พระอรรถวิมลบัณฑิต (โต๊ะ หิรัณยัษฐิติ)

พันตำรวจเอก พระอรรถวิมลบัณฑิต (โต๊ะ หิรัณยัษฐิติ) (22 มกราคม 2425- 14 มกราคม 2516) เป็นอดีตนายตำรวจชาวไทย อดีตผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยตำรวจและโรงเรียนพลตำรวจ อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช และอดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครสวรรค์ ต้นตระกูลหิรัณยัษฐิติ ได้รับพระราชทานขณะมียศและบรรดาศักดิ์เป็น ร้อยตำรวจเอก ขุนหาญทุระชน สารวัตรแขวง กรมพระตำรวจนครบาล[1] มีศักดิ์เป็นปู่ทวดของ ชาย-ชาตโยดม หิรัณยัษฐิติ และมิค-บรมวุฒิ หิรัณยัษฐิติ 2 นักแสดงชื่อดัง

ประวัติ แก้

พันตำรวจเอกพระอรรถวิมลบัณฑิต เกิดเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2425 ที่ ตำบลวัดน้อย อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เป็นบุตรชายของนายเฉยและนางขำ หิรัณยัษฐิติ

รับราชการ แก้

พันตำรวจเอกพระอรรถวิมลบัณฑิตเริ่มต้นรับราชการเป็นตำรวจโดยได้รับพระราชทานยศเป็น อำมาตย์โท เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2458[2] ก่อนจะเปลี่ยนยศเป็น ร้อยตำรวจโท เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2458 จากนั้นจึงได้รับพระราชทานยศเป็น นายร้อยตำรวจเอก ขุนหาญทุระชน เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2459 [3](ในราชกิจจานุเบกษาลงว่า ขุนราญทุระชน แต่ได้มีการบอกแก้ในภายหลัง[4]) ต่อมาจึงได้โอนย้ายมารับราชการในกรมอัยการ หลังจากสอบได้เป็นเนติบัณฑิต จนได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์ที่ อำมาตย์ตรี หลวงอรรถวิมลบัณฑิต

ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2469 หลวงอรรถวิมลบัณฑิตซึ่งขณะนั้นรับราชการในตำแหน่ง อัยการประจำกองคดีในกรมอัยการ ก็ได้โอนย้ายกลับมารับราชการตำรวจอีกครั้งโดยเป็นรักษาราชการแทนในตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยตำรวจและโรงเรียนพลตำรวจ แทนนายพันตำรวจเอก พระยาบุเรศผดุงกิจ (รวย พรหโมบล) ที่ไปรักษาราชการแทนในตำแหน่ง ผู้บังคับการตำรวจนครบาลสายบางรัก พร้อมกับได้เป็นว่าที่นายพันตำรวจเอก[5] ในปีถัดมาคือในวันที่ 6 กรกฎาคม 2470 จึงได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยตำรวจและโรงเรียนพลตำรวจ แต่ยังคงเป็นว่าที่นายพันตำรวจเอก[6] กระทั่งในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2471 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศ นายพันตำรวจเอก[7]

วันที่ 25 ธันวาคม 2472 ท่านต้องพ้นจากตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยตำรวจและโรงเรียนพลตำรวจเนื่องจากได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปรับตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราชโดยมี นายพันตำรวจเอก หลวงนราบริรักษ์ (เจิม ปิณฑะรุจิ) ผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราชสลับมารับตำแหน่งแทน[8] ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2473 ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เลื่อนเป็น พระอรรถวิมลบัณฑิต ถือศักดินา 800[9] ต่อมาในวันที่ 12 พฤษภาคม 2474 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท่านย้ายขึ้นไปรับตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครสวรรค์สลับกับ นายพันตำรวจโท พระสท้านไตรภพ ที่ย้ายไปรับตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช[10]

ต่อมาในวันที่ 1 เมษายน 2475 ท่านถูกปลดออกจากราชการรับพระราชทานบำนาญพร้อมกับนายตำรวจอีก 2 นายคือ นายพันตำรวจเอก พระยาย่ายพลแสน ผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลราชบุรี และนายพันตำรวจโท พระเรืองฤทธิ์ระวังภัย ผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลปราจีน[11]

ยศและบรรดาศักดิ์ แก้

  • 1 มกราคม 2455 – ขุนหาญทุระชน สารวัตรแขวง กรมกองตระเวน ถือศักดินา 400[12]
  • 3 มิถุนายน 2458 – อำมาตย์โท
  • 17 มกราคม 2458 – เปลี่ยนยศเป็นร้อยตำรวจโท[13]
  • 23 มิถุนายน 2459 – ร้อยตำรวจเอก
  • 18 มิถุนายน 2460 – เข้ารับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์[14]
  • 19 ธันวาคม 2460 – รองอำมาตย์เอก[15]
  • 15 มีนาคม 2461 – โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงนครบาล ส่งสัญญาบัตรยศไปพระราชทาน[16]
  • 30 พฤษภาคม 2462 – หลวงอรรถวิมลบัณฑิต ถือศักดินา 600[17]

ตำแหน่ง แก้

  • 22 มีนาคม 2460 – อัยการกรมพระนครบาล[18]
  • 27 พฤษภาคม 2462 – อัยการมณฑลนครสวรรค์[19]
  • 2 มิถุนายน 2462 – เข้าเฝ้าเพื่อกราบถวายบังคมลา[20]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ 57 (หน้า 1168)
  2. พระราชทานยศพลเรือน (หน้า 621)
  3. พระราชทานยศนายตำรวจภูธรและนายตำรวจพระนครบาล (หน้า 810)
  4. บอกแก้
  5. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ย้ายและบรรจุตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจ
  6. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งผู้บังคับการตำรวจ
  7. พระราชทานยศ (หน้า 2450)
  8. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ย้ายผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช และผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยตำรวจและโรงเรียนพลตำรวจ
  9. พระราชทานบรรดาศักดิ์
  10. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ย้ายผู้บังคับการตำรวจภูธร
  11. แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ย้ายและปลดผู้บังคับการตำรวจภูธร
  12. ตั้งบรรดาศักดิ์
  13. พระบรมราชโองการ ประกาศเปลี่ยนนามกรมพลตระเวนและเปลี่ยนยศข้าราชการในกรมพลตระเวน
  14. รายวันพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์
  15. พระราชทานยศ
  16. ส่งสัญญาบัตรยศตำรวจพระนครบาลและตำรวจภูธรไปพระราชทาน
  17. พระราชทานบรรดาศักดิ์
  18. แจ้งความกระทรวงยุติธรรม
  19. แจ้งความกระทรวงยุติธรรม
  20. ข้าราชการกราบถวายบังคมลา
  21. พระราชทานเหรียญจักรมาลา
  22. พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (หน้า 3627)
  23. พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ (หน้า 3447)