ปั้นชา
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
บทความนี้ต้องการการจัดหน้า จัดหมวดหมู่ ใส่ลิงก์ภายใน หรือเก็บกวาดเนื้อหา ให้มีคุณภาพดีขึ้น คุณสามารถปรับปรุงแก้ไขบทความนี้ได้ และนำป้ายออก พิจารณาใช้ป้ายข้อความอื่นเพื่อชี้ชัดข้อบกพร่อง |
ปั้นชา หรือ ป้านชา คือ การเล่นเครื่องน้ำชาอย่างไทย ที่ใช้ปั้นชาดินเผาแบบจีน โดยกำหนดวิธีการเล่นแบบไทย
ประวัติ
แก้ปั้นชาที่ใช้เล่นกันในไทย ส่วนมากผลิตจากเมืองงี่เฮ็ง (เมืองอี๋ซิง 宜興市) มณฑลเกียงซู (มณฑลเจียงซู 江蘇省) ซึ่งมีดินที่ละเอียด เนื้อแข็งดีกว่าที่อื่น ส่วนใหญ่ผลิตปั้นชาเป็น 3 สี คือ
- สีตับหมู (กัวเซ็ก 肝色)
- สีส้มสุก (กาเซ็ก 橙色)
- สีแดงเข้ม (จูซาอั๋ง 硃砂紅)
ส่วนสีขาวกับสีสวาดเป็นของที่ไทยสั่งให้ทำ ส่วนใหญ่ผลิตขายให้แต้จิ๋วและฮกเกี้ยน เพราะเมืองอื่นไม่ใช้ปั้นในการชงชา แต่แต้จิ๋วและฮกเกี้ยนใช้ปั้นชาในการชิมรสน้ำชา ไทยจึงได้รับคติการใช้ปั้นชามาจากแต้จิ๋วและฮกเกี้ยน
ปั้นชาที่ไทยเล่นนั้น มี 2 ประเภท คือ ปั้นหู และ ปั้นสาย ที่ต่างกับจีนคือ จีนนิยมเล่นปั้นผิวด้าน และไม่เลี่ยมปั้น แต่ไทยนิยมขัดชักเงา (เฉพาะปั้นสีดำและสีขาว) และเลี่ยมปั้นด้วยทองบ้าง เงินบ้าง ทองเหลืองบ้าง
ปั้นในไทยที่เล่นกำหนดไว้ 3 ประเภทคือ
- ปั้นจีน คือปั้นที่จีนคิดสร้างรูปทรง
- ปั้นไทย หรือ ปั้นอย่าง คือปั้นที่ไทยคิดรูปทรงและสั่งออกไปทำที่เมืองจีน
- ปั้นตลก คือปั้นที่ทำไม่มีรูปทรงตายตัว ผิดรูปจากปั้นอื่น[1]
ปั้นอย่าง
แก้ปั้นไทยหรือปั้นอย่างในสมัยกรุงศรีอยุธยา มี 1 อย่าง เป็นปั้นหูเท้าปุ่มสีดำ มีตรายี่ห้อ เตียวอ๋อง
ปั้นไทยหรือปั้นอย่างในสมัยกรุงธนบุรี มี 1 อย่าง เป็นปั้นหู เรียกว่า ปั้นปุ่มรวมคอหม้อ คือ ตรงคอริมปากปั้นทรงคล้ายหม้อข้าว ข้างก้นปั้นทำปุ่มไว้ 3 ปุ่ม มีทั้งสีดำและสีแดง
ปั้นไทยหรือปั้นอย่างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มี 2 อย่าง คือ
- เป็นปั้นหูเรียกว่า ปั้นลูกแก้ว คือ ทั้งที่ปากและข้างก้นปั้นเป็นลวด ไม่ทำปุ่มข้างก้น มีทั้งสีดำและสีแดง
- เรียกว่า ปั้นเท้าปุ่มคอหม้อ มีทั้งสีดำและสีแดงเหมือนกัน
สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงคิดหุ่นปั้นสั่งไปทำ 3 รูป คือ
- ปั้นลูกแก้ว
- ปั้นคอหม้อเท้าปุ่ม
- ปั้นก้นช้อยคอช้อย
ทรงแก้ไขรูปทรงให้งดงาม มีทั้งสีขาว สีแดง สีดำ สีหนึ่งทำเป็น 3 ขนาด และยังทำปั้นสายด้วยทั้ง 3 สี เข้าใจว่าปั้นสมัย ร.2 ได้สั่งไปหลายรอบ เพราะตำแหน่งยี่ห้อกงเก็ก (貢局) อยู่คนละตำแหน่งกัน นับถือว่าปั้นอย่างสมัย ร.2 เป็นปั้นที่รูปทรงสวยงามที่สุด
สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพและสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) เมื่อยังเป็นพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา ได้นำแบบปั้นหลวงสมัย ร.2 สั่งออกไปทำอีก ของวังหน้าใช้ยี่ห้อกงเก็ก (貢局) ที่ตัวปั้น ของพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาใช้ยี่ห้อกงเก็ก(貢局)ที่ลิ้นปั้น
สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านผู้หญิงพัน ภรรยาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก) สั่งปั้นเท้าปุ่มคอหม้อ 3 ใบเถา ปั้นลูกแก้วรูปร่างแบน ๆ เรียก "ลูกจัน" ปั้นเท้าปุ่มคอหม้ออีกรูป เรียกว่า"กระโล่" และปั้นก้นช้อย มีทั้งปั้นขาว ปั้นแดง ปั้นดำ มียี่ห้อกงเก็ก (貢局)มที่ลิ้นปั้น พวยและหูเล็ก ตัวปั้นหนา
สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้อวดปั้นชาประกวดกันที่มิวเซียม (คือ หอคองคอเดีย Concordia Hall ปัจจุบัน คือ ศาลาสหทัยสมาคม) เมื่อ พ.ศ. 2417 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ทำหุ่นถ่ายปั้นอย่างครั้ง ร.2 ให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ฮวด) สั่งออกไปทำปั้นหู ทั้งปั้นเท้าปุ่มคอหม้อ ปั้นลูกแก้ว ปั้นก้นช้อยคอช้อย มีทั้งสีขาว สีแดง สีดำ ยี่ห้ออักษรพระนาม จ.ป.ร. แล้วโปรดให้สั่งปั้นสายทรงกระบอก จุกทำเป็นรูปเงินบาท มียี่ห้ออักษรพระนาม จ.ป.ร. มีทั้งสีขาว สีแดง สีดำ นอกจากของหลวงยังมีผู้อื่นสั่งปั้นอย่าง ร.2 อีกหลายท่าน เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปรีดา และพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ฮวด) สั่งหลายคราว แต่ทำสู้ปั้นหลวงไม่ได้[2]
การเล่นปั้น
แก้การเล่นปั้นตามตำหรับเก่า ต้องรวมปั้นอย่างให้มีครบชุด 3 สี และให้ได้ยี่ห้อเดียวกันด้วย กำหนดชุดปั้นเป็น 3 อย่าง คือ
- ชุดนพตรี ประกอบด้วย ปั้นขาวปุ่ม 3 ปั้นขาวคอช้อย 3 ปั้นขาวลูกแก้ว 3 ปั้นแดงปุ่ม 3 ปั้นแดงคอช้อย 3 ปั้นแดงลูกแก้ว 3 ปั้นดำปุ่ม 3 ปั้นดำคอช้อย 3 ปั้นดำลูกแก้ว 3 ปั้นตลกรูปต่างกัน 9 ปั้น รวมทั้งสิ้น 36 ปั้น
- ชุดนพโท ประกอบด้วย ปั้นขาวปุ่ม 2 ปั้นขาวคอช้อย 2 ปั้นขาวลูกแก้ว 2 ปั้นแดงปุ่ม 2 ปั้นแดงคอช้อย 2 ปั้นแดงลูกแก้ว 2 ปั้นดำปุ่ม 2 ปั้นดำคอช้อย 2 ปั้นดำลูกแก้ว 2 ปั้นตลกรูปต่างกัน 6 ปั้น รวมทั้งสิ้น 24 ปั้น
- ชุดนพเก้า ประกอบด้วย ปั้นขาวปุ่ม 1 ปั้นขาวคอช้อย 1 ปั้นขาวลูกแก้ว 1 ปั้นแดงปุ่ม 1 ปั้นแดงคอช้อย 1 ปั้นแดงลูกแก้ว 1 ปั้นดำปุ่ม 1 ปั้นดำคอช้อย 1 ปั้นดำลูกแก้ว 1 ปั้นตลกรูปต่างกัน 3 ปั้น รวมทั้งสิ้น 12 ปั้น
นับถือว่าชุดนพตรีเป็นชุดปั้นชาที่วิเศษสุด บางทีก็เล่นผสมกับที่ชา ปั้นชาที่ดีมักทำตู้ไว้ตั้งดูต่างหาก ตู้ปั้นที่วิเศษที่สุด เรียกกันว่า "ตู้ปั้นช้างเผือก" พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชิดเชื้อพงศ์ ทำตู้ด้วยไม้ลายประดับงา วางปั้นอย่างสีขาวครั้งรัชกาลที่ 2 คัดแต่ปั้นที่ดีที่สุด รวมในตู้ 20 ปั้น[3]
ยี่ห้อปั้นชา
แก้ปั้นชาจีนในไทยนั้น นับถือกันว่าดีเยี่ยมมีอยู่5ยี่ห้อกัน ตามลำดับคือ
- ยี่ห้อหยงเจี่ย (雍正) นับถือว่าเป็นยี่ห้อที่ดีที่สุด
- ยี่ห้อกุนเต๊ก (君德)
- ยี่ห้อโซก๊วน (?)
- ยี่ห้อเม่งฉิน (孟臣)
- ยี่ห้อซัวคา (手拉) ไม่ค่อยนิยมใช้ เนื่องจากปั้นทำที่ตำบลปังเคย (เฟิ่งซี 楓溪) เมืองแต้จิ๋ว (เฉาโจว 潮州市) มณฑลกวางตุ้ง (廣東省) เนื้อดินอ่อน ผิวและสีไม่ค่อยงาม ทั้งไทยและจีนไม่ค่อยมีผู้นับถือ[4]
อ้างอิง
แก้- ↑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานเรื่องเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้น
- ↑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานเรื่องเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้น
- ↑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานเรื่องเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้น
- ↑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ตำนานเรื่องเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้น