ที่ชา คือการเล่นเครื่องน้ำชาอย่างไทย ที่ใช้ถ้วยชาและปั้นชาอย่างจีน โดยกำหนดวิธีการเล่นแบบไทยโดยเฉพาะ เหมือนกับการเล่นปั้นชา และ เครื่องโต๊ะ

ประวัติ แก้

ที่ชาและถ้วยชาที่นิยมเล่นในไทยนั้น สันนิฐานว่าเข้ามาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว ในสมัยรัตนโกสินทร์ ในระหว่าง รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนถึง รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้วยน้ำชาที่เข้ามานั้น ส่วนมากเป็นลายสีและลายน้ำทอง ถ้วยลายครามมีน้อยมาก ถ้วยชง(ถ้วยไก้หว่าน 蓋碗)มักเป็นทรงถ้วยน้ำพริก ถ้วยตวง(จอกชา 品茗杯)มักเป็นทรงบัว ส่วนถ้วยตวงที่มีฝาเป็นของที่ไทยสั่ง ถ้วยในยุคนี้ที่นับถือว่าวิเศษสุด คือ ถ้วยชุด4 เป็นของราชบรรณาการจากจักรพรดิจีนถวายมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นถ้วยชาอย่างที่เรียกว่า เครื่องเปลือกไข่ คือบางเกือบจะเท่าเปลือกไข่ ทรงโอพื้นขาว เขียนลายหนังสือเล็กเส้นหมึกขอบแดง ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเก็บรักษาไว้ตลอดรัชกาล แล้วตกไปเป็นของผู้อื่น แล้วนำมาทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้วยชาแตกไป1ใบ จึงเอาทองคำทำแทนเนื้อที่แตกแทน

ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้วยชาส่วนมากเป็นเครื่องลายคราม มีทั้งของจีนและของญวน เป็นของที่นำเข้ามาขายโดยพวกนายห้างเพื่อนำมาขายให้บรรดาขุนนาง คฤหบดีเศรษฐี และผู้มีกำลังทรัพย์ มีมากมายหลายยี่ห้อ เช่นยี่ห้อโปจูลี่กี่(寶珠利記) และกิมตึ๋งฮกกี่(金堂福記) ฯลฯ อีกมากมาย ซึ่งมีมาจนถึงสมัยรัชกาลที่5

ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงคิดอย่างถ้วยชาจักรี และทรงสั่งทำในยุโรปเมื่อ พ.ศ.2430 เป็นเครื่องพื้นสีเขียนลายสอดทองทั้งสิ้น ทำลายเดียวมี9สี คือ 1พื้นทองข้างในเคลือบทอง 2พื้นเงิน 3สีแดง 4สีขาว 5สีชมพู 6สีเขียว 7สีน้ำเงิน 8สีเหลือง 9สีดำ บนฝาเขียนรูปจักรี จึงเรียกถ้วยจักรี มีทั้งชุดไทย ชุดจีน ชุดจีโบ

และได้ทรงคิดอย่างถ้วยชาอักษรพระนาม และทรงสั่งทำในเมืองจีนเมื่อ พ.ศ.2431 อีกคราว เป็นเครื่องลายครามทั้งสิ้น ผูกอักษรพระนาม จปร เลียนแบบเป็น ลายจีนอย่างหนังสือใหญ่ ลายกระแปะ ลายกระแปะฮ่อ ลายฮ่อเครื่องมงคล ลายลูกไม้ค้างคาว ลายลูกไม้มีอักษรพระนาม มีทั้งชุดจีโบ ชุดไทย ชุดจีน ชุดญวน เป็นของหลวงสั่งเข้ามาใช้ราชการ และพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ ภายหลัง พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ฮวด) ได้ขอพระบรมราชานุญาตสั่งถ้วยชาชุดอักษรพระนามเข้ามาขายในยี่ห้อ กิมตึ๋งฮวดกี่ (錦堂發記)[1]

การเล่นที่ชา แก้

การเล่นที่ชาอย่างจีน นอกจากแต้จิ๋วฮกเกี้ยนแล้ว ที่อื่นใช้ถ้วยชง(ถ้วยไก้หว่าน 蓋碗)ชงน้ำชาทั้งสิ้น วิธีจัดชุดนั้นเอาถ้วยชงตั้งบนจุ๋น ถ้ามีถ้วยตวง(จอกชา 品茗杯)ก็ตั้งขนหลังฝาถ้วยชง ส่วนแต้จิ๋วฮกเกี้ยนนั้น มีปั้นชาและอ่างรองปั้น1ใบ จานรองถ้วยตวงทั้ง4อีก1ใบ กับชามแต้เซ้ยสำหรับเทกากชา1ใบ ส่วนวิธีจัดที่ชาแบบไทยนั้นต่างจากจีน มี8วิธีด้วยกันคือ

  1. ที่ชาชุดปั้นหน่วยถ้วยใบ เอาถ้วยชงมีฝา1ใบ กับปั้นชามีจานรอง1ใบ ตั้งในถาดรูปรี (ทำด้วยทองบ้าง เงินบ้าง ทองเหลืองบ้าง) ถ้วยและจานรองปั้นไม่จำเป็นต้องเป็นลายเดียวกัน
  2. ที่ชาชุดอานม้า ปรับปรุงมาจากที่ชาชุดปั้นหน่วยถ้วยใบ เอาถ้วยชงทรงถ้วยน้ำพริก1ใบ กับปั้นชามีอ่างทรงมะนาวตัดรองปั้น1ใบ ถ้วยกับอ่างใช้ลายเดียวกัน ใช้ถาดรองทำพะนังสูงขึ้น คล้ายกับอานม้าเครื่องแผง จึงเรียกที่ชาชุดอานม้า ถ้ามีถ้วยตวงลายเดียวกับถ้วยชงได้ ก็ตั้งถ้วยตวงบนหลังฝาถ้วยชงอีก1ใบ
  3. ที่ชาชุดถ้วยสี่ เอาถ้วยตวง4ใบ ลายเดียวกัน มีฝาก็ได้ไม่มีฝาก็ได้ กับปั้นชามีจานรอง1ใบ จานรองไม่จำเป็นต้องเป็นลายเดียวกับถ้วยตวง ตั้งในถาดรูปรี
  4. ที่ชาชุดจีน เกิดในราวสมัยรัชกาลที่3-รัชกาลที่4 เอาถ้วยชงมีฝา1ใบ ถ้วยตวงไม่มีฝาตั้งซ้อนกันเป็น2แถว รวม4ใบ กับปั้นชามีอ่างรองปั้น ทำเป็นลายชุดเดียวกัน ตั้งในถาดรูปรี (ถึงชื่อชุดจีนแต่เป็นชุดที่ไทยคิดเอง ไม่ได้เอามาจากจีน)
  5. ที่ชาชุดญวน เอาถ้วยไม่มีฝา4ใบ 1ใบโตกว่าใบที่เหลือ เรียกว่า ถ้วยข่ม สำหรับใส่น้ำเย็น กับปั้นตลกมีจานรอง1ใบ ตั้งในกี๋ไม้สลักหรือประดับมุกแทนถาด (เป็นวิธีคุมอย่างญวน)
  6. ที่ชาชุดถ้วยสี่ปั้นคู่ เกิดในราวสมัยรัชกาลที่5 เอาถ้วยตวงมีฝาขนาดเขื่อง4ใบ กับปั้นคู่มีจานรอง1คู่ ตั้งในถาดกลม
  7. ที่ชาชุดโถคู่ เกิดในราวสมัยรัชกาลที่5 เอาถ้วยชงมีฝา1คู่ ถ้วยตวง4ใบ กับปั้นคู่มีจานรอง1คู่ ตั้งในถาดกลม ถ้วยชงทำเป็นรูปโถโสมบ้าง ทรงจีโบบ้าง ถ้วยตวงเป็นรูปทรงโอบ้าง มีหลายรูปทรง
  8. ที่ชาชุดดาวล้อมเดือน เกิดในราวสมัยรัชกาลที่5 เอาปั้นสายมีจานรองไว้กลาง ตั้งถ้วยตวงมีฝา8ใบล้อมรอบปั้นสาย ตั้งในถาดกลม[2]

ยี่ห้อถ้วยชา แก้

ถ้วยชาจีนในไทยนั้น นับถือกันว่าดีเยี่ยมมีอยู่4ยี่ห้อคือ

  1. ยี่ห้อเยียกชิมเตียนฉัง (若深珍藏) แปลว่า ของวิเศษควรเอาไว้ในที่เก็บ เป็นยี่ห้อของจีน มีความบางและเนื้อดี ใช้นานๆไปผิวรานเหมือนสังคโลก เก่ากว่ายี่ห้แทั้งหลาย
  2. ยี่ห้อโปจูลี่กี่ (寶珠利記) แปลว่า เครื่องหมายราวกับแก้วอันวิเศษ เป็นยี่ห้อของห้างพระยาพิศาลผลพานิช (ชื่น) ภายหลังพระยาพิศาลผลพาณิช (สือ)ผู้บุตรได้ทำต่อในสมัยรัชกาลที่5 ใช้ยี่ห้อเดิม
  3. ยี่ห้อกิมตึ๋งฮกกี่ (金堂福記) แปลว่า เครื่องหมายของอันวิเศษอย่างเต็มที่ เป็นยี่ห้อของห้างพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก) ภายหลัง พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ฮวด)ผู้บุตรได้ทำต่อในสมัยรัชกาลที่5 เปลี่ยนยี่ห้อเป็น กิมตึ๋งฮวดกี่ (錦堂發記) แปลว่า เครื่องหมายว่าเป็นของวิจิตร เครื่องถ้วยที่ผู้ดีเล่น ห้างกิมตึ๋งสั่งมามากกว่าห้างอื่นๆ
  4. ยี่ห้อจีนสุ่น ให้เขียนยี่ห้อเยียกชิม (若深) อ่างเขียนยี่ห้อกิมตึ๋งฮกกี่ (金堂福記) ถ้วยชงเขียนยี่ห้ออุนฉังมุ่ยกี่ (藴藏美記) ถ้วยตวงเขียนยี่ห้อเยียกชิม (若深) และยังมียี่ห้อสุ่งหลีคุงกี่ (順利坤記) อีกหนึ่งยี่ห้อ(จีนสุ่น เดิมเป็นลูกน้องของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก) ภายหลังเกิดความขัดแย้งจึงแยกมาตั้งห้างใหม่)

ถ้วยชาญวนที่นับถือกันนั้น มี2ยี่ห้อคือ

  1. ยี่ห้อเตียวเง็ก (?)
  2. ยี่ห้อหงวนเง็ก (元玉)[3]

บุคคลผู้มีชื่อเสียง แก้

ในสมัยรัชกาลที่4 มีบุคคลที่มีชื่อเสียงในการเล่นที่ชา จนถึงกับมีการตั้งฉายาเรียกว่า

"นายจุ้ยเครื่องขัน เจ้าบันต้วนยี่ เจ๊สัวพุกแผนที่ โตผักชี อาญาคดีรถหัก"

  1. นายจุ้ย ไม่เล่นตามแบบแผน ชอบหาแต่ของขันๆ (ทำนองจะเป็นของที่หยาบ
  2. เจ้าบัน มีชื่อเสียงในการเล่นถ้วยชาลายต้วนยี่ (ลายอักษรจีน 篆字) เจ้าบันอยู่มาจนถึงสมัยรัชกาลที่5 เมื่อชราได้นำถ้วยลายต้วนยี่ทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้วยชาชิ้นนั้นภายหลังได้รางวัลชิ้นไหมทองใหญ่
  3. เจ๊สัวพุก คือพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (พุก) ชอบเล่นเครื่องชาลายแผนที่ ได้คุมที่ชาชุดญวนลายแผนที่ชุดหนึ่ง ขาดถ้วยไป1ใบ ให้คนไปหาถึงเมืองจีนก็ไม่ได้ ภายหลังได้ถ้วยมาจากเมืองญวน(เวียดนาม) จึงครบชุด
  4. โตผักชี คือพระยาโยธาเขื่อนขันธ์ (โต) เป็นข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นคนโปรดของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ชอบเล่นเครื่องชาลายผักชี คนทั้งหลายจึงเรียก "โตผักชี" ได้เคยแต่งเพลงยาวเรื่อง เพลงยาวเครื่องโต๊ะ พรรณาถึงเครื่องโต๊ะทั้ง80โต๊ะ ที่ตั้งบูชาในงานพระเมรุพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านภาจรจำรัสศรี ภัทรวดีราชธิดา
  5. อาญาคดีรถหัก คือขุนอาญาคดี (ไม่ทราบนาม) ท่านนั้น ได้คุมที่ชาชุดญวนลายภาพชักรถ ขาดถ้วยไป1ใบ ถ้วยใบนั้นไปตกอยู่ในมือผู้หนึ่งซึ่งอยากจะแกล้งขุนอาญาคดี จะขอซื้อ แลกเปลี่ยนอย่างไรก็ไม่ยอมให้ คนทั้งหลายจึงเรียก "อาญาคดีรถหัก" จนถึงสมัยรัชกาลที่5 ทั้งสองฝ่ายได้นำถ้วยชุดนั้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รถจึงหายหักเมื่อตกเป็นของหลวง[4]

อ้างอิง แก้

  1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ , ตำนานเรื่องเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้น
  2. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ , ตำนานเรื่องเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้น
  3. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ , ตำนานเรื่องเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้น
  4. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ , ตำนานเรื่องเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้น