อันดับปลาปักเป้า

(เปลี่ยนทางจาก ปลาปักเป้า)
อันดับปลาปักเป้า
ปลาปักเป้าหนามทุเรียนหนามยาว (Diodon holocanthus) เป็นปลาปักเป้าชนิดที่ใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งที่พบในน่านน้ำไทย
ปลาแสงอาทิตย์ (Mola mola)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ไฟลัมย่อย: Vertebrata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Tetraodontiformes
วงศ์
มีทั้งหมด 10 วงศ์ (ดูในรายละเอียด)

อันดับปลาปักเป้า (อังกฤษ: Puffers, Sunfishes, Triggerfishes, Filefishes) เป็นชื่อเรียกของปลาอันดับ Tetraodontiformes มีอยู่หลายชนิด หลายวงศ์ หลายสกุล อาศัยอยู่ทั้งในทะเล น้ำกร่อย และน้ำจืด โดยมากมีลำตัวกลม ครีบและหางเล็ก จึงว่ายน้ำได้เชื่องช้าดูน่ารัก หัวโต ฟันแหลมคมใช้สำหรับขบกัดสัตว์น้ำมีเปลือกต่าง ๆ เป็นอาหาร คนที่ลงเล่นน้ำจึงมักถูกกัดทำร้ายเป็นแผลบ่อย ๆ เมื่อตกใจหรือข่มขู่สามารถสูดน้ำหรือลมเข้าช่องท้องให้ตัวพองออกได้คล้ายลูกโป่ง ในบางชนิดมีหนามด้วย แต่การที่ปลาพองตัวออกเช่นนี้ จะมีผลกระทบต่ออวัยวะภายใน ในบางครั้ง เช่น ปลาตกใจอาจไปกระทบกับถุงลมซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้ในการทรงตัวเมื่ออยู่ใต้น้ำ ให้แตกได้ ปลาปักเป้าที่เป็นเช่นนี้จะไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ แต่จะลอยตัวอยู่บนผิวน้ำไปอย่างนั้น จนกระทั่งตาย เนื่องจากไม่สามารถป้องกันตัวหรือหากินได้อีก[1]

ปลาในอันดับนี้ที่รู้จักกันดี คือ ปลาปักเป้า ปักเป้าทุกชนิดเป็นปลาที่มีพิษในตัว โดยเฉพาะอวัยวะภายในและรังไข่ แม้บริโภคเพียงเล็กน้อยก็อาจถึงแก่ความตายได้ แต่บางชนิดในบางแหล่งน้ำหรือบางภูมิภาคก็มีผู้จับมาบริโภค โดยต้องรู้วิธีชำแหละเป็นพิเศษ เช่น ประเทศญี่ปุ่น นิยมบริโภคปลาปักเป้าโดยทำเป็นซูชิ จนเป็นอาหารประจำชาติญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเป็นที่รู้จัก

วงศ์ปลาปักเป้ามีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 วงศ์ คือ Diodontidae ปลาในวงศ์นี้มีฟัน 2 ซี่ Tetraodontidae ปลาในวงศ์นี้มีฟัน 4 ซี่ และ Triodontidae ปลาในวงศ์นี้ลักษณะลำตัวแบนข้าง สำหรับในประเทศไทยพบปลาทั้ง 3 วงศ์นี้ ทั้งหมด 42 ชนิด เป็นชนิดในน้ำจืด 9 ชนิด อีก 33 ชนิด เป็นชนิดในน้ำกร่อยรวมถึงทะเล[2]

ในประเทศไทย มีการนำปลาปักเป้ามาจำหน่ายในท้องตลาดในชื่อปลาเนื้อไก่ ซึ่งผู้บริโภคอาจได้รับพิษทำให้รู้สึกชาที่ริมฝีปาก ลิ้น ปลายนิ้วมือ คลื่นไส้วิงเวียน แขนขาไม่มีแรง ยืนและเดินไม่ได้ หายใจลำบาก หมดสติ และอาจจะอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้ [2]เนื่องจากสารพิษชื่อว่า เตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) ในหนังปลา ไข่ปลา เนื้อปลา ตับ และลำไส้ มีความทนต่อความร้อนสูง ความร้อนในการปรุงอาหาร การหุงต้ม การแปรรูป ไม่สามารถทำลายสารพิษดังกล่าวได้[3]

ส่วนปลาในวงศ์อื่นแต่อยู่ในอันดับนี้ คือ ปลาแสงอาทิตย์ (Mola mola) ซึ่งเป็นปลาที่ใหญ่ที่สุดในอันดับนี้ด้วย รวมทั้งปลาวัว (Balistidae) เป็นต้น

วงศ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. ความหวัง, "มหัศจรรย์พันธุ์ลึก" .สารคดีทางไทยพีบีเอส: ศุกร์ที่ 22 มีนาคม 2556
  2. 2.0 2.1 "ปลาปักเป้ามรณะ น้ำจืดมี 4 สายพันธุ์". ไทยรัฐ. August 10, 2016. สืบค้นเมื่อ August 9, 2016.
  3. "อย. เตือนผู้บริโภค ผู้จำหน่ายอาหาร ระวังปลาปักเป้า". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-13. สืบค้นเมื่อ 2007-08-17.
 
ปลาปักเป้าที่ชาวประมงจับได้จากชายฝั่งบางแก้ว จังหวัดเพชรบุรี

แหล่งข้อมูลอื่น แก้