ปอยส่างลอง

ประเพณีของชาวไทใหญ่ ก่อนพิธีบวช

ประเพณีปอยส่างลอง (ไทใหญ่: ပွႆးသၢင်ႇလွင်း, ป๊อยส่างล้อง) หรือ งานบวชลูกแก้ว เพื่อทำการบรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา โดยจะพบเห็นการจัดปอยส่างลองกันมากที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมือง อำเภอขุนยวม และอำเภอปาย คนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมประเพณีนี้ก็สืบเชื้อสายมาจากไทใหญ่ ซึ่งก็ได้ร่วมกันสืบทอดงานประเพณีนี้มาเป็นเวลาช้านาน ดังปรากฏว่าหลักฐานว่าประเพณีนี้มีมาตั้งแต่มีการสร้างแปลนเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งก็ได้มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ทุก ๆ ปี เนื่องจากเป็นประเพณีที่สำคัญทางศาสนา และเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด จนกระทั่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดความขัดแย้งในวงกว้าง ครอบคลุมทุกทวีปและประเทศส่วนใหญ่ในโลกรวมทั้งในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2482 (ค.ศ. 1939) จนกระทั่งสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) ในระหว่างนั้นประเทศไทยได้ประสบปัญหาทางด้านต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทำให้ประเพณีปอยส่างลองถูกงดและเลิกไป จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2525 อันเป็นปีฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ก็ได้มีการฟื้นฟูและจัดงานประเพณีปอยส่างลองขึ้นทุกๆปีจนถึงปัจจุบัน และประเพณีนี้ก็ได้ขยายไปยังจังหวัดใกล้เคียง คือ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย

ปอยส่างลองในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ปอยส่างลองในจังหวัดเชียงใหม่

ศัพทมูล

แก้

"ปอยส่างลอง" ในภาษาไทใหญ่สามารแปลได้เป็น:

  • ปอย (ပွႆး) หมายถึง 'เหตุการณ์' ยืมจากภาษาพม่าว่า pwe;[1]
  • ส่าง (သၢင်ႇ) น่าจะมาจากคำว่า khun sang ('พรหมัน') หรือ sang ('สามเณร');[1]
  • ลอง (လွင်း) จากคำว่า along หมายถึงพระโพธิสัตว์หรือ 'เชื้อสายของกษัตริย์' ยืมจากภาษาพม่าว่า alaung (အလောင်း).[1] หรือ laung (လောင်း)[2] และยังหมายถึง "ระดับก่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งสุดท้าย"[3][4] ทำให้ ส่างลอง (သၢင်ႇလွင်း) หมายถึง "เด็กชายหรือชายหนุ่มก่อนเป็นสามเณร"[3][4]

ประวัติ

แก้

ประวัติความเป็นมาของประเพณีปอยส่างลองมีกล่าวกันไว้หลากหลายตำนานแตกต่างกันไปตามพื้นที่ ซึ่งก็ปรากฏตำนานต่างๆกันดังนี้

ตำนานแรก

เมื่อครั้งพุทธกาลนั้นพระพุทธเจ้าได้ขึ้นไปโปรดพระมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อจะเสด็จกลับลงมาเมืองมนุษย์ก็มีเทพสี่ตนเป็นเทวดา 2 ตน นางฟ้า 2 ตนลงตามมาด้วย เพราะอยากเห็นบ้านเมืองมนุษย์มากเนื่องจากว่าคิดว่าบ้านเมืองมนุษย์นั้นต้องสนุกสนานมากเพราะจะมีงานต้อนรับพระมารดาของพระพุทธเจ้า ดังนั้นเทพทั้งสี่จึงได้แต่งกายสวยงามสวมชฎามงกุฎ ฟ้อนรำร่วมกันกับมนุษย์ เพราะฉะนั้นถ้ามีงานปอยส่างลองจึงให้ส่างลองแต่งกายอย่างสวยงาม มีการนำชฎามาสวมใส่ให้แก่ผู้บวชอย่างสวยงามตามที่ตำนานได้กล่าวมาดังข้างต้น [5]

ตำนานที่สอง

ตำนานนี้นั้นกล่าวไว้ว่า การเป็นส่างลองนั้นเป็นการเลียนแบบประวัติของพระพุทธเจ้าตอนที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะครองกรุงกบิลพัสดุ์ก่อนจะออกผนวช การกระทำทุกอย่างในช่วงเวลาการเป็นส่างลองจะปฏิบัติเสมือนการปฏิบัติต่อพระมหากษัตริย์นั่นเอง

ตำนานที่สาม

ประวัติความเป็นมาของหนังสือไทยใหญ่ที่เขียนโดยเจ้าหน่อคำ และนายบุญศรี นุชจิโนได้แปลไว้ กล่าวว่า เมื่อครั้งพุทธกาลในกรุงราชคฤห์ มีกษัตริย์พระนามว่า พระเจ้าพิมพิศาล ได้สร้างพระวิหารถวายพระพุทธเจ้าและปาวารณาตัวเป็ยทายกของพระพุทธเจ้าตลอดชีวิต พระเจ้าพิมพิศาล มีโอรสพระองค์หนึ่ง นามว่าอาชาตศัตรู วันหนึ่งเจ้าชายอาชาตศัตรูได้เสด็จมายังลานพระวิหารที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ได้พบกับพระเทวทัต พระเทวทัตจึงได้อัญเชิญเสด็จขึ้นไปบนกุฏิพร้อมทั้งยกย่องว่าเป็นผู้มีบุคลิกเฉลียวฉลาดปราดเปรื่อง สมควรเป็นกษัตริย์ปกครองบ้านเมืองโดยเร็ว พร้อมกับยุแหย่ว่าพระเจ้าพิมพิศาลนั้นแก่ชราแล้ว ไม่ควรเป็นกษัตริย์อีกต่อไป เพราะไม่สามารถนำทัพไปสู้รบกับใครได้ อาจสูญเสียแผ่นดินให้กับเมืองอื่น จึงแนะนำให้ฆ่าเสีย เจ้าชายอาชาตศัตรูเมื่อได้ฟังดังนั้นก็เกิดความขุ่นเคืองไม่พอพระทัย จึงตำหนิว่าใครจะฆ่าบิดาของตัวเองได้ลงคอแล้วรีบกลับไป ฝ่ายพระเจ้าเทวทัตไม่ลดละความพยายาม ได้หาโอกาสมาพบกับเจ้าชายอาชาตศัตรูอีกครั้ง พร้อมทั้งทูลกระซิบว่าให้พระองค์จับ พระบิดาขังไว้ไม่ให้เสวยอาหาร 7 วัน ก็จะสิ้นพระชนม์ไปเอง ซึ่งเราก็จะฆ่าพระพุทธเจ้าโดยงัดก้อนหินขนาดใหญ่ให้กลิ้งลงมาทับ แล้วเราก็จะได้เป็นพระพุทธเจ้าส่วนพระองค์ก็จะได้เป็นกษัตริย์และเป็นทายกเรา จากนั้นเราทั้งสองจะได้ช่วยกันพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นต่อไป เจ้าชายอาชาตศัตรูเมื่อได้ฟังดังนั้นก็หลงเชื่อและสั่งให้ทหารนำบิดาไปขังไว้และไม่ให้ผู้ใดนำอาหารไปให้เสวย ฝ่ายพระมเหสีด้วยความรักและความสงสาร ในพระสวามี จึงได้ทำขนมใส่เกล้าผม บางครั้งใส่รองเท้า และทาตามตัวเข้าไปเยี่ยมและให้เสวย จนครบ 7 วันพระเจ้าพิมพิศาลยังไม่สิ้นพระชนม์ แต่สามารถนั่งนอนและเดินออกกำลังกายได้ ในที่สุดเจ้าชายอาชาตศัตรู ได้สั่งให้ทหารเฉือนเนื้อฝ่าเท้าของพระบิดาแล้วเอาน้ำเกลือทา ไม่ให้เดินไปมาได้ ในขณะเดียวกันเจ้าชายอาชาตศัตรูได้พาพระโอรสไปเยี่ยมพระมารดา และตรัสว่าลูกชายคนนี้ข้ารักมาก แต่ตัวข้าเมื่อยังเล็ก พระบิดาจะรักเหมือนข้าหรือเปล่าไม่ทราบ พระมารดาจึงตรัสว่าเจ้ารักลูกเจ้ามากนั้นไม่จริง เพราะของเล่นต่างๆที่มีค่ามหาศาลที่ลูกเจ้าเล่นอยู่ขณะนี้ ล้วนเป็นของที่พ่อเจ้าซื้อให้ทั้งสิ้น เจ้าไม่ได้ซื้อหามาให้ลูกเจ้าแม้แต่ชิ้นเดียว เจ้าชายอาชาตศัตรูเมื่อได้ฟังดังนั้นจึงสำนึกผิดและรีบเสด็จไปยังที่คุมขังเพื่อนำพระบิดาออกมารักษาพยาบาล แต่พบว่าพระบิดาได้สิ้นพระชนม์ไปเสียแล้ว จึงรู้สึกเสียใจมากและรีบเสด็จไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับเล่าเรื่องให้ฟังดดยตลอด พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าเพราะคบคนผิดจึงได้ทำบาปมหันต์เช่นนี้ แต่เพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา ให้นำพระโอรสมาถวายเป็นทานในพระพุทธศาสนา โดยให้เขาสมัครใจ เมื่อทราบดังนั้น เจ้าชายอาชาตศัตรูจึงได้นำพระโอรสพร้อมด้วยพระสหายอีก 500 คน ที่มีความสมัครใจ และบิดามารดาอนุญาตแล้วไปถวาย โดยเริ่มแรกให้อาบน้ำขมิ้นส้มป่อย น้ำอบน้ำหอมที่แช่ด้วยเพชร พลอย ทองคำ และเงินไปรับศีล 5 จากพระพุทธเจ้า และแต่งกายด้วยเครื่องนุ่งห่มของส่างลอง นำไปแห่ตามถนนสายต่างๆในกรุงราชคฤห์ เมื่อครบ 7 วัน จึงนำส่างลองไปบรรพชาเป็นสามเณรต่อหน้าพระพุทธเจ้าและเหล่าพระสงฆ์สาวกทั้งหลาย พระพุทธเจ้าจึงให้นามพระโอรสองค์นี้ว่า “ จิตตะมเถรี “ จึงเป็นที่มาของปอยส่างลองที่คนไทยใหญ่ไดยึดถือสืบทอดกันมา[6]

ขั้นตอนการจัดงานปอยส่างลอง

แก้
ไฟล์:ส่างลอง4.jpg
ส่างลอง
ไฟล์:ส่างลอง 12.jpg
วัดจองแป้นสถานที่จัดงานปอยส่างลองแห่งหนึ่งใน ต.เวียงอ.ฝาง จ.เชียงใหม่

ปอยส่างลองหรืองานบวชลูกแก้วนั้นเป็นพิธีการเฉลิมฉลองของการบรรพชาสามเณรในศาสนาพุทธซึ่งปกติจะมีการจัดงานอยู่ประมาณสามวัน แต่หากผู้ที่ทำการบวชนั้นมีฐานะดีก็จะมีการฉลองยาวนานเป็น 5 หรือ 7วันได้ ซึ่งงานดังกล่าวนี้จะนิยมจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม หรือเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ว่างเว้นจากการทำนาทำไร่ และเป็นช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนของเด็กๆด้วย โดยประเพณีปอยส่างลองนี้เป็นประเพณีของคนไทยซึ่งมีเชื้อสายเป็นชาวไทใหญ่ ดังนั้นเราจึงจะพบเห็นประเพณีนี้กันมากในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และในบางส่วนของภาคเหนือ รวมทั้งจังหวัดเชียงใหม่ด้วย

ในการบรรพชาเป็นสามเณรนั้นก็เพื่อศึกษาพุทธธรรมและเพื่อเป็นการทดแทนคุณบิดามารดา เหมือนอย่างที่พระราหุลซึ่งเป็นพระโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ(พระพุทธเจ้า)กับพระนางยโสธรา(พิมพา)บวชเป็นสามเณรองค์แรกในพุทธศาสนา ก็เพื่อดำเนินรอยตามคำสั่งสอนของพระบิดา พระราหุลท่านเป็นผู้ใคร่ในการศึกษาธรรมวินัย จึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย

ก่อนที่จะถึงวันประเพณีปอยส่างลองหนึ่งวัน เด็กชายผู้ชายทุกคนที่เข้าร่วมประเพณีนี้จะต้องปลงผมและอาบน้ำให้สะอาดที่สุด และเจิมด้วยน้ำหอมเพื่อให้มีกลิ่นหอม แต่งกายด้วยชุดเสื้อผ้าเครื่องประดับต่างๆอย่างอลังการ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ใส่เครื่องประดับที่เป็นของจริงโดยมากจะเป็นเพชร พลอย และทองที่ทำขึ้นมาเหมือนจริงเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพราะกลัวของมีค่าสูญหายระหว่างการแห่ส่างลอง แต่ก็มีบางคนที่มีฐานะให้ลูกหลานใส่ของจริงก็มี นอกจากนั้นก็ยังมีการแต่งหน้าแต่งตาด้วยสีสันที่จัดจ้านให้ส่างลอง(ลูกแก้ว) ดูสวยงามมีสง่าราศีเหนือคนทั่วไป

วันแรกของปอยส่างลอง หรือชาวบ้านจะเรียกกันว่า "วันเอาส่างลอง" จะเริ่มด้วยขบวนแห่ลูกแก้วซึ่งลูกแก้วก็จะมีการแต่งกายอย่างสวยงามเปรียบเหมือนกับเทวดาตัวน้อยๆ แห่ไปรอบๆเมืองตามถนนหนทางต่างๆ ซึ่งในขบวนแห่ก็จะประกอบไปด้วยเสียงดนตรีอันแสดงถึงความสนุกสนานรื่นเริงจากเครื่องดนตรีของไทใหญ่ ได้แก่ มองเซิง (ฆ้องชุด) ฉาบ และกลองมองเซิง (กลองสองหน้า)

ในอดีตนั้นการแห่ลูกแก้วไปรอบๆเมืองจะให้ลูกแก้วขี่ม้าแต่ปัจจุบันก็เปลี่ยนไปเพราะม้านั้นไม่ได้หากันง่ายๆเหมือนดังเช่นสมัยก่อน ในสมัยปัจจุบันก็จึงแห่ลูกแก้วโดยการให้นั่งเก้าอี้แล้วนำไปใส่หลังรถยนต์แห่ไปรอบเมืองแทน ในขบวนแห่ลูกแก้ว ลูกแก้วแต่ละคนก็จะมีผู้ติดตามซึ่งก็อาจเป็นพ่อ หรือญาติพี่น้องที่เป็นผู้ชาย เพราะลูกแก้วนั่นเขาเปรียบเสมือนเป็นเทวดา ต้องใส่ถุงเท้าสีขาวตลอดทั้ง 3วันที่จัดงาน และห้ามไม่ให้ลูกแก้วได้เหยียบพื้น ดังนั้นเวลาจะไปที่ใดก็ต้องมีคนคอยแบก(ม้าขี่) หรือนำขี่คอไปยังที่ต่างๆ และก็ต้องมีอีกคนหนึ่งทำหน้าที่กางร่มที่มียอดสูงประดับทองกันแดดให้ไม่ให้ลูกแก้วต้องโดนแดดเผา นอกจากนี้ยังมีคนที่ต้องดูแลเพชรพลอยของมีค่าต่าง ๆ ที่ลูกแก้วสวมใส่อยู่ตลอดเวลาเพื่อป้องกันการตกหล่นหรือโดนลักขโมย

จากนั้นเมื่อขบวนแห่รอบเมืองเสร็จสิ้น ก็จะเป็นขบวนแห่ลูกแก้วเหล่านั้นไปเยี่ยมญาติ ๆที่บ้าน หรือบางทีอาจเป็นผู้สูงอายุ ผู้อาวุโส และบุคคลสำคัญๆในชุมชน เพื่อไปทำแสดงความเคารพนับถือ และรับศีลรับพร จากนั้นญาติ ๆ และผู้สูงอายุก็จะใช้ด้ายสีขาวผูกข้อมือให้ลูกแก้วทุกคนเพื่อป้องกันวิญญาณชั่วร้ายต่าง ๆ และบางทีก็จะให้ของกำนัลแก่ลูกแก้วบางคนอาจให้เป็นเงิน บางคนให้ขนม เป็นต้น

วันที่สอง หรือ "วันรับแขก" ก็จะมีขบวนแห่คล้ายๆกันกับวันแรกแต่ในวันที่สองนี้ในขบวนแห่จะประกอบด้วยเครื่องสักการะ ธูปเทียนต่างๆ เพื่อถวายพระพุทธ และเครื่องจตุปัจจัยถวายพระสงฆ์ ในช่วงเย็น หลังจากที่ลูกแก้วรับประทานอาหารแล้วเสร็จ ก็จะมีพิธีทำขวัญและการสวดคำขวัญ เพื่อเตรียมตัวให้ลูกแก้วซึ่งจะเข้ารับการบรรพชาในวันรุ่งขึ้น โดยผู้นำที่ประกอบพิธีก็จะเป็นผู้อาวุโสที่ศรัทธาวัดทุกคนให้ความเคารพนับถือ

วันสุดท้าย คือ "วันบวช" พิธีของวันนี้จะเริ่มด้วยการนำลูกแก้วไปยังวัด พอถึงวัด ลูกแก้วทั้งหมดก็จะกล่าวขออนุญาตเพื่อทำการบรรพชาจากพระผู้ใหญ่ เมื่อท่านได้อนุญาต ลูกแก้วก็จะพร้อมกันกล่าวคำปฏิญาณตน และอาราธนาศีล แล้วจึงเปลี่ยนเครื่องแต่งกายจากชุดเสื้อผ้าส่างลองที่สวยงามมาเป็นผ้ากาสาวพัตร์สีเหลือง และเป็นก็สามเณรอย่างสมบูรณ์ โดยอาจจะอยู่หลายเดือนเพราะว่าเป็นช่วงปิดเทอมหรืออยู่ 2-3 อาทิตย์ก็ได้[7]

คำฮ้องขวัญลูกแก้ว

แก้

อัชชะโส อัชชะไชยโย อะชะในวันนี้ วันเป็นวันดี เป็นวันที่เจ้าจะเข้ามาบวชในศาสนา ก่อนที่จะเรียกขวัญ เวลานี้เป็นเวลาอันเหมาะ จะขอปัดเคราะห์สะเดาห์ภัย วัพป๊ะว่าเคราะห์ก็หื้อหลีหนไกล๋ สัพป๊ะว่าเคราะห์ทั้งหลายหมายถึงเคราะห์ฉิบเคราะห์หายเคราะห์ต๋ายเคราะห์วาย เคราะห์เมื่อเช้าเคราะห์เมื่องาย เคราะห์เมื่อขวายบ่ายหล้า เคราะห์ปีหลังตวามาถ้า เคราะห์ปีหน้าอย่ามาติด เคราะห์มาผิดหลายหลากเคราะห์ได้ปากเป็นกา เคราะห์เป็นลำมาใหล้ เคราะห์เจ็บไหม้ก็หื้อหลีกหนีไกล๋หื้อตกไปตามเส้นไหมหื้อยกย่างย้ายออกจากกายา ลงสู่พระสุธา อันลึกมากจนเถิงพระยานาค อย่าได้กลับคืนมา สัพป๊ะทุกข์ โรคา พยาธิ์วินาสันตุฯ

ไชยะตุภวังค์ ไชยะมังคลัง เป็นไชยะล้ำเลิศ ก่อนที่จะเรียกขวัญ ขอกล่าวกำเนิดกฎหมาย ยามเมื้อเจ้ามีวิญญาณ แอ่วแสวงหาลุกจากเมืองแมนเขตห้อง จากเทศท้องเมืองสวรรค์มาอยู่ในครรภ์แห่งห้อง อยู่ครรภ์ท้องแห่งแม่มารดา คามนักปราชญ์ทานกล่าวไว้ว่ามีวิญญาณ เท่าเส้นผมตัดมนผ่าแปด จึงจักแขวดเข้ามาติดกัน เหนือจอมขวัญแห่งพระพ่อ แรกก่อตั้งเอาปฏิสนธิ ในเคหะมงคลแห่งห้อง ตั้งอยู่ในท้องแม่มาดา แม่ก็เป็นห่วงบุตรีบุตราลูกเต้า อาหารที่เคยกินลำเมื่อก่อนนั้นเล่า กลัวลูกทุกข์โศกเศร้าภายใน ของกิ๋นใดส้มฝาดของกินลำจะหยากสักปานใด แม่ก็บ่กินลงไปเนอเจ้าเพราะกลัวลูกเต้าบ่ได้เกิดและบ่ได้หันบ้านเมือง พ่อเจ้าก็มีการฝืดเคืองหลายหลาก พ่อมีความทุกข์ยากแก่สาหัส กั้นใจอดเลี้ยงลูกเต้า ความหวังจะหื้อลูกเต้าใหญ่ขึ้นมา ยามเมื่อเจ้าเป็นโรคาน้อยใหญ่ ท่านก็เอาใจใสวิ่งหาหยูกยามาใส่หื้อเจ้า การที่เจ้าได้ใหญ่มาจนป่านนี้เล่าก็เพราะพ่อแม่เจ้าอุปถัมภ์บำรุงกันเอาใจใส่ ก็สูญเสียเปล่าลองทีละจะกินเข้าได้ยินเสียงลูกไห้เล่า ฟังวงกำเข้ายังแหนมกินจะไขความจริงหื้อเจ้า คนที่รักลูกเต้าเหลือแหล่ เราจะห่อเข้าไปเซาะหาวันคำเหมือนดั่งพ่อแม่นั้นนาหาบ่ได้ ในโลก๋าโลกหล้า จะกล่าที่พ่อแม่ได้ทุกข์ยากกับเจ้าจนพร้อมก็ดูจะยาวไป กล่าวแต่เพียงนี้พอชี้หื้อท่านเข้าใจ หื้อท่านวินิจฉัยเอาเนอเจ้าท่านก็จะรู้ว่าท่านเป็นหนี้บุญคุณ พ่อแม่ผู้บังเกืดเกล้า จะนับหื้อมันเสียงนั้นเล้า ก็เหลือที่จะพรรณนาก็หาที่สุดบ่ได้ สรุปใจความที่เจ้าเกิดใหญ่มาตราเถิงที่ได้มาบวชนีไซร้ ก็เพราะแม่เจ้าทั้งมวลฯ

ด้วยเหตุนี้ท่านบ่ควรลืมพ่อแม่ ผู้บังเกิดเกล้า จะต้องตอบแทนบุญคุณพ่อแม่เจ้า ที่ท่านเลี้ยงเฮามาวันนี้เป็นตกแต่งดา เรียกว่ามื้อจั๋นวันดี จึงตกแต่งขันบายศรีงขันบายศรีขอบนั้นนับว่าได้หลายชั้นใส่มาลา สัพป๊ะดกจุมป๋าจุ๋มปี๋ สารภีบานหอมอ่อนสลืดสะแล่งแบ่งบานชอนดอกคะยอม และดอกบานชื่นมีกลิ่นหอมหื่นชื่อใจ๋ พร้อมทั้งดอกเก็ตถะหวาสะบันงาหอมยืนบ่ก้ายเหน็บเหล้นม่ายสงสาร สลิดบานบ่หย่อน รสบ่ผ่อนกันธัง สัพป๊ะบุผังดวงดอกกไม้เยอปีล่านั้นไซร้ ก็เสาะสอดหาเอามา สัพปะโภชะนาขงกิ่นใส่ทางในมีกลิ่นหอมหื่น รวมเรียกว่าขันมงคลยืนยอถวาย บรรดาขวัญทั้งหลาย อันไคลคลาเหเจียรจาก หากขวัญเจ้าได้พรากจากก๋ายา แม่ว่ขวัญเจ้าไปลี้ป่าเส้าแดนดงหนา ก็หื้อรีบเร็วมาอย่าช้า ก็หื้อมาน้อมหน้าอยู่ก๋ายยา แม้นขวัญเจ้าจะได้ไคลคลาไปที่อื่น ไปชมชื่นติดอยู่น้ำค้าของขาย ไปใกล้และไกล๋จะไปติดอยู่ของอันใดจับมอก จะไปติดอยู่บ้านนอกหรือในเวียง วันนี้เป็นวันสุขเสถียรเที่ยงเต้า ขอเชิญขวัญเจ้ารีบมาเร็วมา เชิญมาชมบุผาดวงดอกไม้ อันตกแต่งไว้มีทั้งโภชนัง แม้นขวัญเจ้าไปอยู่ไกล๋อยู่มาก กินแก๋งอ่อนชิ้นลาบก็รีบมาเร็ว แม้นขวัญเจ้าไปอยู่โรงก๋วยเตี๋ยว ก็ขอรีบมาเร็วเต็มที่แม้นจะไปติดที่บะหมี่และข้าวซอย แม้นจะไปกอยอันใดของแปลกประหลาด มันสวยงามเลามากนักหนา ขวัญเจ้าอย่าไปสะหลำชำกาอยู่ที่ของลวงโลกวันนี้เป็นวันผาเสริฐเรียกว่าวันชัยมงคล เชิญสามสิบสองขวัญเข้ามาอยู่ในกายาในเลิศแล้ว หื้อมาทั้งขวัญคิ้วและขวัญต๋า ขวัญโสมาและขวัญแก้ม ขวัญจักษุต๋าแจ้งสว่างใสดี ทั้งขวัญหูมีทั้งคู่ ก็หื้อมาอยู่เทียมแฝงมาทั้งขวัญหลังขวัญแหล่ ขวัญข้างแข้งขวัญแขนขวัญมือสุบแหวนใฝ่อ้าง ดูสล้างหน่อเทียมคิง มาทั้งขวัญตีนอันเจ้าได้ย่ำใส่ดินไม้หนามถูกต้อง ขวัญสามสิบสองขวัญ ขอเชิญมาพร้อม หื้ออยู่แห่งห้องก๋ายาฯ (ต่อจากนี้ ให้ผู้ฮ้องขวัญเอาด้ายผูกมือส่างลอง(ส่างลอง)มาผูกข้อมือข้างซ้ายก่อน แล้วว่าต่อไป)

บัดนี้ขวัญเจ้าก็มาอยู่กับเจ้ากับจอม ตั้งแต่วันนี้ปายหน้าเจ้าจะได้เป็นลูกศิษย์พระพุทธองค์ตนสะอาด จะเป็นลูกศิษย์พระภาคองค์บรมศาสดา ตั้งแต่นี้คืนหลัง เจ้าเคยนุ่งกางเกงและสวมเสื้อ ตั้งแต่นี้ไปหน้าเจ้าจะไม่มีใจ๋ใฝ่อ้อกางเกงและเสื้อที่เจ้าเคยสวมมา ขอหื้อใฝ่ใจผ้าของพระพุทธาที่ท่านบัญญัติเอาไว้ก๋ารบวชนี้ไซร้ ก็บ่ใช้ของง่ายเนอนาย กันได้บวชแล้วก็ขอหื้อคิดไปหลายๆบ่ใช่ของง่ายอย่างใด จะอธิบายอย่างสังเขปไปหน้า อันหมูเฮาเจ้าข้า ได้บวชได้พบก็เป็นการอันยาก กันพระสิทธัตถะท่านบ่ออกบวช เฮาก็บ่พบศาสดา พระสิทธัตถะออกบวชชียาจะได้พระธรรม อันเป็นคสามจริงจะได้ตรัสรู้ก็เป็นอันยาก รู้แล้วจะเอาพระธรรมเผยแผ่ก็ยาก พอพระพุทธเจ้าได้ดับขันธ์ปรินิพพานไป กันพระสงฆ์เจ้าบ่ช่วยกันนำเอาศาสนามาเผยแพร่ เฮาก็บ่ได้ทันฮู้ได้หัน ตลอดถึงพระสงฆ์เจ้าในปัจจุบัน ครูบาจารย์ช่วยแนะนำสั่งสอนเจ้า มีแต่พระสงฆ์เจ้าสืบศาสนากันบิดามารดาบ่เอาใจใส่ เจ้าบ่ได้ใหญ่มาเป็นคน บ่ได้บวชในพระศาสนาพระทัสสะพลต๋นผ่านเผ้า เจ้าครบบริบูรณ์แล้วทุกอย่างพันอัน เมื่อเจ้าอยากได้อย่างนี้ หื้อเจ้าคิดขวดรู้เข้าใจหันขอหื้อศึกษาเล่าเรียนธรรมพ่ำเพ็งอย่าขาด อย่าได้ประมาทสมที่เจ้าได้บวชยากนักหนา ส่วนศีลข้อใดๆบ่จำต้องบอก ท่านก็ได้เรียนมาแล้วตลอดรู้แล้วรู้รอดเหมือกนกันหื้อพ่ำเพ็งศีลธรรมไปไจ้ๆ แหล่จะได้โผดพ่อแม่วงศา โผดญาติกาและศรัทธาการบวชในพระศาสนาขอหื้อเป็นบุญกุศลกับท่านหื้อมีแสงสว่างต่อศีลธรรม พุทธศาสนาจะดีงามรุ่งเรืองไปปายหน้านับว่าบ่เสียเวลา ที่ท่านเกิดมาในโลกหย้าพบ พระพุทธศาสนาที่ผู้ข้าได้พรรณนาโวหารมานี้สมควรแก่เวลา ผู้ข้าบ่ใช่เทศนาสั่งสอนเจ้า เพียงแต่เตือนสติกันพ่อง พอรู้เรื่องถ้อยทางพระพุทธศาสนาเป็นการวิเศษประวรบัดนี้จะขอหื้อพร หื้อเจ้าตั้งแต่วันนี้ไปหน้าเล้า หื้อท่านผาศะจากเสียงสัพพะทุกขะ สัพพะโรคา สัพพะอุบาวท์ สพพะภัยยะกังวล อันตราย เป็นต้นว่า เคราะห์ปี เคราะห์เดือน เคราะห์วัน เคราะห์หลับ เมื่อตื่น เมื่อยืน เมือเตียว เมื่อเคียวเมื่อกิ๋น จุ่งระงับกลับกลายไปเป็นดั่งอุทั่ง ไหลกลิ้งกลาดตกจากใบบัวใบหมอ ขอประกอบไปด้วยอายุปี อายุเดือน อายุยาม โชคปี โชคเดือน โชควัน โชคยามไปไจ้ๆ หื้ออยู่ค้ำชูศาสนาองค์พระสะหลีสัพพัญญูพะพุทธเจ้า ตนประเสริฐแล้วแจ้ว ไปตราบเลี้ยงจิระกาลนานนักนั้นเน้อ จุ่งจักมีเที่ยงแท้ดีหลีฯ (แล้วว่าสัพพี..............ต่อจนจบ)[8]

คำสอนส่างลอง (คำสอนลูกแก้ว)

แก้

พระสงฆ์เป็นผู้ทำพิธีบรรพชาและอุปสมบท ซึ่งเมื่อให้คำสอนแก่ส่างลองและส่างลองได้เป็นสมาเณร ประเพณีและพิธีกรรมการบวชส่างลองก็ยุติเสร็จสิ้น พระอุปัชฌายะผู้ประกอบพิธีพึงสอนผู้ขอบรรพชาอุปสมบทดังนี้ “บัดนี้ตัวเจ้ามาขอบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาควรปลูกศรัทธาความเชื่อเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้เป็นผู้ตั้งศาสนา และทรงอนุญาตการบรรพชาอุปสมบทอันนี้เบื้องต้นที่จะปลูกศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสนั้น ต้องศึกษาให้รู้จักพระพุทธเจ้าว่ามีคุณความดีอย่างไร เสียก่อนฯ

พระพุทธเจ้านั้นมีคุณความดี คือมีพระปัญญาปรีชาฉลาด รอบรู้ในสิ่งที่ควรรู้ควรเห็นทั้งคุณและโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ตลอดถึงอริยสัจจ์ ๔ ไม่มีใครเป็นครูสั่งสอน ส่วนนี้พระปัญญาคุณ ทรงละสิ่งที่เป็นโทษ คืออาสวกิเลสเครื่องเศร้าหมองได้หมด กับทั้งวาสนา คือกิริยา กาย วาลาที่กิเลสอบรมมานาน ทรงบริบูรณ์ด้วยความดีที่เป็นคุณธรรมโดยอเนกประการ ส่วนนี้เป็นพระบริสุทธิคุณ มีพระบวรสันดานที่เต็มไปด้วยความเมตตากรุณา ในหมู่สัตว์ซึ่งเร่าร้อนอยู่ด้วยเพลิงกิเลสและกองทุกข์ ทรงแสดงธรรมสั่งสอนให้สัตว์ได้ฟังแล้วปฏิบัติตาม ดับเพลิงกิเลสและกองทุกข์เสียได้ มิได้ทรงเห็นแก่ความลำบากทุกข์ยากเหน็ดเหนื่อยของพระองค์ ส่วนนี้พระกรุณาธิคุณ ฯ

ท่านผู้ดำรงในพระคุณทั้งสามประการนี้ว่า พระพุทธเจ้าแผลว่าท่านผู้รู้ดีรู้ชอบ ฯ เมื่อพระพุทธเจ้ารู้ดีรู้ชอบเช่นนี้แล้ว ทรงเอ็นดูกรุณาในหมู่สัตว์ จึงได้ทรงแสดงธรรมแนะนำสั่งสอนประกาศข้อปฏิบัติคือศีล สมาธิ ปัญญา ฯ ความรักษากายวาจาใจให้บริสุทธิ์ ไม่ประพฤติล่วงกิเลสอย่างหยาบ ที่จะพึงกระทำด้วยกายวาลา ชื่อว่าศีล ฯ ความรักษาใจให้บริสุทธิ์คือเพ่งใจไว้ในอารมณ์เดียว ไม่ให้เกาะเกี่ยวเศร้าหมองด้วยนิวรณ์ทั้ง ๕ ชื่อว่าสมาธิ ฯ ความทำทิฐิความเห็นให้ซื่อตรงตามความเป็นจริงชื่อว่าปัญญา ฯ

ทั้งสามประการนี้รวมเรียกสั้น ๆ ว่า พระธรรมเพราะเป็นสภาพที่ผู้ทรงปฏิบัติไว้ให้เป็นคนดี ไม่ให้เป็นคนชั่วและให้ตั้งอยู่ในที่ดี มิให้ตกไปในที่ชั่ว มีทุคคติอบายเป็นต้น ฯ หมู่ชนที่ได้สดับธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งใจปฏิบัติตามศีลสมาธิปัญญา ทำให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ จนละอาสวกิเลสให้ขาดจากสันดาน โดยเอกเทศบ้าง โดยสิ้นเชิงบ้างโดยชั่วคราวบ้าง เรียกว่าพระสงฆ์ เพราะเป็นหมู่เป็นพวกที่ประพฤติเสมอเหมือนกัน ด้วยศิล และทิฏฐิ ฯ

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทั้งสามนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา ผู้จะมาขอบรรพชาอุปสมบท ต้องตั้งใจถึงสรณะที่พึ่งที่เคารพนับถือเสียก่อน เพราะเหตุนี้(ตัวเจ้า) จงตั้งใจในบัดนี้ว่า บัดนี้ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่ระลึกเคารพนับถือของข้าพเจ้า บัดนี้ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะที่เคารพนับถือของข้าพเจ้า บัดนี้ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะที่ระลึกเคารพนับถือของข้าพเจ้า ฯ เมื่อถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่ระลึกเคารพนับถือดังนี้แล้ว ก็ควรได้บรรพชาอุปสมบทต่อไปฯ

อนึ่ง พึงรู้จักหน้าที่ของการบรรพชาอุปสมบทนั้นว่ามีประโยชน์อย่างไร เมื่อจะกล่าวให้เห็นง่าย ๆ ก็คือ มีประโยชน์ที่จะได้ตั้งหน้าเล่าเรียนศึกษาแล้วปฏิบัติตาม ศีล สมาธิ ปัญญา รักษากายวาจาใจทิฏฐิ ทำให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ดีได้ง่าย เพราะเป็นคฤหัสถ์มีกิจกังวลห่วงใย ยากมากที่จะทำได้ ทั้งตั้งอยู่ในที่ใกล้กับอารมณ์ที่ล่อจิตให้เกิดความรักบ้าง ความโกรธบ้าง ความหลงบ้าง ความเมามัวบ้าง ไม่เป็นทางที่จะประพฤติปฏิบัติทำให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ดีได้ง่าย ๆ ส่วนบรรพชาถือเพศเป็นบรรพชิต ละกิจกังวลห่วงใย ทั้งตั้งอยู่ในที่ห่างไกลจากอารมณ์เช่นนั้น เป็นทางที่จะประพฤติปฏิบัติทำให้บริสุทธิ์บริบูรณ์จากอาสวกิเลสได้ง่ายแต่มิใช่ได้อุปสมบทแล้ว กิเลสอาสวะหมดสิ้นไปเองก็หาไม่ต้องอาศัยตั้งใจปฏิบัติขัดเขลากิเลสอย่างหยาบที่ล่วงทางกาย วาจาด้วยศีลแล้วตั้งใจปฏิบัติขัดเกลากิเลสอย่างกลาง คือนิวรณ์ทั้ง ๕ ที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตทำให้เศร้าหมอง ด้วยสมาธิคือเพ่งใจไว้ในอารมณ์อันเดียวแล้วหมั่นปฏิบัติขัดเกลากิเลสอย่างละเอียดสุขุม อันเกิดขึ้นทำทิฏฐิ ความเห็นให้ผิดวิปริตไปจากความจริงด้วยปัญญา คือความรู้จริงเห็นจริง ศีลที่ต้นนั้นก็จะได้ถึงด้วยการบรรพชาอุปสมบทอันนี้ ๆ

ต่อไปจงตั้งใจเรียนพระกรรมมัฏฐาน ตามแบบโบราณาจารย์แต่ปางก่อนที่ได้สอนกันสืบ ๆ มาเป็นอุบาย สำหรับจะทำสมาธิให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นที่ตั้งของปัญญาต่อไป จงศึกษาไปตามแบบบาลีดังนี้ก่อน เกสา โลมา นขา ทันตา ตะโจ นี้เรียก่าอนุโลมคือว่าไปตามลำดับแล้วถอยกลับเข้ามาเป็นปฏิโลม ว่า ตะโจ ทันตา นขา โลมา เกสา ฯ จงศึกษาให้รู้เนื้อความ เกสา คือสิ่งที่เป็นเส้น ๆ งอกขึ้นศีรษะเบื้องหน้าเพียงหน้าผาก เบื้องท้ายเพียงปลายคอต่อ เบื้องขวามีหมวกหูทั้งสองข้างเป็นที่สุดได้แก่ผม ฯ โลมาคือสิ่งที่เป็นเส้น ๆ ยกเกสาเสีย งอกขึ้นทั่วสรรพางค์กาย ยกเว้นฝ่ามือ ฝ่าเท้าได้แก่ ขน ฯ นขา คือสิ่งที่เป็นเกล็ดเกล็ด งอกขึ้นตามปลายมือปลายเท้าครบทุกแห่ง ได้แก่เล็ก ฯ ทันตา คือกระดูกที่เป็นซีก ๆ งอกขึ้นที่คางเบื้องล่างเบื้องบน สำหรับบดเคี้ยวอาหาร ได้แก่ฟัน ฯ ตะโจ คือสิ่งที่หุ้มอยู่ทั่วตัวได้แก่หนัง ฯ เมื่อรู้จักสิ่งที่ ๕ อย่างนี้แล้ว พิจารณาอย่างไร จึงจะเป้นพระกัมมัฏฐาน ถ้าพิจารณาว่า เป็นของดีของงามน่ารักใคร่พึงใจ ก็ไม่เป็นพระกัมมัฏฐาน เพราะการพิจารณาเช่นนั้น เป็นเหตุที่จะทำความกำหนัดยินดี ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นเป็นปัจจัยที่จะยั่วยวนกิเลสเช่นนั้นก็เกิดขึ้นแล้วแก่กล้ามากขึ้นต่อเมื่อพิจารณาว่าเป็นของไม่ดีไม่งาม ไม่น่ารักใคร่พึงใจเป็นของโสโครก ปฏกูลตามที่เป็จริงอย่างไรนั่นแหละเป็นพระกัมมัฏฐาน เพราะการพิจารณาเช่นนั้นเป็นเหตุที่จะห้ามความกำหนัดยินดี ซึ่งยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น เป็อุบายที่จะปราบปราบกิเลสเช่นนั้น ซึ่งเกิดขึ้นแล้วให้สงบน้อยถอยเบาบางลงไปจากสันดานทั้งจะเป็นปทัฏฐานเหตุที่ตั้งให้เกิดปัญญาความรู้จริงเห็นจริงว่าผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กับร่างกายชีวิตจิตใจอันนี้ ก็เป็นแต่สักว่าธาตุอันหนึ่งๆมาประชุมรวมเข้ากัน ล้วนเป็นของไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนคงที่อยู่เสมอเป็นทุกข์มีความเสื่อมสิ้น พิบัติแปรปรวนไปตามธรรมดาและเป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด มิใช่ตัวตนมิใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนแก่นสารคนเรา เมื่อปัญญาความรู้จริงเห็นเกิดขึ้นแล้ว ก็จะละวางอุปทาน ความยึดมั่นถือมั่นเสียได้ เมื่ออุปทานไม่มีแล้วจิตก็พ้นจากอาสวะกิเลส เป็นอันได้บรรลุถึงธรรมพิเศษ คือนฤพาน ซึ่งเป็นธรรมชาติดับกกิเลสและกองทุกข์ อันเป็นผลที่สุดในพระธรรมะวินัย เหตุฉะนั้น(ตัวเจ้า)จงตั้งใจมุ่งต่อพระนฤพานดังเช่นว่าขอบรรพชาอุปสมบทต่อไปฯ[9]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 Phromrekha, Korbphuk (2019-04-20). "Rites of Passage". The Nation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-19. สืบค้นเมื่อ 2019-04-20.
  2. SEAlang Library Burmese Lexicography
  3. 3.0 3.1 SEAlang Library Shan Lexicography
  4. 4.0 4.1 Moeng, S. T. (1995). Shan-English dictionary. Kensington, Md.: Dunwoody Press.
  5. พ่อเฒ่าจิ่งน่ะ เขื่อนนภา,สุวรรณ เพ็ชรสมัย;ผู้แปล
  6. www.ssms.moe.go.th/web2006/Web_student/web_maehongson/%CA%E8%D2%A7%C5%CD%A7.doc
  7. นายทวี ดวงฟู (ปู่ละ)
  8. นายทวี ดวงฟู (ปู่ละ)
  9. นายทวี ดวงฟู (ปู่ละ)

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้