ปอเฉียม[b], หูเยียบ[c], อุเยียม[d] หรือ หูเหยียม[e] (เสียชีวิตช่วงปลาย ค.ศ. 263) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ฟู่ เชียน (จีน: 傅僉; พินอิน: Fù Qiān) เป็นขุนพลของรัฐจ๊กก๊กในสามก๊กของจีน เป็นบุตรชายของเปาเตียว (傅肜 ฟู่ หรง)

ปอเฉียม (ฟู่ เชียน)
傅僉
ภาพวาดปอเฉียมสมัยราชวงศ์ชิง
แม่ทัพภูมิภาคกวนต๋ง (關中都督 กวานจงตูตู)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 263 (263)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ขุนพลราชองครักษ์ฝ่ายซ้าย
(左中郎將 จั่วจงหลางเจี้ยง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ[a]
นครซิ่นหยาง มณฑลเหอหนาน
เสียชีวิตค.ศ. 263
อำเภอหนิงเฉียง มณฑลฉ่านซี
บุตร
  • ฟู่ จู้
  • ฟู่ มู่
บุพการี
อาชีพขุนพล

ประวัติ

แก้

ปอเฉียมเป็นชาวเมืองงีหยง (義陽郡 อี้หยางจฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันคือนครซิ่นหยาง มณฑลเหอหนาน บิดาของปอเฉียมคือเปาเตียว ถูกสังหารในที่รบระหว่างยุทธการที่อิเหลงซึ่งรบกับทัพของซุนกวนในปี ค.ศ. 222 ปอเฉียมได้สืบทอดบรรดาศักดิ์ของบิดาและรับราชการกับจ๊กก๊กในตำแหน่งขุนพลราชองครักษ์ฝ่ายซ้าย (左中郎將 จั่วจงหลางเจี้ยง) ก่อนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นแม่ทัพภูมิภาค (都督 ตูตู) ของภูมิภาคกวนต๋ง (關中 กวานจง)[11]

ปลายปี ค.ศ. 263 ระหว่างการรบระหว่างจ๊กก๊กและวุยก๊กที่เป็นรัฐอริ ปอเฉียมถูกส่งไปรบต้านข้าศึก ในเวลานั้นผู้คนจำนวนมากยกย่องปอเฉียมและบิดาว่าเป็น "ผู้ภักดีและเที่ยงธรรมมาหลายรุ่น" (奕世忠義 อี้ชื่อจงอี้)[12] ปอเฉียมได้รับมอบหมายให้ป้องกันด่านเองเปงก๋วน (陽平關 หยางผิงกวาน) ส่วนเจียวสี (蔣舒 เจี่ยง ชู) ถูกส่งไปรบกับข้าศึก แต่เจียวสียอมจำนนต่อข้าศึกโดยการเปิดประตูด่านและปล่อยให้ข้าศึกเข้ามา เฮาเหลก (胡烈 หู เลี่ย) ขุนพลวุยก๊กนำกำลังพลเข้าโจมตีที่ตั้งของปอเฉียม ในที่สุดปอเฉียมจึงถูกสังหารหลังพยายามขับไล่ข้าศึกแต่ไม่เป็นผล[13]

ครอบครัว

แก้

บุตรชายปอเฉียมคือฟู่ จู้ (傅著) และฟู่ มู่ (傅募) ได้เข้ารับราชการกับราชวงศ์จิ้น หลังมีฎีกาที่เขียนโดยเหวิน ลี่ (文立) ทูลเสนอกับสุมาเอี๋ยนให้ปฏิบัติต่อทายาทของอดีตข้าราชการของจ๊กก๊กอย่างมีเมตตา

ในนิยายสามก๊ก

แก้

ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ประพันธ์ในคริสต์ศตวรรษ์ที่ 14 เรื่องสามก๊ก' (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้) ปอเฉิยมเป็นขุนพลในสังกัดของเกียงอุยที่เกียงอุยไว้วางใจ หลังการโจมตีของทัพวุยก๊กที่ด่านเองเปงก๋วน ปอเฉียมป้องกันด่านอย่างสุดความสามารถ แต่ในที่สุดเจียวสี (蔣舒 เจี่ยง ชู) ที่เป็นนายทหารด้วยกันก็ยอมจำนนต่อข้าศึก ทำให้ปอเฉียมเสียชีวิตระหว่างการสู้รบ[14]

ดูเพิ่ม

แก้

หมายเหตุ

แก้
  1. ไม่มีการบันทึกปีเกิดของปอเฉียม ส่วนเปาเตียวบิดาของปอเฉียมเสียชีวิตในปี ค.ศ. 222 และไม่มีการบันทึกว่าปอเฉียมที่บุตรชายที่เกิดหลังการเสียชีวิตของเปาเตียว ปอเฉียมจึงควรเกิดในปี ค.ศ. 222 หรือก่อนปี ค.ศ. 222
  2. ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 83[1][2][3][4] และตอนที่ 84[5][6][7]
  3. ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 84[8]
  4. ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 85[9]
  5. ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 85[10]

อ้างอิง

แก้
  1. ("เกียงอุยได้ฟังดังนั้นก็โกรธ ว่าท่านเจรจาดังนี้ไม่ชอบ เสียทีเกิดมาให้หนักแผ่นดินเสียเปล่า ตัวเรานี้พระเจ้าเล่าเสี้ยนชุบเลี้ยงมีพระคุณต่อเราเปนอันมาก เราจะทำราชการสนองพระคุณกว่าจะสิ้นชีวิต แล้วก็ทำเรื่องราวเข้ากราบทูลพระเจ้าเล่าเสี้ยน จัดแจงทหารให้ปอเฉียมกับเจียวฉีเปนทัพหน้า แล้วปรึกษาว่า เราจะไปทำการครั้งนี้จะตีเอาเมืองใดก่อนดี ปอเฉียมจึงว่า ขอให้ท่านยกไปเนินซินเฉียตีเมืองเตียงเสียตัดเอาสะเบียงสุมาเจียวเสียก่อน จึงรีบยกไปตีเอาเมืองจิวฉวนให้ได้ เมืองลกเอี๋ยงก็จะได้โดยง่าย") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๓". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 26, 2024.
  2. ("ปอเฉียมเห็นดังนั้นก็ชักม้าออกรบกับอองจิ๋นได้สามเพลง ปอเฉียมทำแพ้ชักม้าหนี อองจิ๋นควบม้าไล่ตามจะใกล้ทันก็เอาทวนพุ่งไป ปอเฉียมหลบแล้วกลับม้ามารวบจับตัวอองจิ๋นได้ ลิเพงเห็นดังนั้นก็โกรธ ควบม้าออกมาจะแก้อองจิ๋น ปอเฉียมเห็นลิเพงควบม้ามาถึง ก็เอาอองจิ๋นฟาดลงกับดิน แล้วควบม้าเข้าไปเอากระบองเหล็กตีลิเพงตกม้าตาย") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๓". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 26, 2024.
  3. ("ปอเฉียมจึงว่าแก่เกียงอุยว่า ข้าพเจ้าเห็นเตงงายจะลวงทำกลอุบายเปนมั่นคง หวังจะคอยทัพสุมาเจียวมาจึงจะรบตีเราเปนสามด้าน จำเราจะให้ทหารถือหนังสือไปเมืองกังตั๋ง ให้ซุนหลิมออกสกัดทางรบสุมาเจียวไว้ ") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๓". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 26, 2024.
  4. ("เกียงอุยก็จัดแจงกองทัพให้เลียวฮัวกับเตียวเอ๊กเปนกองหน้า ให้อองหำกับเจียวปินเปนปีกขวา ให้เจียวฉีกับปอเฉียมเปนปีกซ้าย ให้ออเจ๊กกับหัวสิบเปนกองหลัง ตัวเกียงอุยกับแฮหัวป๋าคุมทหารยี่สิบหมื่นเปนทัพหลวง") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๓". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 26, 2024.
  5. ("เกียงอุยเอาทหารสองพันมอบให้ปอเฉียมว่ากล่าว") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๔". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 26, 2024.
  6. ("เกียงอุยจึงให้ปอเฉียมคุมทหารสองพันเอาเกวียนร้อยเล่มบันทุกฟืนแลเชื้อเพลิงไปซุ่มอยู่ในหุบเขานั้น") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๔". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 26, 2024.
  7. ("ปอเฉียมก็ถือทวนควบม้าออกมาร้องว่า มึงแพ้รู้นายกูแล้วจะหนีไปไหนเล่า เร่งมาหาโดยดีกูจะมัดไปให้เกียงอุย") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๔". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 26, 2024.
  8. ("ครั้นเวลาเช้าเกียงอุยจึงให้หาขุนนางมาพร้อมกันว่า ซึ่งเตงงายยกกองทัพมาคืนนี้หาตั้งใจมารบเราไม่ แกล้งจะทำให้เราไว้ใจ บัดนี้ไปณค่ายเขากิสานแล้ว เราจะยกตามไปช่วยเตียวเอ๊กจึงจะได้ จึงสั่งหูเยียบให้คุมทหารอยู่รักษาค่าย ") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๔". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 26, 2024.
  9. ("เกียงอุยรับสั่งแล้วก็ลาไปเมืองฮันต๋ง จึงให้หาขุนนางทหารมาพร้อมกันแล้วว่า บัดนี้พระเจ้าเล่าเสี้ยนโปรดให้เรายกไปตั้งอยู่ตำบลหลงเส ให้ทำไร่นาฝึกสอนทหารให้ชำนาญ จงตระเตรียมตัวให้พร้อมกันแล้วเราจะยกไป ครั้นบอกทหารทั้งปวงแล้ว จึงให้เอาเจ้ไปอยู่รักษาเมืองเซียวเส ให้องเสียไปอยู่รักษาเมืองก๊กเสีย เจียวปีนไปอยู่รักษาเมืองฮั่นเสีย แล้วให้เอียวสีกับอุเยียมคุมทหารไปเปนกองตะเวนด่านทางทุกตำบล") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๕". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 26, 2024.
  10. ("ฝ่านหูเหยียมนายด่านแฮเบงก๋วน ครั้นรู้ข่าวว่ากองทัพยกมาจึงปรึกษาเจียวสีว่า ครั้งนี้เราจะคิดอ่านทำการต่อสู้กับข้าศึกอย่างไรจึงจะดี เจียวสีจึงว่า กองทัพเมืองวุยก๊กมาครั้งนี้เปนทัพใหญ่ ซึ่งจะออกต่อรบด้วยเขานั้นเห็นไม่ได้ จงตั้งมั่นรักษาตัวเราอยู่แต่ในค่ายเถิด 'หูเหยียมจึงว่า ซึ่งท่านจะให้ตั้งมั่นอยู่ในด่าน ข้าศึกจะมิรุกรานไปตีเอาเมืองฮันเสียแลเมืองก๊กเสียทั้งสองหัวเมืองนี้ได้หรือ ซึ่งท่านคิดนี้เราหาเห็นด้วยไม่ เจียวสีได้ฟังดังนั้นก็นิ่งอยู่มิได้ตอบคำ ขณะเมื่อหูเหยียมกับเจียวสีพูดกันอยู่นั้น พอทหารกองตะเวนมาบอกว่า บัดนี้กองทัพเมืองวุยก๊กตีมาถึงริมด่านแล้ว

    หูเหยียมได้ยินดังนั้นก็ตกใจ จึงพาเจียวสีขึ้นไปดูบนหอรบ เห็นจงโฮยผู้แม่ทัพขี่ม้ายืนชี้แซ่ร้องมาว่า ให้ชาวด่านเร่งออกมาอยู่ด้วยเราเถิด เราจะเลี้ยงไว้เปนทหารปูนบำเหน็จจงมาก ถ้าขัดแขงมิออกมาเราตีด่านได้แล้ว จะตัดสีสะชาวด่านทั้งปวงเสีย หูเหยียมมีความโกรธนักจึงให้เจียวสีอยู่ในด่าน ส่วนตัวหูเหยียมนั้นคุมทหารสามพันโห่ร้องไล่ตีทัพจงโฮยออกมา ฝ่ายจงโฮยครั้นเห็นชาวด่านรุกออกมาดังนั้น จึงให้ทหารทั้งปวงรายกันออกเปนกอง ๆ แกล้งทำเปนแตกหนี หูเหยียมเห็นดังนั้นก็ดีใจเร่งยกทหารตีออกมา จงโฮยเห็นได้ทีก็โบกธงให้ทหารเข้าตีกระหนาบพร้อมกัน หูเหยียมมิอาจที่จะสู้ได้ก็แตกหนีเข้าในด่าน

    ฝ่ายเจียวสีเห็นหูเหยียมแตกกลับมาดังนั้นจึงให้ปิดประตูด่านเสีย แล้วร้องว่ากับหูเหยียมออกไปว่า บัดนี้เราเข้าแก่ข้าศึกแล้ว ท่านอย่ากลับเข้ามาอยู่ในด่านกับเราเลย หูเหยียมเห็นเจียวสีให้ปิดประตูด่านไว้แล้วร้องว่าออกมาดังนั้นก็โกรธ จึงร้องด่าเข้าไปว่าอ้ายขบถไม่คิดถึงคุณเจ้าแผ่นดิน มึงหาเปนชาติทหารไม่ ว่าแล้วก็กลับทหารเข้าต่อสู้กับจงโฮย ครั้นเห็นทหารอิดโรยจึงทอดใจใหญ่แล้วว่า เมื่อเรามีชีวิตอยู่ได้เปนข้าพระเจ้าเล่าเสี้ยน ถ้าเราหาชีวิตไม่แล้วจะขอเปนผีอยู่ในเมืองพระเจ้าเล่าเสี้ยน ครั้นว่าดังนั้นแล้วก็เอาทวนแทงตัวเข้าตาย") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๕". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 26, 2024.
  11. (拜子僉為左中郎,後為關中都督) สามก๊กจี่ เล่มที่ 45
  12. (景耀六年,又臨危授命。論者嘉其父子奕世忠義。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 45
  13. (鐘會攻圍漢、樂二城,遣別將進攻關口,蔣舒開城出降,傅僉格鬥而死。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44
  14. สามก๊ก ตอนที่ 112-116.

บรรณานุกรม

แก้