พระราชวังมัณฑะเลย์

พระราชวังมัณฑะเลย์ (พม่า: မန္တလေး နန်းတော်) เป็นพระราชวังหลวงในประเทศพม่า เป็นพระราชวังสุดท้ายแห่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของอาณาจักรพม่า ถูกสร้างโดยพระเจ้ามินดง ระหว่างปี พ.ศ. 2400–2402 หลังการย้ายเมืองหลวงจากอมรปุระมายังมัณฑะเลย์ แผนผังของพระราชวังมัณฑะเลย์ส่วนใหญ่เป็นแบบพระราชวังพม่าโบราณ คือตั้งอยู่ในกำแพงมีป้อมปราการและคูเมืองล้อมรอบ มีพระราชวังอยู่ตรงกลางและหันหน้าไปทางทิศตะวันออก อาคารทั้งหมดในพระราชวังมีความสูงหนึ่งชั้น จำนวนยอดแหลมเหนืออาคารบ่งชี้ถึงความสำคัญของอาคารด้านล่าง[1]

พระราชวังมัณฑะเลย์
မန္တလေး နန်းတော်
บริเวณพระราชวังมัณฑะเลย์
พระราชวังมัณฑะเลย์ตั้งอยู่ในประเทศพม่า
พระราชวังมัณฑะเลย์
ที่ตั้งในประเทศพม่า
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทพระราชวังหลวง
ที่ตั้งมัณฑะเลย์
ประเทศ พม่า
พิกัด21°59′34.59″N 96°5′45.28″E / 21.9929417°N 96.0959111°E / 21.9929417; 96.0959111
เริ่มสร้างพ.ศ. 2400
แล้วเสร็จพ.ศ. 2402
เจ้าของรัฐบาลพม่า

พระราชวังมัณฑะเลย์เป็นที่ประทับหลักของพระเจ้ามินดงและพระเจ้าสีป่อ ซึ่งเป็นกษัตริย์สององค์สุดท้ายของพม่า พระราชวังแห่งนี้ได้ยุติการเป็นที่ประทับและที่ทำการเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 ระหว่างสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่สาม กองทหารของอังกฤษได้เข้ายึดพระราชวังและควบคุมราชวงศ์ อังกฤษเปลี่ยนบริเวณพระราชวังเป็นป้อมดัฟเฟรินซึ่งตั้งชื่อตามผู้สำเร็จราชการอินเดียในขณะนั้น ตลอดยุคอาณานิคมของอังกฤษชาวพม่ามองว่าพระราชวังแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์หลักของอธิปไตยและอัตลักษณ์ บริเวณพระราชวังส่วนใหญ่ถูกทำลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองโดยการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร มีเพียงโรงกษาปณ์และหอสังเกตการณ์เท่านั้นที่เหลือรอด พระราชวังจำลองถูกสร้างขึ้นใหม่ในช่วงพ.ศ. 2533 ด้วยวัสดุที่ทันสมัย

ปัจจุบันพระราชวังมัณฑะเลย์เป็นสัญลักษณ์หลักของมัณฑะเลย์และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ

ชื่อ

แก้

ชื่อทางการของพระราชวังมัณฑะเลย์ในภาษาพม่าคือ เมียนน่านซานจอ (မြနန်းစံကျော်, [mja̰ nán sàn tɕɔ̀]; "พระราชวังมรกตลือเลื่อง") มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ชเวน่านดอจี้ (ရွှေနန်းတော်ကြီး, [ʃwè nán dɔ̀ dʑí]) อันหมายถึง "พระราชวังทองอันยิ่งใหญ่"

ประวัติศาสตร์

แก้
 
กำแพงพระราชวังมัณฑะเลย์ พ.ศ. 2449
 
พระราชวังมัณฑะเลย์ถูกโจมตีทางอากาศในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

พระราชวังมัณฑะเลย์สร้างขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการก่อตั้งเมืองหลวงมัณฑะเลย์ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2400[2] โดยพระราชวังสร้างใหม่จากพระราชวังเมืองอมรปุระที่ถูกย้ายไปยังมัณฑะเลย์[3] แผนผังเมืองแบ่งเป็นรูปตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัส 144 บล็อก โดยพระราชวังมีขนาด 16 บล็อกอยู่ตรงกลางจากเขามัณฑะเลย์[4] พระราชวังกินบริเวณพื้นที่ 413 เฮกตาร์ (2,581 ไร่) ล้อมรอบด้วยกำแพงยาว 2 กิโลเมตร (6,666 ฟุต) ทั้งสี่ด้าน และคูเมืองกว้าง 64 เมตร (210 ฟุต) ลึก 4.5 เมตร (15 ฟุต) ตามกำแพงมีมุขป้อมที่มียอดแหลมทองคำตามช่วงระยะทาง 169 เมตร (555 ฟุต)[5] กำแพงแต่ละด้านมีประตูสามบานรวมทั้งหมดสิบสองประตู แต่ละบานมีสัญลักษณ์จักรราศี[2] ป้อมปราการมีสะพานห้าแห่งทอดข้ามคูเมือง[4]

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2400 เริ่มการก่อสร้างพระราชวัง หลังจากสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่สอง ในปี พ.ศ. 2395 อาณาจักรพม่าที่เผชิญศึกมีทรัพยากรไม่มากนักในการสร้างวังอันโอ่อ่าแห่งใหม่ อดีตพระราชวังอมรปุระถูกรื้อถอนและย้ายโดยช้างไปยังตำแหน่งใหม่ที่เชิงเขามัณฑะเลย์ การก่อสร้างบริเวณพระราชวังเสร็จสมบูรณ์อย่างเป็นทางการในวันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2402[2]

ระหว่างช่วงสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่สาม อังกฤษได้เข้ายึดและรื้อค้นพระราชวัง และเผาหอสมุดหลวงที่ซึ่งเคยเป็นสถานที่สำคัญที่ใช้เก็บต้นฉบับคัมภีร์ใบลานชั้นสูงภาษาบาลีและพม่าดั้งเดิมจำนวนมาก อีกทั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของพม่าถูกปล้นสะดมและไปปรากฏจัดแสดงเป็นหนึ่งในโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์เซาท์เคนซิงตัน (ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์วิกตอเรียแอนด์อัลเบิร์ตลอนดอน) ในปี พ.ศ. 2507 เครื่องราชกกุธภัณฑ์ถูกส่งคืนกลับมาพม่าเพื่อแสดงไมตรีจิตร[6][7] อังกฤษเปลี่ยนชื่อบริเวณพระราชวังเป็นป้อมปราการดัฟเฟอรินและใช้เป็นค่ายกองทหาร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองพระราชวังได้กลายเป็นคลังพัสดุของจักรวรรดิญี่ปุ่น และถูกเผาราบจากการวางระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร มีเพียงโรงกษาปณ์และหอนาฬิกาเท่านั้นที่เหลือรอดจากการทำลาย

พ.ศ. 2532–ปัจจุบัน: การฟื้นฟูและการอนุรักษ์

แก้

การบูรณะพระราชวังเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2532 โดยกรมโบราณคดี[8] แต่ด้วยเงินทุนของรัฐบาลไม่เพียงพอ จึงมีการก่อตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูพระราชวังมัณฑะเลย์ด้วยเงินทุนที่มาจากสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐซึ่งเป็นผู้สนับสนุนโครงการนี้[8] รัฐบาลระดับภูมิภาคของมัณฑะเลย์, มะกเว และซะไกง์ มีหน้าที่รับผิดชอบในการวางแผนสถาปัตยกรรมและสร้างส่วนต่าง ๆ ของพระราชวังขึ้นมาใหม่ โดยแบ่งออกเป็น:[8]

  • แผนกมัณฑะเลย์: ตำหนักท้องพระโรงใหญ่, สีหาสนบัลลังก์
  • แผนกมะกเว: หอสังเกตการณ์, ปทุมาสนบัลลังก์
  • แผนกซะไกง์: หงสาสนบัลลังก์

ในขณะที่การออกแบบโดยรวมพยายามยึดถือตามแผน กระบวนการก่อสร้างได้รวมเทคนิคการก่อสร้างทั้งแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่ มีการใช้แผ่นโลหะลูกฟูกสำหรับมุงหลังคาของอาคารส่วนใหญ่ ยังมีการใช้คอนกรีตเป็นส่วนมากของสถาปัตยกรรม (พระราชวังเดิมถูกสร้างขึ้นโดยใช้เพียงไม้สักเท่านั้น)[8]

โดยหนึ่งในอาคารที่ถูกรื้อถอนในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าสีป่อ และสร้างขึ้นใหม่เป็นวัดชเวน่านดอ เป็นโครงสร้างหลักเพียงแห่งเดียวของพระราชวังไม้แบบดั้งเดิมที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 หลังรัฐประหารในประเทศพม่า พ.ศ. 2564 สภาบริหารแห่งรัฐได้เริ่มก่อสร้างสวนสาธารณะที่อยู่ติดกับกำแพงพระราชวังมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายว่าด้วยการอนุรักษ์และคุ้มครองอาคารโบราณ พ.ศ. 2558 ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากนักอนุรักษ์ท้องถิ่น[9]

ปราการ

แก้
 
เนินดินด้านหลังกำแพง
 
บันไดทางขึ้นป้อมประตูและเชิงเทินเนินดิน
 
ป้อมม่าน ประตู มุขป้อม

กำแพง

แก้

กำแพงเมืองยาว 2 กิโลเมตรทั้งสี่ด้าน เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่สมบูรณ์แบบ พร้อมด้วยมุขป้อม 48 มุข ที่มียอดแหลมสีทองหรือ ปยะตะ ทุกช่วงระยะ 169 เมตร (555 ฟุต) และล้อมรอบด้วยคูเมืองกว้าง 64 เมตร (210 ฟุต) ลึก 4.5 เมตร (15 ฟุต) ผนังสร้างด้วยอิฐพม่าทั่วไปปูด้วยปูนโคลน หนา 3 เมตร (10 ฟุต) ที่ฐาน และ 1.47 เมตร (4 ฟุต 10 นิ้ว) ที่ด้านบน สูง 6.86 เมตร (22.5 ฟุต) ไม่รวมใบสอ และ 8.23 เมตร (27 ฟุต) เมื่อรวมใบสอ ช่องกำแพงกว้าง 0.84 เมตร (2 ฟุต 9 นิ้ว) เพื่อให้สามารถขึ้นเชิงเทินได้ในกรณีที่มีภัยและในเวลาเดียวกันเพื่อเสริมความแข็งแรงแก่กำแพง เนินดินที่มีความลาดเอียงปานกลางจึงถูกสร้างขึ้นด้านหลังกำแพง ยอดเนินกว้าง 1.83 เมตร (2 ฟุต) ปูด้วยอิฐและทอดยาวขนานไปกับด้านหลังช่องกำแพง[2]

ประตู

แก้

ในแต่ละด้านของกำแพงมีประตูสามประตูอยู่ในระยะห่างเท่ากัน (508 เมตร; 1666.5 ฟุต) รวมทั้งหมดสิบสองประตู แต่ละประตูกว้าง 4.8 เมตร (15.75 ฟุต) และมีสัญลักษณ์จักรราศี ทั้งสองข้างขนาบด้วยป้อมซึ่งพื้นที่ครึ่งหนึ่งรองรับเสาซุ้มประตูหรือปยะตะที่อยู่เหนือประตู ปยะตะที่อยู่เหนือประตูกลางที่ราชวงศ์ใช้นั้นมีเจ็ดชั้น ส่วนที่เหลือมีเพียงห้าชั้น จากประตูทั้งสิบสองประตู ประตูหลักคือประตูกลางจากกำแพงทิศตะวันออก ซึ่งหันไปทางตำหนักท้องพระโรงใหญ่และสีหาสนบัลลังก์ในพระราชวัง

ป้อมประตูยื่นออกมาจากตัวกำแพง 7 เมตร (23 ฟุต) แต่ละข้างกว้าง 10.36 เมตร (34 ฟุต) ด้านนอกตกแต่งด้วยงานปั้นและงานแกะสลักปูนปลาสเตอร์แบบเรียบง่าย แต่พื้นผิวด้านในซึ่งเป็นส่วนติดตัวประตูนั้นจะเรียบโดยไม่มีฐานหรืองานปั้นจากระดับพื้นดิน มีบันไดสองข้างในแต่ละข้างของป้อมประตู ซึ่งทอดสู่ด้านบนของป้อมและกำแพง ประตูทางเข้าแต่ละประตูมีไม้หนาสองบาน ซึ่งถูกรื้อออกหลังจากการผนวกดินแดนของอังกฤษ[2]

ป้อม

แก้

ทางเข้าประตูแต่ละประตูได้รับการป้องกันด้วยป้อมม่านหรือป้อมโล่ ที่สร้างขึ้นห่างจากคูเมืองด้านหน้าทางเข้าเพียงไม่กี่เมตร มีความยาว 17.5 เมตร (57 ฟุต 5 นิ้ว) หนา 5.2 เมตร (17 ฟุต) สูง 1.5 เมตร (1 ฟุต 8 นิ้ว) ยกสูงจากฐานด้านล่างเพื่อการโจมตีจากด้านบน บนนั้นมีเชิงเทินที่มีใบสอสามด้านเท่านั้น โดยด้านที่หันไปทางประตูเปิดโล่งไว้ การขึ้นด้านบนทำได้โดยใช้บันไดเท่านั้น โดยใช้เป็นงานป้องกันขั้นสูงซึ่งปกป้องทั้งประตูและสะพานที่อยู่ห่างออกไปเพียงไม่กี่เมตร ข้าง ๆ ป้อมนี้มีเสาไม้สักขนาดใหญ่อยู่บนฐานอิฐที่ยื่นออกมาทั้งสองด้าน และมีกระดานไม้สลักชื่อประตูไว้ใกล้ด้านบนพร้อมทั้งปีและวันที่ประตูนั้นถูกสร้างขึ้น

กำแพงทั้งสี่ด้านมีมุขป้อม 13 มุข รวมทั้งหมด 48 มุข มุขป้อมเหล่านี้ทั้งหมดมีซุ้มประตูห้าชั้นคลุมอยู่ด้านบน ซุ้มหลังคาหลายจั่วเหล่านี้ถูกปิดทับด้วยงานแกะสลัก[2]

คูเมือง

แก้

คูเมืองกว้าง 64 เมตร (210 ฟุต) ลึกเฉลี่ย 4.5 เมตร (15 ฟุต) ห่างจากกำแพงที่ล้อมรอบประมาณ 18 เมตร (60 ฟุต) ในกรณีของศัตรูที่ติดอาวุธโบราณ คูเมืองนี้คงเป็นอุปสรรคที่น่าเกรงขามสำหรับกองทัพที่ปิดล้อม ซึ่งจะถูกทหารที่ป้องกันยิงอาวุธใส่จากช่องกำแพงและป้อม

เดิมคูเมืองถูกทอดข้ามด้วยสะพานไม้ห้าแห่ง โดยสี่สะพานทอดสู่ประตูหลักหรือประตูกลางทั้งสี่ด้านของกำแพง ประตูที่ห้าทอดสู่ประตูทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งใช้ในสมัยกษัตริย์เพื่องานอวมงคลหรือในโอกาสอันไม่เป็นมงคล เช่น การขนศพ อังกฤษได้สร้างสะพานเพิ่มเติมอีกสองแห่ง แห่งหนึ่งทางทิศตะวันตกเฉียงใต้และอีกสะพานหนึ่งที่มุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เพื่อรองรับวัสดุและเสบียงสำหรับกองทหารเข้าไปในป้อม

สะพานดั้งเดิมทั้งห้าแห่งมีการออกแบบที่คล้ายคลึงกัน และสอดคล้องกับการป้องกันของป้อมและคูเมือง เขื่อนดินสองแห่งที่ถูกหุ้มด้วยกำแพงอิฐก่อให้เกิดหัวสะพานที่ยื่นลงสู่คูเมืองจากทั้งสองฝั่ง ช่องว่างระหว่างนี้ทอดข้ามด้วยสะพานไม้สักที่มีเสาห้าต้น โดยส่วนหัวเสาของทั้งสองด้านจะเชื่อมเข้ากันด้วยเดือยไม้ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อให้สามารถรื้อถอนโครงสร้างทั้งหมดได้อย่างรวดเร็วในกรณีที่มีภัย[2]

บริเวณรอบพระราชวัง

แก้
 
หอนาฬิกา
 
หอพระธาตุ
 
หอสังเกตการณ์

หอนาฬิกา

แก้

เมื่อเข้าสู่บริเวณพระราชวังจากทิศตะวันออก ด้านขวาหรือทิศเหนือจะมีหอนาฬิกา (ပဟိုရ်စင်) เป็นอาคารเรียบง่ายประกอบด้วยฐานสี่เหลี่ยมสูง ด้านบนของเสาทั้งสี่รองรับอาคารไม้ที่มีหลังคาสองชั้น ปลายสุดประดับฉัตรเล็ก ๆ จากหอนี้เองที่ทำให้ชาวเมืองรู้ถึงเวลาที่ผ่านไป โดยการตีฆ้องและกลองขนาดใหญ่เป็นประจำในแต่ละยาม นั่นคือทุก ๆ สามชั่วโมง กลางวันและกลางคืนถูกแบ่งออกเป็นช่วงละสี่ยาม เวลาถูกสร้างจากนาฬิกาน้ำ ประกอบด้วยตุ่มใส่น้ำขนาดใหญ่ มีชามทองเหลืองเจาะรูเล็ก ๆ ที่ก้น ลอยบนผิวน้ำ เมื่อชามมีน้ำเต็มตกลงสู่ก้นตุ่ม ช่วงเวลานั้นก็คือหนึ่งชั่วโมง[2]

หอพระธาตุ

แก้

ทางด้านใต้ของหอนาฬิกา ฝั่งตรงข้ามใกล้ถนนคือ หอพระธาตุ (စွယ်တော်စင်) หรือ หอพระทันตธาตุ เป็นตัวอย่างที่ดีของสถาปัตยกรรมพม่าแบบดั้งเดิม หอพระธาตุประกอบด้วยสามชั้น ชั้นแรกเป็นชั้นระดับพื้นดิน ชั้นที่สองเป็นฐานสี่เหลี่ยมมีระเบียงที่ยกสูงจากชั้นแรก และชั้นที่สามเป็นห้องพระธาตุที่มีหลังคาสามชั้น (ปยะตะ) ด้านบน ยอดแหลมบนสุดประดับฉัตร ตลอดสี่ด้านของชั้นแรกและชั้นสองมีรั้วเชิงเทินรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนประดับ แต่ละมุมทั้งสี่มีเสาสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก แต่ละเสาประดับด้วยมนุสสีหะหินอ่อนที่ด้านบน

ห้องพระธาตุด้านบนเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทางเข้าเพียงทางเดียวอยู่ทางทิศตะวันตกซึ่งหันหน้าไปทางบันได โดยเข้าถึงชานด้านบนด้วยบันไดแคบ ๆ ที่อยู่ระหว่างผนังบันไดก่ออิฐทั้งสองด้าน มีการประดับสันบันไดทั้งสามชั้น ปลายสุดของสันบันไดในแต่ละชั้นสิ้นสุดลงด้วยลายก้นหอยอันอ่อนช้อยขนาดใหญ่ บันไดประดับประเภทนี้ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันเล็กน้อยอาจพบเห็นได้ทั่วประเทศพม่า ไม่ว่าจะเป็นอิฐหรือไม้ก็ตาม ผนังและหลังคาของหอพระธาตุประดับด้วยงานแกะสลักปูนปลาสเตอร์อันวิจิตร

แม้ว่าอาคารหลังนี้จะเรียกว่าหอพระธาตุ แต่ก็ไม่เคยมีพระธาตุประดิษฐานอยู่ในนั้นเลย โดยสร้างขึ้นเพราะเป็นจารีตประเพณีที่จะมีหอเช่นนี้ในราชสำนัก ซึ่งเป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าบุเรงนอง

ลุตตอ

แก้

ลุตตอ (လွှတ်တော်, [l̥ʊʔ tɔ̀]) หรือสภาสูงสุด ที่ซึ่งประชุมออกว่าราชการของกษัตริย์ เป็นที่ประดิษฐานสีหาสนบัลลังก์ เป็นบัลลังก์ประธานทั้งแปดในพระราชวัง ประกอบด้วยโครงสร้างไม้สามหลังคาสองหลัง ประดับประดาอย่างวิจิตรด้วยรูปปั้นและดอกไม้ รองรับด้วยเสาไม้สักขนาดใหญ่ที่ทาสีแดงด้านล่างและปิดทองที่ด้านบน[2]

สุสานหลวง

แก้

ทางทิศเหนือจากหอนาฬิกาเป็นกลุ่มสุสานที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงสมาชิกราชวงศ์บางองค์ สุสานที่สำคัญที่สุดคือสุสานของพระเจ้ามินดง ซึ่งสวรรคตในปี พ.ศ. 2421 เดิมทีเป็นปยะตะก่ออิฐถือปูนและทาสีขาว สร้างขึ้นโดยพระเจ้าสีป่อเพื่อรำลึกถึงพระราชบิดา ตกแต่งด้วยกระเบื้องโมเสกแก้ว เป็นโครงสร้างสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีหลังคาเจ็ดชั้น ยอดบนสุดประดับฉัตร นอกจากนี้ยังมีสุสานพระมเหสีของพระเจ้ามินดง เช่น พระนางจักราเทวี พระอัครมเหสีในพระเจ้ามินดง, พระนางลองซี พระมารดาของพระเจ้าสีป่อ, พระนางอเลนันดอ พระมารดาของพระนางศุภยาลัต เป็นต้น[2]

โรงกษาปณ์หลวง

แก้

โรงกษาปณ์ตั้งอยู่ห่างไม่กี่ร้อยเมตรไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของสุสานหลวง เป็นที่ซึ่งเหรียญพม่ารุ่นแรกถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2408 หลังจากการผนวกกับอังกฤษโรงกษาปณ์ก็ถูกใช้เป็นโรงงานเบเกอรี่สำหรับกองทหารเป็นเวลาหลายปี ที่นี่เป็นหนึ่งในอาคารไม่กี่หลังในพระราชวังที่รอดจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายพันธมิตรช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

หอสังเกตการณ์

แก้

บริเวณพระราชวังมีหอสังเกตการณ์ น่าน-มหยิ่นซอง (နန်းမြင့်ဆောင်) สูง 24 เมตร (78 ฟุต) บนยอดหอคอยมีปยะตะเจ็ดชั้น หอคอยนี้เป็นจุดที่สามารถชมวิวเมืองได้[1] กษัตริย์และพระมเหสีบางครั้งจะเสด็จขึ้นหอคอยเพื่อชมทัศนียภาพของพื้นที่โดยรอบ พร้อมด้วยแม่น้ำ ลำธาร และทะเลสาบ นอกจากนี้พระองค์ยังชมทัศนียภาพการประดับไฟในเมืองช่วงเทศกาลจุดประทีปปลายวันเข้าพรรษา กล่าวกันว่าจากที่นี่พระนางศุภยาลัตทรงเห็นการเข้ามาของกองทัพอังกฤษ ซึ่งเข้ามายึดมัณฑะเลย์ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2428 หอสังเกตการณ์รอดพ้นจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

บริเวณพระราชวัง

แก้
 
ท้องพระโรงใหญ่ยกพื้นสูง
 
บัลลังก์สิงห์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพม่า (ย่างกุ้ง)

ถนนจากประตูตะวันออกซึ่งตัดผ่านระหว่างหอนาฬิกาและหอพระธาตุ นำไปสู่ตำหนักท้องพระโรงและยอดแหลมสีทองเหนือห้องบัลลังก์สิงห์ ซึ่งถือเป็นจุดศูนย์กลางของเมือง อาคารพระราชวังทั้งหมดตั้งอยู่บนพื้นยกสูง ประกอบด้วยสามส่วนที่แตกต่างกัน ด้านทิศตะวันออกตำหนักท้องพระโรงใหญ่และห้องบัลลังก์สิงห์ถูกสร้างขึ้นบนชั้นใต้ดินจากกำแพงอิฐ ส่วนทิศตะวันตกจากปลายสุดตะวันตกไปจนถึงหอแก้ว ชั้นใต้ดินก็ล้อมรอบด้วยกำแพงก่ออิฐเช่นเดียวกัน ชั้นใต้ดินทั้งสองนี้เชื่อมต่อกันตั้งแต่หอแก้วจนถึงห้องบัลลังก์สิงห์โดยมีพื้นไม้กระดานระดับเดียวกันที่รองรับด้วยเสาไม้สักจำนวนมาก พื้นยกสูงทั้งหมดนี้วัดความยาวสูงสุดได้ 306 เมตร (1,004 ฟุต) กว้างสูงสุด 175 เมตร (574 ฟุต) ความสูงของชั้นใต้ดินคือ 2 เมตร (6 ฟุต 9 นิ้ว) กำแพงคันดินสูง 3 เมตร (10 ฟุต 9 นิ้ว) จากพื้นที่โดยรอบ และก่อเป็นผนังเชิงเทินสูง 1.2 เมตร (4 ฟุต) การขึ้นด้านบนจากระดับพื้นดินทำได้โดยบันไดสามสิบเอ็ดขั้นโดยหลักอยู่ที่ปลายสุดด้านตะวันออกและตะวันตก[2]

ท้องพระโรงใหญ่

แก้

ห้องโถงนี้ประกอบด้วยสามส่วน ได้แก่ ห้องโถงด้านเหนือ (หรือซ้าย) และห้องโถงด้านใต้ (หรือขวา) ทั้งสองส่วนนี้ถูกเรียกเช่นนี้เพราะเมื่อพระมหากษัตริย์ประทับบนบัลลังก์โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนแรกจะอยู่ทางซ้ายและส่วนที่สองจะอยู่ทางขวาของพระองค์ อาคารปีกทั้งสองนี้เชื่อมกันด้วยห้องโถงกลางที่ทอดยาวไปสู่รอบบัลลังก์ ท้องพระโรงใหญ่มีความยาวรวมจากเหนือไปใต้ 77.1 เมตร (253 ฟุต)

ในแต่ละด้านล่างชานบันไดพระราชวัง ทิศตะวันออกอาจเห็นปืนใหญ่ลวดลายยุโรปเก่า ๆ สองสามกระบอก และมีลูกกระสุนปืนใหญ่อยู่ใกล้ ๆ มีปืนรูปแบบเดียวกันอีกสองสามกระบอกวางอยู่ที่ด้านข้างของบันไดทางด้านหน้าทิศตะวันตกของพระราชวัง[2]

ท้องพระโรงประดับด้วยงานแกะสลักปิดทองส่วนที่เป็นไม้ทั้งหมดของหลังคา ยกเว้นแผ่นระหว่างหลังคาทั้งสอง ที่ปิดทองเพียงแค่หน้าจั่ว แผงหน้าจั่วและแผงเชิงชายเท่านั้น งานแกะสลักมีลักษณะนูนต่ำประกอบด้วยบัวและแถบใบไม้เป็นหลักที่เชิงชาย แผงหน้าจั่วประดับด้วยลายขดม้วน การตกแต่งหรูหราฟุ่มเฟือยอยู่ที่มุมหลังคาและยอดหน้าจั่ว ตลอดจนส่วนปลายด้านล่างหลังคา ลวดลายหลักที่ประดับคือ ลายใบไม้ ลายแถบบัว และลายเกลียวไขว้

รูปนกยูงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์ มักถูกประดับตามส่วนใต้แผงชายคา นกยูงแบบเดียวกันนี้พบเห็นอยู่ทั่วไปตามยอดหน้าจั่ว

งานแกะสลักทั้งหมดนอกจากจะปิดทองแล้ว ยังตกแต่งด้วยงานโมเสกแก้วแบบเรียบง่าย รายละเอียดข้างต้นใช้กับอาคารอื่น ๆ ทั้งหมดเป็นส่วนใหญ่

ห้องบัลลังก์สิงห์

แก้

ในพระราชวังมีบัลลังก์อยู่แปดบัลลังก์ โดย บัลลังก์สิงห์ หรือ สีหาสนบัลลังก์ (သီဟာသနပလ္လင်, ตีฮาตะนะปะลีน) เป็นบัลลังก์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และด้วยเหตุนี้จึงมีการแกะสลักและตกแต่งอย่างประณีตมากกว่าบัลลังก์อื่น ๆ กษัตริย์เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่มีสิทธิ์นั่งบนนั้น และสำหรับใครก็ตามที่ทำเช่นนั้นจะถือเป็นการกบฏ ฐานบัลลังก์เป็นรูปทรงดอกบัวสองดอก คือบัวหงายและบัวคว่ำ ตรงกลางที่แคบที่สุดคือจุดที่ดอกบัวทั้งสองมาบรรจบกันเป็นวงเล็ก ๆ ที่มีช่องเป็นแถว โดยมีอันที่ใหญ่กว่าเล็กน้อยอยู่ด้านบน ในช่องเหล่านี้มีสิงโตตัวเล็ก ๆ อยู่ นอกเหนือจากสิงโตตัวใหญ่สองตัวที่ปัจจุบันเห็นได้ในแต่ละข้างของบัลลังก์ บัลลังก์เข้าถึงได้โดยการขึ้นบันไดในห้องด้านหลัง ซึ่งปิดด้วยประตูบานเลื่อนที่ทำด้วยเหล็กชุบทองถักเป็นตาข่าย

บัลลังก์อื่น ๆ ได้แก่ หงสาสนบัลลังก์, คชาสนบัลลังก์, สังขาสนบัลลังก์, มิคาสนบัลลังก์, มยุราสนบัลลังก์, ปทุมาสนบัลลังก์, ภมราสนบัลลังก์

บัลลังก์สิงห์ดั้งเดิมได้รับการช่วยเหลือไม่ถูกทำลายจากการทิ้งระเบิดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากทางอังกฤษได้ขนส่งไปยังอินเดียในปี พ.ศ. 2428 หลังสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่สาม และได้กลับคืนมาอีกครั้งในเวลาต่อมา ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพม่า (ย่างกุ้ง)

หอแก้ว

แก้
ซ้าย: หอแก้ว พ.ศ. 2446. ขวา: หอแก้วในปัจจุบัน

หอแก้ว มานน่านดอจี้ (မှန်နန်းတော်ကြီး) เป็นห้องที่ใหญ่ที่สุดและถือว่าเป็นหนึ่งในห้องที่สวยที่สุดของพระราชวัง เชื่อกันว่าเป็นห้องประทับหลักของพระเจ้ามินดงในพระราชวัง เช่นเดียวกับห้องบัลลังก์อื่น ๆ มักถูกแบ่งด้วยฉากกั้นไม้ออกเป็นสองห้อง

ในห้องตะวันออกเป็นที่ประดิษฐาน ภมราสนบัลลังก์ (บัลลังก์ผึ้ง) ซึ่งเรียกเช่นนี้เพราะประดับด้วยรูปผึ้งในช่องเล็ก ๆ ด้านล่างที่ฐาน ที่นี่เป็นสถานที่จัดพิธีสถาปนาพระอัครมเหสีและพิธีสมรสของราชวงศ์ นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ที่กษัตริย์และพระมเหสีเฉลิมฉลองปีใหม่ของพม่า และเป็นที่เจาะพระกรรณอย่างเป็นทางการของเจ้าหญิงน้อย ห้องนี้ใช้จัดแสดงพระวรกายของพระเจ้ามินดงหลังจากที่พระองค์สวรรคตในปี พ.ศ. 2421

ห้องตะวันตกซึ่งเดิมถูกแบ่งออกเป็นห้องเล็ก ๆ หลายห้องเป็นห้องนั่งเล่นหลักของพระมินดง และไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นเข้านอนที่นั่น ยกเว้นพระมเหสีหลักทั้งสี่พระองค์ ซึ่งแต่ละพระองค์จะได้ห้องใกล้ห้องบรรทมของกษัตริย์ ซึ่งประกอบด้วยห้องเล็กที่มีปยะตะเจ็ดชั้น คล้ายกับปยะตะเหนือห้องบัลลังก์สิงห์ ยอดปยะตะนี้เป็นทองแดงชุบทอง ทั้งสองข้างของห้องที่มีปยะตะนี้จะมีฉัตรสีขาวสองคันเปิดอยู่เสมอ เหล่าข้าราชบริพารของหอแก้วจะคอยประจำการอยู่รอบ ๆ ห้องตะวันตกเพื่อคอยรับใช้ฝ่าบาท ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหญิงหรือมเหสีรอง ไม่อนุญาตให้เข้าไปในห้องนี้โดยสวมรองเท้าแตะหรือฉัตรทองคำ พวกเธอจะต้องทิ้งร่มเหล่านี้ไว้ที่ทางเข้ากับข้าราชบริพาร

ในสมัยพระเจ้าสีป่อ พระนางศุภยาลัตมีห้องเล็ก ๆ เป็นส่วนตัวด้านทิศตะวันตกของหอแก้ว

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 John Falconer; Luca Invernizzi; Daniel Kahrs; Elizabeth Moore; Luca Invernizzi Tettoni; Alfred Birnbaum; Joe Cummings (2000). Burmese design & architecture. Tuttle Publishing. p. 70. ISBN 9789625938820.
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 "Mandalay Palace" (PDF). Directorate of Archaeological Survey, Burma. 1963. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 28 January 2018. สืบค้นเมื่อ 2006-08-22.
  3. List of Ancient Monuments in Burma (I. Mandalay Division). Vol. 1. Rangoon: Office of the Superintendent, Government Printing, Burma. 1910. p. 2.
  4. 4.0 4.1 Kyaw Thein (1996). The Management of Secondary Cities in Southeast Asia. Case Study: Mandalay. United Nations Centre for Human Settlements. UN-Habitat. ISBN 9789211313130.
  5. Vincent Clarence Scott O'Connor (1907). Mandalay and Other Cities of the Past in Burma. Hutchinson & Co. pp. 6–9.
  6. Lowry, John,1974, Burmese Art, London
  7. Bird, George W. (1897). Wanderings in Burma. London: F. J. Bright & Son. p. 254.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 Moore, Elizabeth (1993). "The Reconstruction of mandalay Palace". Bulletin of the School of Oriental and African Studies. University of London. 56 (2). doi:10.1017/s0041977x0000553x.
  9. "Myanmar Junta Criticized Over Mandalay Palace Park Plan". The Irrawaddy (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2021-10-13. สืบค้นเมื่อ 2021-10-14.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

21°59′34.59″N 96°5′45.28″E / 21.9929417°N 96.0959111°E / 21.9929417; 96.0959111