ฟร็องซัว ราวายัก

ฟร็องซัว ราวายัก (ฝรั่งเศส: François Ravaillac; ค.ศ. 1578 – 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1610) เป็นชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นนักการ (factotum) อยู่ที่ราชสำนักเมืองอ็องกูแล็ม (Angoulême) และเป็นครู (tutor) ในบางโอกาส เขาถือนิกายโรมันคาทอลิกอย่างสุดโต่ง และปลงพระชนม์พระเจ้าอ็องรีที่ 4 (Henry IV) พระมหากษัตริย์ฝรั่งเศส ใน ค.ศ. 1610 เพราะเชื่อว่า พระองค์จะก่อสงครามต่อต้านพระสันตะปาปา เขาจึงถูกประหารชีวิตโดยใช้ม้าแยกร่าง

ฟร็องซัว ราวายัก
François Ravaillac
ฟร็องซัว ราวายัก ชูมีดที่ใช้ปลงพระชนม์ – ภาพสลักในคริสต์ศตวรรษที่ 17
เกิดค.ศ. 1578
อ็องกูแล็ม ฝรั่งเศส
เสียชีวิต27 พฤษภาคม ค.ศ. 1610
ปารีส ฝรั่งเศส
ข้อหาปลงพระชนม์พระเจ้าแผ่นดิน
บทลงโทษประหารโดยใช้ม้าแยกร่าง

ต้นชีวิต

แก้

ราวายักเกิดที่เมืองอ็องกูแล็ม ในตระกูลบัณฑิต[1]

ปู่ของเขา ซึ่งชื่อ ฟร็องซัว ราวายัก เช่นกัน เป็นยกกระบัตร (prosecutor) ประจำเมืองอ็องกูแล็ม ส่วนลุงทั้งสองของเขาเป็นนักบวช (canon) ประจำมหาวิหารอ็องกูแล็ม[1]

แต่ฌ็อง ราวายัก (Jean Ravaillac) บิดาของเขา เป็นอันธพาล สร้างความปั่นป่วนในสังคมอยู่เป็นนิตย์ ผิดกับฟร็องซัว ดูเบริยล์ (Françoise Dubreuil) มารดาซึ่งเป็นชีในนิกายโรมันคาทอลิก และมีชื่อเสียงดี[1]

ราวายักเริ่มทำงานเป็นคนใช้ (servant) แล้วภายหลังจึงเป็นครู ณ โรงเรียนแห่งหนึ่ง

เขาคลั่งไคล้ศาสนายิ่งนัก เขาเข้าเป็นสมาชิกคณะสงฆ์เฟยย็อง (Feuillant) แต่พอถูกราชการคุมประพฤติ ก็ถูกขับออกจากคณะสงฆ์ ต่อมาใน ค.ศ. 1606 เขาขอเข้าเป็นสมาชิกคณะเยซูอิต (Society of Jesus) อีก แต่ถูกบอกปัด

ปลงพระชนม์

แก้
 
ราวายักถูกราชองครักษ์จับกุมตัว หลังปีนขึ้นราชรถไปแทงพระเจ้าอ็องรีที่ 4 ถึงแก่พระชนม์ – ภาพเขียนของชาร์ล-กุสตัฟ โฮเซ (Charles-Gustave Housez) คริสต์ศตวรรษที่ 19

ใน ค.ศ. 1609 ราวายักอ้างว่า เขาเห็นนิมิตซึ่งสั่งให้เขาโน้มน้าวพระทัยพระเจ้าอ็องรีที่ 4 ให้แปลงชาวอูว์เกอโน (Huguenot) แห่งนิกายโปรเตสแตนต์ เป็นสมาชิกนิกายคาทอลิก เขาจึงเดินทางไปยังกรุงปารีสถึงสามครั้งในช่วงเพนเทคอสต์ ค.ศ. 1609 ถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1610 เพื่อขอเข้าเฝ้าพระเจ้าอ็องรีและกราบทูลเรื่องเทวโองการ แต่ไม่เคยได้เฝ้าสักครั้ง ระหว่างนั้น เขาพำนักอยู่กับชาร์ล็อต ดู ตีแย (Charlotte du Tillet) อนุภริยาของขุนนางฌ็อง ลุย เดอ โนกาแร เดอ ลา วาแย็ต (Jean Louis de Nogaret de La Valette)

เหตุที่ไม่ได้เข้าเฝ้า เขาจึงทึกทักว่า พระเจ้าอ็องรีหมายพระทัยจะบุกเนเธอร์แลนด์เพื่อเตรียมทำสงครามกับองค์พระสันตะปาปา เขาเห็นว่า จะต้องหยุดยั้งการนี้ได้ จึงตกลงใจจะปลงพระชนม์พระเจ้าอ็องรีเสีย

วันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1610 ราวายักไปซุ่มรอเสด็จอยู่ที่ถนนแฟร์รอนเนอรี (Rue de la Ferronnerie) ในกรุงปารีส ครั้นรถพระที่นั่งมาถึงและติดอยู่ในถนนนั้น ราวายักก็อาศัยโอกาสนี้พุ่งเข้าไปยังขบวนเสด็จ ปีนขึ้นไปบนราชรถ แล้วเอามีดจ้วงแทงพระเจ้าอ็องรีจนดับสูญพระชนม์ ปีแยร์ เดอ แลสตวล (Pierre de l'Estoile) นักพงศาวดาร บันทึกไว้ว่า[2]

รถพระที่นั่งเข้ามาทางแซ็งออนอเร (St Honoré) เพื่อไปยังถนนแฟร์รอนเนอรี แต่ด้านหนึ่งติดเกวียนขนสุรา อีกด้านหนึ่งติดเกวียนขนฟาง... ราวายักปีนขึ้นเพลารถพระที่นั่งดังกล่าว แล้วเอามีดซึ่งคมกริบทั้งสองด้านแทงพระองค์ระหว่างพระผาสุกะ [ซี่โครง] ซี่ที่สองและสาม

ราวายักถูกจับกุมทันที เจ้าหน้าที่เอาตัวเขาไปไว้ยังโรงแรมเร (Hotel de Retz) เพื่อกันฝูงชนรุมประชาทัณฑ์ ต่อมา จึงเอาเขาไปขัง ณ คุกหลวงกงซีแยร์เฌอรี (Conciergerie)

ไต่สวนและประหาร

แก้

ราวายักถูกสอบสวนด้วยวิธีจารีตนครบาลโดยทรมานให้บอกผู้สมรู้ แต่เขายืนกรานว่า ทำโดยลำพัง กระนั้น ความที่เขาล่วงรู้เส้นทางเสด็จ และคาดการณ์ได้ว่า จราจรจะติดขัดจนเป็นโอกาสให้เขาทำร้ายพระมหากษัตริย์ได้นั้น ทำให้เล่าลือกันไปต่าง ๆ นานา[3]

วันเกิดเหตุนั้น พระเจ้าอ็องรีที่ 4 เสด็จไปเยี่ยมดุ๊กแห่งซุลลี (Duke of Sully) ผู้นอนป่วยอยู่ ณ คลังแสงในกรุงปารีส ทั้งนี้ เพื่อทรงหารือเรื่องเตรียมกำลังทหารเข้าแทรกแซงกรณีพิพาทการสืบตำแหน่งฌูลิช-แกล็ฟ-แบร์ฌ (Jülich-Cleves-Berg) หลังจากดุ๊กจอห์น วิลเลียม (Duke John William) ถึงแก่กรรม แต่การที่จะทรงเข้าแทรงแซงแทนกลุ่มผู้ถือลัทธิคาลวินย่อมจะทำให้ทรงบาดหมางกับราชวงศ์ฮับส์บูร์กที่ถือนิกายคาทอลิก[3] ราวายักเหมือนจะคาดหมายถึงการแทรกแซงนี้ได้ จึงมองว่า พระเจ้าอ็องรีเตรียมเป็นศัตรูกับพระสันตะปาปา ประมุขนิกายคาทอลิก เพราะมีพระประสงค์จะย้ายศูนย์กลางคริสต์ศาสนาจากกรุงโรมมายังปารีส[4]

เมื่อเริ่มการสอบสวนนั้น ราวายักให้การว่า "ข้ารู้ดีว่า พระองค์สิ้นแล้ว ข้าเห็นพระโลหิตติดเต็มมีดข้า ทั้งไหลบ่าอยู่ ณ จุดที่ข้าแทง แต่ข้าไม่เสียใจอะไรที่สิ้นพระเจ้าแผ่นดิน เพราะข้ามาเพื่อการนี้ซึ่งข้าได้ลุล่วงแล้ว"[5]

วันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1610 เขาถูกนำตัวไปยังจตุรัสปลาซเดอแกร็ฟ (Place de Grève) ในกรุงปารีส และถูกทรมานเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนถูกประหารชีวิตโดยใช้ม้าสี่ตัวแยกร่าง อันเป็นวิธีประหารผู้ปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ อะลิสแตร์ ฮอร์เน (Alistair Horne) นักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษ พรรณนาเหตุการณ์นั้นว่า

ก่อนจะถูกฉุดลากแยกร่าง... เขาถูกลวกด้วยกำมะถันที่กำลังลุกไหม้ ตะกั่วหลอมเหลว กับทั้งน้ำมันและยางสนที่กำลังเดือด จากนั้นจึงถูกคีมบิดฉีกเนื้อตัว

ครั้นราวายักถูกประหารแล้ว บิดามารดาของเขาถูกเนรเทศ ครอบครัวของเขาถูกห้ามใช้ชื่อ "ราวายัก" อีก

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1611 ฌักเกอลีน แดสโกม็อง (Jacqueline d'Escoman) เพื่อนของราวายัก ไปแจ้งความว่า ดุ๊กแห่งเดแปร์น็อง (Duc d'Épernon) เป็นอีกคนหนึ่งที่รู้เห็นเรื่องปลงพระชนม์พระเจ้าอ็องรี แต่นางถูกจำคุกชั่วชีวิต

ฟีลิป แอร์ล็องแฌร์ (Philippe Erlanger) เขียนข้อสันนิษฐานของตนไว้ในหนังสือ เลทร็องมอร์เดออ็องรีกัทร์ (L'Étrange Mort de Henri IV; "ปริศนามรณะอ็องรีที่ 4") เมื่อ ค.ศ. 1957 ว่า ชาร์ล็อต ดู ตีแย อนุภริยาของขุนนางฌ็อง ลุย เดอ โนกาแร เดอ ลา วาแย็ต กับอ็องรีแย็ต ด็องทร็อก (Henriette d'Entragues) อนุภริยาของพระเจ้าอ็องรีที่ 4 เป็นตัวตั้งตัวตีลอบปลงพระชนม์[6]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 Anita M. Walker and Edmund H. Dickerman, "Mind of an assassin: Ravaillac and the murder of Henry IV of France", Canadian Journal of History, August 1995, p. 2; Genealogy of François Ravaillac
  2. Pierre de l'Estoile, Journal pour le règne de Henri IV, Paris: Gallimard, p 84, 1960.
  3. 3.0 3.1 Walker and Dickerman 1995, on-line text page 1.
  4. Ravaillac, quoted in Anita W. Walker and Edmund H. Dickerman, "Mind of an assassin: Ravaillac and the murder of Henry IV of France", Canadian Journal of History (August 1995); [ on-line text]
  5. Procès, examen de Ravaillac, Mémoires de Condé, 6 vols. (Amsterdam, 1743), 6:217, quoted in Walker and Dickerman 1995 (on-line text, page 1).
  6. "Almost up to the time of the assassination he continued to consult with clerics, a risky and highly ambivalent behaviour which invited discovery or prevention, and at the same time precluded both." (Walker and Dickerman 1995 (on-line text p.17)

บรรณานุกรม

แก้
  • Garrisson, Janine (1993) Ravaillac, le fou de Dieu, Paris: Payot (a novelized psychological study of Ravaillac)
  • Horne, Alastair (2004) La Belle France: a Short History. New York: Vintage Books, a division of Random House, Inc. ISBN 1-4000-3487-6
  • Mousnier, Roland (1973) The Assassination of Henry IV: The tyrannicide problem and the consolidation of the French absolute monarchy in the early seventeenth century, New York: Scribner ISBN 0-684-13357-1

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  • Henri IV - An unfinished reign เก็บถาวร 2018-09-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Officiel website of the French Ministry of Culture
  •   Chisholm, Hugh, บ.ก. (1911). "Ravaillac, François" . สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์.
  • Jakub Sobieski about the Execution of Ravaillac and a French Cannibal at the Wilanów Palace Museum