พระยาพลเทพ
พระยาพลเทพ เป็นชื่อตำแหน่งของเสนาบดีกรมนาหรือเกษตราธิการ หนึ่งในเสนาบดีจตุสดมภ์ ราชทินนามเต็มตามทำเนียบพระไอยการนาพลเรือนคือ "ออกญาพลเทพราชเสนาบดีศรีไชยนพรัตนกระเสตราธิบดีอภัยพิรียบรมกรมภาหุ" ศักดินา ๑๐,๐๐๐ ไร่[1] ในสมัยรัตนโกสินทร์ยกขึ้นเป็นเจ้าพระยา ทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานผู้ดูแลไร่นา เก็บหางข้าวหรือข้าวจากนาของราษฏรสำหรับขึ้นฉางหลวง (สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเปลี่ยนให้จ่ายเป็นเงินเรียกว่าค่านาแทน) จัดซื้อข้าวขึ้นฉางหลวงสำหรับแจกจ่ายในพระราชวังและพระนคร ตั้งศาลพิจารณาความที่เกี่ยวข้องกับที่นาและสัตว์ที่ใช้ทำนาอย่างโคกระบือ ทำหน้าที่เป็นพระยาแรกนาในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และทำหน้าที่เป็นพระยายืนชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย[2][3]
ในคำให้การชาวกรุงเก่า ได้บันทึกว่าผู้ดำรงตำแหน่งพระยาพลเทพในช่วงเวลานั้นเป็นไส้ศึกให้กับพม่าซึ่งมีส่วนทำให้กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเป็นครั้งที่ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ กล่าวว่า "คราวนั้นพระยาพลเทพข้าราชการในกรุงศรีอยุธยาเอาใจออกห่าง ลอบส่งเครื่องสาตราวุธเสบียงอาหารให้แก่พม่า สัญญาจะเปิดประตูคอยรับ พม่าเห็นได้ทีก็ระดมเข้าตีปล้นกรุงศรีอยุธยา ทำลายเข้ามาทางประตูที่พระยาพลเทพนัดหมายไว้ ก็เข้าเมืองได้ทางประตูทิศตะวันออกในเวลากลางคืน"[4] ต่างกับพระราชพงศาวดารไทยและพม่าว่ากองทัพพม่าทำการขุดอุโมงค์และเผารากกำแพงจนกำแพงถล่ม ทำให้พม่าเข้าเมืองได้ในที่สุด และในพงศาวดารทั้งไทยและพม่าไม่ได้พูดถึงบทบาทพระยาพลเทพเลย แต่มีชื่อภยาภลเทป (ဘယာဘလဒေပ พระยาพลเทพ) ปรากฏในมหาราชวงศ์พงษาวดารพม่าว่าเป็นหนึ่งในขุนนางอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปอังวะ[5][6]
ผู้ดำรงตำแหน่งพระยาพลเทพคนสุดท้าย คือเจ้าพระยาพลเทพ (เฉลิม โกมารกุล ณ นคร)
ในวัฒนธรรมสมัยใหม่
แก้มีนักแสดงที่รับบทพระยาพลเทพในสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ได้แก่
- สุเชาว์ พงษ์วิไล, มานพ อัศวเทพ, สมภพ เบญจาธิกุล และ สุเมธ องอาจ จากละครเรื่อง สายโลหิต (2529), (2538), (2546) และ (2561)
- ศ.ดร.สรนันทน์ ร.เอกวัฒน์ จากละครเรื่อง นายขนมต้ม (2539)
- อภิชาติ ชูสกุล จากละครเรื่อง นิราศสองภพ (2545)
- พอเจตน์ แก่นเพชร จากละครเรื่อง ฟ้าใหม่ (2547)
- สุรพล พูนพิริยะ จากละครเรื่อง ศรีอโยธยา (2560)
- จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์ จากละครเรื่อง หนึ่งด้าวฟ้าเดียว (2561)
อ้างอิง
แก้- ↑ กฎหมายตรา ๓ ดวง เล่ม ๑. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, ๒๕๔๘
- ↑ จุลจอมเกล้า, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. พระนคร: โรงพิมพ์ท่าพระจันทร์, ๒๔๙๖
- ↑ โรงพิมพ์ท่าพระจันทร์, ๒๔๙๖
- ↑ ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยารวม ๓ เรื่อง. พิมพ์ครั้งแรก. กรุงเทพฯ: แสงดาว, ๒๕๕๓.
- ↑ ต่อ, นาย, ผู้แปล. มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า. สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๕.
- ↑ บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๕.