เปรื่อง ชื่นประโยชน์

(เปลี่ยนทางจาก ป. ชื่นประโยชน์)

เปรื่อง ชื่นประโยชน์ หรือชื่อในวงการนักแต่งเพลง ป. ชื่นประโยชน์ (31 พฤษภาคม พ.ศ. 2465 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2544) เป็นนักดนตรี และนักแต่งเพลง ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ประพันธ์เพลง) ประจำปี พ.ศ. 2538

เปรื่อง ชื่นประโยชน์
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด31 พฤษภาคม พ.ศ. 2465
เปรื่อง ชื่นประโยชน์
เสียชีวิต6 สิงหาคม พ.ศ. 2544 (79 ปี)
อาชีพนักดนตรี นักแต่งเพลง
ปีที่แสดงพ.ศ. 2483 - 2544 (61 ปี)
ศิลปินแห่งชาติพ.ศ. 2538 - สาขาศิลปะการแสดง (ประพันธ์เพลง)

ประวัติ

แก้

เปรื่อง ชื่นประโยชน์ เกิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2465 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของนายแปลก และนางพิณ ชื่นประโยชน์[1] ศึกษาที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย แต่ไม่ชอบ จึงลาออกมาเป็นนักเรียนดุริยางค์ที่กองดุริยางค์ทหารบก มีผลงานแต่งเพลง เพลงแรกตั้งแต่อายุเพียง 18 ปี ชื่อเพลง "เพื่อนรักเก่า" ขับร้องโดย เฉลา ประสบศาสตร์ เรียบเรียงเสียงประสานโดย ครูนารถ ถาวรบุตร

ครูเปรื่องเป็นเพื่อนสนิทในกลุ่มเดียวกับมงคล อมาตยกุล และเชาว์ แคล่วคล่อง เป็นนักดนตรีบรรเลงตามโรงละคร และโรงภาพยนตร์ และตระเวนออกแสดงไปกับคณะจันทโรภาส ของพรานบูรพ์ และย้ายมาเป็นนักแต่งเพลงประจำวงดนตรีดุริยะโยธิน ในปี พ.ศ. 2494

ผลงานแต่งเพลงของครูเปรื่องเริ่มเป็นที่ยอมรับ โดยมีผลงานแต่งเพลงละครร่วมกับครูเพลงท่านอื่น เช่น มงคล อมาตยกุล, ชาลี อินทรวิจิตร, ส. อาสนจินดา, เสน่ห์ โกมารชุน, สุวัฒน์ วรดิลก เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2501 ครูเปรื่องก่อตั้งวงดนตรี "ป. ชื่นประโยชน์" ขึ้นรับงานทั่วไป เปิดโรงเรียนสอนดนตรีที่สี่แยกบางขุนพรหม และแต่งตำราวิชาดนตรีออกเผยแพร่ และยังได้เป็นหัวหน้าวงดนตรีพินทุสร ของ องค์การ ร.ส.พ.

เพลงที่มีชื่อเสียงของครูเปรื่อง ได้แก่เพลง "มารหัวใจ" ขับร้องโดย วริษา เศวตรักษ์ "พ่อพระในดวงใจ" ขับร้องโดย เพ็ญศรี พุ่มชูศรี "มนต์รักเรียกหา" ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง "คอย" และ "สักวันหนึ่ง" ขับร้องโดย นริศ อารีย์ "จ้าวหัวใจ" ขับร้องโดย นิรมล อิศรางกูร ณ อยุธยา

ครูเปรื่องได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2507 จากเพลง "มารหัวใจ" และ พ.ศ. 2509 จากเพลง "ไม่มีวัน" ทั้งสองเพลงขับร้องโดยสวลี ผกาพันธุ์ โดยเฉพาะเพลงไม่มีวัน ได้รับรางวัลทั้งในสาขาทำนอง คำร้อง และเรียบเรียงเสียงประสานยอดเยี่ยม

ด้านชีวิตส่วนตัว ครูเปรื่อง สมรสกับนางสนอง ชื่นประโยชน์ มีบุตร 3 คน เป็นชาย 2 คน เป็นหญิง 1 คน

ครูเปรื่องได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2538 ก่อนจะเสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2544 สิริอายุ 79 ปี

อ้างอิง

แก้
  1. "คอนเสิร์ตเชิดชูครูเพลงครั้งที่ 4 ป. ชื่นประโยชน์ (เปรื่อง ชื่นประโยชน์)". www.kunmaebook.com.
  • ไพบูลย์ สำราญภูติ. เพลงลูกกรุง, TK Park Music Library ชุดดนตรีไทย. กรุงเทพ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, พ.ศ. 2550. 168 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 978-974-8218-82-3