อังคาร กัลยาณพงศ์

อังคาร กัลยาณพงศ์ (13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 – 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555) เป็นทั้งกวีและจิตรกร เกิดที่ตำบลท่าวัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ศึกษาระดับประถมที่ โรงเรียนวัดจันทาราม ต่อมาก็เรียนที่วัดใหญ่จนจบประถมสี่ แล้วย้ายไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมประจำจังหวัด คือ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช ศึกษาศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง และที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

อังคาร กัลยาณพงศ์

เกิด13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470
จังหวัดนครศรีธรรมราช
เสียชีวิต25 สิงหาคม พ.ศ. 2555 (85 ปี)
นามปากกาอังคาร กัลยาณพงศ์
อาชีพกวี, จิตรกร ศิลปินแห่งชาติ
คู่สมรสอุ่นเรือน กัลยาณพงศ์
บุตรอ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์
บิดามารดา
  • เข็บ กัลยาณพงศ์ (อดีตกำนันตำบลท่าวัง) (บิดา)
  • ขุ้ม กัลยาณพงศ์ (มารดา)

อังคารเป็นผู้ได้รับการยอมรับในฐานะเป็นจิตรกรและกวี เป็นกวีที่มีความโดดเด่น ทั้งในด้านความคิดและรูปแบบ อีกทั้งยังเป็นกวีที่มีความคิดเป็นอิสระ ไม่ถูกร้อยรัดด้วยรูปแบบที่ตายตัว จึงนับเป็นกวีผู้บุกเบิกกวีนิพนธ์ยุคใหม่ ซึ่ง นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้กล่าวถึงผลงานกวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์ ว่ามีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก[1]

ประวัติ แก้

พื้นเพเดิมอังคารเป็นคนเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมีผู้กล่าวว่าเป็นเมืองแห่งกาพย์กลอนอยู่แล้ว หลังศึกษาจบระดับมัธยมที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ได้เดินทางเข้ามาเรียนต่อที่ โรงเรียนเพาะช่าง และ มหาวิทยาลัยศิลปากร อังคารได้เป็นศิษย์ของศิลปินใหญ่อย่าง ศ.ศิลป พีระศรี, อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ และ อ.เฉลิม นาคีรักษ์ ทำให้ได้ติดตามและร่วมงานกับอาจารย์ในการศึกษาค้นคว้างานด้านต่าง ๆ ทั้งศิลปกรรม โบราณคดี และประวัติศาสตร์

ความเป็นกวีและจิตรกรนั้นเป็นพรสวรรค์ที่อังคารเองเชื่อมั่นและฝึกฝนมาตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งได้พูดถึงการเป็นทั้งจิตรกรและกวีของตนว่า บทกวีและจิตรกรรมนั้นมาจากดวงใจดวงเดียวกัน

"การวาดรูปกับการแต่งบทกวีต้องใช้ความคิดกับจินตนาการ อาจจะผิดกันในเรื่องเทคโนโลยีกับเทคนิค แต่ใช้จิตใจดวงเดียวกัน ทั้งงานเขียนรูปและเขียนหนังสือก็ต้องอาศัยมโนคติ บางคนเขาเรียก อิมเมจิเนชั่น ต้องมีจินตนาการความคิด เหมือนคนที่สร้างนครวัด เขาต้องมีภาพมาก่อนว่าทำอย่างไรจึงจะมีปราสาทขึ้นมา ถ้าเรามีมโนภาพกว้างใหญ่ไพศาล เราก็สามารถสร้างสรรค์อะไรที่ใหญ่โตขึ้นมา ถ้ามีมโนภาพคับแคบก็สร้างสรรค์อะไรอยู่ในกะลาเท่านั้น"

"คนอื่นเขาอาจจะไปทำขนมครก ไปรับเหมาทางด่วน ไปทำอะไรก็ได้ แต่กวีต้องเป็นกวีอยู่ทุกลมหายใจ คือโดยหลักจริง ๆ แล้วผมยังเขียนบทกวีอยู่เรื่อยๆ จะชำระของที่ดูไม่ค่อยเรียบร้อยให้เรียบร้อย ให้หมดจดขึ้น มีถ้อยคำที่ลงตัว คือพูดง่ายๆ ว่า ถ้าเราตายไปแล้ว เราก็หมดโอกาสที่จะเปิดฝาโลงขึ้นมาชำระโคลงของเราให้เรียบร้อย คนที่เขียนกวี ถ้าบทกวีชิ้นใดไม่สมบูรณ์ ก็เหมือนเราไปปรโลกแล้วยังมีห่วงอยู่"

แต่ในการจะสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้ได้ดีนั้นก็ต้องมีอารมณ์ที่จดจ่ออยู่กับงานด้วย

"โดยหลักการ การเขียนกาพย์กลอนต้องโปร่งใส ต้องใช้อิสระเสรี ถึงจะทำได้ดี ก็เหมือนทะเลเวลามีคลื่นลมมากเรือที่ลอยอยู่ก็สามารถจมได้ บางครั้งอารมณ์ไม่ดีก็ทำไม่ได้"

ส่วนในด้านงานจิตรกรรมนั้น อังคารเรียนวิชาวาดเขียนได้คะแนนดีมาโดยตลอด จนได้รับคำบันทึกจากคุณครูเขียนลงในสมุดรายงานว่า เป็นผู้มีใจรักและฝักใฝ่ในวิชาวาดเขียน เขามองว่าการวาดเขียนถึงแม้จะไม่ได้เงินทองมาก แต่จะมีประโยชน์ไปบริการทางวิญญาณ จะทำให้วิญญาณมนุษย์ดีขึ้น

อังคารยังให้ทัศนะในการทำงานว่า ก็เหมือนกับการเติบโตของต้นไม้ มันค่อยๆ ขึ้นทีละใบสองใบ ค่อยแตกไปเรื่อย ๆ ถึงฤดูกาลก็แตกดอกออกผล ก่อนออกผลก็ออกดอกเสียก่อนไปตามลำดับ พร้อมกับยืนยันว่าจะไม่ขอทำอย่างอื่นแล้วในชีวิตนี้ จะทำงานเหล่านี้ไปตลอดจนถึงชาติหน้า ทั้งงานศิลปะ ไม่ว่าจะวาดหรือปั้น รวมถึงงานเขียนบทกวี และกล่าวถึงผู้สืบทอดในงานว่า "ไม่ได้คิดอะไร เหมือนเราเกิดมาเป็นต้นโพธิ์ ถึงฤดูกาลใบมันก็หล่นลงมายังพื้นดิน กลายเป็นดิน น้ำ ลม ไฟตามเดิม ใครที่เขาเห็นคุณค่า เขามาไถ่ถามก็ให้เขาไปตามเรื่อง"

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ นายอังคาร กัลยาณพงศ์ ณ เมรุวัดทองนพคุณ เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม 2556 เวลา 17.00 น.[2]

ศิลปินแห่งชาติ แก้

นายอังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นกวีร่วมสมัยผู้ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้สร้างสรรค์กวีนิพนธ์สมัยใหม่ให้แก่วรรณศิลป์ไทย โดยชุบชีวิตขนบวรรณศิลป์ไทยให้เติบโตสอดคล้องกับวรรณศิลป์ร่วมสมัย โดยการศึกษาวรรณศิลป์จากกวีโบราณเพื่อเข้าใจแก่นแท้ของสุนทรียะทั้งด้านความงามและความคิด และนำความเข้าใจนี้มาเป็นฐานรองรับการสร้างสรรค์วรรณศิลป์เฉพาะตนขึ้น ผลงานกวีนิพนธ์เป็นศิลปะซึ่งมุ่งสร้างสรรค์ให้เป็น “ กุศลศิลป์ ” อันจักช่วยจรรโลงโอบอุ้มจิตใจมนุษย์ให้ล่วงพ้นมลทินแห่งความหลงใหลในวัตถุ มุ่งเตือนมนุษย์ให้เห็นปัญญาในสังคม การทำลายธรรมชาติและการทำลายมนุษย์ด้วยกันเองโดยความเขลา โดยมิได้แสดงถึงปัญหาอย่างสิ้นหวังไร้ทางแก้ไข หากแต่มีความมั่นใจว่า การพินิจธรรมชาติและเรียนรู้ธรรมะจากธรรมชาติ จะช่วยให้มนุษย์รอดพ้นจากหายนะภัย อันจะเกิดขึ้นได้จากความเห็นแก่ตัวและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของมนุษย์เอง ภาษาวรรณศิลป์ที่ใช้เป็นความงาม ความสะเทือนใจ ทำให้ตระหนักในคุณค่าของธรรมชาติซึ่งเป็นสุนทรียะและทางรอดของมนุษย์ ได้ประกาศหน้าที่ของตนเองในฐานะกวี ด้วยความภาคภูมิใจว่าเป็นสิ่งสูงสุด ความรักความมุ่งมั่นแน่วแน่ในหน้าที่ของกวี ที่จะมอบความดีความงามแก่โลกเช่นนี้ ช่วยให้งานมีพลังสร้างสรรค์เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ เป็นประโยชน์อันประมาณมิได้แก่สังคมไทยและมนุษย์ทั้งมวล

— คำประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ประจำปี พุทธศักราช 2532

ผลงานรางวัลซีไรต์ แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. นิธิ เอียวศรีวงศ์. "ท่านอังคาร". มติชนสุดสัปดาห์. ปีที่ 32 ฉบับที่ 1672. วันที่ 31 สิงหาคม – 6 กันยายน พ.ศ. 2555. หน้า 30–31. ISSN 1686-8196.
  2. "สิ้นกวีดัง "อังคาร กัลยาณพงศ์" ด้วยวัย86ปี หลังโรครุมเร้า". ไทยรัฐ. 25 สิงหาคม 2012.
  3. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๓๕ ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ทางราชการ. เล่ม 110 ตอนที่ 36 ง ฉบับพิเศษ หน้า 73. วันที่ 26 มีนาคม 2536.

บรรณานุกรม แก้

  • สมบัติ จำปาเงิน (2545). ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2531–2533. กรุงเทพฯ: สุวีริยาสาส์น. ISBN 978-974-298-245-4.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้