อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี

อุทยานประวัติศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนเนินเขาในประเทศไทย
(เปลี่ยนทางจาก พระนครคีรี)

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี โดยทั่วไปเรียก เขาวัง[2] เป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของประเทศไทยภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นพระราชวังฤดูร้อนที่สร้างขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี

พระราชวังพระนครคีรี
วัดพระแก้วน้อยและพระสุทธเสลเจดีย์ หนึ่งในสัญลักษณ์ของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทพระราชวังในอดีต
สถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมจีนผสมฟื้นฟูคลาสสิก[1]
เมืองอำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
ประเทศประเทศไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2402
ปรับปรุงพ.ศ. 2522
ผู้สร้างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
การออกแบบและการก่อสร้าง
วิศวกรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

ประวัติ

แก้

พระนครคีรีเป็นพระราชวังที่ประทับในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยเป็นพระราชวังฤดูร้อนโดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองในการก่อสร้างโดยก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2405 โดยพระนครคีรีแบ่งออกเป็นเขตพระราชฐานต่าง ๆ ดังนี้

เขตพระราชฐานชั้นนอก เป็นยอดเขาด้านหน้าเป็นที่ตั้งของกรมกองต่าง ๆ ของทางราชการซึ่งตามเสด็จ เขตพระราชฐานชั้นกลางและชั้นใน เป็นยอดเขาตรงกลางและด้านในเป็นที่ตั้งของพระราชมณเฑียรที่ประทับของทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในรวมทั้งข้าราชบริพาร

พระที่นั่งในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี

แก้

พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์

แก้
 
พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567

พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ เป็นพระที่นั่งองค์แรกของพระราชวังโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยทรงเสด็จมาวางศิลาฤกษ์ด้วยพระองค์เองในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2402 เป็นพระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระที่นั่งต่าง ๆ ในพระราชวัง ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบยุโรปผสมไทยและจีน ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีมุขยื่นออกไปด้านข้างสองด้านทั้งซ้ายและขวา ภายในแบ่งเป็นห้องต่าง ๆ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้ดัดแปลงท้องพระโรงหลังเป็นห้องพระบรรทม ท้องพระโรงหน้าดัดแปลงเป็นห้องเสวยมุข ด้านทิศตะวันออกดัดแปลงเป็นห้องทรงพระสำราญและมุขด้านทิศตะวันตกดัดแปลงเป็นห้องลงพระบังคน ปัจจุบันใช้เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุและเครื่องเรือนต่าง ๆ โดยพระที่นั่งองค์นี้เคยเป็นสถานที่รับรองพระราชอาคันตุกะ เช่น ดยุกโยฮัน อัลเบร็ชท์แห่งเมคเลินบวร์คและเจ้าหญิงเอลีซาเบ็ทแห่งสโตลเบิร์ก–รอซซาลา พระชายา

 
พระนครคีรี เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2486

พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์

แก้

พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ ตั้งอยู่ติดกับพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ มีฐานและหลังคาเชื่อมต่อกันมีลักษณะแบบเก๋งจีน 2 ชั้น ชั้นบนมีห้องบรรทม 2 ห้อง ชั้นล่างมีห้องโถง 2 ห้อง ทางขึ้นอยู่ด้านหน้ามีชายคาคลุมเป็นบันไดแนบตึก 2 ด้าน ปัจจุบันจัดแสดงพระแท่นบรรทมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท

แก้
 
พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567
 
พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2556
 
พระธาตุจอมเพชร เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2552

พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นปราสาทจตุรมุข ยอดปรางค์ 5 ยอด ตามพระราชนิยมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มียอดปรางค์ใหญ่อยู่กลาง และปรางค์เล็กอยู่ 4 มุม บนฐานสูงซ้อนกัน 3 ชั้น มีระเบียงแก้วโดยรอบแต่ละชั้น ระเบียงชั้นบนสุดมีโดมโปร่งที่มุมทั้งสี่ ตัวปราสาทประดับลายปูนปั้น ภายในประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หล่อด้วยสำริด ทรงฉลองพระองค์แบบตามพระราชนิยม ทรงพระมาลาสก๊อต พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ พระหัตถ์ซ้ายทรงสมุดหนังสือ ทรงยืนใต้นพปฎลเศวตฉัตร จากพระที่นั่งองค์นี้มีประตูออกไปสู่ พระที่นั่งราชธรรมสภา

พระที่นั่งราชธรรมสภา

แก้

พระที่นั่งราชธรรมสภา เป็นอาคารชั้นเดียว ศิลปะผสมระหว่างศิลปะยุโรป จีน และไทย หลังคาเป็นแบบเก๋งจีนในรัชกาลที่ 4 ทรงใช้เป็นที่ประชุมส่วนพระองค์บรรยายธรรมะ ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ดัดแปลงเป็นห้องเสวยสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ที่ตามเสด็จ ในปัจจุบันใช้เป็นอาคารแสดงนิทรรศการ จุดเด่นจะอยู่ตรงประตูบ้านโค้งสีเขียวตัดกับผนังสีขาวที่มีลายปูนปั้นสวยงามภายในมีโต๊ะหมู่บูชาสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป

 
วัดพระเเก้วน้อยในยามเย็น

หมู่พระตำหนักสันถาคารสถาน

แก้

หมู่พระตำหนักสันถาคารสถาน เป็นหมู่พระตำหนักของพระราชวังตั้งอยู่บริเวณทางลาดขึ้นพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมอาคารขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลางและล้อมรอบไปด้วยอาคารขนาดเล็ก ภายในมีชานเชื่อมต่อกันบันไดทางขึ้นตั้งอยู่ด้านนอก โดยพระตำหนักเป็นอาคาร 2 ชั้น สถาปัตยกรรมแบบประยุกต์ตะวันตก สันหลังคาเป็นแบบจีนมุงกระเบื้องกาบกล้วย พระตำหนักองค์กลางแบ่งได้ 2 ส่วน คือ

  • ส่วนหน้าทำเป็นท้องพระโรงเล็ก
  • ส่วนหลังทำเป็นห้องเล็ก ๆ 2 แถวขนาด 5 ห้องมีทางเดินตรงกลาง

สำหรับเป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายใน พระราชโอรส-พระราชธิดา โดยพระตำหนักองค์นี้มีมุขด้านหน้าสำหรับประทับทอดพระเนตรการแสดงละคร

หอต่าง ๆ

แก้

หอชัชวาลเวียงชัย

แก้

ลักษณะเป็นหอทรงกลมสูงคล้ายกระโจมไฟ มีบันไดเวียนสำหรับเดินขึ้น-ลง ชั้นบนรอบนอกเป็นระเบียงซึ่งประดับด้วยลูกกรงแก้ว หลังคาเป็นรูปโดมมุงด้วยกระจกโค้งภายในมีโคมไฟห้อย ซึ่งกลางคืนจะมองเห็นแสงไฟไกลไปถึงชายทะเล และเมื่อนักท่องเที่ยวขึ้นไปชมบนหอชัชวาลเวียงชัยแห่งนี้แล้ว ก็จะมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบของเมืองเพชรบุรี

หอพิมานเพชรมเหศวร์

แก้

หอพิมานเพชรมเหศวร์ ตั้งอยู่บนยอดเขาเล็ก ๆ หน้าพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ เป็นหอขนาดเล็ก 3 หอ หอกลางมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ หอด้านขวาเป็นศาลเทพารักษ์ หรือที่เรียกกันว่าศาลพระภูมิเจ้าที่ หอด้านซ้ายใช้เป็นที่ประโคมสังคีต หอพิมานเพชรมเหศวร์นี้เคยใช้เป็นที่ประกอบพิธีโสกันต์ ที่หอกลางใหญ่ได้กั้นผนังไว้สำหรับใช้เป็นห้องบรรทมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในวันที่พระองค์ทรงถืออุโบสถศีล ขณะที่ประทับอยู่ที่พระราชวังแห่งนี้ เช่นเดียวกับหอเสถียรธรรมปริตในพระบรมมหาราชวัง โดยหอแห่งนี้เคยใช้ประกอบพระราชพิธีโสกันต์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพักตร์พิมลพรรณ พระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาแพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามัณยาภาธร พระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาจันทร์

หอจตุเวทปริตพัจน์

แก้

หอจตุเวทปริตพัจน์ ตั้งอยู่ใกล้กับพระอุโบสถวัดพระแก้วลักษณะคล้ายกับศาลาการเปรียญเป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล

ศาลาต่าง ๆ

แก้

ศาลาทัศนานักขัตฤกษ์

แก้

ศาลาทัศนานักขัตฤกษ์ ตั้งอยู่บนไหล่เขาด้านตะวันออกตรงข้ามกับวัดมหาสมนารามวรวิหารเป็นศาลาที่ประทับทอดพระเนตรการจัดงานนักขัตฤกษ์และประเพณี

ป้อมต่าง ๆ

แก้

ป้อมของพระนครคีรีมีทั้งหมด 4 ป้อมดังนี้

  • ป้อมธตรฐป้องปก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก
  • ป้อมวิรุฬหกบริรักษ์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้
  • ป้อมวิรุฬปักษ์ป้องกัน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก
  • ป้อมเวสสุวรรณรักษา ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ

ปัจจุบันยังปรากฏให้เห็นป้อมเหล่านี้อยู่

เกย

แก้

เกยของพระนครคีรีมีอยู่ 1 เกยดังนี้

  • เกยวัชราภิบาล ตั้งอยู่บนเชิงบันไดด้านทิศตะวันตกบริเวณพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์

ประตู

แก้

ประตูต่างๆในพระนครคีรีมีทั้งหมด 8 ประตูโดยแบ่งเป็นประตูรอบ ๆ พระราชวังหรือประตูชั้นกลาง

  • ประตูนารีประเวศ
  • ประตูวิเศษราชกิจ
  • ประตูราชฤทธิแรงปราบ
  • ประตูอานุภาพเจริญ

ประตูในพระมหามณเฑียรหรือประตูชั้นใน

  • ประตูดำเนินทางสวรรค์
  • ประตูจันทร์แจ่มจำรูญ
  • ประตูสูรย์แจ่มจำรัส

สิ่งก่อสร้างอื่น ๆ

แก้
  • โรงรถและโรงม้า ตั้งอยู่ทางลาดเขาเหนือวัดมหาสมนารามด้านหน้าเปิดโล่งมีชายคายื่นออกมา
  • ราชวัลลภาคาร ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้นใกล้กับโรงม้าสำหรับเป็นที่พักของมหาดเล็กและข้าราชบริพาร
  • ศาลาลูกขุน ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้นใกล้กับโรงม้าเป็นที่ทำการของคณะลูกขุนเพื่อพิจารณาคดี
  • ศาลาเย็นใจ ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้นตั้งอยู่ตรงข้ามกับศาลาด่านหน้าใช้เป็นที่พักผ่อนของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
  • โรงมหรสพหรือโรงโขน ตั้งอยู่ด้านหน้าพระที่นั่งสันถาคารสถานมีลักษณะเป็นอาคารโถงมีเวทีรูปอัฒจันทร์กว้าง8เมตร
  • ศาลาด่านหน้า ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้นใกล้กับโรงมหรสพเป็นที่ทำการของกรมพระตำรวจหลวง
  • ทิมดาบองครักษ์ ตั้งอยู่ลาดเหนือโรงโขนขึ้นไปเป็นที่ทำการของสมุหองครักษ์
  • โรงสูทกรรม ตั้งอยู่ทางแยกขึ้นวัดพระแก้วเป็นโรงครัวสำหรับทำอาหารเลี้ยงข้าราชบริพาร
  • ศาลาด่านหลัง ตั้งอยู่ริมทางแยกที่จะลงไปวัดพระนอนสำหรับเป็นที่พักของนายด่านตรวจตรา

วัดมหาสมณารามราชวรวิหาร

แก้

วัดมหาสมณาราม ตั้งอยู่ในเขตตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองฯ เดิมชื่อวัดสมณะ หรือวัดมหาสมณ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จมาประทับเมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ ต่อมาเมื่อได้สร้างพระนครคีรีแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดแห่งนี้ พระราชทานนามว่า วัดมหาสมณาราม แต่ประชาชนทั่วไปเรียกว่า วัดเขาวัง เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร อุโบสถวัดมหาสมณารามฯ ภาพจิตรกรรมในพระอุโบสถเขียนด้วยสีฝุ่น กล่าวกันว่าเป็นฝีมือของ ขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การเขียนภาพของขรัวอินโข่งมีลักษณะเฉพาะตัวคือ จะวางภาพเต็มพื้นที่ทั้งหมด ไม่มีภาพเทพชุมนุมเรียงเป็นแถวแบบเดิม มีแต่ภาพเหล่าเทวดานางฟ้า ปรากฏตามก้อนเมฆบ้าง ภาพที่เขียนจะอยู่ในเนื้อเดียวกันทั้งหมด จะมีการแบ่งภาพเป็นตอน ๆ ฉากหลังมักเป็นภาพธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพร ผนังหน้าพระอุโบสถ เขียนภาพการเดินทางไปนมัสการพระพุทธบาท ถือว่าเป็นภาพชิ้นเยี่ยมของพระอุโบสถประกอบด้วยทิวทัศน์อันงดงาม มณฑปพระพุทธบาทตั้งอยู่บนไหล่เขาซึ่งอุดมไกด้วยต้นไม้นานาชนิด เบื้องล่างเป็นภาพที่มีความงามตามธรรมชาติ มีการจัดภาพอย่างงดงามลงตัว เป็นประโยชน์ในการศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณี

ระเบียงภาพ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. บางประภา, มงคล (15 May 2024). "Historical park to receive Unesco push". บางกอกโพสต์ (ภาษาอังกฤษ). Vol. LXXVII no. 136. บางกอกโพสต์ จำกัด (มหาชน). p. 3. สืบค้นเมื่อ 15 May 2024. The compound encompasses a palace, a temple and various groups of buildings and showcases a mix of neoclassical and Chinese architecture
  2. "อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง)". thai.tourismthailand.org.