พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศรีสุเรนทร์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ (14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2331 - 31 ธันวาคม พ.ศ. 2359) มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าคันธรส ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 3 ขึ้น 8 ค่ำ ปีมะแม นพศก จุลศักราช 1149 ตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2330 (ปัจจุบันคือ พ.ศ. 2331) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพุ่ม ไม่มีนามสกุลพระราชทาน

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศรีสุเรนทร์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 1
พระองค์เจ้าชั้นเอก
ประสูติ14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2331
สิ้นพระชนม์31 ธันวาคม พ.ศ. 2359 (28 ปี)
พระบุตร3 องค์
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระมารดาเจ้าจอมมารดาพุ่ม ในรัชกาลที่ 1
ธรรมเนียมพระยศของ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศรีสุเรนทร์
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

ในปี พ.ศ. 2356 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น กรมหมื่นศรีสุเรนทร์

ต้องพระราชอาญา

แก้

ปี พ.ศ. 2359 สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) สิ้นพระชนม์ลง ครั้งนั้นว่ากันว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) วัดมหาธาตุอาจจะได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่ก็ได้เกิดอธิกรณ์ซึ่งนับว่าเป็นครั้งสำคัญและครั้งแรกขึ้นในรัชกาลที่ 2 เพราะมีพระเถระผู้ใหญ่ที่เป็นกำลังของคณะสงฆ์ต้องอธิกรณ์เมถุนปาราชิกพร้อมกันถึง 3 รูป ดังมีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารว่า

"ในเดือน ๑๒ ป็ชวดอัฐศก (พ.ศ. ๒๓๕๙) นั้น มีโจทก์ฟ้องว่า พระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) วัดมหาธาตุ รูป ๑ พระญาณสมโพธิ (เค็ม) วัดนาคกลางรูป ๑ พระมงคลเทพมุนี (จีน) วัดหน้าพระเมรุกรุงเก่ารูป ๑ ทั้ง ๓ รูปนี้ประพฤติผิดพระวินัยบัญญัติข้อสำคัญ ต้องเมถุนปาราชิกมาช้านาน จนถึงมีบุตรหลายคน โปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นรักษ์รณเรศ กับพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงพิจารณาได้ความเป็นสัตย์สมดังฟ้อง จึงมีรับสั่งเอาตัวผู้ผิดไปจำไว้ ณ คุก"

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ เป็นศิษย์เอกในสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ กริ้วในการกระทำอันเกินกว่าเหตุของเจ้านายสองพระองค์มาก (ว่ากันว่าอาจะเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อไม่ให้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นสมเด็จพระสังฆราช) จึงทรงเขียนบัตรสนเท่ห์ ดังนี้

ไกรสรพระเสด็จได้ สึกชี

กรมหมื่นเจษฎาบดี เร่งไม้
พิเรนทรแม่นอเวจี ไป่คลาด

อาจพลิกแผ่นดินได้ แม่นแม้น เมืองทมิฬ

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้ค้นหาตัวผู้ทิ้งหนังสือ จนได้องค์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 2 เขียนเรื่องนี้ไว้ว่า

"ครั้งนั้นกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ซึ่งเป็นศิษย์นายสี พุทธโฆษาจารย์ไม่เห็นด้วย ก็ทิ้งหนังสือเป็นคำโคลงหยาบช้าต่อตระลาการกระทบกระทั่งถึงพระเจ้าแผ่นดินด้วย จึงโปรดให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพิจารณาหนังสือทิ้ง กรมพระราชวังได้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์ กับนักปราชญ์ที่รู้กาพย์ กลอนโคลง พิจารณาก็ลงเนื้อเห็นว่าเป็นสำนวนฝีโอษฐ์กรมหมื่นศรีสุเรนทร์แน่แล้ว จึงรับสั่งให้หากรมหมื่นศรีสุเรนทร์มาซักถามก็ไม่รับ จึงให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนถามจึงได้รับเป็นสัตย์ กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ทนอาชญาไม่ได้ ก็สิ้นชีพในทิม แล้วมิได้บาดหมายให้ถอดชื่อเหมือนอย่างหม่อมเหมน ข้าราชการเพ็ดทูลลางคนก็ออกพระนามว่า พระองค์เจ้าคันธรศบ้าง ออกพระนามว่ากรมหมื่นศรีสุเรนทร์บ้าง"

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ สิ้นพระชนม์ขณะรับพระอาญาเฆี่ยน เมื่อวันอังคาร เดือนยี่ ขึ้น 13 ค่ำ ปีชวด อัฐศก จุลศักราช 1178 ตรงกับวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2359 สิริพระชันษา 28 ปี

พระโอรส-พระธิดา

แก้
  • หม่อมเจ้าหญิงมาลี (พ.ศ. 2353 - 17 ตุลาคม พ.ศ. 2420)
  • หม่อมเจ้าชายสนิท (พ.ศ. 2354 - สมัยรัชกาลที่ 3)
  • หม่อมเจ้าหญิง(ไม่ทราบพระนาม)

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
  • ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-818-8
  • บรรเจิด อินทุจันทร์ยง. ราชสกุลพระบรมราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : องค์การค้าของคุรุสภา, พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2539. หน้า หน้าที่. ISBN 974-005-650-8 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum