ปลาแสงอาทิตย์
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Tetraodontiformes
วงศ์: Molidae
สกุล: Mola
สปีชีส์: M.  mola
ชื่อทวินาม
Mola mola
(Linnaeus, 1758)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์
ชื่อพ้อง
  • Aledon capensis
  • Aledon storeri
  • Cephalus brevis
  • Cephalus ortagoriscus
  • Cephalus pallasianus
  • Diodon carinatus
  • Diodon mola
  • Diodon nummularis

สำหรับปลาแสงอาทิตย์ที่เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก ดูที่: ปลาซันฟิช

ปลาแสงอาทิตย์ หรือ ปลาโมลา โมลา (อังกฤษ: Ocean sunfish, Pacific sunfish, Sunfish, Mola mola; ชื่อวิทยาศาสตร์: Mola mola) เป็นปลาทะเลกระดูกแข็งชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาแสงอาทิตย์ (Molidae) ในอันดับปลาปักเป้า (Tetraodontiformes)

ลักษณะ แก้

เป็นปลาที่มีรูปร่างประหลาด เนื่องจากมีรูปร่างเป็นทรงกลม ส่วนหัวมีขนาดใหญ่จนดูคล้ายมีแต่เพียงหัวอย่างเดียว ขณะที่ส่วนครีบต่าง ๆ ถูกหดสั้นลง โดยส่วนครีบหลังมีขนาดใหญ่ตั้งยาวขึ้นไปข้างบน แลดูคล้ายครีบปลาฉลามยามเมื่ออยู่ผิวน้ำ[3] และครีบก้นให้มีขนาดใหญ่ยื่นยาวลงมาด้านล่างลำตัว เมื่อว่ายน้ำจะใช้ครีบทั้ง 2 โบกไปมา ในขณะครีบข้างลำตัวทรงโค้งจะมีขนาดเล็กและบาง ๆ เท่านั้น ขณะที่ครีบหางจะหดสั้นเข้ามาติดตอนท้ายของลำตัวที่หดสั้นจนดูว่าเป็นปลาที่มีแต่ส่วนหัว โดยในภาษาเยอรมันเรียกว่า "Schwimmender Kopf" (ชวิทเมนเดอร์ คอฟฟ์; "หัวที่ว่ายน้ำได้"[3]) ที่หลังดวงตาจะมีรูสำหรับให้น้ำออก เพื่อใช้ในการเคลื่อนที่ว่ายน้ำ แม้จะแลดูมีรูปร่างประหลาดแต่ก็ยังเป็นปลาที่ว่ายน้ำได้และมีความเร็วมากพอที่จะจับกินแมงกะพรุนทัน ซึ่งเป็นอาหารหลัก[4]

มีขนาดโตเต็มที่ได้ถึง 3.2 เมตร และมีน้ำหนักได้มากถึง 2,300 กิโลกรัม หรือมากกว่า 2 ตัน ซึ่งนับได้ว่าเป็น ปลากระดูกแข็งที่มีน้ำหนักมากที่สุดในโลก และมักจะว่ายชนเรือขนาดใหญ่บ่อย ๆ อีกด้วย[5]

ปลาที่ไม่มีเกล็ด มีผิวหนังที่หนาหยาบและยืดหยุ่น และมีเมือกหนา ทำหน้าที่เสมือนเกราะหุ้มตัวไปตามอายุ เพื่อเป็นเครื่องป้องกันตัว โดยเฉพาะจากเข็มพิษของแมงกะพรุนซึ่งเป็นอาหารหลัก [4]บางตัวอาจมีหนังหนาถึง 15 มิลลิเมตร

ปลาแสงอาทิตย์ สามารถพบได้ในทะเลเขตร้อนและอบอุ่นทั่วโลก ซึ่งสถานที่ ๆ พบมากที่สุด คือ เกาะบาหลี ในอินโดนีเซีย[4] มีรายงานว่าพบได้ในความลึกถึง 400 เมตร และบางครั้งอาจรวมฝูงกันหลายสิบตัว ซึ่งโดยปกติแล้วมักจะอยู่ลำพังเพียงตัวเดียว โดยกินแต่เพียงแมงกะพรุนเป็นอาหาร แต่บางครั้งจะว่ายขึ้นมาบริเวณผิวน้ำเพื่อให้ปลาขนาดเล็กชนิดต่าง ๆ เกาะกัดปรสิตที่ติดตามตัว ในดงสาหร่ายเคลป์ รวมถึงเพื่ออาบแดดด้วย[3] อันเป็นที่มาของชื่อสามัญ โดยปลาแสงอาทิตย์ถือเป็นปลาที่มีปรสิตเกาะตามตัวมากที่สุด[4] โดยอาจมีมากถึง 40 ชนิด การที่ปลาแสงอาทิตย์จะให้สัตว์อื่นมากำจัดปรสิตตามลำตัวไม่จำกัดแต่เฉพาะปลาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนกนางนวลด้วย[6]

นอกจากนี้แล้วยังจัดเป็นปลาที่วางไข่ได้มากที่สุดในโลก คือ ประมาณ 300 ล้านฟอง โดยไข่จะล่องลอยไปตามกระแสน้ำ โดยที่พ่อแม่ปลาจะไม่ดูแล ซึ่งจะเหลือรอดและโตมาจนเป็นปลาที่มีขนาดสมบูรณ์ มีเพียงไม่กี่ตัว

ปลาแสงอาทิตย์ มีวัยอ่อนจะมีรูปร่างไม่เหมือนกับปลาตัวเต็มวัย จะค่อย ๆ เปลี่ยนรูปร่างไปเรื่อย ๆ ตามวัย โดยมีขนาดแรกเกิดเพียง 2.5 มิลลิเมตรเท่านั้น และมีหนามแหลมอยู่ 3–4 ตามลำตัว ซึ่งจะเปลี่ยนไปเป็นครีบต่าง ๆ ต่อไปเมื่อปลามีอายุเพิ่มขึ้น ในธรรมชาติ ปลาขนาดเล็กจะตกเป็นอาหารของสัตว์ขนาดใหญ่กว่า เช่น ปลาฉลาม, วาฬเพชฌฆาต หรือสิงโตทะเล โดยเฉพาะสิงโตทะเลหรือแมวน้ำที่ชอบฉีกทึ้งครีบกระโดงหรือครีบหลังแม้ในวัยปลาโตแล้วก็ตาม ซึ่งยังไม่ทราบเป็นที่แน่ชัดว่าเป็นเพราะชอบเนื้อส่วนนั้น หรือทำไปเพื่อความสนุก แต่ปลาแสงอาทิตย์ตัวที่โดนฉีกทึ้งนั้นจะยังไม่ตาย แต่จะไม่สามารถว่ายน้ำได้และจะจมลงสู่ก้นทะเล กลายเป็นเหยื่อของปลาหรือสัตว์น้ำอื่นต่อไป[3] แต่ทว่าอวัยวะภายในบางส่วนมีรายงานว่ามีพิษเช่นเดียวกับปลาปักเป้าทั่วไป

มักนิยมเลี้ยงกันตามพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ทั่วโลก เนื่องจากความแปลกในรูปร่างหน้าตา และในบางแห่งมีการบริโภคกันเป็นอาหารด้วย[7][8]

อ้างอิง แก้

  1. "mola mola". ICUN. สืบค้นเมื่อ 2015-11-29.
  2. Kyodo (19 November 2015). "IUCN Red List of threatened species includes ocean sunfish". The Japan Times. สืบค้นเมื่อ 2015-11-29.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 หน้า 14 ประชาชื่น - วิทยาการ - ไอที, 'ซันฟิช' ปลาประหลาด ผู้มีชีวิตแสนเศร้า. มติชนปีที่ 40 ฉบับที่ 14388: วันพุธที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2560
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 The Giant Sunfish, " Great Ocean Adventures" .สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: อังคารที่ 19 มีนาคม 2556
  5. ["Ocean sunfish (อังกฤษ)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-07. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25. Ocean sunfish (อังกฤษ)]
  6. "ท่องโลกกว้าง: สัตว์ทะเลสุดแปลก". ไทยพีบีเอส. 18 June 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-05. สืบค้นเมื่อ 18 June 2014.
  7. รังผึ้ง, วินิจ. "โมลา โมลา ปลาประหลาดผู้น่ารัก". ผู้จัดการออนไลน์.[ลิงก์เสีย]
  8. "โมลา โมล่า ปลายักษ์ใจดี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-27. สืบค้นเมื่อ 2012-03-15.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Mola mola ที่วิกิสปีชีส์