พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค

พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค (อังกฤษ: Hyde Park Movement Party) พรรคการเมืองที่ได้จดทะเบียนก่อตั้งพรรคตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ. 2498 เป็นลำดับที่ 4/2499[1] เป็นพรรคการเมืองที่มีแนวทางทางการเมืองเอนไปทางฝ่ายซ้าย

พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค
หัวหน้าเพทาย โชตินุชิต (หัวหน้าพรรคคนแรก)
ทวีศักดิ์ ตรีพลี
เลขาธิการชวน รัตนวราหะ
ก่อตั้ง21 มีนาคม พ.ศ. 2499
ถูกยุบ20 ตุลาคม พ.ศ. 2501
การเมืองไทย
รายชื่อพรรคการเมือง
การเลือกตั้ง

ประวัติ แก้

พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค ยื่นจดทะเบียนก่อตั้งพรรคต่อปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2499 มีนายเพทาย โชตินุชิต เป็นหัวหน้าพรรคและนายชวน รัตนวราหะ เป็นเลขาธิการพรรค

พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค เกิดขึ้นหลังจากที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีหลังจากได้เดินทางไปเยือนนานาประเทศในช่วงปี พ.ศ. 2498 และเกิดความประทับใจในมุมนักพูด ที่สวนสาธารณะไฮด์ปาร์ค กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่เปิดโอกาสให้มีผู้ปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลได้อย่างอิสระ เมื่อกลับมาจึงได้เปิดโอกาสให้กระทำเช่นนั้นที่ท้องสนามหลวง[2] จึงเกิดการปราศรัยครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2498 โดยโจมตีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น และได้ขยายแนวร่วมและการเคลื่อนไหวขึ้นเป็นลำดับ โดยเรียกร้องให้ยกเลิก ส.ส. ประเภทที่ 2 โดยอ้างว่าไม่เป็นประชาธิปไตย และมีการเดินขบวนที่ถนนราชดำเนินและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในปลายปีเดียวกัน จนถูกจับ ผู้ที่ถูกจับคุมขังจึงประท้วงด้วยการอดอาหาร

จนกระทั่งรัฐบาลเปิดโอกาสให้มีการจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นมาอย่างเป็นทางการ จึงมีการก่อตั้งพรรคขึ้นมาอย่างเป็นทางการ[3]

ต่อมาในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 นายเพทาย โชตินุชิต หัวหน้าพรรคได้ลาออกจากตำแหน่ง ที่ประชุมพรรคจึงได้ทำการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ปรากฏว่า นายทวีศักดิ์ ตรีพลี ส.ส.จังหวัดขอนแก่นได้รับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่

นโยบาย แก้

พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค เป็นพรรคการเมืองที่มีแนวทางทางการเมืองเอนไปทางฝ่ายซ้าย[4] มีนโยบาย 4 ประการ คือ

  1. การดำเนินกิจการทางการเมืองเพื่อเอกราชและประชาธิปไตยสมบูรณ์
  2. ต้องเป็นรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน
  3. ประชาชนเป็นใหญ่
  4. รวมกันอยู่ แยกกันเราตาย [4]

การเลือกตั้ง แก้

การเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2500 แก้

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 พรรคขบวนการไฮด์ปาร์คได้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ซึ่งทางพรรคได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 2 ที่นั่งคือ ทวีศักดิ์ ตรีพลี จากจังหวัดขอนแก่น และ พีร์ บุนนาค จากจังหวัดสุพรรณบุรี

การเลือกตั้ง 15 ธันวาคม 2500 แก้

ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 16 กันยายน ปีเดียวกัน ทางพรรคได้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง แต่ในคราวนี้พรรคกลับได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเพียงที่นั่งเดียวจากนายทวีศักดิ์ ตรีพลี หัวหน้าพรรค

ยุบพรรค แก้

พรรคขบวนการไฮด์ปาร์คถูกยุบตามคำสั่งคณะปฏิวัติที่มี จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะเมื่อค่ำวันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501[5]

อ้างอิง แก้

  1. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจดทะเบียนพรรคการเมืองขบวนการไฮด์ปาร์ค
  2. Rose, Saul. Socialism in Southern Asia. London: Oxford University Press, 1959. p. 181
  3. Nity (2011-08-24). ""ขบวนการไฮด์ปาร์ก" ?". โอเคเนชั่น. สืบค้นเมื่อ 2017-06-17.[ลิงก์เสีย]
  4. 4.0 4.1 Trager, Frank N (ed.). Marxism in Southeast Asia; A Study of Four Countries. Stanford, Calif: Stanford University Press, 1959. p. 97
  5. "ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๘ (มีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ ยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๔๙๘ ให้บรรดาพรรคการเมืองที่ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นอันสิ้นสุดลงไป)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-14. สืบค้นเมื่อ 2016-05-26.