างว่าแบรนดอนสารภาพก่อนที่จะเสียชีวิต ซึ่งอาจจะเป็นได้ว่าแบรนดอนอาจจะปฏิเสธคณะกรรมการแต่แรกแต่มาเปลี่ยนใจภายหลัง บุคคลอื่นที่เชื่อกันว่าเป็นเพชฌฆาตก็ได้แก่ชาวไอริชชื่อกันนิง แต่วิลเลียม ฮิวเล็ทท์ (William Hewlett) มาถูกตัดสินว่าผิดในข้อหาปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ (regicide) ในสมัยการฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษภายหลัง[45] ใน ค.ศ. 1661 ชายสองคนที่เรียกกันว่า “เดย์บอร์นและบิคเคอร์สสตาฟฟ์” ถูกจับแต่ต่อมาถูกปล่อย เฮนรี วอล์คเคอร์นักข่าวฝ่ายปฏิวัติถูกสงสัยแต่มิได้ถูกกล่าวหา ตำนานว่าใครเป็นเพชฌฆาตก็ยังมีกระเส็นกระสายโดยทั่วไปแต่ผลการทดสอบในปี ค.ศ. 1813[46][c] ที่วินด์เซอร์บ่งว่าผู้ที่เป็นเพชฌฆาตเป็นผู้มีประสบการณ์[48]

ตามธรรมเนียมแล้วหลังจากการตัดหัวผู้ทรยศต่อบ้านเมืองแล้ว เพชฌฆาตก็จะยกหัวขึ้นสูงให้ประชาชนรอบ ๆ ข้างได้ดูและประกาศว่า “นี่คือหัวของผู้ทรยศ!”[49] มีการจัดแสดงพระเศียรของพระเจ้าชาลส์[50] แต่ในกรณีของพระองค์ เพชฌฆาตยกพระเศียรให้ประชาชนดูแต่มิได้ทำการประกาศ[49] หลังจากพระเศียรขาดแล้วโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ก็อนุญาตให้นำพระเศียรกลับมาเย็บต่อกับพระวรกายซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำกันมาก่อนเพื่อที่จะให้พระราชวงศ์มีโอกาสถวายความเคารพ[51]

พระวรกายของพระเจ้าชาลส์ถูกฝังอย่างเป็นการภายในเมื่อกลางคืนวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1649[52] ภายในชาเปลเซนต์จอร์จที่พระราชวังวินด์เซอร์[53] ต่อมาพระเจ้าชาลส์ที่ 2พระราชโอรสทรงวางแผนการสร้างที่บรรจุพระบรมศพอย่างหรูหราแต่ก็มิได้ทรงสร้าง[54]

สิ่งสืบทอด

แก้

สิบวันหลังจากที่ทรงถูกปลงพระชนม์ก็มีผู้พิมพ์บันทึกความทรงจำที่อ้างว่าทรงโดยพระเจ้าชาลส์เองออกมาขาย[51] หนังสือ “Eikon Basilike” หรือ “Royal Portrait” มีเนื้อหาที่รวมทั้งการทรงขอขมาในนโยบายของพระองค์ซึ่งกลายมาเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อที่มีประสิทธิภาพของฝ่ายสนับสนุนราชวงศ์ วิลเลียม เลเว็ทท์มหาดเล็กห้องพระบรรทมผู้ติดตามพระเจ้าชาร์ลส์ในวันที่ทรงถูกปลงพระชนม์สาบานว่าเป็นผู้เห็นว่าพระองค์ทรงเขียนคำว่า “Eikon Basilike” ด้วยตาของตนเอง[55] จอห์น คุคพิมพ์คำปราศัยในโอกาสที่ถ้าพระองค์ทรงยอมรับผิด ส่วนทางรัฐสภาก็จ้างจอห์น มิลตัน (John Milton) ให้เขียนคำปราศัยตอบโต้ผู้จงรักภักดีต่อราชวงศ์ใน “The Eikonoklastes” (The Iconoclast) แต่ก็ไร้ประโยชน์[56]

หลังจากที่พระเจ้าชาลส์ถูกปลงพระชนม์ อำนาจการปกครองก็ตกไปเป็นของสภารัฐ (Council of State) ซึ่งรวมทั้ง ลอร์ดแฟร์แฟ็กซ์แห่งคาเมรอน (Lord Fairfax of Cameron) ผู้ขณะนั้นเป็นผู้บังคับบัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพฝ่ายรัฐนิยมและโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ รัฐสภาลอง (ซึ่งขณะนั้นกลายเป็น รัฐสภารัมพ์ (Rump Parliament)) ที่ถูกเรียกโดยพระเจ้าชาร์ลส์ในปี ค.ศ. 1640 ก็ยังคงอยู่ในสมัยการประชุมจนครอมเวลล์สั่งให้เลิกในปี ค.ศ. 1653 จากนั้นครอมเวลล์ก็ปกครองของอังกฤษแบบสาธารณรัฐในฐานะ “เจ้าผู้พิทักษ์” (Lord Protector) แห่งอังกฤษ, สกอตแลนด์และไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นกษัตริย์ทุกอย่างแต่เพียงนาม ครอมเวลล์ถึงกับลงทุนสร้างบัลลังก์ราชาภิเษก เมื่อครอมเวลล์ถึงแก่อสัญกรรมในปี ค.ศ. 1658 ริชาร์ด ครอมเวลล์ลูกของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ก็รับหน้าที่ “เจ้าผู้พิทักษ์” ต่ออยู่ชั่วระยะเวลาอันสั้นเพราะเป็นผู้นำที่ขาดสมรรภาพ จนรัฐสภาลองต้องถูกเรียกกลับมาในปี ค.ศ. 1659 และมายุบตนเองในปี ค.ศ. 1660รัฐสภาคอนเวนชัน” (Convention Parliament) ได้รับเลือกเข้ามาแทนที่หลังจากยี่สิบปีที่ไม่มีการเลือกตั้ง รัฐสภาคอนเว็นท์ชั่นเป็นรัฐสภาที่มีบทบาทในการนำพระราชโอรสองค์โตของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 กลับมาเป็นครองราชบัลลังก์ในพระนามของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 พระเจ้าชาลส์ที่ 1 ทรงถูกยกย่องให้เป็น "นักบุญชาลส์ สจวต" โดยคริสตจักรแห่งอังกฤษ[57]

อาณานิคมแคโรไลนาในทวีปอเมริกาเหนือตั้งชื่อตามพระนามพระเจ้าชาลส์ รวมทั้งชื่อเมือง ชาลสตัน ต่อมาอาณานิคมแคโรไลนาแยกตัวเป็นนอร์ทแคโรไลนาและเซาท์แคโรไลนา และต่อมาประกาศอิสรภาพจากราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ในการก่อตั้งสหรัฐอเมริกา ทางตอนเหนืออาณานิคมเวอร์จิเนียมีแหลมชาร์ลส์, แม่น้ำชาร์ลส์ซึ่งพระเจ้าชาร์ลส์ทรงตั้งชื่อด้วยพระองค์เอง[58]และแขวงแม่น้ำชาร์ลส์ (Charles City Shire) ซึ่งเป็นเขตการปกครองมาร่วม 400 ปีก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น “Charles City County” เวอร์จิเนียต่อมาเป็นอาณานิคมเวอร์จิเนีย (หนึ่งในสี่รัฐในสหรัฐอเมริกาที่เรียกตนเองว่า “อาณานิคม”) และยังคงใช้ชื่อ “The Old Dominion” ซึ่งเป็นนามที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 เพราะเวอร์จิเนียมีความจงรักภักดีต่อพระองค์ระหว่างสงครามกลางเมืองอังกฤษ

พระราชอิสริยยศ

แก้
  • 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1600 – 27 มีนาคม ค.ศ. 1625: เจ้าชายชาลส์
  • 23 ธันวาคม ค.ศ. 1603 – 27 มีนาคม ค.ศ. 1625: ดยุกแห่งออลบานี
  • 6 มกราคม ค.ศ. 1605 – 27 มีนาคม ค.ศ. 1625: ดยุกแห่งยอร์ก
  • 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1612 – 27 มีนาคม ค.ศ. 1625: ดยุกแห่งคอร์นวอลล์
  • 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1616 – 27 มีนาคม ค.ศ. 1625: เจ้าชายแห่งเวลส์
  • 27 มีนาคม ค.ศ. 1625 – 30 มกราคม ค.ศ. 1649: พระเจ้ากรุงอังกฤษ

พระราชโอรสธิดา

แก้

พระเจ้าชาร์ลส์มีพระราชโอรสธิดาจากการเสกสมรสด้วยกันเจ็ดพระองค์ สองพระองค์ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อจากพระองค์ ส่วนอีกสองพระองค์สวรรคตหลังพระราชสมภพไม่นาน[59]

รูป พระนาม ประสูติ สิ้นพระชนม์ หมายเหตุ
  พระเจ้าชาลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1630 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1685 เสกสมรสกับกาตารีนาแห่งบรากังซา (ค.ศ. 1638 - ค.ศ. 1705) ในปี ค.ศ. 1663 ไม่มีพระราชโอรสธิดาในการสมรสด้วยกัน แต่ชาร์ลส์ที่ 2 ทรงมีโอรสธิดาอื่น ๆ เช่น เจมส์ สกอตต์ ดยุกแห่งมอนม็อธที่ 1 ผู้ต่อมาแข็งข้อต่อพระเจ้าเจมส์ที่ 2
  เจ้าหญิงแมรี พระราชกุมารี 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1631 24 ธันวาคม ค.ศ. 1660 เสกสมรสกับวิลเลียมที่ 2 เจ้าชายแห่งออเรนจ์ (ค.ศ. 1626 - ค.ศ. 1650) ในปี ค.ศ. 1641 มีพระโอรสหนึ่งพระองค์พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งอังกฤษ
  พระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1633 16 กันยายน ค.ศ. 1701 เสกสมรสกับครั้งที่ 1 กับแอนน์ ไฮด์ (ค.ศ. 1637 - ค.ศ. 1671) ในปี ค.ศ. 1659 มีพระราชโอรสธิดาที่รวมทั้งสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 แห่งอังกฤษและสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์แห่งบริเตนใหญ่;
เสกสมรสครั้งที่ 2 กับแมรีแห่งโมดีนา (ค.ศ. 1658 - ค.ศ. 1718) ในปี ค.ศ. 1673 มีพระราชโอรสธิดา (เจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจวตและลุยซา มาเรีย เทเรซา สจวต)
  เจ้าหญิงเอลิซาเบธ 29 ธันวาคม ค.ศ. 1635 8 กันยายน ค.ศ. 1650 ไม่มีโอรสธิดา
  เจ้าหญิงแอนน์แห่งอังกฤษ 17 มีนาคม ค.ศ. 1637 8 ธันวาคม ค.ศ. 1640 สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ไม่มีโอรสธิดา
  เฮนรี สจวต ดยุกแห่งกลอสเตอร์ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1640 18 กันยายน ค.ศ. 1660 ไม่มีโอรสธิดา
  เจ้าหญิงเฮนเรียตตา แอนนา 16 มิถุนายน ค.ศ. 1644 30 มิถุนายน ค.ศ. 1670 เสกสมรสกับฟิลิปที่ 1 ดยุกแห่งออร์เลอ็อง (Philip I, Duke of Orléans) (ค.ศ. 1640 - ค.ศ. 1701) ในปี ค.ศ. 1661 มีพระโอรสธิดา บางพระองค์เป็นกษัตริย์แห่งซาร์ดิเนียและอิตาลี

พระราชตระกูล

แก้

หมายเหตุ

แก้
  1. วันที่ทั้งหมดในบทความนี้ใช้ปฏิทินจูเลียน ซึ่งใช้งานในบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ตลอดรัชสมัยพระเจ้าชาลส์ อย่างไรก็ตาม ปีในนี้เริ่มต้นในวันที่ 1 มกราคมแทนที่จะเป็นวันที่ 25 มีนาคม ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของอังกฤษจนถึง ค.ศ. 1752
  2. สมเด็จพระเจ้าชาลส์เติบโตจนมีความสูงสูงสุดที่ 5 ฟุต 4 นิ้ว (163 เซนติเมตร)[12]
  3. In 1813, part of Charles's beard, a piece of neck bone, and a tooth were taken as relics. They were placed back in the tomb in 1888.[47]
  4. 4.0 4.1 เจมส์ที่ 5 กับมาร์กาเรต ดักลาสเป็นพระโอรสธิดาในมาร์กาเร็ต ทิวเดอร์ พระราชธิดาในพระเจ้าเฮนรีที่ 7 แห่งอังกฤษ: เจมส์ที่ 5 มาจากพระเจ้าเจมส์ที่ 4 แห่งสกอตแลนด์ ส่วนมาร์กาเรตมาจากArchibald Douglas, Earl of Angus[60]
  5. 5.0 5.1 คริสเตียนที่ 3 กับเอลิซาเบธเป็นพระราชโอรสธิดาในพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 1 แห่งเดนมาร์ก: คริสเตียนจากอันเนอแห่งบรันเดินบวร์ค เอลิซาเบธจากโซเฟียแห่งพอเมอราเนีย[60]

อ้างอิง

แก้
  1. ราชบัณฑิตยสถาน, สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 250
  2. Cust 2005, p. 2; Weir 1996, p. 252.
  3. Gregg 1981, pp. 4–5.
  4. Cust 2005, p. 2.
  5. Carlton 1995, p. 2.
  6. Carlton 1995, p. 3; Gregg 1981, p. 9.
  7. 7.0 7.1 Gregg 1981, p. 11.
  8. Gregg 1981, p. 13.
  9. Gregg 1981, p. 16; Hibbert 1968, p. 22.
  10. 10.0 10.1 Carlton 1995, p. 16.
  11. 11.0 11.1 Gregg 1981, p. 22.
  12. Gregg 1981, p. 12.
  13. Gregg 1981, pp. 18–19; Hibbert 1968, pp. 21–23.
  14. Gregg 1981, p. 29.
  15. Gregg 1981, p. 47.
  16. Hibbert 1968, p. 24.
  17. Hibbert 1968, p. 49; Howat 1974, pp. 26–28.
  18. Gregg 1981, p. 63; Howat 1974, pp. 27–28; Kenyon 1978, p. 79.
  19. Cust 2005, p. 5; Hibbert 1968, pp. 49–50.
  20. Coward 2003, p. 152.
  21. "ชาลส์ที่ 1 (1625-1649)". Britannia.com. สืบค้นเมื่อ 17 October. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |accessyear= ถูกละเว้น แนะนำ (|access-date=) (help)
  22. กิจการ 25:10-12 (NRSV แปล): นักบุญเปาโลกล่าวว่า, “ข้าขอยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการของพระจักรพรรดิ; ข้าควรจะถูกตัดสินต่อหน้าสภานี้ ข้ามิได้ทำความผิดต่อชาวยิว, ซึ่งท่านก็คงทราบดี11 ถ้าข้าทำผิดจริงและทำผิดในสิ่งที่ข้าสมควรจะถูกลงโทษถึงตาย, ข้าก็มิได้พยายามหลบหนีความตาย; แต่ถ้าข้อกล่าวหาต่อข้าปราศจากมูล, (ก็)ไม่สมควรจะมีผู้ใดที่จะส่งตัวข้าให้ผู้กล่าวหากลุ่มนั้น. ข้าขอยื่นคำร้องต่อพระจักรพรรดิ” 12 ดังนั้นเฟลตุส, หลังจากที่ปรึกษากับสมาชิกสภา, ตอบว่า, “ท่านต้องการยื่นคำร้องต่อพระจักรพรรดิ; ท่านก็จงไปยื่นต่อพระจักรพรรดิ”
  23. เจ พี เค็นยอน, อังกฤษภายใต้การปกครองของราชวงศ์สจวต, หน้า 96-97, 101-05 (ฮาร์มอนด์เวิร์ธ, อังกฤษ, เพ็นกวิน, ค.ศ. 1978); ไซมอน ชามา, ประวัติศาสตร์อังกฤษ, เล่ม 2, หน้า 69-74 (นิวยอร์ก, ไซมอนและชุลสเตอร์, ค.ศ. 2001)
  24. "Info Please: รัชสมัยพระเจ้าชาร์ลส์". Infoplease.com. สืบค้นเมื่อ 2008-04-20.
  25. เค็นยอน. p. 105-06.
  26. "บุคคลในประวัติศาสตร์: พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 (ค.ศ. 1600 – 1649)". บีบีซี. สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2007.
  27. เมอร์ฟีย์, หน้า 211-235
  28. "พระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ". Spiritus-temporis.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-29. สืบค้นเมื่อ 2008-04-24.
  29. "อัครบาทหลวงวิลเลียม ลอด, ค.ศ. 1573-ค.ศ. 1645". British-civil-wars.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-15. สืบค้นเมื่อ 2008-04-24.
  30. "วิลเลียม ลอด". Nndb.com. สืบค้นเมื่อ 2008-04-24.
  31. "พระเจ้าชาร์ลส์ (ปกครอง ค.ศ. 1625-ค.ศ. 1649)". Royal.gov.uk. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.
  32. "บางคนมีสติดี, บางคนเสียหัว". The Daily Telegraph. 28 ตุลาคม ค.ศ. 2000. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  33. "อินโฟพลีส: สงครามกลางเมืองของพระเจ้าชาร์ลส์". Infoplease.com. สืบค้นเมื่อ 2008-04-20.
  34. [List "ผู้ที่ทรงพระประสงค์จะให้ติดตามไปรับใช้ที่เกาะไวท์, "รัฐสภาและประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญของอังกฤษ", ค.ศ. 1763"]. {{cite web}}: ตรวจสอบค่า |url= (help)
  35. "สาส์นจากพระเจ้าชาลส์; เกี่ยวกับการหลบหนีจากพระราชวังแฮมพ์ตัน, ซึ่งจะทรงปรากฏพระองค์อีกครั้งถ้ามีผู้รับฟังและทำตามพระประสงค์", Journal of the House of Lords, vol. 9, ลอนดอน, เซาท์อีสต์, เซาท์เวสต์, อีสต์, มิดแลนด์ส, นอร์ธ, สกอตแลนด์, เวลส์: (History of Parliament Trust), 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1647, pp. 519–522, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28, สืบค้นเมื่อ 2009-02-02 {{citation}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year=, |date= และ |year= / |date= ไม่ตรงกัน (help)
  36. "จดหมายจากนายพันแฮมมอนด์, ที่ออกคำสั่งว่ามิให้ผู้ใดเข้าหรือออกจากเกาะไวท์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต;—และมีความต้องการให้ต่อเบี้ยบำนาญของพระองค์ที่ทรงเคยได้รับ", Journal of the House of Lords, vol. 9, ลอนดอน, เซาท์อีสต์, เซาท์เวสต์, อีสต์, มิดแลนด์ส, นอร์ธ, สกอตแลนด์, เวลส์: (History of Parliament Trust), 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1647, pp. 531–533, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28, สืบค้นเมื่อ 2009-02-02 {{citation}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year=, |date= และ |year= / |date= ไม่ตรงกัน (help)
  37. 37.0 37.1 37.2 โรเบิร์ตสัน, เจฟฟรีย์ (ค.ศ. 2002). "บทที่ 1 เรื่องของสิทธิมนุษยชน". อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ: การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของโลก (2nd ed.). เพ็นกวินบุคส์. pp. หน้า 5. ISBN 978-0141010144. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)
  38. "Red Lion Inn, a Pub and Bar in Stathern, Leicestershire. Search for Leicestershire Pub and Bars". Information Britain. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.
  39. Carlton 1995, pp. 350–351; Gregg 1981, p. 443; Hibbert 1968, pp. 276–277.
  40. Charles I (r. 1625–49), Official website of the British monarchy, สืบค้นเมื่อ 20 April 2013.
  41. Carlton 1995, p. 352; Edwards 1999, p. 168.
  42. Carlton 1995, p. 354; Edwards 1999, p. 182; Hibbert 1968, p. 279; Starkey 2006, p. 126.
  43. Hibbert 1968, p. 280.
  44. Edwards 1999, p. 184; Gregg 1981, p. 445; Hibbert 1968, p. 280.
  45. "บทความบางบทจากการพิจารณาคดีและการประหารชีวิตของนายพันแดเนียล แอ็กเซลล์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1660". ผู้พิมพ์: ครอบครัวแอ็กเซลล์. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.
  46. Robertson 2005, p. 201.
  47. Henry VIII's Final Resting Place (PDF), St George's Chapel, Windsor, เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 14 October 2017, สืบค้นเมื่อ 13 October 2017; Morris, John S. (2007), "Sir Henry Halford, president of the Royal College of Physicians, with a note on his involvement in the exhumation of King Charles I", Postgraduate Medical Journal, 83 (980): 431–433, doi:10.1136/pgmj.2006.055848, PMC 2600044, PMID 17551078
  48. Robertson 2005, p. 333.
  49. 49.0 49.1 Edwards 1999, p. 183.
  50. Edwards 1999, p. 183; Gregg 1981, p. 445.
  51. 51.0 51.1 Gregg 1981, p. 445.
  52. Edwards 1999, p. 188; Gregg 1981, p. 445.
  53. Edwards 1999, p. 189; Gregg 1981, p. 445.
  54. Kishlansky & Morrill 2008.
  55. Gregg 1981, p. 445; Robertson 2005, pp. 208–209.
  56. ""พระราชประวัติของพระเจ้าชาลส์ที่ 1, ผู้พลีชีพ", ชาร์ลส์ วีลเลอร์ ค็อยท์, ฮิวตัน มิฟฟลิน, บอสตัน, ค.ศ. 1926". กูเกิลบุคส์. สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.
  57. "Charles, King and Martyr". SKCM. สืบค้นเมื่อ 2008-10-16.
  58. สจวต, จอร์จ อาร์ (ค.ศ. 1967). ชื่อดินแดน: ประวัติศาสตร์ที่มาของชื่อสถานที่ในสหรัฐอเมริกา (ฉบับเซ็นทรี (ฉบับที่ 3) ed.). ฮิวตัน มิฟฟลิน. pp. หน้า 38. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)
  59. Weir 1996, pp. 252–254.
  60. 60.0 60.1 60.2 Louda & Maclagan 1999, pp. 27, 50.

ข้อมูล

แก้

อ่านเพิ่ม

แก้

ประวัติศาสตร์นิพนธ์

แก้
  • Braddick, Michael (2004), "State Formation and the Historiography of Early Modern England", History Compass, vol. 2 no. 1, pp. 1–17, doi:10.1111/j.1478-0542.2004.00074.x
  • Burgess, Glenn (1990), "On revisionism: an analysis of early Stuart historiography in the 1970s and 1980s", Historical Journal, vol. 33 no. 3, pp. 609–627, doi:10.1017/S0018246X90000013
  • Coward, Barry, and Peter Gaunt (2017), The Stuart Age: England, 1603–1714 (5th ed.), pp. 54–97
  • Cressy, David (2015), "The Blindness of Charles I", Huntington Library Quarterly, vol. 78 no. 4, pp. 637–656, doi:10.1353/hlq.2015.0031, S2CID 159801678 online
  • Devereaux, Simon (2009), "The historiography of the English state during 'the Long Eighteenth Century': Part I–Decentralized perspectives", History Compass, vol. 7 no. 3, pp. 742–764, doi:10.1111/j.1478-0542.2009.00591.x
  • Harris, Tim (2015), "Revisiting the Causes of the English Civil War", Huntington Library Quarterly, vol. 78 no. 4, pp. 615–635, doi:10.1353/hlq.2015.0025, S2CID 147299268 online
  • Holmes, Clive (1980), "The County Community in Stuart Historiography", Journal of British Studies, vol. 19 no. 1, pp. 54–73, doi:10.1086/385755
  • Kishlansky, Mark A. (2005), "Charles I: A Case of Mistaken Identity", Past and Present, vol. 189 no. 1, pp. 41–80, doi:10.1093/pastj/gti027, S2CID 162382682
  • Lake, Peter (2015), "From Revisionist to Royalist History; or, Was Charles I the First Whig Historian", Huntington Library Quarterly, vol. 78 no. 4, pp. 657–681, doi:10.1353/hlq.2015.0037, S2CID 159530910 online
  • Lee, Maurice Jr (1984), "James I and the Historians: Not a Bad King after All?", Albion: A Quarterly Journal Concerned with British Studies, vol. 16 no. 2, pp. 151–163, doi:10.2307/4049286, JSTOR 4049286 in JSTOR
  • Russell, Conrad (1990), "The Man Charles Stuart", The Causes of the English Civil War, Oxford University Press, pp. 185–211

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
ก่อนหน้า พระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ถัดไป
สมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ
หรือ
สมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์
   
พระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษ
พระมหากษัตริย์แห่งไอร์แลนด์
(ราชวงศ์สจวต)

(27 มีนาคม ค.ศ. 162530 มกราคม ค.ศ. 1649)
  ราชบัลลังก์ว่างลงในสมัยไร้กษัตริย์อังกฤษ
พระมหากษัตริย์องค์ถัดไปคือสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2
ว่าง    
พระมหากษัตริย์แห่งสกอตแลนด์
(ราชวงศ์สจวต)

(27 มีนาคม ค.ศ. 162530 มกราคม ค.ศ. 1649)
  ว่าง