พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ (8 ตุลาคม พ.ศ. 2337 – 27 เมษายนพ.ศ. 2399) มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าพนมวัน ประสูติเมื่อวันพุธ เดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ ปีขาล ฉศก จุลศักราช 1156 ตรงกับวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2337 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาศิลา (สกุลเดิม ณ บางช้าง; มารดาชื่อ ฟักทอง ราชินิกุล ณ บางช้าง; ตาชื่อ ขุนสนิทภิรมย์ ซึ่งเป็นบุตรของเจ้ามุก ส่วนยายชื่อเชียง บุตรีของเจ้าแทนและเจ้ามุก โดยเจ้าแทนมีศักดิ์เป็นพระชนกทอง หรือพระชนกในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี)

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 2
พระองค์เจ้าชั้นเอก
ประสูติ8 ตุลาคม พ.ศ. 2337
สิ้นพระชนม์27 เมษายน พ.ศ. 2399 (61 ปี)
หม่อม4 คน
ราชสกุลพนมวัน
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระมารดาเจ้าจอมมารดาศิลา ในรัชกาลที่ 2

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ เป็นต้น ราชสกุล "พนมวัน" พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น กรมหมื่นพิพิธภูเบนทร และได้ทรงกำกับกรมพระนครบาล

วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2375 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรมขึ้นเป็น กรมขุนพิพิธภูเบนทร และโปรดเกล้าฯ ให้กำกับกรมคชบาล ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนกรมขึ้นเป็นกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์นเรนทรสุริยวงศ์ อิศวรพงศพรพิพัฒนศักดิรัตนธำรง คุณาลงกฎเกียรติวิบุลย อดุลยเดชบพิตร ในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2394

กรมพระพิพิธฯ ทรงกำกับ กรมพระนครบาล (เวียง) ระหว่างรัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 3 โดยมีการโปรดฯ ให้กำกับกรมพระคชบาลเพิ่มอีกหนึ่งกรมอีกด้วย โดยกรมทั้งสองต่างเป็นกรมสำคัญที่มีผู้คนสังกัดมากทั้งสองกรม

พระองค์ประทับอยู่ที่วังท้ายหับเผย (วังที่ 1) และสิ้นพระชนม์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันจันทร์ เดือน 5 แรม 8 ค่ำ ปีมะโรง อัฐศก จุลศักราช 1218 ตรงกับวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2399 สิริพระชันษา 62 ปี

ณ เดือน 4 ขึ้น 11 ค่ำ วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2400 เจ้าพนักงานได้อัญเชิญพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ มาลงเรือเอกไชยที่หน้าวัดพระเชตุพน เวลา 2 ยามเศษ แห่หามไปเข้าเมรุผ้าขาวที่หลังวัดอรุณราชวราราม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการมหรสพ 2 วัน 2 คืน พระราชทานพระโกศทองใหญ่ (เมื่อชักพระศพ) และได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงพระศพ ณ เดือน 4 ขึ้น 13 ค่ำ วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2400

พระประวัติ

แก้

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ มีพระอนุชาและพระภคินีร่วมเจ้าจอมมารดา 5 พระองค์ ได้แก่

  1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงศ์ ประสูติ ณ วันอังคาร เดือน 8 ปีกุน พ.ศ. 2334 สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4
  2. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษเทเวศร์ ประสูติ ณ วันพุธ เดือน 6 ขึ้น 4 ค่ำ ปีมะเมีย พ.ศ. 2341 สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4 เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 แรม 13 ค่ำ ปีกุน พ.ศ. 2406 ทรงเป็นต้นราชสกุลกุญชร
  3. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ประสูติ ณ วันอาทิตย์ เดือน 7 ขึ้น 12 ค่ำ ตรงกับวันที่ 24 พฤษภาคม ปีระกา ตรีศก 1213 พ.ศ. 2344 ทรงเป็นต้นราชสกุลทินกร
  4. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทนิล ประสูติ ณ วันพุธ เดือน 11 ขึ้น 6 ค่ำ ปีชวด พ.ศ. 2347 สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 5 เมื่อปีวอก พ.ศ. 2419 พระชันษา 65 ปี

ความเกี่ยวข้องกับการสืบราชสมบัติ

แก้

ในพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงพระบรมวงศ์ผู้ทรงอาวุโส ช่วงใกล้จะเสด็จสวรรคตนั้น พระนามของกรมขุนพิพิธฯ นั้นปรากฏอยู่ในรายชื่อเจ้านายสี่พระองค์ที่ทรงหมายจะให้สืบราชสมบัติต่อจากพระองค์ โดยรายชื่อดังกล่าวมีชื่ออยู่ด้วยกัน 4 พระองค์ ประกอบด้วย

  1. ท่านฟ้าใหญ่ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
  2. ท่านฟ้าน้อย (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)
  3. กรมขุนเดช (กรมขุนเดชอดิศร พระองค์เจ้ามั่ง ต่อมาในรัชกาลที่ 4 สถาปนาเป็น กรมสมเด็จพระเดชาดิศร หรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร)
  4. กรมขุนพิพิธฯ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์)

กรมพระพิพิธฯ มีเจ้ากรม และจางวาง เป็นพวกราชินิกุลบางช้างพระญาติพระวงศ์ รวมทั้งข้าหลวงคนน้ำข้าในกรมอีกมาก ครั้นเมื่อปลายรัชกาลที่ 3 ครั้งทรงพระประชวรจวนจะเสด็จสวรรคต กรมพระพิพิธฯ ท่านมีข้าในกรมมากมาย ซึ่งส่วนมากเป็นเชื้อสายพวกบางช้างดังกล่าว เมื่อคราวสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ สวรรคต พวกข้าในกรมก็เคยหวังกันไว้ว่าเจ้านายจะได้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลฯ กรมพระพิพิธฯ จึงทรงพระวิตกว่า หากเปลี่ยนรัชกาลไม่ว่าท่านพระองค์ใดจะเสด็จขึ้นครองราชย์ แต่อำนาจก็คงอยู่ที่เจ้าพระยาพระคลัง (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์) และพระยาศรีพิพัฒน์ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ) ซึ่งอาจจะพาลหาเหตุเอาผิดกับท่าน กรมพระพิพิธฯ จึงทรงระดมผู้คนพวกข้าในกรมที่อยู่ข้างนอกเข้ามาอยู่ในวัง ข้าในกรมของท่านมีมากมายดังกล่าวพากันเข้ามาอยู่ระวังรักษาพระองค์ล้นหลามจนต้องไปอาศัยนอนวัดโพธิ์ที่อยู่ใกล้ ๆ ความทราบถึงเจ้าพระยาพระคลังจึงได้ไปเฝ้าปรับความเข้าใจ เหตุการณ์ก็สงบเรียบร้อย กรมพระพิพิธฯ ปล่อยข้าในกรมกลับไปหมด

ดนตรีปี่พาทย์และการละคร

แก้

กรมพระพิพิธฯ นั้น โปรดดนตรีปี่พาทย์และการละครเป็นอย่างมาก โดยทรงมีทั้งวงปี่พาทย์ และละครนอก ในช่วงรัชกาลที่ 2 และ ละครใน ในช่วงรัชกาลที่ 3 ในพระนิพนธ์เรื่อง "ตำนานละคร" ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า ฯ กรมพระพิพิธฯ ทรงมีวงปี่พาทย์ผู้ชายวงหนึ่ง ซึ่งเป็นปี่พาทย์เครื่องใหญ่สำหรับทำรับเสภา คือประกอบการเล่นเสภา โดยเป็นพระราชนิยมใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และ ในสมัยรัชกาลที่ 3 แม้ละครของหลวงไม่มี แต่ก็มีละคร อย่างละครหลวงของเจ้านาย และขุนนางใหญ่โตถึง 11 และ โรง 1 ใน 11 คือ ละครฯ โรงของ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ ซึ่งว่ากันว่า กระบวนรำสวยงามดีกว่าโรงอื่น ๆ ทั้งนั้น

การศึก

แก้

ในปี พ.ศ. 2369 เกิดศึกเจ้าอนุวงศ์ ยกทัพเข้ามายึดนครราชสีมา ในรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้กรมขุนพิพิธฯ เป็นแม่ทัพบัญชาการกองทัพ ตั้งทัพสกัดตามชายทุ่ง ตั้งแต่ สามเสน ถึงทุ่งวัวลำพอง (หัวลำโพง) โค้งออกตามชายทุ่งบางกะปิ ไปจรดแม่น้ำเจ้าพระยา กรมพระพิพิธฯ เป็นแม่ทัพทรงตั้งกองบัญชาการอยู่ที่บริเวณวัดแหลม (วัดแหลม หรือ บางที ก็เรียกว่า "วัดไทรทอง" เนื่องด้วยคงมีต้นไทรใหญ่อยู่ในวัดเป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อมาวัดแหลม ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร") ทรงวางแนวรบที่สองตามแนวกำแพง พระนครด้านนอก (คลองบางลำภูโค้งไปตามคลองโอ่งอ่าง) แต่กองทัพเวียงจันทน์ พ่ายแพ้กองทัพไทยทุกด้านที่ยกเข้ามา ยังไม่ทันบุกเข้ามาถึงพระนคร

หลังศึกเจ้าอนุวงศ์สงบ กรมพระพิพิธฯ จึงทรงชักชวนเจ้าพี่เจ้าน้องให้ร่วมกันบูรณะวัดแหลม ทรงสร้างพระเจดีย์เรียงรายไว้หน้าวัด 5 องค์ ถึงรัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดว่า "วัดเบญจบพิตร" หมายถึงวัดของเจ้านาย 5 พระองค์

ต่อมาถึงรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงซื้อที่ดินราษฎรทางด้านสวนในบริเวณใกล้กับวัดเบญจบพิตร เพื่อทรงสร้างวังส่วนพระองค์ ทรงพระราชดำริว่า วัดเบญจบพิตร นั้น ทรุดโทรมแล้ว จึงทรงถวายที่ดินเป็นที่วิสุงคามสีมา สร้างวัดเบญจบพิตรขึ้นใหม่ ให้งดงามพร้อมสรรพเป็นวัดใหญ่ พระราชทานนามให้ใกล้เคียงชื่อเดิมว่า "วัดเบญจมบพิตร" เติม "ม" ลงไป มีความหมายว่า วัดที่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่ 5 ทรงสร้าง

พระโอรส-พระธิดา

แก้

พระองค์มีหม่อม 4 คน คือ หม่อมน่วม หม่อมจับ หม่อมตาด และหม่อมไม่ปรากฏนาม โดยมีพระโอรสและพระธิดา ดังต่อไปนี้

  • หม่อมเจ้าหญิงนารี พนมวัน
  • หม่อมเจ้าหญิงประดับ พนมวัน
  • หม่อมเจ้าหญิงสำอาง พนมวัน
  • หม่อมเจ้าไม่ปรากฏพระนาม มีหม่อมตาดเป็นมารดา
  • หม่อมเจ้าชายไม่ปรากฏพระนาม
  • หม่อมเจ้าหญิงประไภย พนมวัน (สิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2444 พระราชทานเพลิง ณ วัดสระเกศ เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2444) [1]
  • หม่อมเจ้าชายชิด พนมวัน ในรัชกาลที่ 4 ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชิดเชื้อพงศ์ (21 มกราคม พ.ศ. 2362 – 21 ตุลาคม พ.ศ. 2422)
  • หม่อมเจ้าหญิงเลียบ พนมวัน เป็นชายาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์
  • หม่อมเจ้าชายนพคุณ พนมวัน มีโอรส คือ
    • หม่อมราชวงศ์ฉาย พนมวัน (หม่อมดำรงรามฤทธิ์)
  • หม่อมเจ้าชายยินดี พนมวัน มีโอรสและธิดา คือ
    • หม่อมราชวงศ์ยัน พนมวัน (หม่อมอนุยันต์ศิริวงศ์)
    • หม่อมราชวงศ์หญิงผ่อง พนมวัน สมรสกับหม่อมราชวงศ์เชื้อ พนมวัน (หม่อมดำรงรามฤทธิ์)
    • หม่อมราชวงศ์หญิงเติม พนมวัน
  • หม่อมเจ้าชายปรีดา พนมวัน มีโอรส คือ
    • หม่อมราชวงศ์ผิว พนมวัน (หม่อมทศทิศฦาเดช)
    • หม่อมราชวงศ์เชื้อ พนมวัน (หม่อมดำรงรามฤทธิ์) หม่อมราชวงศ์หญิงผ่อง พนมวัน มีโอรสธิดา คือ
      • หม่อมหลวงปราโมทย์ พนมวัน
      • หม่อมหลวงสวัสดิ์ พนมวัน
      • หม่อมหลวงชด พนมวัน
      • หม่อมหลวงแถม พนมวัน (หลวงทรงศักดา)
      • หม่อมหลวงเอื้อน พนมวัน
      • หม่อมหลวงแดง พนมวัน
    • หม่อมราชวงศ์สิทธิ พนมวัน (พระสิทธิสราวุธ)
  • หม่อมเจ้าชายเจียก พนมวัน (สิ้นชีพิตักษัยเมื่อ พ.ศ. 2449)

พระเกียรติยศ

แก้
ธรรมเนียมพระยศของ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

พระอิสริยยศ

แก้
  • หม่อมเจ้าพนมวัน (8 ตุลาคม พ.ศ. 2337 - พ.ศ. 2349)
  • พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพนมวัน (พ.ศ. 2349 - 7 กันยายน พ.ศ. 2352)
  • พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าพนมวัน (7 กันยายน พ.ศ. 2352 - พ.ศ. 2356)
  • พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นพิพิธโภคภูเบนทร (พ.ศ. 2356 - 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367)
  • พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิพิธโภคภูเบนทร (21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2375)
  • พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนพิพิธโภคภูเบนทร (25 สิงหาคม พ.ศ. 2375 - 2 เมษายน พ.ศ. 2394)
  • พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนพิพิธโภคภูเบนทร (2 เมษายน พ.ศ. 2394 - 25 สิงหาคม พ.ศ. 2394)
  • พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระพิพิธโภคภูบนทร (25 สิงหาคม พ.ศ. 2394 - 27 เมษายน พ.ศ. 2399)

ภายหลังสิ้นพระชนม์

  • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร (1 ตุลาคม พ.ศ. 2411)

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสิ้นชีพิตักไษย, เล่ม ๑๘, ตอน ๑๕, ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๔, หน้า ๒๐๕
  • ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-818-8
  • บรรเจิด อินทุจันทร์ยง. ราชสกุลพระบรมราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : องค์การค้าของคุรุสภา, พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2539. หน้า หน้าที่. ISBN 974-005-650-8 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
  • บทความ นิยาย เวียงวัง ตอนที่ 60 [1]]