พระนครน่าน

เทพบุรีสะหรีศรีสวัตินครราชไชยนันทบุรี
พระนครเมืองน่าน

พ.ศ. 2331–พ.ศ. 2461
สถานะประเทศราชแห่งอาณาจักรสยาม
เมืองหลวงพระนครน่าน
ภาษาทั่วไปคำเมือง , ไทลื้อ
ศาสนา
ศาสนาพุทธ (เถรวาท)
การปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ภายใต้อาณาจักรหลักคำ (กฎหมายเมืองน่าน)
เจ้าผู้ครองนครน่าน 
• สมเด็จเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ
พ.ศ. 2329 - พ.ศ. 2353
• เจ้าสุมนเทวราช
พ.ศ. 2354 - พ.ศ. 2368
• เจ้ามหายศ
พ.ศ. 2368 - พ.ศ. 2378
• เจ้าอชิตวงษ์
พ.ศ. 2379 - พ.ศ. 2380
• เจ้ามหาวงษ์
พ.ศ. 2381 - พ.ศ. 2394
• เจ้าอนันตวรฤทธิเดช
พ.ศ. 2395 - พ.ศ. 2435
• พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช
พ.ศ. 2436 - พ.ศ. 2461
• เจ้ามหาพรหมสุรธาดา
พ.ศ. 2462 - พ.ศ. 2474
ประวัติศาสตร์ 
• ฟื้นฟูเมืองนครน่าน
พ.ศ. 2331
• ย้ายเมืองน่านไปอยู่บริเวณดงพระเนตรช้าง
พ.ศ. 2362
• ย้ายเมืองน่านมาอยู่ที่ตั้งปัจจุบันในปัจจุบัน
พ.ศ. 2397
• นครเมืองน่านเสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง
พ.ศ. 2446
พ.ศ. 2461
พื้นที่
พ.ศ. 2400 - พ.ศ. 246150,022.417 ตารางกิโลเมตร (19,313.763 ตารางไมล์)
สกุลเงินเจียงน่าน , ท๊อกน่าน , รูปี[1]
ก่อนหน้า
ถัดไป
นครรัฐน่าน
มณฑลลาวเฉียง
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ

เทพบุรีสะหรีศรีสวัตินครราชไชยนันทบุรี หรือ เมืองนครน่าน เป็นประเทศราชของอาณาจักรสยามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2331 ภายหลังจากที่เจ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าเมืองน่าน ได้เสด็จลงมาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เพื่อขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาแห่งกรุงรัตน์โกสินทร์ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนขั้วอํานาจใหม่ พระมหากษัตริย์สยามเป็นผู้มีอํานาจในการสถาปนาแต่งต้ังเจ้าผู้ครองนครน่าน (เจ้าหลวง) ให้ดำรงพระยศเป็น “พระเจ้านครเมืองน่าน” “เจ้านครเมืองน่าน” “สมเด็จเจ้าฟ้าเมืองน่าน” หรือ “พระยาเมืองน่าน” มีพระสถานะเป็น “กษัตริย์ประเทศราช” ในยุคนี้พระมหากษัตริย์สยามจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา เจ้าหลวงเมืองนครน่านทุกพระองค์สืบมาจนถึงเจ้ามหาพรหมสุรธาดาฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 64 (เจ้ามหาพรหม ณ น่าน) ทรงเป็นเจ้าหลวงเมืองนครน่านพระองค์สุดท้าย (พ.ศ. 2462 - พ.ศ. 2474)

ประวัติ แก้

  • เมืองน่านในปัจจุบัน ตามบันทึกพงษาวดารเมืองน่าน กล่าวว่า พระยาผากอง ได้สร้างเมืองขึ้นใหม่ที่บ้านห้วยไค้ เมื่อ พ.ศ. 1911 เมืองน่านซึ่งตั้งอยู่ ณ บ้านห้วยไค้ ในสมัยต่อมามีตัวเมือง 2 แห่ง คือ เมืองเก่า หรือเรียกว่า “เวียงใต้” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านแห่งหนึ่ง กับเมืองใหม่เรียกว่า “เวียงเหนือ” ตั้งอยู่บนดอนข้างหลังเวียงเก่าถัดขึ้นไปอีกแห่งหนึ่ง เหตุที่มีตัวเมืองสองแห่งนั้น กล่าวคือ เริ่มตั้งแต่พระยาผากอง ได้มาตั้งเมืองที่ริมแม่น้ำน่านนี้แล้ว เจ้าเมืองน่าน ได้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นครองเมืองน่านสืบต่อๆ กันมาหลายชั่วหลายวงศ์ อยู่มาถึง พ.ศ. 2360 ในรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ในครั้งนั้นน้ำได้พัดกำแพงเมืองและวัดวาอารามบ้านเรือนในเมืองเก่าหักพังลงเป็นอันมาก พระยาสุมนเทวราช เจ้าเมืองน่าน จึงไปสร้างเมืองขึ้นบนดอนมิให้น้ำท่วมถึง ย้ายไปอยู่เมืองใหม่เมื่อ พ.ศ. 2362 “เวียงเหนือ”

ภูมิฐานเมืองเก่าที่ปรากฏในปัจจุบัน ด้านตะวันออกตั้งอยู่ริมท้องหลง (ลำรางน้ำ) กำแพงเมืองห่างจากท้องหลง 4 วา ท้องหลงนี้เป็นลำน้ำน่านเก่า มีลำรางไปบรรจบกับแม่น้ำน่าน ปัจจุบันทางทิศใต้ที่บ้านดอนศรีเสริมกสิกร และทางเหนือที่บ้านดอนแก้ว เมื่อย้ายเมืองจากเวียงเหนือกลับคืนมาตั้งที่เวียงใต้ภายหลังอีกนั้น อาจจะเป็นด้วยน้ำน่านได้กลับไปเดินในทางสายใหม่เดี๋ยวนี้แล้ว ซึ่งอาจเป็นโดยขุดทางน้ำขึ้นใหม่ก็ได้ เพราะระยะทางที่น้ำสายใหม่และสายเก่ามาบรรจบกันนั้น มีระยะเพียง 1 กิโลเมตรเศษๆ เท่านั้น

เมืองใหม่ หรือ เมืองน่านในปัจจุบันนั้นตั้งอยู่ที่บ้านพระเนตร ห่างจากเมืองเก่าไป 3 กิโลเมตร ตัวเมืองทอดไปตามลำแม่น้ำน่าน ห่างจากแม่น้ำประมาณ 800 เมตร มีเขตมณฑลแห่งคูเมือง คือ ด้านเหนือจดบ้านน้ำล้อม ด้านตะวันออกยาวไปตามถนนสุมนเทวราช (ในปัจจุบัน) ด้านใต้จดทุ่งนาริน ด้านตะวันตกยาวไปตามแนวของขอบสนามบินด้านนอก เวลานี้มีแต่เพียงซากเมืองเท่านั้น

เจ้าเมืองน่าน ขณะตั้งอยู่ที่เวียงเหนือได้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นครองเมืองน่านสืบต่อๆ กันมาถึง 4 รัชกาล รวมระยะเวลา 36 ปี จนถึงในรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2398 พระยาอนันตยศ เจ้าเมืองน่าน (ภายหลังได้รับสถาปนาขึ้นเป็น เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ เจ้านครเมืองน่าน ผู้เป็นพระบิดาของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช และเจ้ามหาพรหมสุรธาดา) จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตย้ายกลับมาตั้งอยู่ที่เมืองเก่าและย้ายมาเมื่อปี พ.ศ. 2400 เป็นที่ประทับของเจ้าเมืองน่านสืบกันมาจนบัดนี้

ตัวเมืองน่าน ใน พ.ศ. ๒๔๐๐

                     กำแพงเมือง
                     ตัวเมืองน่านหันหน้าเมืองออกสู่แม่น้ำน่านซึ่งเป็นเบื้องตะวันออก มีกำแพง ๔ ด้าน ด้านยาวทอดไปตามลำน้ำน่านเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวกำแพงสูงจากพื้นดินประมาณ ๒ วา มีเชิงเทินกว้าง ๓ ศอก ประกอบด้วยในเสมาตรงมุมกำแพงก่อป้อมไว้ทั้ง ๔ แห่ง มีปืนใหญ่ประจำป้อมๆละ ๔ กระบอก  มีประตู ๗ ประตู ที่ประตูก่อเป็นซุ้ม ประกอบด้วยใบทวารแข็งแรง กำแพงด้านตะวันออกมีประตูชัย, ประตูน้ำเข้ม ด้านตะวันตกมีประตูท่อน้ำ, ประตูหนองห่าน ด้านใต้มีประตูเชียงใหม่, ประตู่ท่าลี่ มีคูล้อม ๓ ด้าน เว้นด้านตะวันออกซึ่งเป็นลำแม่น้ำน่านเดิมกั้นอยู่
                 การก่อสร้างกำแพงเมืองเมื่อครั้งแรกมาตั้งเมืองนี้ มีเรื่องเล่ากันสืบมาเป็นทำนองเทพนิยายว่า ครั้งนั้นตกอยู่ในวัสสันตฤดู มีโคอศุภราชตัวหนึ่งวิ่งข้ามแม่น้ำน่านมาจากทางทิศตะวันออก ครั้นมาถึงที่บ้านห้วยไค้ก็ถ่ายมูลและเหยียบพื้นดินทิ้งรอยไว้ เริ่มแต่ประตูชัยบ่ายหน้าไปทิศเหนือแล้ววกไปทางทิศตะวันตกเป็นวงกลมสี่เหลี่ยมมาบรรจบรอยเดิมที่ประตูชัย แล้วก็นิราศอันตรธานไป ลำดับกาลนั้น พระยาผากองดำริที่จะสร้างนครขึ้นใหม่ ครั้นได้ประสบรอยโคอันหากกระทำไว้เป็นอัศจรรย์ พิเคราะห์ดูก็ทราบแล้วว่าสถานที่บริเวณรอบโคนั้นเป็นชัยภูมิดี สมควรที่จะตั้งนครได้ จึงได้ย้ายเมืองมาตั้งที่บ้านห้วยไค้นั้น และก่อกำแพงฝังรากลงตรงแนวทางที่โคเดินถ่ายมูลไว้มิได้ทิ้งรอยแนวกำแพงจึง   มิสู้จะตรงนัก เพราะเป็นกำแพงโดยโคจร เรื่องนี้จะมีความจริงหรือไม่เพียงไรก็ตามเห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติของเมืองนี้ ซึ่งชาวเมืองก็ยังนิยมเชื่อถือว่าเป็นความจริง และนำเอาคติที่เชื่อว่าโคเป็น        ผู้บันดาลเมืองมาทำรูปโคติดไว้ตามจั่วบ้านเรือนเพื่อเป็นศิริมงคลอยู่ทั่วไป จึงนำมากล่าวไว้ด้วย
                ประตูเมืองเป็นด่านสำคัญชั้นในของเมือง ในเวลาที่บ้านเมืองไม่ใคร่จะปกติราบคาบจึงต้องมีการรักษากันแข็งแรง ประตูเมืองทั้ง ๗ นี้ มีนายประตูเป็นผู้รักษา มีหน้าที่ในการปิดเปิดประตูตามกำหนดเวลา คือ ปิดเวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น. และเปิดในเวลาประมาณ ๐๕.๐๐ น. ถ้าเป็นเวลาที่ประตูปิดตามกำหนดเวลาแล้ว จะเปิดให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าออกไม่ได้ และทั้งมีอาชญาของเจ้าผู้ครองบังคับเอาโทษแก่ผู้ที่ปีนข้ามกำแพงไว้ด้วย นายประตูเป็นผู้ที่เจ้าผู้ครองได้แต่งตั้งไว้ได้รับศักดิ์เป็นแสนบ้าง    ท้าวบ้าง มีบ้านเรือนประจำอยู่ใกล้ๆ ประตูนั่นเอง ให้มีผลประโยชน์คือในฤดูเดือนยี่หรือเดือนสาม ซึ่งเป็นฤดูเก็บเกี่ยวข้าว เจ้านายท้าวพญาและราษฎรภายในกำแพงเมืองทั้งปวง เมื่อขนข้าวจากนาเข้ามาในเมืองทางประตูใด ก็ให้นายประตูนั้นมีสิทธิเก็บกักข้าวจากผู้นำเข้ามาได้หาบละ ๑ แคลง (ประมาณ ๑ ทะนาน) นอกจากนี้ นายประตูยังได้สิ่งของโดยมากเป็นอาหารจากผู้ที่ผ่านเข้าออกประตูเป็นประจำวันโดยนำตะกร้าหรือกระบุงไปแขวนไว้ที่หน้าประตูอันสุดแล้วแต่ใครจะให้อีกด้วย
                อาชญาของเมืองที่ต้องมีนายประตูดังกล่าวแล้วนี้ ได้เลิกไปเมื่อสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริต-เดชเป็นเจ้าเมือง
                    คุ้ม - หอคำ
                ตรงใจกลางเมืองเป็นที่อยู่ของเจ้าผู้ครองนคร เรียกว่าคุ้มหลวงและหอคำ “คุ้ม” ตรงกับภาษาไทยใต้เรียกว่า “วัง” คุ้มหลวง ก็คือวังใหญ่นั่นเอง และ “หอคำ” นั้นตรงกับภาษาไทยใต้เรียกว่า “ตำหนักทอง”  อันสร้างขึ้นไว้ในบริเวณคุ้มหลวงเป็นเครื่องประดับเกียรติยศ
                บรรดาเมืองประเทศราชในลานนาไทยทั้งปวง ย่อมมีบริเวณที่คุ้มหลวงสำหรับเมือง ใครได้เป็นเจ้าเมืองจะเป็นโดยได้สืบทายาทหรือไม่ก็ตาม ย่อมย้ายจากบ้านเดิมไปอยู่ในคุ้มหลวงทุกคน แต่ส่วนเหย้าเรือนในคุ้มหลวงนั้นแต่ก่อนสร้างเป็นเครื่องไม้ ถ้าเจ้าเมืองคนใหม่ไม่พอใจจะอยู่ร่วมเรือนกับเจ้าเมืองคนเก่าก็ย่อมจะให้รื้อถอนเอาไปปลูกถวายวัด (ยังปรากฏเป็นกุฏิวิหารของวัดที่เมืองน่านบางแห่ง) แล้วสั่งกะเกณฑ์ให้สร้างเรือนขึ้นอยู่ตามชอบใจของตน ส่วนหอคำนั้น มิได้มีทุกเมืองประเทศราช เพราะหอคำเป็นเครื่องประดับเกียรติพิเศษสำหรับตัวเจ้าผู้ครอง ต่อเจ้าผู้ครองเมืองคนใดได้รับเกียรติเศษสูงกว่าเจ้าผู้ครองเมืองโดยสามัญ ก็สร้างหอคำขึ้งเป็นที่อยู่เฉลิมเกียรติยศ
                หอคำเมืองน่าน เพิ่งมีขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ มีเรื่องปรากฏในพงศาวดารเมืองน่านว่าเมื่อพระยาอนันตยศย้ายกลับมาตั้งอยู่ที่เมืองเก่าแล้ว ต่อมาอีกปีหนึ่ง พ.ศ. ๒๓๙๙ พระบาทสมเด็จพระ-จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระยาอนันตยศเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าอนันต-  วรฤทธิเดช เจ้านครเมืองน่านมีเกียรติยศสูงกว่าเจ้าเมืองน่านคนก่อนๆ ซึ่งเคยมียศเป็นแต่พระยา ฉะนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ เจ้าอนันตวรฤทธิเดชจึงสร้างหอคำขึ้นและให้เปลี่ยนชื่อคุ้มหลวงว่า “คุ้มแก้ว” เพื่อให้วิเศษเป็นตามลักษณะของหอคำ
                หอคำที่สร้างขึ้นในครั้งนั้น ตัวเรือนเป็นเครื่องไม้ เป็นตัวเรือนรวมอยู่ในคุ้มแก้ว ๗ หลัง โดยเฉพาะตัวเรือนที่เป็นหอคำมีห้องโถงใหญ่ นับว่าเป็นทำนองท้องพระโรงสำหรับเป็นที่ว่าราชการ
                เมื่อเจ้าอนันวรฤทธิเดชถึงแก่พิราลัยแล้ว เจ้าสุริยพงศ์ผริตเดชได้เป็นเจ้าผู้ครองนครเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ ก็เข้าไปอยู่ในคุ้มแก้ว แต่ให้กลับเรียกว่า “คุ้มหลวง” เป็นไปตามเดิม ครั้นล่วงเวลามาอีก ๑๐ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๔๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช จึงรื้อหอคำเก่าไปถวายวัดและสร้างหอคำเป็นตึกขึ้นแทน ยังถาวรอยู่มาจนทุกวันนี้ ซึ่งขณะนี้ทางราชการได้ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจังหวัดน่าน
                ภายในบริเวณคุ้มแก้ว มีโรงม้า โรงแต๊ก โรงแต๊กนั้นถือเป็นที่เก็บเครื่องอาวุธ หอดาบ ง้าวปืนและกระสุนดินดำ อันมีไว้สำหรับบ้านเมืองในอันที่จะใช้ในการทัพศึก
                ณ ลานหน้าคุ้มแก้วเป็นที่ตั้งโรงช้าง ซึ่งเป็นพาหนะที่สำคัญของบ้านเมืองในสมัยนั้น บ้านเมืองที่เป็นเมืองชั้นราชธานี ย่อมจะรวบรวมสะสมช้างไว้มากทุกเมือง ยิ่งเป็นท้องที่ในภาคพายัพนี้แล้วช้างเป็นสิ่งจำเป็นในการลำเลียงและการทัพศึก ในสมัยนั้นเป็นอันมาก
                สนาม
                ณ เบื้องขวาของคุ้ม ตรงข้าววัดพรหมมินทรและที่โรงเรียนจุมปีวนิดาตั้งอยู่เดี๋ยวนี้เป็นที่ตั้งศาลาว่าการบ้านเมือง  เรียกว่า “สนาม” ถัดไปเป็นศาลาสุรอัยการ ๒ หลัง (สุรเพ็ชฌฆาต, อัยการ – คนใช้, คนเวร) คือเป็นที่สำนักของพวกเพ็ชฌฆาต  และเป็นที่เก็บสรรพเอกสารของบ้านเมือง ซึ่งมีคนเวรอยู่ประจำ ถัดไปเป็นคอก (เรือนจำ) จะได้กล่าวต่อไปในเรื่องการปกครอง
                ฉาง
                    ณ ศาลากลางจังหวัด เดิมเป็นที่ตั้งฉางของบ้านเมือง มีอยู่ ๒ โรงด้วยกัน สำหรับเป็นที่เก็บเสบียงและพัสดุสิ่งของที่ใช้ในกิจการบ้านเมือง เป็นต้นว่าจำพวกเสบียงก็มี ข้าว เกลือ มะพร้าว พริก หอม กระเทียม ตลอดจนหมู เป็ด ไก่ ที่เป็นๆ สะสมไว้เป็นบางคราว และจำพวกเครื่องก็มี ขัน น้ำมันยาง ขี้ผึ้ง ดินประสิว กระดาษ เป็นต้น สิ่งของเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญของบ้านเมือง โดยเฉพาะเสบียงเป็นกำลังของรี้พลสำหรับป้องกันบ้านเมือง ซึ่งจะต้องมีให้พรักพร้อมอยู่เสมอ ทางบ้านเมืองได้กะเกณฑ์เอาสิ่งของเหล่านี้แก่พลเมือง เอามาขึ้นฉางไว้ทุกปี เรียกว่า “หล่อฉาง”
                บ้านเรือน
                 ในยุคนั้นได้ความว่าเมืองน่านมีภูมิฐานบ้านเรือนเป็นปึกแผ่นคับคั่งแล้ว แต่ภายนอกกำแพงนั้นเป็นป่ารกอยู่โดยมาก มีบ้านเรือนเบาบางไม่อุ่นหนาฝาครั่งเหมือนภายในกำแพงเมืองแต่บ้านเรือนนั้นไม่ใคร่จะเป็นที่เจริญนัก เพราะเครื่องมือที่จะตัดฟันไม้ไม่มีมากเหมือนเดี๋ยวนี้ จะทำอะไรก็ไม่ใคร่สะดวก เป็นต้นว่ากระดานก็ต้องถากเอาด้วยมีดและขวานเป็นพื้น ไม่มีเลื่อยจะใช้ ราษฎรไม่มีกำลังพอที่จะทำบ้านเรือนด้วยเครื่องไม้จริงได้ จึงต้องทำด้วยไม้ไผ่  เว้นแต่เจ้านายท้าวพญาผู้ซึ่งมีอำนาจใช้กะเกณฑ์ผู้คนได้ จึงจะปลูกบ้านได้งามๆ นอกจากนี้ยังมีกฎเกณฑ์ห้ามไว้ว่าบ้านเรือนราษฎรที่อยู่ภายในกำแพงเมืองก็ดี ภายนอกก็ดี จะมุงหลังคาด้วยกระเบื้องไม้ไม่ได้ด้วยถือว่าเป็นการกระทำเทียบเคียงหรือตีเสมอกับเจ้านาย มีอาชญาไว้ว่าเป็นความผิด ฉะนั้นบ้านเรือนจึงมุงหลังคาด้วยใบพลวงหรือแฝกเป็นพื้น
                 วัด
                 วัดวาอารามภายในกำแพงเมืองครั้งนั้นคงมีจำนวนเท่ากับปัจจุบันนี้ แต่ส่วนมากเศร้าหมองไม่รุ่งเรือง มีวัดที่สำคัญอยู่ ๒ วัด คือ วัดช้างค้ำกับวัดภูมินทร์  แท้จริงกิจการฝ่ายพระศาสนานี้อาจกล่าวได้ว่า ได้ย่างขึ้นสู่ความเจริญนับแต่ พ.ศ. ๒๔๐๐ เป็นต้นมา ปรากฏตามพงศาวดารเมืองน่านว่า เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน เป็นผู้มากด้วยศรัทธาแก่กล้าด้วยการบริจาคในอันที่จะเชิดชูพระศาสนาให้รุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง ในชั้วชนมายุกาลของท่านจึงเต็มไปด้วยเรื่องการสร้างบูรณะปฏิสังขรณ์โบสถ์ วิหาร เจดียสถาน ตามวัดทั้งในเมืองและนอกเมือง   และสร้างคัมภีร์พระสูตรพระธรรมขึ้นไว้เกือบตลอดสมัย ความเจริญในฝ่ายพระศาสนาที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ย่อมเป็นผลนับเนื่องในเนื้อนาบุญของท่านที่ได้ปลูกฝังไว้ด้วยดีแล้วส่วนหนึ่ง
                    ตลาด
                การค้าขายแลกเปลี่ยนคงกระทำกันแต่ที่กาดมั่ว (ตลาด) แห่งเดียวแท้จริง ที่เรียกว่าตลาดนี้ ยังไม่ถูกต้องดี เพราะตลาดในครั้งนั้นยังไม่มีตัวเรือนโรง เพียงแต่มีข้าวของอะไรก็นำมาวางขายกันตามสองฟากข้างถนนเท่านั้น  ตำบลที่นัดตลาดอยู่ในกำแพงเมืองที่ถนนผากองเดี๋ยวนี้ตรงหน้าคุ้มข้างวัดช้างค้ำ นัดซื้อขายกันแต่เวลาเช้าเวลาเดียว สิ่งของที่นำมาขายกันเป็นจำพวกกับข้าวโดยมาก ส่วนร้านขายสิ่งของนั้นปรากฏว่ายังไม่มีเลย
                 ถนน
                 ถนนหนทางในครั้งนั้น เท่าที่มีควรจะเรียกว่าเป็นตรอกทางเดินมากกวา เพราะมีส่วนกว้าง อย่างดีก็แต่เพียง ๔ - ๕ ศอก ถนนชนิดนี้แต่ภายในกำแพงเมืองซึ่งตัดจากประตูหนึ่งไปยังอีกประตูหนึ่ง นอกจากนี้ก็มีแต่ทางเดินธรรมดา

การปกครอง แก้

     ในสมัยโบราณ การปกครองของแคว้นน่าน มีคติการปกครองแบบที่เรียกว่า บิดาปกครองบุตร ผู้เป็นประมุขวางตัวเป็นดังบิดาของประชาชน ในอาณาจักรหลักคำ (กฎหมายสำหรับเมือง) มีความตอนหนึ่งว่า ในครัวเรือนถ้ามีบุตรหลานประพฤติชั่ว เมื่อหัวหน้าครัวเรือนห้ามปรามไม่เชื่อฟัง จะต้องนำตัวผู้นั้นอายัดให้แก่เจ้าหน้าที่ปกครอง ให้สั่งสอนขึ้นไปตามลำดับ จนถึงผู้เป็นประมุขของบ้านเมือง บรรดาเจ้านายผู้ปกครองเมืองต่าง ๆ ไม่ใช่เชื้อสายกษัตริย์ดั้งเดิม แต่มาจากท้าวขุนที่มีความสามารถในการรบ มีความเฉลียวฉลาดในการจัดการ และควบคุมกำลังคน ชนชั้นปกครองประกอบด้วยเจ้านาย ท้าวขุนที่ปฏิบัติงานในเวียงกับพ่อเมืองนายบ้าน ที่เป็นผู้ปกครองในท้องถิ่น ตามเมืองต่าง ๆ เจ้านายท้าวขุนที่ปฏิบัติงานในเวียง ยังแยกออกเป็นสองส่วนคือ เจ้านายที่ทำหน้าที่ในราชสำนักเจ้าเมือง เป็นพวกเชื้อพระวงศ์ มีตำแหน่งลดหลั่นกันลงมานับจากตำแหน่งอันดับที่สองรองจากเจ้าผู้ครองนครคือ เจ้าอุปราช (เจ้าหัวหน้า) เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชบุตร  เจ้าหอแก้ว จนถึงเจ้าวรญาติเป็นอันดับที่ ๑๔ หากตำแหน่งใดว่างลง จะมีการเลื่อนอันดับต่ำกว่าขึ้นไปแทนที่ การสืบสันตติวงศ์ เป็นเจ้าผู้ครองนคร จะถือเอาทายาททางตำแหน่งเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา 
           สำหรับตำแหน่งผู้ปกครองอีกส่วนหนึ่งคือท้าวขุนที่ทำงานในเวียงเรียกว่า เค้าสนาม ประกอบด้วยพญาปิ้น หรือพญาผู้เป็นใหญ่สี่นาย พญาแสนหลวงอื่น ๆ รองลงมาอีก ๒๘ นาย รวมเป็น ๓๒ นาย 
           การปกครองหัวเมือง  แบ่งหัวเมืองออกเป็นชั้น ๆ โดยวิธีการกำหนดยศเจ้าเมืองตามความสำคัญของเมืองนั้น ๆ ที่มีต่อเมืองน่าน โดยให้อำนาจในการตัดสินใจของ พ่อบ้านนายเมืองปกครองดูแล และพิจารณาตัดสินคดีความในเมืองของตนได้ เว้นแต่คู่ความไม่ยอมรับคำตัดสิน หรือเป็นคดีที่สำคัญที่กำหนดไว้ในกฎหมาย จึงจะส่งมายังเค้าสนาม ในเวียง เป็นผู้ตัดสินอีกครั้งหนึ่ง 
           เจ้าหลวง หรือเจ้าผู้ครองนครน่าน มีอำนาจสูงสุดในกลุ่มเจ้านาย ซึ่งปกครองในระบบผู้นำร่วมอำนาจของเจ้าหลวงเรียกว่า อาชญา ถือว่าเป็นคำสั่งศักดิ์สิทธิของผู้เป็นประมุขที่จะใช้บังคับบัญชาปกครองไพร่บ้านพลเมือง ถือว่าเป็นกฎหมายในการปกครอง นอกจากผู้ปกครองจะปกครองด้วย จารีตฮีตฮอย แล้ว น่านยังมีการใช้กฎหมายที่มีมาแต่โบราณ เช่น คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ และราชศาสตร์ ซึ่งเป็นกฎหมายอินเดียในการปกครองเช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านนา กฎหมายที่รวบรวมสืบต่อกันมาคือ กฎหมายพระเจ้าน่าน พระราชการเมือง และอาณาจักรหลักคำ 
           สำหรับอาณาจักรหลักคำนี้ เป็นกฎหมายที่ตั้งขั้นโดยถือหลักจากกฎหมายดั้งเดิม ที่มีบทบัญญัติลง และคำสั่งสอนปะปนกัน เป็นกฎหมายที่รวบรวมขึ้นในสมัยเจ้าหลวงอนันตวรฤทธิเดช เป็นกฎหมายที่แสดงให้เห็นนโยบายของบ้านเมือง ที่ต้องการสนับสนุนการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกข้าว มีการกำหนดโทษของการทำความเสียหายให้แก่ทุ่งนา และต้นข้าวไว้อย่างละเอียด ส่งเสริมให้มีการขยายที่ดินสำหรับการเพาะปลูกมีการหักร้างถางพงเพื่อทำนา พยายามรักษา วัว ควาย สัตว์พาหนะที่สำคัญไม่ให้ทำร้ายหรือฆ่ากินตามใจชอบ ส่งเสริมการค้าขายด้วยการควบคุมราคาสินค้า และป้องกันเงินปลอม ให้ความสะดวกในการเดินทาง อำนวยความปลอดภัยให้ มีการควบคุมกำลังคน ควบคุมการอพยพเดินทางของไพร่ มีการกำหนดฐานะทางสังคม ระหว่างกลุ่มชนชั้นทางสังคมอย่างชัดเจน โดยให้มีการเสียค่าปรับในการกระทำผิดแตกต่างกัน มีการควบคุมความประพฤติของฆราวาส และพระสงฆ์ เช่นการเล่นการพนัน การสูบฝิ่น ตลอดจนกำหนดบทคุ้มครองผู้หญิงไม่ให้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ นอกจากนี้ยังได้แบ่งเขตการบริหารงาน คือ ในเวียงหน้าบ้าน และหัวเมืองนอก บริเวณที่เป็นในเวียง คือในเขตตัวเมืองน่าน หน้าบ้านคือเมืองเล็กเมืองน้อยที่ขึ้นอยู่กับเมืองน่านโดยตรง ราชการที่สำคัญทีเกิดขึ้นในเวียง และหน้าบ้านให้อยู่ภายใต้การวินิจฉัยของเค้าสนาม 
           เจ้านายและเค้าสนามมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีความที่ประชาชนร้องเรียนขึ้นมา วิธีพิจารณาความอาญามีการทรมานจำเลยให้รับสารภาพ ตามลักษณะของจารีตนครบาล เมื่อคดีความมาถึงเค้าสนาม ขุนสนาม ๒๘ นาย จะร่วมกันพิจารณาเป็นรูปคดีแล้วลงความเห็นตามบทบัญญัติในกฎหมายบ้านเมือง แล้วจึงนำข้อวินิจฉัยขึ้นอ่านถวายเจ้าหลวง และเจ้าขันห้าใบประกอบด้วยเจ้าอุปราช (เจ้าหอหน้า) เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชบุตร และเจ้าหอเมืองแก้ว ได้พิจารณาแล้วจะมีคำตัดสินเป็นเด็ดขาด การพิจารณาความแพ่งก็เช่นเดียวกัน ส่วนหัวเมืองนอกคือ เมืองบริวาร หรือเมืองขึ้นของเมืองน่าน ซึ่งมีอำนาจในการบริหารราชการของตนเอง ดังนั้น เมื่อมีราชการใด ๆ จะต้องแจ้งหรือรายงานต่อเมืองให้วินิจฉัยสั่งการ หัวเมืองนอกนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในด้านยุทธศาสตร์ และเกียรติภูมิของเมืองน่าน เจ้านายเมืองน่านจะให้ความยกย่องนับถือเจ้าเมืองเหล่านี้เป็นอย่างดี ในการพิจารณาออกกฎหมายที่จะใช้บังคับ  เจ้าเมืองและท้าวขุนสำคัญ ๆ ของหัวเมืองนอกได้ร่วมพิจารณาด้วย สำหรับหัวเมืองนอกที่สำคัญ ๆ ทางน่านจะส่งเชื้อสายของเจ้านายไปปกครอง หรือพยายามเชื่อมความสัมพันธ์ด้วยการแต่งงาน หัวเมืองนอกต้องส่งส่วยตามที่กำหนด และต้องส่งกำลังคนไปช่วยเหลือเมื่อเกิดศึกสงคราม 

ชนชั้นในสังคมกับการปกครอง

           ระบบชนชั้นในสังคมเมืองน่าน แบ่งออกเป็นสองชนชั้น 
           ชนชั้นปกครอง  มีสองประเภทคือ เจ้านายได้แก่พี่น้องขัตติยวงศา ลูกหลาน และท้าวขุนได้แก่พญาเสนา อำมาตย์ มีอำนาจในการปกครองและคุ้มครองไพร่บ้านพลเมือง คอยดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง สามารถเรียกเกณฑ์แรงงานและผลผลิต ลูกจุ๊ หรือไพร่ของตนได้ ผู้ที่จะรับลูกจุ๊เอามาเข้าสังกัดของตนได้จะต้องเป็นเจ้านาย หรือท้าวพระพญาในเค้าสนามเท่านั้น เจ้าหลวงไม่จำเป็นต้องมีลูกจุ๊ เพราะมีอาชญาเกณฑ์เอาไว้ อีกทั้งเจ้าหลวงมี " คนเจ้าใช้การใน " ไว้ใช้สอยและอยู่เวรยาม ในเวลาปกติลูกจุ๊จะอยู่ในหมู่บ้านของตน จะเข้ามาในเมืองเมื่อถูกเรียกเกณฑ์เป็นครั้งคราว 
           ชนชั้นถูกปกครอง มีสองประเภทได้แก่ ไพร่หรือเสรีชน และทาษ 
           ไพร่หรือเสรีชนจะต้องแจ้งแก่เค้าสนามว่าจะอยู่ภายใต้เจ้านายท้าวขุนคนใด โดยสามารถเลือกนายของตนได้ ทำงานแล้วไม่พอใจก็สามารถเปลี่ยนได้ ไพร่จะถูกควบคุมโดยมีเจ้านายท้าวขุน เป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมกำลังคน ประชากรที่เป็นชาย อายุ ๒๐ ปี ต้องไปขึ้นทะเบียนเป็นลูกจุ๊สังกัดเจ้านาย หรือท้าวพญาคนใดคนหนึ่ง ทำหน้าที่รับใช้เจ้านายของตนจนกว่าจะมีลูกชายมาทำงานแทนสามคน การเป็นลูกจุ๊จะสืบทอดถึงลูกหลาน จะย้ายเจ้านายได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตเท่านั้น 
           เมื่อเจ้านายจะเรียกเกณฑ์ก็มีหัวหมวด เป็นผู้ควบคุมดูแลเรียกตัวมารับใช้เจ้านายเป็นครั้งคราว นอกจากนี้ไพร่ต้องถูกเรียกเกณฑ์ไปทำสงคราม ไพร่ต้องทำการผลิตเพื่อบริโภคเอง และเพื่อส่งส่วยหรือเสียภาษีให้แก่บ้านเมือง โดยเก็บเป็นผลิตผล ไพร่ในเขตเมืองชั้นในจะเรียกเก็บเป็นข้าว เมื่อทำนาแล้วจะแบ่งข้าวมาส่งขึ้นฉางหลวง เรียกว่า หล่อฉาง เพื่อเก็บไว้เป็นเสบียงสำหรับบ้านเมืองสำรองไว้ในยามศึกสงคราม ต้อนรับแขกเมือง หรือให้ชาวบ้านยืมในปีที่ทำนาไม่ได้ผล การเก็บข้าวเพื่อหล่อฉางเก็บครัวเรือนละ สามหมื่นสัก ไพร่ในเขตเมืองชั้นนอก จะถูกกำหนดให้ส่งเฉพาะผลผลิตของเมืองนั้นแทนข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งของป่าที่มีราคาสูง เช่น มูลค้างคาว ชัน น้ำมันยาง เกลือ ฯลฯ เรียกวิธีการนี้ว่า ส่วยหล่อฉาง หรือ ส่วยบำรุงเมือง การเก็บภาษีนี้ยังคงอยู่จนกระทั่งมีการปฏิรูปการปกครองในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 
           ระบบไพร่ทางเมืองน่านสืบทอดกันมานาน แม้จะมีการยกเลิกระบบการเกณฑ์แรงงาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ แต่ก็ยังมีการปฏิบัติสืบต่อมา ชาวบ้านจำนวนมากยังถูกเกณฑ์แรงงานมาทำงานให้หลวงอีก นอกจากนี้ชาวบ้านยังถูกเก็บภาษีรายหัว ภาษีสี่บาท สำหรับชายที่มีอายุสิบแปดปีขึ้นไป หากไม่มีเงินเสียจะต้องทำงานชดให้เป็นเวลา ๑๕ วัน 
           ทาส ในเมืองน่านมีอยู่สองประเภท คือ ทาสเชลย ได้มาจากการทำสงครามที่ไปรบที่สิบสองปันนาหรือลาว แล้วกวาดต้อนผู้คนกลับมาแบ่งปันความชอบของแม่ทัพนายกอง เรียกว่า ค่า (ข้า) ปลายหอกงาช้าง มีลูกหลานก็จะกลายเป็น ค่า (ข้า) หอคนโยง ถ้าเป็นชายอายุตั้งแต่สิบขวบขึ้นไป จะมีค่าตัวถึง ๒๖ รูปี อายุต่ำกว่านั้นค่าตัวลดลงปีละห้ารูปี ทาสสินไถ่ คือทาสที่เกิดจากการเป็นหนี้สิน แล้วนายเงินไปไถ่ตัวมา เรียกว่า ค่า (ข้า) น้ำเบี้ยน้ำเงิน หรือ ค่า(ข้า) ไถ่คนซื้อ ถ้าทาสไม่มีเงินให้แก่นายทาส ถ้าเกิดในเรือนเบี้ย พอเกิดมาก็มีค่าตัวเรื่อยไป ทาสเหล่านี้ถ้าหนีไปอยู่เมืองอื่นต้องส่งตัวกลับมาให้ หรือให้ค่าตัวแลกเปลี่ยนแก่เจ้าของ 

สมัยปฏิรูปการปกครอง

           เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้รวบรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองประเทศราชขึ้นเป็นมณฑลเทศาภิบาล เมืองน่านขึ้นอยู่กับมณฑลลาวเฉียง ประกอบด้วยเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองลำปาง เมืองแพร่ เมืองเชียงราย ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ และมณฑลพายัพตามลำดับ ได้มีการแบ่งเขตแขวงเมืองน่านออกเป็นแปดแขวงคือ แขวงนครน่าน แขวงน้ำแหง แขวงน่านใต้ แขวงน้ำปัว แขวงน้ำของ แขวงขุนน่าน แขวงน้ำอง แขวงน้ำยม ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครถูกยกเลิกเมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา ถึงแก่พิราลัย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ จังหวัดน่านจึงเป็นจังหวัดหนึ่งของไทยตั้งแต่นั้นมา

การปกครองเมืองนครน่านก่อนการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล (พ.ศ. 2325 - พ.ศ. 2435) แก้

• การปกครองในสมัยที่นำมากล่าวนี้ เป็นเรื่องการปกครองในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์อันเริ่มตั้งแต่ พระยามงคลวรยศ เจ้านครเมืองน่าน องค์ที่ 56 เป็นเจ้าผู้ครองนครน่านเป็นต้นมา รูปแบบของการปกครองเป็นเมืองประเทศราช ของกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าผู้ครองนครมีอำนาจในการบริหารบ้านเมืองทุกอย่าง ตลอดจนการออกกฎหมายสำหรับบ้านเมือง การเก็บผลประโยชน์รายได้ในอาณาเขตภูมิภาคของตน เว้นแต่นโยบายทางการเมืองกับการต่างประเทศเท่านั้น ที่จะต้องปฏิบัติตามพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สั่งมา และมีหน้าที่ช่วยเหลือในงานพระราชสงครามและภายในกำหนดทุกๆ 3 ปี ต้องนำต้นไม้ทอง ต้นไม้เงินและเครื่องราชบรรณาการต่างๆ ไปน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระมหากษัตริย์ยังกรุงรัตนโกสินทร์ 1 ครั้ง เพิ่งมาเลิกประเพณีนี้เสียเมื่อปี พ.ศ. 2451 ในรัชกาลที่ 5 นี้เอง

• ส่วนการปกครองท้องที่ภายในเขตเมืองนั้น ได้แบ่งการปกครองออกเป็นหมู่บ้าน ซึ่งมีแก่บ้านเป็นหัวหน้า หลายๆหมู่บ้านเป็นเมือง มีพ่อเมืองเป็นหัวหน้า และรวมเมืองเล็กๆ เหล่านี้ขึ้นแก่สนาม ส่วนเมืองขึ้นที่อยู่ภายนอกเขต ต่างปกครองตนเองเช่นเดียวกัน แต่เมื่อครบปีต้องนำส่วยมาถวายเจ้าหลวงเมืองน่านเป็นคำนับ

การจัดระเบียบการปกครอง

ระเบียบการปกครองฝ่ายธุรการนั้น จะมีกลุ่มขุนนางสําคัญบริหารราชการส่วนกลางของเมืองนครน่าน ที่เรียกว่า “ขุนนางเสนาเค้าสนามหลวง” การงานที่ปฏิบัติในสนามนี้แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ การงานที่ต้องนำขึ้นทูลถวายรายงานแด่เจ้าผู้ครองนคร (เจ้าหลวง) เพื่อทรงพระวินิจฉัยและบัญชาการอย่างหนึ่ง และการงานที่เป็นไปตามระเบียบแบบแผนอันไม่มีสารสำคัญสามัญสามารถที่จะกระทำเสร็จไปได้ที่สนาม โดยไม่ต้องนำขึ้นทูลถวายรายงานแด่เจ้าผู้ครองนคร (เจ้าหลวง) เพื่อทรงพระวินิจฉัยและบัญชาการ ขุนนางเสนาเค้าสนามหลวงเมืองนครน่าน มีทั้งหมด 32 ตําแหน่ง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. พ่อเมืองทั้ง 4 หรือ คณบดีของเค้าสนาม เป็นนขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ประกอบด้วย 4 ตำแหน่ง มียศศักดิ์เป็น “เจ้าพระยาหลวง ปฐมอรรคมหาเสนาธิบดี” เป็นขุนนางชั้นสูงสุดมี 1 ตําแหน่ง และมี “เจ้าพระยาหลวง อรรคมหาเสนาบดี” เป็นขุนนางชั้นรองลงมาอีก 3 ตําแหน่ง
  1. ขุนเมืองทั้ง 8 หรือ เสนาบดีของเค้าสนาม เป็นขุนนางชั้นหัวหน้ากรมการต่างๆ ประกอบด้วย 8 ตำแหน่ง มียศศักดิ์เรียงลําดับกันตามชั้นกรมการต่างๆ และเจ้าผู้ครองนครน่าน (เจ้าหลวง) จะเป็นผู้โปรดประทานแต่งต้ัง เรียงลําดับลงไปตั้งแต่
  1. เจ้าพระยาหลวง
  2. พระยาหลวง
  3. พระยา
  4. อาชญา
  5. แสนหลวง
  6. แสน
  7. ท้าว
  8. หาญ
  9. หมื่นหลวง
  10. หมื่น

ตําแหน่ง ขุนนางเสนาเค้าสนามหลวง เมืองนครน่าน ซึ่งพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พระเจ้าผู้ครองนครน่าน ได้โปรดประทานแต่งต้ังไว้ มียศศักดิ์จัดไว้เป็นทำเนียบ มีรายนามดังต่อไปนี้

พ่อเมืองทั้ง 4 หรือ พระยาปี๊น

  1. เจ้าพระยาหลวงจ่าแสนราชาไชยอภัยนันทวรปัญญาศรีวิสุทธิมงคล ปฐมอรรคมหาเสนาธิบดี
  • หน้าที่ : เป็นผู้สำเร็จราชการบ้านเมืองทั่วไป และเป็นประธานในขุนสนามทั้งปวง
  1. เจ้าพระยาหลวงไชยนันทอามาตย์ อรรคมหาเสนาธิบดี
  • หน้าที่ : เป็นรองผู้สำเร็จราชการ
  1. เจ้าพระยาหลวงมนตรี อรรคมหาเสนาธิบดี
  • หน้าที่ : เป็นนายทะเบียนพล (สุรัสวดี)
  1. เจ้าพระยาหลวงราชธรรมดุลย์ อรรคมหาเสนาธิบดี
  • หน้าที่ : เป็นนายฝ่ายตุลาการ
                 พญาชั้นรอง
                 ๑. พญาหลวงนัตติยราชวงศา  ช่วยว่าการทั่วไป
                 ๒. พญาราชเสนา                 ช่วยว่าการทั่วไป
                 ๓. พญาไชยสงคราม             ช่วยว่าการทั่วไป
                 ๔. พญาทิพเนตร                 ช่วยว่าการทั่วไป
                 ๕. พญาไชยราช                  ช่วยว่าการทั่วไป
                 ๖. พญาหลวงราชบัณฑิต        เป็นโหรประจำเมือง
                 ๗. พญาหลวงศุภอักษร          ว่าการฝ่าย
                 ๘. พญามีรินทอักษร              ว่าการฝ่าย
                 ๙. พญาสิทธิธนสมบัติ            ว่าการคลัง (เงิน)
               ๑๐. พญาราชสาร                    ว่าการคลัง (เงิน)    
               ๑๑. พญาหลวงคำลือ                ว่าการคลัง (เงิน)
               ๑๒. พญาหลวงภักดี                 รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
               ๑๓. พญาราชโกฏ                    รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
               ๑๔. พญาราชรองเมือง              รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
               ๑๕. พญาราชสมบัติ                 รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
               ๑๖. พญาอินต๊ะรักษา                รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
               ๑๗. พญานาหลัง                     รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
               ๑๘. พญาสิทธิมงคล                 รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
               ๑๙. พญาธนสมบัติ                   รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
               ๒๐. พญาพรหมอักษร               รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
               ๒๑. พญาแขก                        รักษาคลัง (พัสดุ) ฉางข้าวหลวง
               ๒๒. พญาสิทธิเดช                   ตุลาการ
              ๒๓. พญานราสาร                    ตุลาการ  
               ๒๔. พญาไชยพิพิธ                  ตุลาการ
               ๒๕. พญาไชยปัญญา                นายช่าง
               ๒๖. พญานันต๊ะปัญญา              นายช่าง
             ๒๗. พญาธรรมราช ธรรมการ      ธรรมการ
             ๒๘. แสนหลวงเมฆสาคร            ว่าการเมืองฝาย

ลักษณะการจัดการบ้านเมืองในรอบกาลสมัยที่กล่าวนีที่สมควรนำมากล่าวก็คือ แก้

               ๑. การทัพ
               ๒. ผลประโยชน์ของบ้านเมือง
               ๓. ทาส
               ๔. ตุลาการ
           ๑. การทัพ
               หลักการปกครองของบ้านเมืองมีข้อสำคัญอยู่ ๒ ข้อ คือ อาชญาของเจ้าผู้ครองนครข้อหนึ่ง กับการที่บังคับให้บรรดาชายฉกรรจ์ให้มาช่วยกันป้องกันบ้านเมืองในเวลามีศึกสงครามข้อหนึ่ง อาชญานั้นมีความหมายตามที่คติปกครองแบบนี้ว่า เป็นคำสั่งคำบังคับบัญชาของผู้เป็นประมุขที่จะใช้ในการปกครองบ้านเมืองได้โดยใช้สิทธิขาด อย่างที่เรียกว่า “อาชญาสิทธิ์” ผู้ใดฝ่าฝืนย่อมได้รับโทษถึง ๒ ประการ คือ โทษอันผิดต่อกฎหมายของบ้านเมืองประการหนึ่ง และโทษอันผิดต่ออาชญาของเจ้าผู้ครองนครอันมีลักษณะคล้ายพระบรมราชโองการของพระเจ้าแผ่นดิน  อีกประการหนึ่ง เหตุที่เจ้าผู้ครองนครทรงไว้ซึ่งอาชญาและหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาบ้านเมืองเช่นนี้ หน้าที่ของพลเมืองจึงต้องเจริญรอยโดยบริหารของผู้เป็นประมุขทุกประการ ส่วนที่สำคัญยิ่งก็คือหน้าที่ในการป้องกันบ้านเมือง ซึ่งจะหลีกเลี่ยงเสียมิได้
                ฝ่ายชายฉกรรจ์มีอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ต้องขึ้นทะเบียนเป็น “ลูกจุ๊”  เข้าสังกัดอยู่ในเจ้านายท้าวพญาคนใดคนหนึ่งจะลอยตัวอยู่ไม่ได้  มีหน้าที่รับใช้สอยกิจการในสังกัดมูลนายของตนไปจนกว่าอายุได้ ๖๐ ปี จึงปลด หรือมิฉะนั้นก็ต่อเมื่อมีบุตรมารับใช้การงานได้ ๓ คนแล้ว เมื่อชายฉกรรจ์เข้าสังกัดเป็นลูกจุ๊ของผู้นั้นอยู่ตลอดไป จะย้ายมูลนายผู้ต้นสังกัดได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากสนาม
                บรรดาผู้ที่จะรับเป็นลูกจุ๊เอามาเข้าสังกัดในตนได้ โดยเฉพาะต้องเป็นเจ้านายหรือท้าวพญาในสนามเท่านั้น ในเวลาปกติลูกจุ๊ก็อยู่ตามถิ่นฐานบ้านช่องของตนไม่ต้องเข้ามาประจำทำงานในเมืองมีกำหนดเวลาเป็นแน่นอน นอกจากบางคราวจะถูกมูลนายเรียกมาใช้กิจการเป็นครั้งคราว การที่มูลนายจะใช้ลูกจุ๊ให้ทำกิจการนั้นไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นกิจการฝ่ายบ้านเมืองแต่อย่างเดียว ย่อมใช้ได้ตลอดถึงการส่วนตัวทุกสิ่งทุกอย่างด้วย เช่น ในการทำนา ปลูกสร้างบ้านเรือน เป็นต้น อีกประการหนึ่งควรกล่าวได้ว่า พวกลูกจุ๊ที่เป็นผลประโยชน์ของผู้เป็นมูลนายอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะได้อาศัยแรงงานของผู้ลูกจุ๊ก็ได้รับผลแต่เพียงได้รับความคุ้มครองของมูลนายในคราวเมื่อมีทุกข์ร้อน เช่น ถูกพวกอื่นรบกวนเบียดเบียนโดยไม่เป็นธรรม หรือในคราวที่มีคดีความเกิดขึ้น เป็นต้น  ฉะนั้นผู้ที่เป็นมูลนายต้องตั้งบุคคลอีกพวกหนึ่งเรียกว่า “หัวหมวด”  ไว้ตามละแวกถิ่นฐานที่ลูกจ๊ะตั้งบ้านเรือน สำหรับเรียกลูกจุ๊ในเมื่อต้องการตัวได้โดยสะดวกและพรักพร้อม
                 ในเวลามีการทัพศึกเกิดขึ้น เมื่อต้องการกำลังกองทัพเป็นจำนวนคนเท่าใด เจ้าผู้ครองนครก็เกณฑ์คนเอาแก่มูลนายที่มีลูกจุ๊เฉลี่ยเอาตามส่วน ส่วนผู้ที่จะคุมกองทัพนั้น ถ้าเป็นการสำคัญเจ้าผู้ครองนครก็เป็นผู้ไปเอง หรือถ้าไม่สำคัญก็ให้เจ้านายในวงศ์สกุลหรือท้าวพญาผู้ใดผู้หนึ่งควบคุมไป ตามแต่จะเห็นสมควร
                 เรื่องของลูกจุ๊นี้ สำหรับเจ้าผู้ครองนครไม่จำเป็นต้องมีไว้ เพราะมีอาชญาเกณฑ์เอาได้ เวลาปกติเจ้าผู้ครองนครจึงมีคนอีกจำพวกหนึ่งสำหรับใช้สอยและอยู่เวรยามรักษาคุ้มโดยเฉพาะเรียกว่าคน “เจ้าใช้การใน”
                ๒. ผลประโยชน์ของบ้านเมือง
                 การทำมาหากินของราษฎรในเมืองน่านที่กระทำกันมากและเป็นอาชีพ ส่วนใหญ่ก็คือการทำนา แต่ทางบ้านเมืองมิได้เก็บอากรค่านา ฉะนั้นราษฎรในเขตเมืองชั้นใน เมื่อทำนาได้ข้าวจึงต้องแบ่งข้าวส่งมาขึ้นฉางหลวง เรียกว่า “หล่อฉาง” เพื่อเก็บไว้เป็นเบียงสำหรับบ้านเมืองสำรองไว้ในคราวเกิดทัพศึกและต้อนรับแขกเมือง หรือให้พลเมืองยืมในปีที่ทำนาไม่ได้ข้าว การเก็บข้าวเพื่อหล่อฉางนี้ เก็บแต่ผู้ที่มีครอบครัวแล้ว เป็นข้าวครอบครัวละ ๓ หมื่น (สัด) ส่วนราษฎรในเขตเมืองชั้นนอกอันอยู่ไกลจะส่งข้าวมาหล่อฉางเป็นความลำบากมาก แต่เพราะว่าเมืองเหล่านั้นเป็นที่เกิดหรือมีสิ่งของบางอย่างที่บ้านเมืองต้องการใช้ เช่น มูลค้างคาว ชัน น้ำมันยาง กระดาษ เกลือ ฯลฯ  จึงเกณฑ์เอาสิ่งของเหล่านี้แก่ราษฎรในท้องที่นั้นๆ ตามสมควร ส่งมาแทนข้าว เรียกว่า “ส่วยหล่อฉาง” หรือ “ส่วยบำรุงเมือง” เมืองน่านมีส่วนเกลือมาจากเมืองบ่อปีละ ๗ ล้าน ๗ แสน ๗ หมื่น (น้ำหนัก ๓๑๐  ๒/๕ หาบ) ส่วนดินประสิวจากเหมืองยอดเมืองสะเกินปีละ ๒๐ หาบ  เมืองมิน บ้านหัวเมือง (ท้องที่อำเภอนาน้อย) ปีละ ๓๐ หาบ ส่วนเหล็กจากเมืองอวน ปีละ ๓๐ หาบ บ้านวัวแดง (ท้องที่อำเภอสา) ปีละ ๒๐ บาท (การตีเหล็กเป็นอาวุธหอกและดาบและซ่อมแซมอาวุธเป็นหน้าที่ของราษฎรในบ้านก้นฝาย (ฝายมูล) ท้องที่อำเภอท่าวังผาและบ้านห้วยลับมืนท้องที่อำเภอสา  นอกจากนี้ยังมีส่วยขี้ผึ้งจากเมืองขึ้นทางฟากแม่น้ำโขงอีกปีละ ๑๒ หาบ  กับคน ๓๐๐ คน สำหรับทำฝายทุกเมือง
             ๓. ทาส
                 ลักษณะการเป็นทาสมีคติสืบเนื่องมาจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์อันโบราณราชกษัตริย์ได้ทรงบัญญัติไว้เรียกว่านำธงชัยไปรบศึก แล้วได้มาเป็นทาสเชลยหนึ่ง ทาสซึ่งไถ่มาด้วยทรัพย์หนึ่ง ลักษณะทาสที่มีอยู่ในพื้นเมืองน่านก็เป็นอยู่ดังกล่าวมาแล้ว ดังจะนำมากล่าวพอเป็นเค้า คือ
                 ๓.๑) ทาสเชลย  เป็นคนซึ่งแต่ก่อนมาเจ้านายและกรมการเมืองได้ไปรบตีเมืองสิบสอง   ปันนาเมืองเวียงจันทร์ได้  แล้วกวาดต้อนครอบครัวมาแบ่งปันเป็นความชอบของแม่ทัพนายกองเรียกว่า “ค่าปลายหอกงาช้าง”  มีบุตรหลานสืบต่อมาเรียกกันว่า “ค่าหอคนโรง” อันชื่อว่าทาสได้มาแต่ครั้งปู่และบิดาสืบมา ค่าหอคนโรงเหล่านี้มีอายุ ๑๐ ขวบขึ้นไปมีค่าตัวชาย ๖๒ รูเปีย หญิง ๖๒ รูเปีย  ถ้าอายุต่ำกว่า ๑๐ ขวบ คิดคนหนึ่งขวบละ  ๕ รูเปีย  ตามจำนวนอายุผู้เป็นนายถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์เด็ดขาดมีอำนาจที่จะขายทาสเหล่านี้ได้ทั้งสิ้น บรรดาทาสเชลยจะมีบุตรหลานสืบทอดออกไปอีกเท่าใดก็ดีก็คงเป็นทาสเชลยทั้งสิ้น และผู้เป็นนายก็รับมรดกกันสืบมา ผู้ที่เป็นมูลนายจะยกทาสเชลยให้แก่ผู้ใดก็ได้เมื่อทาสเชลยได้นำเงินมาไถ่ค่าตัวตามราคาจึงจะพ้นความเป็นทาส
                 ๓.๒) ทาสสินไถ่ คือทาสที่นายเงินได้ออกมาไถ่ ถ้าทาสไม่มีเงินมาให้แก่นายเงินครบค่าแล้ว ก็ไม่มีเวลาที่จะพ้นยากจากทุกข์เป็นไทยได้ ฝ่ายลูกทาสที่ซึ่งเกิดแต่ทาสสินไถ่นั้น ถ้าเกิดในเรือนเบี้ยพอเกิดมาในเรือนทาสมีค่าตัวอยู่เรื่อยไป
                 ทาสทั้งสองจำพวกนี้ ได้มีวิธีการลดหย่อนผ่อนผันให้เสื่อมคลายลง นับแต่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชบัญญัติทาสในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ร.ศ. ๑๑๙ ในรัชกาลที่ ๕ และต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตราพระราชบัญญัติทาส ร.ศ. ๑๒๔ ขึ้นอีกเป็นคำรบสอง และการที่เป็นทาสได้เลิกเด็ดขาดไปเมื่อหลังแต่ได้ประกาศพระราชบัญญัตินี้ในมณฑลพายัพในรัชกาลที่ ๖ ร.ศ. ๑๓๑ แล้วเป็นลำดับมา  ทั้งนี้เป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ประชาชนชาวไทยเป็นล้นเกล้าฯ
             ๔. การตุลาการ  
                 กฎหมายที่บัญญัติขึ้นไว้ใช้สำหรับภายในบ้านเมืองเรียกว่า “อาณาจักรหลักคำ” แต่เดิมมาได้ทราบว่าเคยใช้คัมภีร์พระธรรมศาสตร์และราชศาสตร์  ซึ่งเป็นหลักกฎหมายในอินเดียเหมือนกัน อาณาจักรหลักคำเพิ่งจะมาตั้งขึ้นในชั้นหลังโดยถือหลักจากกฎหมายที่กล่าวแล้วบ้าง กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามสภาพบ้านเมืองบ้าง แต่แปลกที่มีบทบัญญัติบทลงโทษและคำสั่งสอนรวมคละปะปนไปด้วยกัน แต่อย่างไรก็ดี กฎหมายนี้ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เพราะแม้แต่ความผิดเล็กน้อยอาจถูกประหารชีวิตได้ ปรากฏว่าเมืองน่านในยุคนั้นสงบเรียบร้อยเป็นอย่างดี อาจกล่าวได้ว่าได้เป็นนิสัยปัจจัยสืบต่อมาจนกระทั่งบัดนี้
                 วิธีพิจารณาในประเภทความอาชญาอุกฉกรรจ์คงดำเนินอย่างวิธีที่จะแคะไค้เอาความจริงด้วยการทรมานให้สารภาพตามลักษณะที่เรียกว่า “จารีตนครบาล”  เหมือนอย่างเมืองทั้งปวงในสมัยเดียวกัน เมื่อคดีตกถึงสนาม ขุนสนาม ๓๒ นาย พิจารณาเป็นรูปเรื่องเห็นว่าใครผิดใครถูกแพ้ชนะกันอย่างไรแล้ว ก็พร้อมกันลงความเห็นในการที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามผลที่ได้พิจารณาตามบทบัญญัติในอาณาจักรหลักคำลงในพับดำ (สมุดดำ) หรือแผ่นกระดาษดำ แล้วนำขึ้นไปอ่านถวายเจ้าผู้ครองนครอันพร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาหอคำ เมื่อเจ้าผู้ครองนครและคณะได้พิจารณาเห็นว่าจะควรชี้โดยสถานใดแล้ว เจ้าผู้ครองนครก็ชี้ขาดบัญชาให้บังคับเป็นไปตามด้วยสถานนั้นๆ
                 ส่วนความแพ่งนั้น วิธีพิจารณาคงดำเนินไปในทางอันเดียวกัน เว้นแต่การไต่สวนไม่ใช่เคี่ยวเข็ญเอาตามจารีตนครบาล แต่ถ้าเป็นความที่กำกวมหรือคลุมเครือซึ่งคณะตุลาการไม่สามารถชี้ผิดชี้ถูกด้วยกฎหมายได้แล้ว ก็มีวิธีตัดสินด้วยการให้คู่ความทนต่อการสาบานหรือการพิสูจน์อย่างใดอย่างหนึ่งในการพิสูจน์นั้นอาจเป็นด้วยการให้เอานิ้วมือจิ้มตะกั่วที่ละลาย หรือเสี่ยงเทียน หรือวิธีที่จะยังความครั่นคร้ามให้แก่ผู้ทุจริตอื่นใดก็ได้ ซึ่งหวังในความศักดิ์สิทธิ์บันดาลของพระและเทพเจ้าเป็นใหญ่ สุดแล้วแต่ผู้พิพากษาจะเห็นสมควร เมื่อผู้ใดชนะการพิสูจน์ก็ตัดสินให้เป็นผู้ชนะคดี
                 มีเกร็ดของเรื่องนี้อยู่เรื่องหนึ่งกล่าวกันว่า มีผู้พิพาทกันด้วยเรื่องตู่กรรมสิทธิ์กระบือกันขึ้นเรื่องหนึ่ง ผลของการพิจารณาตุลาการไม่สามารถที่จะชี้ให้ได้ว่ากระบือตัวนั้นเป็นของผู้ใดเพราะน้ำหนักคำให้การของคู่ความรับกันในเรื่องลักษณะของกระบือเท่าๆ กัน ผลที่สุด จึงให้โจทก์จำเลยกระทำพิธีสาบาน และพิสูจน์ด้วยการเสี่ยงเทียนกันต่อหน้าพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ข้อตกลงมีว่า ถ้าเทียนของ   ผู้ใดดับก่อนผู้นั้นก็แพ้แก่ความสัตย์จริง  และจะตัดสินให้อีกฝ่ายเป็นผู้ชนะ เทียนนั้นได้ควั่นขึ้นจากขี้ผึ้งมีน้ำหนักเท่ากัน เส้นด้ายไส้เทียนก็นับมีจำนวนเท่ากัน การพิสูจน์ปรากฏว่าโจทก์ชนะเพราะเทียนจำเลยดับก่อน ตุลาการจึงจะพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามข้อตกลงนั้น จำเลยไม่ยอมกลับพูดว่า “พระองค์น้อยเกิดเมื่อวามาเมื่อซืนจะไปฮู้ฮีตบ้านกองเมืองหยัง” เพื่อจะบังคับคดีให้เป็นไปโดยละม่อมและให้จำเลยจำนนแก่การพิสูน์จริงๆ ตุลาการก็ยอม   จึงให้คู่ความไปทำการพิสูจน์กันใหม่อีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้เลือกกระทำกันต่อหน้าพระพุทธรูปองค์หนึ่งใหญ่ที่สุดที่มีอยู่ในเมืองทีเดียว ผลการพิสูจน์ครั้งนี้ปรากฏว่าจำเลยชนะ โจทก์กลับมีเสียงขึ้นบ้างว่า “สี่สิบลืมหน้า ห้าสิบลืมหลังเฒ่าชะแร แก่ออกล้ำ เยียใดจักจำได้”  ในที่สุดกระบือตัวนั้นเลยตัดสินให้ตกเป็นกระบือของหลวง
         ได้คัดส่วนหนึ่งของอาณาจักรหลักคำลงไว้ สำหรับท่านที่สนใจต่อคติธรรมโบราณของจังหวัดน่านด้วย

ประชากรของเมืองนครน่าน แก้

จำนวนประชากรของเมืองน่านในสมัยพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช (ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) บาทหลวงปาเลกัวช์ มิชชันนารีฝรั่งเศส ได้ระบุจำนวนประชากรเมืองน่านไว้ว่ามีอยู่ประมาณ ๖๐,๐๐๐ คน จากรายงาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ ปรากฏว่ามีประชากรอยู่ ๑๕๐,๐๐๐ คน การเพิ่มขึ้นของประชากรส่วนใหญ่ เนื่องมาจากการอพยพ และการกวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองฝั่งลาว และจากดินแดนสิบสองปันนา มาอยู่ในเขตเมืองน่านหลายครั้ง ในปี พ.ศ.๒๔๖๗ และปี พ.ศ.๒๔๗๘ มีจำนวนประชากร ๑๖๔,๕๐๐ คน และ ๑๘๐,๐๐๐ คน ตามลำดับ

หัวเมืองขึ้นของเมืองนครน่าน แก้

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมืองนครน่านเป็นเมืองที่มีอาณาเขตกว้างขวาง จากรายงานทางราชการของเมืองน่านที่มีไปถึงกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2444 - พ.ศ. 2445 ได้ระบุว่าเมืองน่านมีเมืองขึ้น ๔๕ เมือง และถูกจัดให้มีฐานะเป็นนคร ประกอบด้วย เมืองเชียงของ เมืองเทิง เมืองเชียงคำ เมืองเงิน เมืองไชพรหม เมืองริม (มี ๓ เมือง) เมืองแงง เมืองเชียงการ เมืองเชียงกลาง เมืองและ เมืองเบื้อ เมืองงอบ เมืองบ่อ เมืองปอน เมืองปัว เมืองยาง เมืองยม เมืองอวน เมืองพง เมืองบ่อว้า เมืองควน เมืองเชียงฮ่อน เมืองเชียงลม เมืองสวด เมืองเชียงม้วน เมืองเสอียบ เมืองสระ เมืองปง เมืองคอน เมืองออย เมืองอิง เมืองบิน เมืองยอด เมืองเสถิน เมืองลอย เมืองลี เมืองศรีษะเกษ เมืองหิน เมืองสา เมืองแฟก เมืองหาดส่า เมืองท่าปลา และเมืองผาเลือด

นันทบุรีศรีนครน่าน นครน่าน แบ่งการปกครองออกเป็นหัวเมือง 45 หัวเมือง ได้ 1. เมืองเชียงของ (อำเภอเชียงของ) 2. เมืองเทิง (อำเภอเทิง) 3. เมืองเชียงคำ (อำเภอเชียงคำ) 4. เมืองเงิน 5. เมืองไชยพรหม 6. เมืองริมเหนือ 7. เมืองริมกลาง 8. เมืองริมใต้ 9. เมืองแงง 10. เมืองเชียงการ 11. เมืองเชียงกลาง (อำเภอเชียงกลาง) 12. เมืองและ 13. เมืองเบื้อ 14. เมืองงอบ (อำเภอทุ่งช้าง) 15. เมืองบ่อ 16. เมืองปอน 17. เมืองปัว (อำเภอปัว) 18. เมืองย่าง 19. เมืองยม 20. เมืองอวน 21. เมืองพง 22. เมืองบ่อว้า 23. เมืองควน 24. เมืองเชียงฮ่อน 25. เมืองเชียงลม 26. เมืองสวด (อำเภอบ้านหลวง) 27. เมืองเชียงม่วน (อำเภอเชียงม่วน) 28. เมืองเสอียบ 29. เมืองสระ 30. เมืองปง (อำเภอปง) 31. เมืองคอน 32. เมืองออย 33. เมืองอิง (อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา) 34. เมืองบิน 35. เมืองยอด 36. เมืองเสถิน 37. เมืองลอย 38. เมืองลี (อำเภอนาหมื่น) 39. เมืองศรีษะเกษ (อำเภอนาน้อย) 40. เมืองหิน 41. เมืองสา (อำเภอเวียงสา) 42. เมืองแฟก 43. เมืองหาดส่า 44. เมืองท่าปลา (อำเภอท่าปลา) 45. เมืองผาเลือด

"ในพ.ศ. ๒๔๔๒ กระทรวงมหาดไทยจึงให้พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เสง วิริยศิริ) เมื่อครั้งเป็นพระยาศรีสหเทพราชปลัดทูลฉลอง ขึ้นมาจัดวางระเบียบการปกครองในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ อันเนื่องแต่ได้ใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ แล้วนั้น และเพื่อที่กระทรวงมหาดไทยจะได้ตราข้อบังคับสำหรับปกครองมณฑลตะวันตกเฉียง เหนือขึ้นใช้ในปีต่อไป ปีนี้พระยามหาอำมาตยาธิบดีได้มาที่จังหวัดน่าน พร้อมด้วยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช (ครั้งนั้นยังเป็นเจ้าสุริยะพงษ์ผริตเดช) เจ้าผู้ครองนคร พระยาสุนทรนุรักษ์ (เลื่อง ภูมิรัตน์) ข้าหลวงประจำเมืองและเจ้านายท้าวพญาทั้งปวงประชุมปรึกษาตกลงวางระเบียบ ราชการขึ้นใหม่ ดังนี้ การปกครองท้องที่ ได้แบ่งเขตแขวงเมืองน่านออกเป็น ๘ แขวง คือ ๑. แขวงนครน่าน คือรวมตำบลใกล้เคียงมี เมืองน่าน เมืองสา เมืองพง เมืองไชยภูมิ เมืองบ่อว้า ให้มีที่ว่าการตั้งที่แขวงเมืองน่าน ๒. แขวงน้ำแหง คือรวมเมืองหิน เมืองศรีสะเกษ เมืองลี้ ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่เมืองศรีสะเกษ ๓. แขวงน่านใต้ คือรวมเมืองท่าแฝก บ้านท่าปลา บ้านผาเลือด บ้านหาดล้า เมืองจะริม ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่บ้านท่าปลา ๔. แขวงน้ำปัว คือ เมืองปัว เมืองริม เมืองอวน เมืองยม เมืองย่าง เมืองแงง เมืองบ่อ ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่เมืองปัว ๕. แขวงขุนน่าน คือรวมเมืองเชียงกลาง เมืองและ เมืองงอบ เมืองปอน เมืองเบือ เมืองเชียงคาน เมืองยอด เมืองสะเกิน เมืองยาว ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่เมืองเชียงกลาง ๖. แขวงน้ำของ คือรวมเมืองงอบ เมืองเชียงลม เมืองเชียงฮ่อน เมืองเงิน ให้มีที่ว่าการตั้งที่เมืองเชียงลม ๗. แขวงน้ำอิง คือรวมเมืองเชียงคำ เมืองเชียงแลง เมืองเทิง เมืองงาว เมืองเชียงของ เมืองเชียงเคี่ยน เมืองลอ เมืองมิน ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่เมืองเทิง ๘. แขวงขุนยม คือรวมเมืองเชียงม่วน เมืองสะเอียบ เมืองสระ เมืองสวด เมืองปง เมืองงิม เมืองออย เมืองควน ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่เมืองปง

อาณาจักรหลักคำ แก้

พระราชกถาสมเด็จพระเชษฐบรมราชาอนันตยศวรราชเจ้า องค์เป็นอิสสราธิบัตติองค์ เป็นเจ้าแก่รัฐประชาในไชยนันทเทพบุรีนครราชธานีนครเมืองน่าน มีพระราชกรุณาแก่มหาขัตติยราชวงษาและท้าวพญาราชเสวกาผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งมวล ว่าโบราณราชวรปิตตุจฉาองค์เป็นน้าได้เสวยราชสมบัติ เป็นเจ้าแก่รัฐประชามาช้านาน ก็เป็นเถิงแก่กรรมนำตนไปสู่โลกภายหน้า ละสถานบ้านช่องบ้านเมืองและเราท่านทั้งหลายเสียแล้ว ครั้นอยู่มาเถิงจุลศักราช ๑๒๑๔ ตัว เดือนเจ็ด ออกสามค่ำ ตัวเราจึงได้พาเอาขัตติยราชวงษาและขุนเสนาอำมาตย์ล่องลงไปเฝ้าพระมหากษัตริย์เจ้า ณ กรุงเทพมหานคร แล้วจึงมีพระมหากรุณาโปรดเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม หื้อตัวเราได้เป็นเจ้าได้เสวยราชสมบัติสืบราชตระกูลวงษาเป็นเจ้าแผ่นดินในเมืองนานรักษาราชตระกูลวงษารัฐประชานครสถานบ้านเมือง และวรพุทธ-ศาสนา ให้การกุ่งรุ่งเรืองให้อยู่เย็นเป็นสุขสืบต่อไปภายหน้า ตามดังโบราณประเพณีอันมีมาแต่ก่อนนั้น โปรดประการนี้ บัดนี้เราเป็นเจ้ามารำพึงเล็งหันวรพุทธศาสนานครสถานบ้านเมืองแห่งเราทั้งหลาย ทุกวันมานี้ หนภายนอก มีเจ้านายท้าวขุนไพร่ไทยทั้งหลาย ผู้บ่ดีสมคบกับด้วยกันกระทำเป็นโจรกรรมอันบ่ดี ไปลักเอาวัวควายของท่าน ลักทางเหนือเอาไว้ทางใต้ ลักทางใต้เอาไปไว้ทางเหนือ ลักทางวันตกเอาไปไว้วันออก ลักทางวันออกเอาไปไว้วันตก แลเอาของท่านไปซุ่มซ่อนไว้ ปาดหูตัดเขาเหมียด๑หมาย เสียใหม่ เพื่อจักหื้อของท่านสาปสูญแล้วเอาเป็นของตัว อนึ่งไปซื้อเอามาฆ่ากิน อนึ่งสมคบกันเล่นแท่นเล่นเบี้ยเล่นหมากแกวเล่นพนันขันต่อกัน เอาสรรพสิ่งของเงินทองกัน ลวดเป็นหนี้เป็นสินกับด้วยกันหาสง๒ จะใช้แทนบ่ได้ ลวดสมคบกันเป็นโจรไปลักเอาสิ่งของแห่งท่าน อนึ่งด้วยผู้คนทั้ง หลายก็ดี อันเป็นร้าง๓ เป็นบ่าว๔ ก็ดี แอ่ว๕ ค่ำมาคืน แอ่วร้างจา๖ สาว ถือศาสตราอาวุธกระทำตัวแปลกปลอม บ่หื้อรู้บ่ฮื้อหันหน้า บ่หื้อรู้จักว่าเป็นผู้ร้ายผู้ดี ในกรรมทั้งหลายฝูงนี้จักพาให้บ้านเมืองวินาศฉิบหายและร้อนรนแก่รัฐประชาบ้านเมืองต่อๆ ไปมีเป็นหลายประการต่างๆ เหตุนั้นเราเป็นเจ้าจึงปงพระราชอาญาไว้แก่เจ้าพระยามหาอุปราชาหอหน้า หื้อหาเจ้านายพี่น้องขัตติยราชวงษาแลลูกหลาน ท้าวพญาเสนาอามาตย์ผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งมวลมาพร้อมกัน ปรึกษาพิจารณาแลตั้งพระราชอาชญาเป็นราชอาณาจักรกดขี่สั่งสอนบาปบุคคลผู้บ่ดี อย่าหื้อเป็นเสี้ยนหนามแก่แผ่นดิน ร้อนรนแก่บ้านเมืองแห่งเราแลรัฐประชาต่อๆ ไป เพื่อให้วรพุทธศาสนาแลบ้านเมืองแห่งเรานี้หื้อได้อยู่เย็นเป็นสุขพึ่งด้วยเดชบุญคุณแห่งเราทั้งหลายสืบต่อไป ว่าฉะนี้ ครั้น อยู่มาเถิงจุลศักราชเดียวนี้ เดือนเจียงแรม ๑๐ ค่ำ เจ้ามหาอุปราชาหอหน้า จึงได้หาเอาเจ้านายพี่น้องขัตติยราชวงษาลูกหลาน แลท้าวพญาเสนาอามาตย์ขึ้นปรึกษาพร้อมกันยังโรงไชย เจ้าพระยาหอหน้าปรึกษากันพิจารณาด้วยอันจักตั้งพระราชอาณาจักรนั้นตกลงแล้ว ครั้นเถิงเดือนยี่ออก ๑ ค่ำ มีเจ้าพระยาอุปราชาหอหน้าเป็นประธาน และเจ้าพระยาราชบุตร เจ้าพระยาศรีสองเมือง เจ้าพระยาสุริยพงษ์ เจ้าพระยาวังซ้าย เจ้าพระยาวังขวา เจ้าพระยาอริยวงษา เจ้าพระยาเทิง เจ้าพระยาเมืองราชา เจ้าพระเมืองแก้ว เจ้าพระเมืองน้อย เจ้าพระวิไชยราชา เจ้าเมืองเชียงแขง เจ้าเมืองเชียงของ เจ้าเมืองเลน เจ้าราชวงษ์เมืองเลน เจ้าเมืองหลวง เจ้าเมืองเชียงลาบ เจ้าเมืองภูคา เจ้าเมืองล้ำ แลขัติยราชวงษา ท้าวพญาเสนาอามาตย์ราชเสวกผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งมวลพร้อมกันเอาเนื้อความปรึกษาตั้งราชอาชญานั้นขึ้นกราบหลอง๗ เถิงราชสำนักเราเป็นเจ้าแล้ว จึงได้พร้อมกันตั้งพระราชอาชญาไว้หื้อเป็นอาณาจักรหลักคำ ไว้สั่งสอนห้ามปรามเจ้านายท้าวขุนลูกหลานไพร่ไทยทั้งหลายอย่ากระทำกรรมอันบ่ดีสืบต่อไปภายหน้าว่าตั้งแต่ศักราช ๑๒๑๔ ตัวปีเต่าไจ้เดือนยี่ ออก ๑ ค่ำ วันพุธนี้ไป ภายหน้าห้ามอย่าหื้อเจ้านายท้าวขุนไพร่ไทยทั้งหลายได้สมคบกันกระทำกรรมบ่ดี เป็นโจรลักเอาทรัพย์สิ่งของเงินทองแลช้างวัวควายของท่านไปฆ่ากินก็ดี ลักเอาไปขายเสียก็ดี ลักเอาไป เหมียดหมายเสียใหม่ก็ดี อนึ่งซื้อเอามาฆ่ากินก็ดี ผู้จักขายก็รู้ว่าท่านจักเอามาฆ่ากินแล้วป้อย๘ ขายหื้อก็ดีในกรรมทั้งหลายมวลฝูงนี้อย่าหื้อได้กระทำเป็นอันขาด คันว่า๙ บุคคลผู้ใด ไปลักเอาควายท่านมาฆ่ากินจักเอาตัวใส่ราชวัตร๑๐ ไวแล้วหื้อใช้ค่าควายตามราคา แล้วจักเอาตัวไปฆ่าเสีย บ่หื้อเป็นเสี้ยนหนามแก่แผ่นดินต่อไป คันว่าลักเอาควายท่านขายเสียก็ดี ลักเอาไปตัดเขาปาดหูเหมียดหมายเสียใหม่ก็ดี โทษเสมอกัน จักเอาตัวเข้าใส่ราชวัตรไว้ คันว่าได้ของเก่าคืน หื้อไหม ๔ ตัวควาย คันว่าบ่ได้ของเก่าคืนฮื้อใช้ ๑ ไหม ๔ ตัวควาย ค่าควายพู่แม่ดำพอนใหญ่น้อยถือว่าค่า ๒๐๐ ดอก๑๑ คันเป็นว่าเจ้านายหื้อ คารวะอาชญา๑๒ ยากต่อกึ่ง๑๓ คันเป็นท้าวขุนหื้อใส่สินค่าคอ ๔๔๐ ดอก คันเป็นไพร่หื้อใส่สินค่าคอ ๓๓๐ ยากต่อกึ่ง อนึ่ง ตัวหากลักฆ่าควายตัวก็ดี ไปซื้อควายเปิ้นมาฆ่ากิน ผู้ขายก็รู่ว่าท่านจักเอาไปฆ่ากินแล้วป้อยขายหื้อก็ดี ถือโทษเสมอกัน คันว่ารู้แล้วจักเอาตัวใส่ราชวัตรไว้ คันเป็นเจ้านายหื้อใส่สินค่าคอ๑๔ ๔๔๐ ดอก ยากต่อกึ่ง คันเป็นไพร่หื้อใส่สินคอ ๓๓๐ ดอก ยากต่อกึ่ง อนึ่ง จักปริกรรมผีเทพดาอาลักษณ์นั้น คันว่าในราชสำนักในเวียงหื้อไหว้สา๑๕ คันเป็นหน้าบ้านหื้อปฏิบัติเถิงสนามก่อน คันว่าหัวเมืองนอก หื้อบอกเถิงพ่อเมือง หื้อได้รู้ก่อนคันบ่บอกหื้อรู้ ถือว่าเป็นโจรลักกินควาย คันได้รู้แล้วจักเอาตัวเข้าใส่ราชวัตรไว้ คันเป็นเจ้านายหื้อคารวะอาชญายากต่อกึ่ง คันเป็นขุนหื้อใส่สินค่าคอ ๔๔๐ ดอก คันเป็นไพร่ใส่สินค่าคอ ๓๓๐ ดอก ยากต่อกึ่ง อนึ่ง ห้ามอย่าหื้อเจ้านายท้าวขุนไพร่ไทยทั้งหลายบนผีหนังประกรรม๑๖ แลผีพระเจ้าหาดเชี่ยว๑๗ ว่าจะหื้อกินควาย อย่าหื้อกระทำเป็นอันขาด คันบุคคลผู้ใดยังกระทำ จะเอาตัวเข้าใส่ราชวัตรไว้ คันเป็นเจ้านายหื้อคารวะอาชญายากต่อกึ่ง คันเป็นขุนหื้อใส่สินค่าคอ ๔๔๐ ดอก คันเป็นไพร่หื้อใส่สินค่าคอ ๓๓๐ ดอก ยากต่อกึ่งฯ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ อนึ่ง พ่อเมืองนายบ้าน นายอ่ายนายเกิน๑๘ ทั้งหลายทุกตำบล อย่าได้ลาสา๑๙ ประมาท หื้อรักษาด่านทางเขตแขวงบ้านเมืองไผมันหื้อมั่นขันแข็งแรง แม้นว่าลูกค้าวานิชทั้งหลายคือว่าค่าช้างค่าม้าค่าวัว ค่าควายหาบแลสมณะชีพราหมณ์ทั้งหลาย ออกจากเมืองไปบ่มี ชะลางหนังสือ๒๐ ตีตราแต่ราชสำนักอย่าได้ปล่อยไปเป็นอันขาด ว่าคันเป็นคนหื้อจับตัวใส่คา หื้อมั่นขันส่งเข้ามาเถิงราชสำนักสนาม คันเป็นสมณะชีพราหมณ์หื้อเกาะเอาตัวเข้ามาเถิงราชสำนักสถาน คันว่าเป็นลูกค้าแลคนต่างประเทศเมืองอื่นเข้ามาเถิงนายอ่ายแล้ว บ่มีหนังสือชะลางตีตรา อย่าปล่อยเข้าด้วยง่ายหื้องดไว้ก่อน แล้วหื้อมาบอกเถิงพ่อเมืองนายบ้าน แล้วเกาะเอาตัวมาปฏิบัติเถิงราชสำนักสนามก่อน อนึ่ง ด้วยคนทั้งหลายหนีลุก์ ๒๑ ต่างประเทศบ้านเมืองที่อื่น เข้ามาแอบแฝงเพิ่งอาศัยอยู่กับเจ้านายท้าว พญาพ่อเมืองนายบ้านทั้งหลาย แลอาศัยอยู่กับวัดวาอารามที่ใดๆ ก็ดี แม้เป็นคนไทยใต้ก็ดี เป็นลาวก็ดี เป็นคนบ้านใดเมืองใดก็ดี หากหนีมาผู้ ๑ - ๒ - ๓ คนก็ดี แลหาชะลางหนังสือ บ่ได้แม้จักมาอาศัยอยู่กับบ้านใดเมืองใดก็ดี วัดวาก็ดี อย่าหื้อรับอะหยั้งด้วยง่ายหื้อเจ้านายท้าวขุนพ่อเมืองนายบ้านได้นำเอาฝูงคนนั้น เข้ามาปฏิบัติเถิงราชสำนักสนามก่อน จักได้ไล่เลียงไต่ถามหื้อรู้ก่อน คันว่าคนฝูงนี้หากมีการหนีเข้ามาเพิ่งพาอาศัยอยู่กับเจ้านายท้าวพญาพ่อเมืองนายบ้านทั้งหลาย ผู้ใดปิดบังเสียบ่ เอาตัวเข้ามาปฏิบัติเถิงสนามหื้อได้รู้ภายลุน๒๒ บังเกิดเป็นข้าลักกระโมยโจรเป็นประการใดก็ดี ตัวมันหากหนีหายไปหาตัวบ่ได้ จับเอาตัวเจ้าเรือนที่อาศัยแทนผู้นั้นตามโทษ อนึ่ง ลูกค้าทั้งหลายมาจากต่างบ้านต่างเมืองต่างประเทศอื่น เข้ามาหาซื้อช้างซื้อม้าซื้อวัวซื้อควายนั้น คันเข้ามาเถิงบ้านใดเมืองใดก็ดี อย่าหื้อเจ้านายท้าวขุนพ่อเมืองนายบ้านทั้งหลายอย่าได้นับซื้อขายต่อกันด้วยง่าย หื้อพาเอาตัวลูกค้าทั้งหลายเข้ามาปฏิบัติเถิงราชสำนักสนามก่อน อนึ่ง หาก ผู้ใดบ่ฟังลักซื้อลักขายกัน บ่มาปฏิบัติเถิงสนามนั้น จักเอาโทษตามอาชญา คันบ้านใดเมืองใด บ่กระทำตามพระราชอาชญาได้ ตั้งอาณาจักรหลักคำไว้นี้ สืบรู้จักเอาโทษจงหนัก ในพระราชอาชญาได้ปรึกษาพร้อมเพรียงกับด้วยมหาขัตยราชวงศ์อัครมหาเสนาอำมาตย์ชูตนชูคนได้ตั้งพระราชอาณาจักรตักเตือนสั่งสอนแก่เจ้านายท้าวพญาราษฎรทั้งหลาย แลพ่อเมืองนายบ้านทั้งหลายในขงจักขวัติเมืองน่านทุกตำบลชะและบุคคลผู้ใดกระทำล่วงเกินสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จักเอาโทษตามพระราชอาชญา ซึ่งได้ตั้งอาณาจักรหลักคำไว้นี้ ทุกประการ

ราชสำนักเจ้าผู้ครองนครน่าน แก้

โดยพระสถานะเดิมของเจ้าผู้ครองนคร(เจ้าหลวง)มีพระสถานะเป็น “กษัตริย์ประเทศราช” หรือเป็นประมุขเจ้าแผ่นดินน้อยๆ เป็นเอกเทศอยู่ส่วนหนึ่ง ที่สำคัญของเจ้าผู้ครองนครซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินน้อยๆ จึงไม่ผิดกับพระเจ้าแผ่นดินที่ครองราชย์ในอาณาจักรใหญ่ๆ แต่อย่างใด กล่าวคือ ด้วยความเป็นใหญ่เป็นประธานในเหล่าพสกนิกร ผู้เป็นประมุขจักต้องบริหารการปกครองให้เจริญมั่นคง ดำรงแว่นแคว้นให้เป็นที่ร่มเย็นเป็นสุขแก่ประชาชนทั่วไป เป็นผู้นำแบบความดีงามทั้งหลายทั้งฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายพุทธจักร นอกจากนี้เพื่อจะยังให้พระเกียรติยศและความร่มเย็นเป็นสุขของอาณาประชาราษฎรมีผลอันไพบูลย์ เจ้าผู้ครองนครเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ก็ย่อมจะบำเพ็ญกรณียกิจตามคติธรรมของผู้เป็นประมุขเนื่องในทางศาสนาสืบมาแต่โบราณราชประเพณีอันเรียกว่า “ทศพิธราชธรรม” ประกอบอีกส่วนหนึ่งด้วย

ส่วนพระอิสริยยศของเจ้าผู้ครองนครนั้น ก็ย่อมเป็นไปตามฐานะของบ้านเมือง บ้านเมืองใหญ่ก็มีพระอิสริยยศประดับมาก บ้านเมืองน้อยก็ลดหลั่นกันลงมาตามกำลังวังชาแต่อย่างไรก็ดีทางสำนักเจ้าผู้ครองนครน่านก็ได้มีคติประเพณีทางฝ่ายขัตติยสืบกันมาช้านาน กล่าวคือ เมื่อมีผู้ขึ้นครองเมืองก็จะประกอบพระพิธีราชาเษกขึ้นเป็น "เจ้าหลวงเมืองนครน่าน" แม้ในชั้นหลังการตั้งเจ้าเมืองจะได้เป็นโดยพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ณ กรุงเทพฯ ก็ดี ก็มิได้ละโบราณราชประเพณีเสีย ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งยังบ้านเมืองอีกวาระหนึ่งเมื่อจะเสด็จสถิตย์สำราญในราชนิเวศน์หอคำโรงหลวง ณ ราชสำนักเจ้าเมืองก็จะมีพระพิธีขึ้นสำนักซึ่งตรงกับคำว่า “เฉลิมพระราชมณเฑียร” มีการเสด็จออกพระยาแสนท้าว (ขุนนาง) ต้อนรับแขกเมืองด้วยพระพิธี และมีการออกประพาสเมืองโดยพระอิสสริยศด้วยกระบวนข้าบริพารเป็นอาทิ

นอกจากพญาแสนท้าวอันเป็นขุนนางที่เจ้าผู้ครองนครได้แต่งตั้งขึ้นไว้ เพื่อบริหารกิจการ

บ้านเมืองยังสนาม ซึ่งเป็นการภายนอกส่วนหนึ่งแล้ว ยังอีกการภายใน อันเป็นกิจการของคุ้มของเจ้าผู้ครองนครโดยตรง ก็แต่งตั้ง “ขุนใน” ขึ้นไว้รับใช้การงานและประดับเกียรติยศเจ้าผู้ครองนครอีกส่วนหนึ่งด้วย ทำนองข้าราชการฝ่ายราชสำนัก ซึ่งมีความมุ่งหมายเป็นส่วนใหญ่ที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้

                 กิจการภายในสำนักเจ้าผู้ครองนครน่าน อาจแบ่งออกได้เป็น ๕ แผนก  คือ แผนกวัง   แผนกเสมียนตรา  แผนกมณเฑียรและอาสนะ  แผนกการกุศล  แผนกรับใช้
                 แผนกวัง
                 มีหน้าที่ควบคุมตรวจตรากิจการภายในคุ้มทุกอย่าง รักษาความสงบเรียบร้อยภายในคุ้ม พิทักษ์ตัวเจ้าผู้ครองนครด้วยกำลังคน “เจ้าใช้การใน” ที่มีประจำอยู่ จัดพิธีออกพญาแสนท้าวในคราวที่ประกอบเป็นเกียรติยศ พิธีออกแขกเมือง – ต้อนรับแขกเมือง  จัดกองเกียรติยศเมื่อเจ้าผู้ครองนครออกประพาส
                 แผนกเสมียนตรา
                 มีหน้าที่ทำหนังสือของเจ้าผู้ครองนครที่จะมีไปในที่ต่างๆ และรับคำสั่งอาชญาที่จะแจ้งไปให้สนามทราบกับมีหน้าที่เก็บสรรพหนังสือภายในหอคำ



                 แผนกมณเฑียรและอาสนะ
                 มีหน้าที่พิทักษ์ดูแลหอคำและเรือนโรงของเจ้าผู้ครองนครและบูรณะปฏิสังขรณ์เมื่อชำรุด กับมีหน้าที่แต่งตั้งอาสนะเมื่อเจ้าผู้ครองนครออกประพาสไปประทับ ณ ที่ใดที่หนึ่ง
                 แผนกการกุศล
                 มีหน้าที่ประกอบการกุศลของเจ้าผู้ครองนครต่างๆ กระทำพิธีบูชาพระเคราะห์ตามคราวและมีหน้าที่บันทึกเรื่องรายงานการกุศล
                 แผนกรับใช้
                 มีหน้าที่รับใช้เจ้าผู้ครองนครในกิจการต่างๆ
                 ข้าราชการบริหารผู้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวแล้ว มีรายนามเป็นทำเนียบดังต่อไปนี้
                 แผนกวัง           
                 ๑. พญาสิทธิวังราช         เป็นผู้สำเร็จการวัง
                 ๒. พญาราชวัง              เป็นผู้ช่วย
                 ๓. ท้าวอาสา                เป็นหัวหน้าคนเจ้าใช้การใน  มีหน้าที่จับกุมบุคคลที่ขัดอาชญาตามบัญชาของเจ้าผู้ครองนครและมีหน้าที่ถือมัดหวายนำหน้ากระบวนออกประพาสของเจ้าผู้ครองนคร 
                 ๔. ท้าววังหน้า              เป็นหัวหน้าคนเจ้าใช้การใน  กับมีหน้าที่ออกหน้ากระบวนออกประพาสของเจ้าผู้ครองนคร ในอันที่จะประกาศมิให้ผู้คนจอแจข้างหน้าทางหรือตัดหน้าฉาน
                 กับมีคนใช้การในสำหรับที่จะเรียกใช้กระทำกิจการภายในคุ้ม ๑,๐๐๐ คน ในเวลาปกติมีคนเจ้าใช้การในมาเข้าเวรยาม ๑๕ คน พวกเหล่านี้ผลัดเปลี่ยนกันมาเข้าเวรครั้งละ ๓ วัน ๓ คืน หมุนเวียนกันไป
                 แผนกเสมียนตรา
                 พญาสิทธิอักษร              เป็นหัวหน้า
                 แผนกมณเฑียร
                 ๑. พญาราชมณเฑียร      เป็นหัวหน้า
                 ๒. แสนหลวงราชนิเวศน์   เป็นผู้ช่วย
                 อาสนะ
                 พญาอาสนมณเฑียร        เป็นหัวหน้า
                 แผนกการกุศล
                 ๑. แสนหลวงสมภาร        เป็นหัวหน้า
                 ๒. แสนหลวงกุศล          เป็นผู้ช่วย
                 ๓. แสนหลวงขันคำ         เป็นผู้ถือพานทองนำหน้าเจ้าผู้ครองนครไปในคราวบำเพ็ญ

กุศลต่างๆ


                     แผนกรับใช้
                 ๑. แสนหลวงใน             ผู้รับใช้จับจ่ายอาหารเลี้ยงดูคนในคุ้ม
                 ๒. แสนหลวงต่างใจ        เป็นผู้รับใช้กิจการต่างๆ ภายนอก นอกจากนี้    ยังมีพนักงาน

เสมียนและเจ้าหมวดนายหมู่อีกพอสมควร

การปกครองเมื่อจัดหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาล แก้

                 เมื่อมหาประเทศทางตะวันตกมีอังกฤษและฝรั่งเศสได้ประเทศใกล้เคียงเป็นเมืองขึ้นและแผ่อำนาจใกล้เข้ามาโดยรอบพระราชอาณาจักรสยามอยู่เป็นลำดับ เกิดมีคนในบังคับต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องกับการปกครองของสยามขึ้นเป็นเงาตามตัว หัวเมืองประเทศราชของสยามทั้งปวงเป็นเมืองที่อยู่ในข่ายพระราชอาณาเขต  มีการเกี่ยวข้องกับคนในบังคับบัญชามากกว่าหัวเมืองชั้นใน แต่วิธีการ  ปกครองของเมืองประเทศราชเหล่านั้น ยังเป็นพลการและโบราณล้าสมัยอยู่มาก อาจมีการพลั้งพลาดถึงกับเป็นการกระทบกระเทือนในทางการเมืองและสัญญาทางพระราชไมตรีได้
                 อีกประการหนึ่ง ในสมัยเดียวกัน แม้ในพระราชอาณาเขตภายในเองก็ยังมีการปกครองโดยให้เมืองใหญ่ปกครองเมืองน้อย ตามลำดับเมืองที่เป็นเอก โท ตรี จัตวา อยู่ทั่วไป เมืองใหญ่เพียงแต่ต้องฟังบังคับบัญชาตรงจากเจ้ากระทรวง การที่เป็นเช่นนี้อยู่ในฐานะที่ต้องกระจายหัวเมืองอยู่มาก ในขณะนั้นการคมนาคมถึงกันก็ไม่ใคร่สะดวก คำสั่งจากกรุงเทพฯ จะถึงเมืองหนึ่งๆ ก็ช้าเหตุผลที่เป็น   ข้อสำคัญยิ่งก็คือ เหตุที่มามอบหมายให้หัวเมืองบังคับบัญชากันเอง การตรวจตราของเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ในกรุงไปไม่ใคร่ถึง เมื่ออาณาประชาชนมีคดีทุกข์ร้อนหรือถูกเจ้าพนักงานกดขี่ข่มเหงหรือตัดสินความไม่เป็นยุติธรรม เจ้ากระทรวงก็ต้องเรียกตัวคู่ความและสำนวนไปชำระว่ากล่าวในกรุงกว่าจะได้รับความยุติธรรมก็เป็นความเดือดร้อนแก่ราษฎรเป็นอันมาก
                 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทถึงเหตุ       ดังกล่าวนั้น จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองประเทศราชขึ้นเป็นมณฑลเทศาภิบาลเป็นครั้งแรก และทรงตั้งข้าหลวงใหญ่ออกไปบัญชาต่างพระเนตรพระกรรณนับแต่ระหว่างปี ๒๔๓๕ - ๒๔๓๗  และในปีต่อๆ มา ก็ทรงตั้งมณฑลอื่นๆ ขึ้นอีกเป็นลำดับ
                 จังหวัดน่านขึ้นอยู่ใน “มณฑลลาวเฉียง” ซึ่งมีจังหวัดอื่นๆ ขึ้นอยู่อีก คือ  เชียงใหม่  ลำพูน  ลำปาง  แพร่  เชียงราย  (ภายหลังแยกอาณาเขตจังหวัดเชียงใหม่ตั้งเป็นจังหวัดขึ้นอีกจังหวัดหนึ่ง คือจังหวัดแม่ฮ่องสอน) ตั้งศาลารัฐบาลที่จังหวัดเชียงใหม่
                 พ.ศ. ๒๔๔๓  ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น “มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ”
                 พ.ศ. ๒๔๔๔  ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น “มณฑลพายัพ”
                 พ.ศ. ๒๔๕๘  ได้ประกาศตั้งมณฑลพายัพเป็นภาคพายัพ  และตั้งสมุหเทศาภิบาลเป็นอุปราชประจำภาค
                 ใน พ.ศ. ๒๔๕๘  นี้เอง ได้ประกาศแยกจังหวัดน่าน แพร่ ลำปาง ออกจากมณฑลพายัพ ตั้งมณฑลขึ้นอีกมณฑลหนึ่งเรียกว่า “มณฑลมหาราษฎร์” ขึ้นอยู่ในภาคพายัพ ตั้งศาลารัฐบาลอยู่ที่จังหวัดแพร่
                 พ.ศ.๒๔๖๘ ได้ประกาศเลิกภาคพายัพและตำแหน่งอุปราชประจำภาคเป็น              สมุหเทศาภิบาลกับยกเลิกมณฑลมหาราษฎร์รวมจังหวัดที่อยู่ในมณฑลมหาราษฎร์ไปขึ้นแก่มณฑลพายัพตามเดิม
                 พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้ประกาศยุบมณฑลและให้จังหวัดต่างๆ ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย
                 เมื่อก่อนตั้งมณฑลลาวเฉียงขึ้นนั้น กระทรวงมหาดไทยได้ตั้งข้าหลวงมาประจำจังหวัดน่านแล้ว เริ่มแต่ พ.ศ. ๒๔๓๓ เป็นต้นมา เพื่อกำกับตรวจตราจัดวางระเบียบราชการในพื้นเมืองให้เข้ารูปแบบในกรุงเทพฯ ต่างหูต่างตากระทรวงมหาดไทยและจัดการอันเกี่ยวกับต่างประเทศ มิให้เป็นการกระทบกระเทือนในทางการเมือง ในขั้นต้นที่มีข้าหลวงมาประจำ การปฏิบัติราชการมีการขลุกขลักกันอยู่บ้าง เพราะเป็นหัวต่อของการที่จะปรับปรุงระเบียบราชการขึ้นใหม่ ซึ่งการทั้งนี้ก็ย่อมจะกระเทือนใจ

บรรดาเจ้านายอยู่บ้าง แต่ต่อมาเมื่อทั้งสองฝ่ายได้ทำความเข้าใจกันดีแล้วความกลมเกลียวประสานงานก็ค่อยดีขึ้นเป็นลำดับ ขณะนี้ทางบ้านเมืองยังคงมีสนามเป็นที่ว่าการอยู่ตามเดิม

                ครั้นต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ เมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖  แล้ว  กระทรวงมหาดไทยได้มีตราให้ยุบเลิกตำแหน่งขุนสนามและตั้งพนักงาน ๖ ตำแหน่งขึ้นว่าการ การมหาดไทย การยุติธรรม การทหาร การคลัง การนา การวังแทน ให้ขึ้นอยู่ในข้าหลวงประจำเมืองและเจ้าผู้ครองนคร
                 เนื่องด้วยการแบ่งเขตแขวงสำหรับจัดการปกครองและตำแหน่งหน้าที่ราชการใน        ปกครองและตำแหน่งหน้าที่ราชการในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ยังเป็นการก้าวก่ายอยู่หลายประการ

สมควรจะจัดการวางแบบแผนวิธีปกครองและวางตำแหน่งหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามควรแก่กาลสมัย ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ กระทรวงมหาดไทยจึงให้พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เสง วิริยศิริ) เมื่อครั้งเป็นพระยาศรีสหเทพราชปลัดทูลฉลอง ขึ้นมาจัดวางระเบียบการปกครองในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ อันเนื่องแต่ได้ใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ แล้วนั้น และเพื่อที่กระทรวงมหาดไทยจะได้ตราข้อบังคับสำหรับปกครองมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือขึ้นใช้ในปีต่อไป ปีนี้พระยามหาอำมาต- ยาธิบดีได้มาที่จังหวัดน่าน พร้อมด้วยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช (ครั้งนั้นยังเป็นเจ้าสุริยะพงษ์ผริตเดช) เจ้าผู้ครองนคร พระยาสุนทรนุรักษ์ (เลื่อง ภูมิรัตน์) ข้าหลวงประจำเมืองและเจ้านายท้าวพญาทั้งปวงประชุมปรึกษาตกลงวางระเบียบราชการขึ้นใหม่ ดังนี้

             ๑. การปกครองท้องที่
                     ได้แบ่งเขตแขวงเมืองน่านออกเป็น ๘  แขวง คือ
                 ๑. แขวงนครน่าน  คือรวมตำบลใกล้เคียงมี เมืองน่าน เมืองสา เมืองพง เมืองไชยภูมิ เมืองบ่อว้า ให้มีที่ว่าการตั้งที่แขวงเมืองน่าน
                 ๒. แขวงน้ำแหง  คือรวมเมืองหิน เมืองศรีสะเกษ  เมืองลี้ ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่เมือง ศรีสะเกษ
                 ๓. เขวงน่านใต้  คือรวมเมืองท่าแฝก  บ้านท่าปลา  บ้านผาเลือด  บ้านหาดล้า  เมือง   จะริม ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่บ้านท่าปลา
                 ๔. แขวงน้ำปัว  คือ  เมืองปัว   เมืองริม  เมืองอวน  เมืองยม  เมืองย่าง  เมืองแงง   เมืองบ่อ  ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่เมืองปัว
                 ๕. แขวงขุนน่าน  คือรวมเมืองเชียงกลาง  เมืองและ  เมืองงอบ  เมืองปอน  เมืองเบือ  เมืองเชียงคาน  เมืองยอด  เมืองสะเกิน  เมืองยาว  ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่เมืองเชียงกลาง
                 ๖. แขวงน้ำของ  คือรวมเมืองงอบ  เมืองเชียงลม  เมืองเชียงฮ่อน  เมืองเงิน ให้มีที่ว่าการตั้งที่เมืองเชียงลม
                 ๗. แขวงน้ำอิง  คือรวมเมืองเชียงคำ  เมืองเชียงแลง  เมืองเทิง  เมืองงาว  เมือง      เชียงของ  เมืองเชียงเคี่ยน  เมืองลอ  เมืองมิน ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่เมืองเทิง
                 ๘. แขวงขุนยม  คือรวมเมืองเชียงม่วน  เมืองสะเอียบ  เมืองสระ  เมืองสวด  เมืองปง  เมืองงิม  เมืองออย  เมืองควน  ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่เมืองปง
                 แขวงหนึ่งแบ่งออกเป็น “พ่ง” มีประมาณ ๑๐ พ่งๆ หนึ่งแบ่งออกเป็นหมู่บ้านมีประมาณ ๑๐ หมู่บ้าน ๆ  หนึ่งมีลูกบ้านประมาณ ๒๐ คน
                 แขวงหนึ่งให้มี “นายแขวง” ๑ คน “รองแขวง” ๒ คน หรือหลายคนตามการมากและน้อยและมี “สมุห์บัญชี” ๑ คน เสมียนใช้ตามสมควร
                 พ่งหนึ่งให้มี “เจ้าพ่ง” ๑ คน มีศักดิ์เป็นพญามี “รองเจ้าพ่ง” อีก ๑ หรือ ๒ คน ตามพ่งน้อยและใหญ่กับมีล่ามอีก ๒ คน (ต่อมาได้เปลี่ยนพ่งเป็นแคว้น)
                 หมู่บ้านหนึ่งให้มี “แก่บ้าน” คนหนึ่ง
             ๒. เจ้าหน้าที่ปกครอง                 
                 ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปกครองให้เรียกนามตำแหน่งดังนี้
                 ๑. กองบัญชาการ – ให้มีข้าราชการ ๓ นาย คือ เจ้าผู้ครองนคร ๑ ข้าหลวงประจำเมือง ๑ ข้าหลวงผู้ช่วย ๑ รวมเรียกว่า “เค้าสนามหลวง”
                 ๒. กองขึ้นแก่เค้าสนามหลวง – ให้มีข้าราชการขึ้นอยู่กับในเค้าสนามหลวง ๖ ตำแหน่ง คือ พนักงานมหาดไทย ๑ พนักงานยุติธรรม ๑ พนักงานทหาร ๑ พนักงานคลัง ๑ พนักงานนา ๑ พนักงานวัง ๑
                 พนักงาน ๖ ตำแหน่งนี้มีพนักงานเป็นหัวหน้า ๑ และพนักงานรองเสมียนคนใช้ตาม    สมควร  กับมีพนักงานกรมการแขวงตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
             ๓. หน้าที่และอำนาจของเจ้าหน้าที่
                 ได้วางระเบียบไว้ดังนี้
                 ๑. เจ้าผู้ครองนคร  มีหน้าที่รักษาราชการบ้านเมืองให้เรียบร้อยต่างพระเนตรพระกรรณเป็นผู้รับผิดชอบเฉพาะการในพื้นเมือง เป็นผู้ออกอาชญาหมายคำสั่งพนักงาน ๖ ตำแหน่งตามข้อความซึ่งได้ปรึกษาหารือในที่ประชุมเค้าสนามหลวงและมีอำนาจบังคับบัญชาราชการในบานเมืองให้เป็นไปตามที่ได้ตกลงในที่ประชุมเค้าสนามหลวงกับบังคับบัญชาว่ากล่าวเจ้านายบุตรหลานเพี้ยท้าวแสนวงศ์ญาติตามที่ชอบด้วยหน้าที่ราชการและพระราชกำหนดกฎหมาย
                 ๒.ข้าหลวงประจำเมือง  มีหน้าที่ตรวจตรารักษาราชการต่างพระเนตรพระกรรณทุกอย่าง เป็นผู้โต้ตอบในการที่เกี่ยวกับต่างประเทศทั้งปวง เป็นผู้มีใบบอกและหนังสือราชการไปมากับกรุงเทพฯ ข้าหลวงใหญ่ ณ ที่ว่าการมณฑลและเมืองอื่นๆ นอกจากในพื้นเมืองน่าน ตามความที่ได้ตกลงในที่ประชุมเค้าสนามหลวง เป็นผู้แนะนำและสั่งพนักงานให้รับราชการตามหน้าที่ทุกอย่างและมีอำนาจสั่งให้หยุดยั้งหรือถอนอาชญาหมายคำสั่งของเจ้าผู้ครองนครหรือเจ้านายคนใดซึ่งข้าหลวงเห็นว่าไม่ชอบด้วยราชการหรือไม่ชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมาย ในระหว่างมีใบบอกไปหารือที่ว่าการมณฑลหรือบอกไปยังกรุงเทพฯ ได้ทุกอย่าง  เป็นผู้ตรวจและเซ็นชื่อในคำพิพากษาของศาลในระหว่างที่กระทรวงยุติธรรมยังไม่ได้จัดตั้งศาล  กับเป็นผู้อนุญาตตั้งและย้ายตำแหน่งข้าราชการ  ขึ้นและลดเงินเดือนข้าราชการ  ซึ่งมีตำแหน่งต่ำกว่าชั้นพนักงานรองลงไป
                 ๓. ข้าหลวงผู้ช่วย      มีหน้าที่แทนข้าหลวงประจำเมืองในเมื่อข้าหลวงประจำเมืองไม่อยู่หรือป่วย และช่วยงานในตำแหน่งข้าหลวงประจำเมืองทุกอย่าง
                 ๔. พนักงาน ๖ ตำแหน่ง  มีหน้าที่ทำการตามคำสั่งของเค้าสนามหลวงและรับผิดชอบโดยเฉพาะในหน้าที่ของตำแหน่ง คือ
                     ๑) พนักงานมหาดไทย  ว่าการปกครอง
                     ๒) พนักงานยุติธรรม  ว่าการพิจารราพิพากษาอรรถคดี และการจัดการศาลตามแบบศาลในพื้นเมือง
                     ๓) พนักงานทหาร  ว่าการปราบปรามโจรผู้ร้าย (การตำรวจ)
                     ๔) พนักงานคลัง  ว่าการคลัง
                     ๕) พนักงานนา  ว่าการเก็บเงินผลประโยชน์แผ่นดินทั้งปวง
                     ๖) พนักงานวัง  ว่าการโยธา การสุขาภิบาล การธรรมการ การไปรษณีย์
                 ๕. พนักงานกรมการแขวง      คงมีหน้าที่ในการปกครองท้องที่แบบเดียวกับคณะกรม

การอำเภอปัจจุบันนี้ทุกประการ

             ๔. การปฏิบัติราชการ
                 เนื่องด้วยแต่เดิมมา ข้าหลวงและพนักงาน ๖ ตำแหน่งต่างทำการแยกย้ายกันอยู่ที่บ้านคนละแห่งจึงให้มารวมทำการ ณ  ที่สนามแห่งเดียวกัน กำหนดให้ข้าราชการต้องรับราชการในสนามวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๖ ชั่วโมง  คือตั้งแต่ ๑๐.๐๐ น. ถึง ๑๖.๐๐ น. เว้นแต่วันพระและวันขัตตฤกษ์ ส่วนการปฏิบัติราชการเมื่อเปิดสนามแล้วกำหนดให้มีเวลาประชุมปรึกษาราชการ ในที่ประชุมนั้นให้มีเจ้าผู้ครองนคร ๑ ข้าหลวงประจำเมือง ๑ ข้าหลวงผู้ช่วย ๑ กับหัวหน้าตำแหน่งทั้ง ๖ รวม ๙ คน พร้อมกันประชุมปรึกษาสั่งราชการซึ่งจะมีมาในเวลาเฉพาะวันนั้นและราชการในหน้าที่ใดมา ให้เจ้าหน้าที่เสนอในคราวประชุม การประชุมนั้นถ้ามีข้าหลวงหรือข้าหลวงผู้ช่วยคนหนึ่ง กับหัวหน้าหรือรอง ๖ ตำแหน่งอีก ๓ นาย รวมเป็น ๔ นาย ให้เป็นองค์ประชุมสั่งราชการได้
                 การประชุมปรึกษาราชการนั้น ถ้าความเห็นสอดคล้องต้องกันทั้ง ๖ คน ก็ให้จัดสั่งราช-การไป ถ้าความเห็นแตกต่างกันประการใดไม่เป็นที่ตกลงกันได้ก็ให้ข้าหลวงประจำเมือง ๑ เจ้าผู้ครอง-นคร ๑ ข้าหลวงผู้ช่วย ๑ รวมเป็น ๓ นาย ซึ่งเป็นเค้าสนามหลวง พร้อมกันประชุมปรึกษาหารือสั่งเป็นเด็ดขาด ถ้าคนทั้ง ๓ มีความเห็นแตกต่างไม่ตกลงกัน ให้เอาความเห็นข้างมากเป็นคำตกลงกันเด็ดขาดและถ้าความเห็นแตกต่างกันเช่นนี้บังเกิดขึ้นเมื่อคนใดในเค้าสนามหลวงมาประชุมไม่ได้จะเป็นโดยเหตุประการใดก็ดี มีอยู่แต่เพียง ๒ นาย ก็ต้องถามความเห็นอีกคนหนึ่งก่อนจึงจะเป็นการตกลงกันได้ หรือถ้าเป็นการสำคัญมากก็ให้แจ้งความไปยังที่ว่าการมณฑลขอหารือและรับคำสั่งเป็นเด็ดขาด
                 การสิ่งใดที่ได้ตกลงกันในที่ประชุมแล้ว จึงให้จัดทำไปตามหน้าที่ ห้ามมิให้ผู้ใดผู้หนึ่งออกอาชญาหรือมีหนังสืออ้างว่าเป็นราชการไปด้วยประการใดๆ นอกจากที่ได้ประชุมตกลงเห็นชอบแล้วนั้น เว้นแต่ถ้ามีราชการร้อนที่จำเป็นจะต้องจัดต้องสั่งโดยเร็วจึงให้ข้าหลวงปรึกษาพร้อมด้วยเจ้าผู้ครองนครจัดสั่งไปแล้วจึงแจ้งต่อที่จะต้องทำในทันที จึงให้ข้าหลวงจัดส่งไปได้ แล้วแจ้งให้ที่ประชุมทราบภายหลัง
                 นอกจากการวางระเบียบราชการที่พระยามหาอำมาตยาธิบดีได้จัดขึ้นดังกล่าวแล้วยังได้ปรึกษาเป็นที่ตกลงกับเจ้าผู้ครองนครถึงการจัดราชการบ้านเมืองอย่างอื่นอีก ส่วนที่สำคัญคือ
                 ๑.  เรื่องการเก็บเงินค่าแรงแทนเกณฑ์ซึ่งเป็นเรื่องต่อเนื่องนำไปสู่พระราชบัญญัติการ -

เก็บเงินค่าแรงแทนเกณฑ์มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ร.ศ. ๑๑๙

                 ๒. เรื่องยกค่าตัวทาสและยกบุตรหลานค่าหอคนโรงในการที่จะผ่อนผันให้พ้นจากความเป็นทาสซึ่งเป็นเรื่องนำไปสู่พระราชบัญญัติทาสมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ณ.ศ. ๙
                 ๓. เรื่องสร้างสนามขึ้นใหม่ เจ้าผู้ครองนครยอมถวายที่ดินให้เป็นที่ปลูกสร้างและพร้อมด้วยเจ้านายบุตรหลานรับจะช่วยออกแรงช้างในการชักลากไม้จนสำเร็จการ ซึ่งเป็นผลให้ได้มีสนามถาวรขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙  (คือศาลากลางจังหวัดปัจจุบัน)
                 ๔. เรื่องเรือนจำ ในขณะนั้นที่คุมขังนักโทษยังแยกอยู่นอกเวียงแห่งหนึ่งในเมืองเวียงแห่งหนึ่ง ข้าหลวงจะเลิกตะรางนอกเวียงเสีย เพราะทำไว้เปล่าไม่มีนักโทษ ฝ่ายตะรางในเวียงก็รกชำรุด ข้าหลวงและเจ้าผู้ครองนครจะซ่อมและขยายตะรางในเวียงให้เป็นไปตามข้อบังคับเรือนจำ ร.ศ. ๑๑๘
                 ต่อมารุ่งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศใช้กฎข้อบังคับสำหรับ   ปกครองมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือขึ้น ซึ่งเป็นข้อบังคับพิเศษใช้ต่อเนื่องกับพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖  ในส่วนระเบียบราชการนั้นคงมีนัยดังที่ได้กล่าวมาแล้วทุกประการ การปฏิบัติราชการได้ดำเนินการตามรูปนี้เป็นลำดับมาจนทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗

การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน

                    ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบบประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว ได้มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ โดยจังหวัดดังกล่าวนี้มีข้าหลวงประจำจังหวัดและกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหารและได้ยกเลิกมณฑลเสีย
                  ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๙๕  รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินขึ้นใหม่อีกฉบับหนึ่ง มีสาระสำคัญคือ
                  ๑. จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล  ซึ่งตามพระราชบัญญัติฉบับเดิมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ จังหวัดไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล
                  ๒. อำนาจบริหารราชการของจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเป็นอำนาจของคณะกรมการจังหวัดได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด
                  ๓. ฐานะของกรมการจังหวัดได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราช การจังหวัด   
                  ต่อมาได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ สาระสำคัญมิได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก โดยให้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดนั้นให้รวมท้องที่หลายๆ อำเภอขึ้นเป็นจังหวัด  มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดให้ตราเป็นพระราชบัญญัติและให้มีคณะกรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นระเบียบบริหารราชการที่ใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน

การจัดการปกครอง แก้

พระราชอาณาเขตของพระนครเมืองน่านในอดีต แก้

พระราชอาณาเขตภายใต้การปกครอง ของพระนครเมืองน่าน ใน ร.ศ. 116 โดยมี พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน เป็นประมุขสูงสุด


    พระนครเมืองน่าน แบ่งพื้นที่ปกครองออกเป็น 8 แขวง ดังนี้

1. แขวงนครน่าน ประกอบด้วย เมืองน่าน , เมืองสา , เมืองพง , เมืองไชยภูมิ , เมืองบ่อว้า ให้มีที่ว่าการแขวง ตั้งที่เมืองนครน่าน

2. แขวงน้ำแหง ประกอบด้วย เมืองหิน , เมืองศรีสะเกษ , เมืองลี้ ให้มีที่ว่าการแขวง ตั้งที่เมืองศรีสะเกษ (อ.นาน้อย จ.น่าน)

3. เเขวงน่านใต้ ประกอบด้วย เมืองท่าแฝก , บ้านท่าปลา , บ้านผาเลือด , บ้านหาดล้า , เมืองจริม ให้มีที่ว่าการแขวง ตั้งที่บ้านท่าปลา (อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์)

4. แขวงน้ำปัว ประกอบด้วย เมืองปัว , เมืองริม , เมืองอวน , เมืองยม , เมืองย่าง , เมืองแงง , เมืองบ่อ ให้มีที่ว่าการแขวง ตั้งที่เมืองปัว (อ.ปัว จ.น่าน)

5. แขวงขุนน่าน ประกอบด้วย เมืองเชียงกลาง , เมืองและ , เมืองงอบ , เมืองปอน , เมืองเบือ , เมืองเชียงคาน , เมืองยอด , เมืองสะเกิน , เมืองยาว ให้มีที่ว่าการแขวงตั้งที่เมืองเชียงกลาง (อ.เชียงกลาง จ.น่าน)

6. แขวงน้ำของ ประกอบด้วย เมืองงอบ , เมืองเชียงลม , เมืองเชียงฮ่อน , เมืองเงิน ให้มีที่ว่าการแขวง ตั้งที่เมืองเชียงลม (ปัจจุบันคือ พื้นที่ทั้งหมดแขวงไชยบุรี ป. ลาว)

7. แขวงน้ำอิง ประกอบด้วย เมืองเชียงคำ (จ.พะเยา) , เมืองเชียงแลง , เมืองเทิง (จ.เชียงราย) , เมืองงาว (จ.ลำปาง) , เมืองเชียงของ (จ.เชียงราย , เมืองเชียงเคี่ยน , เมืองลอ , เมืองมิน ให้มีที่ว่าการแขวง ตั้งที่เมืองเทิง

8. แขวงขุนยม ประกอบด้วย เมืองเชียงม่วน (จ.พะเยา), เมืองสะเอียบ , เมืองสระ , เมืองสวด , เมืองปง (จ.พะเยา , เมืองงิม , เมืองออย , เมืองควน ให้มีที่ว่าการแขวง ตั้งที่เมืองปง

แขวงหนึ่งแบ่งออกเป็น “ พ่ง” มีประมาณ 10 พ่งๆ หนึ่งแบ่งออกเป็นหมู่บ้านมีประมาณ 10 หมู่บ้าน ๆ หนึ่งมีลูกบ้านประมาณ 20 คน แขวงหนึ่งให้มี “ นายแขวง” 1 คน “ รองแขวง” 2 คน หรือหลายคนตามการมากและน้อยและมี “ สมุห์บัญชี” 1 คน เสมียนใช้ตามสมควร พ่งหนึ่งให้มี “ เจ้าพ่ง” 1 คน มีศักดิ์เป็นพญามี “ รองเจ้าพ่ง” อีก 1 หรือ 2 คน ตามพ่งน้อยและใหญ่กับมีล่ามอีก 2ค คน ( ต่อมาได้เปลี่ยนพ่งเป็นแคว้น ) หมู่บ้านหนึ่งให้มี “ แก่บ้าน” คนหนึ่ง

    ในอดีตพระนครเมืองน่าน มีพระราชอาณาเขตปกครองกว้างขวางเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่พื้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงตั้งแต่ เมืองเชียงของ ลงมาจรด อ.ด่านซ้าย จ.เลย ในปัจจุบัน คือ แขวงไซยะบุรีทั้งหมด ต่อมาในปี พ.ศ. 2446 ตรงกับสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครเมืองน่าน สยามต้องยอมยกพื้นที่ ฝั่งขวาแม่น้ำโขง คือ อาณาเขตนครเมืองน่านตะวันออกให้กับฝรั่งเศส

เมืองน่านตะวันออก คือ แขวงไซยะบุรีในปัจจุบันทั้งหมด ประกอบไปด้วย เมืองไชยบุรี เมืองคอบ เมืองหงสา เมืองเงิน เมืองเชียงฮ่อน เมืองเพียง เมืองปากลาย เมืองแก่นท้าว เมืองบ่อแตน เมืองทุ่งมีไชย เมืองไชยสถาน พื้นที่ที่เสียไปในครั้งนั้นกินพื้นที่ของพระราชอาณาเขตนครเมืองน่าน 25,500 ตร.กม. นับตั้งแต่แก่งผาได เมืองเชียงของ กินพื้นที่ฝั่งตะวันออกเข้ามาครึ่งหนึ่งของเขตเมืองน่านถึงฝั่งแม่น้ำโขง ตรงข้ามเมืองหลวงพระบาง ยกให้ฝรั่งเศส และกลายเป็นแขวงไซยะบุรี ในปัจจุบัน

      ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี พุทธศักราช 2484 ประเทศไทยได้พื้นที่ บางส่วนกลับมาเป็นของไทยอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง พื้นที่น่านเดิมที่ถูกแบ่งเขตไปได้กลับมาอยู่ใต้การปกครองอีกครั้ง รัฐบาลไทยในสมัยนั้นตั้งเป็นเขตจังหวัดลานช้าง แบ่งการปกครองเป็น 6 อำเภอ คือ อำเภอสมาบุรี อำเภออดุลเดชจรัส (ปากลาย) อำเภอแก่นท้าว อำเภอเชียงแมน อำเภอหาญสงคราม (หงสา) และ อำเภอเชียงฮ่อน 
      และในนวันที่ 6 มกราคม ปีพุทธศักราช 2489 มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดลานช้าง คือ นายสังคม ริมทอง แต่ในที่สุดหลังการเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยจำต้องคืนพื้นที่นี้กลับคืนสู่ฝรั่งเศสในช่วงปีเดียวกัน

จากนั้นมาเมืองต่างๆเหล่าก็อยู่ภายใต้การปกครองของประเทศลาวจวบจนกระทั้งปัจจุบัน

ข้อมูลอ้างอิง : อพท.สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน และ แขวงไชยบุรี (ลาว: ໄຊຍະບູລີ, ไซยะบูลี)

สิ้นสุดระบบ “เจ้าผู้ครองนครน่าน" แก้

จุดสิ้นสุดระบบ “เจ้าผู้ครองนครเมืองน่าน" ไม่มีการแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครมาตั้งแต่ เจ้ามหาพรหมสุรธาดา ถึงแก่พิราลัยเมื่อ พ.ศ. 2474

     ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รัฐบาลสยามยังคงยึดแนวพระราโชบายของรัชกาลที่ 7 ที่จะไม่แต่งตั้งเจ้านายฝ่ายเหนือขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครอีก 
     สิ่งที่น่าสนใจคือ กรณีเมืองน่านนั้นแตกต่างออกไป เพราะมีความเสี่ยงในการถูกคุกคามจากฝรั่งเศส และเมื่อ พ.ศ. 2476 

มีจดหมายจากเจ้านายและราษฎรเมืองน่านร้องขอให้แต่งตั้งเจ้าราชวงศ์สุทธิสาร ณ น่าน อายุ 70 ปี เป็นเจ้าผู้ครองนครน่านสืบต่อ(เจ้าอุปราชสุทธิสาร ณ น่าน หรือ "เจ้าสุทธิสาร ณ น่าน" เป็นราชโอรสองค์ที่ 2 ในเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้านครน่าน กับแม่เจ้าจันทา ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2378 เป็นพระอนุชาร่วมเจ้ามารดาของเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้านครน่านองค์ที่ 63 )

      คณะราษฎรส่งพระยาจ่าแสนยบดีไปสืบข่าวที่เมืองน่าน จนได้ความเห็นว่าควรจะแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครน่าน แต่ขณะที่กลับกรุงเทพฯ เกิดรัฐประหาร...จนทำให้พระยาจ่าแสนยบดีเสียชีวิตโดยไม่ได้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุม ท้ายสุดรัฐบาลเห็นว่าไม่ควรแต่งตั้งตำแหน่งดังกล่าวอีกต่อไป เรื่องนี้จึงเป็นอันยุติ
    ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2476 ได้ผ่านพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2476 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ส่งผลให้ยกเลิกมณฑลพายัพ และเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นจังหวัดแทน

อ้างอิงพงศาวลีของเจ้าอุปราช (สิทธิสาร ณ น่าน) (2378)สรัสวดี อ๋องสกุล. (2557). ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 10 กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.พงศาวดารเมืองน่าน 2543

  1. "ทำไม "รูปีอินเดีย" จึงนิยมใช้ในล้านนา และเป็นเงินสกุลสำคัญของเศรษฐกิจ". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 16 September 2020.