ปะลีน (พม่า: ပလ္လင်, "บัลลังก์") ตามที่วงการปราชญ์พม่าแต่โบราณรับรู้กันมีอยู่หกประเภท ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของสถาบันกษัตริย์พม่า ปรากฏเด่นชัดในสถาปัตยกรรมพม่าและในการเขียนรูปลักษณ์ทางพุทธของพม่า ปัจจุบันยังปรากฏในตราสัญลักษณ์กระทรวงการศาสนาและวัฒนธรรมพม่า

ภาพราชบัลลังก์ของพม่าโดยจิตรกรในราชสำนัก

ประเภท แก้

วงการปราชญ์พม่าแต่โบราณจำแนกบัลลังก์เป็นหกประเภท ดังนี้

  1. อปราชิตบัลลังก์ (အပရာဇိတပလ္လင်​ อะปะราซิตะปะลีน; บาลี: อปราชิตปลฺลงฺก) คือ บัลลังก์ของพระพุทธเจ้า
  2. กมลาสนบัลลังก์ (ကမလာသနပလ္လင်​ กะมะลาตะนะปะลีน; บาลี: กมลาสนปลฺลงฺก) คือ บัลลังก์ของพระพรหม
  3. ทิพพาสนบัลลังก์ (ဒိဗ္ဗာသနပလ္လင် เดะบาตะนะปะลีน; บาลี: ทิพฺพาสนปลฺลงฺก) คือ บัลลังก์ของนะ
  4. ราชบัลลังก์ (ရာဇပလ္လင် ยาซะบะลีน; บาลี: ราชปลฺลงฺก) คือ บัลลังก์ของกษัตริย์
  5. ธรรมาสนบัลลังก์ (ဓမ္မာသနပလ္လင် ดะมาตะนะปะลีน; บาลี: ธมฺมาสนปลฺลงฺก) คือ บัลลังก์ (ธรรมาสน์) ของพระภิกษุ
  6. อัฏกรณบัลลังก์ (အဋ္ဋကရဏပလ္လင်​ อะตะกะระนะปะลีน; บาลี: อฏฏกรณปลฺลงฺก) คือ บัลลังก์ของตุลาการ

ราชบัลลังก์ แก้

 
สีหาสนบัลลังก์ ณ พระราชวังมัณฑะเลย์ ค.ศ. 1903
 
สีหาสนบัลลังก์จำลอง ณ รัฐสภาแห่งสหภาพ กรุงเนปยีดอ

ก่อนยุคอาณานิคม ราชบัลลังก์เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระอัครมเหสี ตามธรรมเนียมแล้วราชสำนักพม่ามีราชบัลลังก์แปดประเภทตั้งอยู่ในท้องพระโรงเก้าแห่ง ทำให้เกิดภาษิตว่า "แปดบัลลังก์ เก้าท้องพระโรง" (ပလ္လင်ရှစ်ခန်း ရွှေနန်းကိုးဆောင်)[1]

ช่างไม้ในราชสำนักซึ่งสืบทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่นเป็นผู้แกะสลักราชบัลลังก์จากไม้[2] ราชบัลลังก์แต่ละประเภทใช้ไม้ ลวดลาย และรูปแบบที่แตกต่างกันไป[3] โหรจะเลือกฤกษ์งามยามดีสำหรับเริ่มงาน และจะมีราชพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อป่าวประกาศการก่อสร้าง[2] เมื่อแกะสลักเสร็จแล้ว จะเคลือบด้วยยางไม้ และตกแต่งด้วยทองคำเปลวกับกระเบื้องแก้ว[2] ก่อนจะกระจายไปตั้งไว้ ณ โถงต่าง ๆ ในพระราชวัง[3]

ราชบัลลังก์ทั้งแปดประเภท ได้แก่

ที่ ชื่อ ลวดลายหลัก ประเภทไม้ ที่ตั้ง
1 สีหาสนบัลลังก์ (พม่า: သီဟာသနပလ္လင် ตีฮาตะนะปะลีน; บาลี: สีหาสนปลฺลงฺก) ชีนเต่ (สิงห์) ซ้อ ท้องพระโรงออกขุนนาง
2 ภมราสนบัลลังก์ (พม่า: ဘမယာသနပလ္လင် บะมะยาตะนะปะลีน; บาลี: ภมราสนปลฺลงฺก) ผึ้ง อบเชย หอแก้ว
3 ปทุมาสนบัลลังก์ (พม่า: ပဒုမ္မာသနပလ္လင် ปะโดนมาตะนะปะลีน; บาลี: ปทุมาสนปลฺลงฺก) ดอกบัว ขนุน ท้องพระโรงออกขุนนางฝั่งตะวันตก
4 หงสาสนบัลลังก์ (พม่า: ဟံသာသနပလ္လင် ฮานตาตะนะปะลีน; บาลี: หงฺสาสนปลฺลงฺก) หงส์ ตะเคียน ตำหนักชัยฝ่ายบูรพา
5 คชาสนบัลลังก์ (พม่า: ဂဇာသနပလ္လင် กะซาตะนะปะลีน; บาลี: คชาสนปลฺลงฺก) ช้าง จำปา ศาลาบแยได (องคมนตรี)
6 สังขาสนบัลลังก์ (พม่า: သင်္ခါသနပလ္လင် ทินคาตะนะปะลีน; บาลี: สงฺขาสนปลฺลงฺก) หอยสังข์ มะม่วง หอราชกกุธภัณฑ์
7 มิคาสนบัลลังก์ (พม่า: မိဂါသနပလ္လင် มิกาตะนะปะลีน; บาลี: มิคาสนปลฺลงฺก) กวาง มะเดื่อชุมพร โถงเรือนเฝ้าประตูฝ่ายใต้
8 มยุราสนบัลลังก์ (พม่า: မယုရာသနပလ္လင် มะยุราตะนะปะลีน; บาลี: มยุราสนปลฺลงฺก) นกยูง ทองกวาว โถงเรือนเฝ้าประตูฝ่ายเหนือ

ราชบัลลังก์ที่สำคัญที่สุด คือ สีหาสนบัลลังก์ ซึ่งมีแบบจำลองอยู่ในรัฐสภา[2]

นอกจากนี้ ราชบัลลังก์ยังจัดกลุ่มตามความสูงได้ดังนี้

  1. มหาบัลลังก์ (မဟာပလ္လင် มะฮาปะลีน​) - 24 ฟุต (7.3 เมตร)
  2. มัชฌิมบัลลังก์ (မဇ္စျိမပလ္လင် มะซิมะปะลีน) - 12 ฟุต (3.7 เมตร)
  3. จุลบัลลังก์ (စူဠပလ္လင် ซูละปะลีน) - 6 ฟุต (1.8 เมตร)

การใช้งานในพุทธศาสนา แก้

 
บัลลังก์พระพุทธรูป ณ เจดีย์โบตะทอง

ปะลีนใช้ตั้งรูปสองมิติและสามมิติของพระพุทธเจ้า เรียกกันหลายอย่าง เช่น ก่อปะลีน (ဂေါ့ပလ္လင်), พะย่าปะลีน (ဘုရားပလ္လင်) หรือ ซะมะคาน (စမ္မခဏ်) ซึ่งมาจากคำว่า สมฺมขณฺฑ ในภาษาบาลี

ปะลีนยังเป็นลักษณะเด่นของศาลพุทธประจำครัวเรือนหลายแห่งในพม่า

อ้างอิง แก้

  1. "ယဉ်ကျေးမှု ထုံးဓလေ့ဟောင်း တို့နိုင်ငံသားတို့မမေ့ကောင်း". Myanmar News Agency.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Thant, Yi Yi (December 1960). "The Thrones of the Burmese Kings" (PDF). Journal of Burma Research Society. 43: 97–123.
  3. 3.0 3.1 Tha, Maung (2016-11-15). "ပလ္လင်ရှစ်ခန်း၊ ရွှေနန်းကိုးဆောင်". Ministry of Information.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ปะลีน