ปูโตบุมโบง (ตากาล็อก: puto bumbong) หรือ ปูโตโบมโบง (ตากาล็อก: puto bombong) เป็นขนมฟิลิปปินส์ประเภทปูโตชนิดหนึ่ง ปูโตบุมโบงมีสีม่วง ทำจากข้าวเหนียวนึ่งในกระบอกไม้ไผ่ นิยมวางจำหน่ายในช่วงเทศกาลคริสต์มาสในประเทศฟิลิปปินส์

ปูโตบุมโบง
ชื่ออื่นปูโตโบมโบง
มื้อของหวาน
แหล่งกำเนิด ฟิลิปปินส์
อุณหภูมิเสิร์ฟอุณหภูมิห้องหรือร้อน
ส่วนผสมหลักข้าวเหนียวดำพันธุ์ปีรูรูโตง ข้าวเหนียวขาว น้ำตาลมัสโควาโด มะพร้าวขูด เนยหรือเนยเทียม และเมล็ดงา
รูปแบบอื่นปูโต
จานอื่นที่คล้ายกันปูโตงซูโลต กูเวอปูตู ปูตูบัมบู และปุฏฏุ

ที่มาของชื่อ

แก้

ชื่อ "ปูโตบุมโบง" หรือ "ปูโตโบมโบง" มาจากคำในภาษาตากาล็อกสองคำได้แก่ ปูโต ซึ่งหมายถึงขนมแป้งข้าวนึ่ง และ บุมโบง หรือ โบมโบง ซึ่งหมายถึงกระบอกไม้ไผ่ ชื่อขนมนี้บางครั้งมักสะกดผิดเป็น "ปูโตบุงโบง" หรือ "ปูโตโบงโบง"[1]

วิธีการทำ

แก้
 
ปูโตบุมโบง

ปูโตบุมโบงทำจากข้าวเหนียวพันธุ์เฉพาะที่เรียกว่า ปีรูรูโตง (pirurutong) ในภาษาตากาล็อกหรือ tapol ในภาษากลุ่มวิซายัน ซึ่งมีสีม่วงเข้มจัดจนเกือบดำ[2] ข้าวปีรูรูโตงจะนำไปผสมกับข้าวเหนียวขาวโดยใช้ข้าวปีรูรูโตงปริมาณน้อยกว่าข้าวเหนียวขาวมาก[3] บางครั้งอาจใช้ข้าวเจ้าขาวแทนข้าวเหนียวขาวได้ถ้าต้องการให้เนื้อเหนียวน้อยลง[4]

เมล็ดข้าวที่นำมาใช้จะนำไปแช่น้ำ (หรือตามธรรมเนียมดั้งเดิมจะใช้น้ำเกลือ) ข้ามคืนเพื่อให้มีรสชาติออกเปรี้ยวเล็กน้อย เมล็ดข้าวที่แช่น้ำเรียบร้อยแล้วจะถูกอัดลงไปในกระบอกไม้ไผ่เพื่อนำไปนึ่ง ภายในกระบอกไม้ไผ่จะเคลือบด้วยน้ำมันมะพร้าวตามธรรมเนียมดั้งเดิม หรืออาจใช้เนยหรือเนยเทียมแทนได้ บางครั้งผู้ปรุงจะบดเมล็ดข้าวก่อนอัดลงไปในกระบอก แต่บางครั้งก็จะบรรจุลงไปโดยไม่บด[4][5][6][7]

ปูโตบุมโบงที่นึ่งเสร็จแล้วจะมีรูปร่างเป็นทรงกระบอกตามกระบอกไม้ไผ่ที่ใช้ ซึ่งจะเสิร์ฟบนใบตอง เคลือบเนยหรือเนยเทียมเพิ่ม และโรยหน้าด้วยน้ำตาลมัสโควาโด (หรืออาจใช้น้ำตาลทรายแดงหรือน้ำตาลทรายขาวได้) เมล็ดงาซึ่งจะใส่หรือไม่ก็ได้ และมะพร้าวขูด บางคนนิยมเพิ่มเครื่องอย่างอื่นลงไปด้วยเช่นใช้นมข้นแทนน้ำตาลหรือเพิ่มเนยแข็งขูดเป็นต้น[3][8]

อาหารคริสต์มาส

แก้
 
ปูโตบุมโบง (ล่าง) และบีบีงคา (บน) ซึ่งเป็นอาหารสองชนิดที่นิยมรับประทานในช่วงเทศกาลคริสต์มาสในประเทศฟิลิปปินส์
 
ผู้ค้าปูโตบุมโบงกำลังบรรจุข้าวลงในกระบอกไม้ไผ่เพื่อนึ่ง

ในประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ชาวฟิลิปปินส์จะรับประทานปูโตบุมโบงเป็นของว่างหรืออาหารเช้าในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปูโตบุมโบงมักจะเชื่อมโยงกับพิธีซิมบังกาบีซึ่งดำเนินเป็นระยะเวลาเก้าวัน โดยผู้ค้าจะตั้งแผงจำหน่ายปูโตบุมโบงด้านนอกโบสถ์[5][9]

การดัดแปลง

แก้

ปูโตบุมโบงในปัจจุบันอาจจะนึ่งในกระบอกโลหะหรืออาจจะปั้นเป็นก้อนกลมหรือก้อนยาวแล้วนึ่งในลังถึง[9] บางครั้งเนื่องจากข้าวปีรูรูโตงนั้นหาได้ยาก ทำให้บางคนเปลี่ยนไปใช้ข้าวขาวอย่างเดียวผสมกับสีผสมอาหารสีม่วงหรือแป้งมันเสาซึ่งมีสีม่วงแทน อย่างไรก็ตาม ปูโตบุมโบงที่ใช้อย่างอื่นแทนข้าวปีรูรูโตงมักจะถูกมองว่าไม่ใช่ของแท้[4][5][6][10]

ร้านอาหารบางแห่งดัดแปลงปูโตบุมโบงไปเป็นเมนูต่าง ๆ เช่นไอศกรีม แพนเค้ก เค้ก และเอมปานาดา เป็นต้น[11]

อาหารอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน

แก้

ในจังหวัดบาตังกัสและจังหวัดปัมปังกาจะมีขนมอีกชนิดหนึ่งที่คล้ายกันชื่อว่า ปูโตงซูโลต (ตากาล็อก: putong sulot) ซึ่งใช้ข้าวเหนียวขาวและสามารถหารับประทานได้ตลอดปีไม่เฉพาะแค่เทศกาลคริสต์มาส[12] ส่วนในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทรจะมีขนมที่เรียกว่า "กูเวอปูตู" (อินโดนีเซีย: kue putu) หรือ "ปูตูบัมบู" (มลายู: putu bambu) แต่ขนมดังกล่าวจะมีสีเขียวจากใบเตยที่ใช้ย้อมสี[13] ขณะที่ในรัฐเกรละ รัฐทมิฬนาฑู และรัฐกรนาฏกะของอินเดียและในศรีลังกาจะมีขนมอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "ปุฏฏุ" (มลยาฬัม: പുട്ട്; ทมิฬ: புட்டு; สิงหล: පිට්ටු) หรือ "ปิฏฏุ" (ทมิฬ: பிட்டு) แต่มักจะเสิร์ฟเป็นของคาวมากกว่าของหวาน[14] ทั้งกูเวอปูตูและปุฏฏุจะใช้ข้าวเจ้าแทนข้าวเหนียว แต่ก็จะนึ่งในกระบอกไม้ไผ่เช่นเดียวกับปูโตบุมโบง[13][14]

อ้างอิง

แก้
  1. "Bumbong". Tagalog Lang. สืบค้นเมื่อ 5 ธันวาคม 2018.
  2. "Puto Bumbong". The Freeman. 53 (152): 18. 16 ธันวาคม 2017.
  3. 3.0 3.1 Angelita M. del Mundo (1995). "Emerging Versions of Some Traditional Philippine Rice Food Products". ใน Harlan Walker (บ.ก.). Disappearing Foods: Studies in Food and Dishes at Risk. Proceedings of the Oxford Symposium on Food and Cookery 1994. Prospect Books. p. 64. ISBN 978-0-907325-62-8.
  4. 4.0 4.1 4.2 "Puto Bumbong a la Marketman". Market Manila. 16 ธันวาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 5 ธันวาคม 2018.
  5. 5.0 5.1 5.2 "Puto Bumbong". Gastro Obscura. Atlas Obscura. สืบค้นเมื่อ 5 ธันวาคม 2018.
  6. 6.0 6.1 Amy Besa; Romy Dorotan (2014). Memories of Philippine Kitchens. Abrams. ISBN 978-1-61312-808-4.
  7. "How to Make Puto Bumbong (steamed glutinous rice)". Business Diary Philippines. 11 สิงหาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 5 ธันวาคม 2018.
  8. "Puto Bumbong". Filipino Chow. 23 ธันวาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 5 ธันวาคม 2018.
  9. 9.0 9.1 Sastrillo, Berna (29 พฤศจิกายน 2017). "The Search for the Best Puto Bumbong in Manila". ModernFilipina. สืบค้นเมื่อ 5 ธันวาคม 2018.
  10. Paguio, Renz Lyndon (2 ธันวาคม 2014). "Home-based business idea: How to make puto-bumbong". Entrepreneur Philippines. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 มีนาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 5 ธันวาคม 2018.
  11. Comsti, Angelo (2 ธันวาคม 2014). "3 new delicious ways to enjoy Puto Bumbong". Coconuts Manila. สืบค้นเมื่อ 5 ธันวาคม 2018.
  12. Edgie Polistico (15 พฤศจิกายน 2017). Philippine Food, Cooking, & Dining Dictionary. Anvil Publishing, Incorporated. ISBN 978-621-420-087-0.
  13. 13.0 13.1 Anggara Mahendra (13 มิถุนายน 2013). "'Kue Putu' Steamed Green Cake". Baily Daily. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 มิถุนายน 2015. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2015.
  14. 14.0 14.1 "BBC Indian Food Made Easy: Recipe for puttu", BBC, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 ธันวาคม 2008, สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2010