ปลาหมอไตรมาคู
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
วงศ์: Cichlidae
สกุล: Cichlasoma
ชื่อทวินาม
Cichlasoma trimaculatum
(Günther, 1867)
ชื่อพ้อง[1]
  • Amphilophus trimaculatus (Günther, 1867)

ปลาหมอไตรมาคู หรือ ปลาหมอตาแดง (อังกฤษ: Three-spot cichlid, Trimac cichild; ชื่อวิทยาศาสตร์: Cichlasoma trimaculatum) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae)

ปลาหมอไตรมาคู เป็นปลาหมอสีชนิดหนึ่งที่เมื่อโตเต็มที่แล้วมีขนาดใหญ่ ถือเป็นต้นสายพันธุ์ของปลาหมอฟลาวเวอร์ฮอร์น ซึ่งเป็นปลาหมอลูกผสมหรือครอสบรีดในปัจจุบัน และถือเป็นปลาหมอสีชนิดที่มีลักษณะใกล้เคียงกับปลาหมอฟลาวเวอร์ฮอร์นมากที่สุด

ปลาหมอไตรมาคู ถูกค้นพบและตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ โดย อัลเบิร์ต กึนเธอร์ นักมีนวิทยาชาวเยอรมัน ในปี ค.ศ. 1896 มีถิ่นกระจายพันธุ์ในแถบอเมริกากลาง ในประเทศเม็กซิโกและเอลซัลวาดอร์ มีลักษณะเด่น คือ หัวมีความโหนกนูน ซึ่งจะเริ่มปรากฏเมื่อปลามีความยาวได้ 9-10 นิ้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ปลาจะเจริญเติบโตเร็วมาก จนกระทั่งถึง 14 นิ้ว จึงจะชะลอลง สีลำตัวมี 2 สี สีเหลืองออกส้มอ่อน ๆ โดยบริเวณลำคอเป็นสีแดงเล็กน้อย และอีกสีหนึ่ง คือ เหลือบสีเขียวออกดำ และบริเวณคอจะเป็นสีแดงเข้ม มีจุดสีดำคาดกลางลำตัว และมีจุดลักษณะคล้ายมุกอยู่รอบ ๆ จุดดำนั้น ดวงตาสีแดงสดใส

มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 35 เซนติเมตร ปลาตัวเมียจะมีครีบกระโดงหลังเป็นจุดสีดำ 2 จุด ขณะที่ปลาตัวผู้จะไม่มีจุดดังกล่าว เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 6 เดือน โดยปลาจะวางไข่ติดไว้กับพื้นหรือวัสดุต่าง ๆ ใต้น้ำ ซึ่งการวางไข่แต่ละครั้งจะออกโดยเฉลี่ยครั้งละ 1,000 ฟอง มากน้อยขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของตัวแม่ปลา ซึ่งสัมพันธ์กับอายุและสุขภาพ[2]

อ้างอิง

แก้
  1. จาก itis.gov (อังกฤษ)
  2. FLOWER HORN หรือ TRIMACU มีวิธีดูอย่างไร หน้า 39-40, นิตยสาร fish zone ฉบับที่ 17 ปีที่ 2: 15 ตุลาคม-15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้