วงศ์ปลาวัวจมูกยาว

(เปลี่ยนทางจาก Monacanthidae)
วงศ์ปลาวัวจมูกยาว
ปลาวัวจมูกยาว (Oxymonacanthus longirostris) เป็นปลาที่อยู่ในสกุล Oxymonacanthus
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Tetraodontiformes
วงศ์: Monacanthidae
สกุลและชนิด
26 สกุล 107 ชนิด (ดูในเนื้อหา)

วงศ์ปลาวัวจมูกยาว หรือ วงศ์ปลาตะไบ (วงศ์: Monacanthidae, อังกฤษ: Filefish, Foolfish, Leatherjacket, Shingle, เกาหลี: 쥐치) เป็นวงศ์ของปลากระดูกแข็งในอันดับปลาปักเป้า (Tetraodontiformes) วงศ์หนึ่ง

มีรูปร่างโดยรวม คือ มีผิวหนังที่หยาบ มีเกล็ดเล็กละเอียดปกคลุมทั้งตัว ครีบหลังแบ่งเป็น 2 ตอน มีก้านครีบหลังก้านแรกเป็นแท่งกระดูกใหญ่ ซึ่งแหลมและแข็งแรงคล้ายเขาสัตว์ ซึ่งสามารถใช้ยกขึ้นเพื่อป้องกันตัวเองได้ ครีบหลังตอนที่ 2 เป็นครีบที่อ่อนนุ่ม ครีบท้องลดรูปไปโดยที่ก้านครีบก้านแรกเป็นเงี่ยงแข็ง ครีบก้นยาว ครีบหางกลมเป็นรูปพัด มีฟันในขากรรไกรด้านนอก 3 ชุด และด้านใน 2 ชุด มีจุดเด่น คือ ในบางสกุลมีจะงอยปากยื่นนยาวออกมาคล้ายท่อหรือหลอด ใช้สำหรับซอกซอนหาอาหารในแนวปะการัง และมีรูปร่างที่เรียวยาวอย่างเห็นได้ชัด

โดยมากแล้วเป็นปลาที่มีขนาดเล็ก มีความยาวโดยเฉลี่ยเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 60 เซนติเมตร โดยชนิดที่ใหญ่ที่สุดยาวได้ถึง 110 เซนติเมตร พบทั้งหมด 26 สกุล ราว 107 ชนิด กระจายพันธุ์ในมหาสมุทรแอตแลนติก, แปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย

เป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามแนวปะการังหรือตามกอสาหร่ายที่มีกระแสน้ำไหลอ่อน ๆ ในระดับความลึกไม่เกิน 30 เมตร โดยหากินสัตว์น้ำที่ไม่มีกระดูกสันหลังเหมือนกับปลาในวงศ์อื่นในอันดับเดียวกัน โดยจะกินปะการังเขากวาง (Acropora spp.) เป็นอาหารหลัก หากินในเวลากลางวัน และนอนหลับในแนวปะการังในเวลากลางคืน มีการแพร่พันธุ์โดยการวางไข่ในแหล่งน้ำกร่อย มีตัวผู้เป็นผู้ดูแล

เป็นปลาที่เป็นที่นิยมชื่นชอบถ่ายรูปของนักดำน้ำอีกจำพวกหนึ่ง ซึ่งไม่มีอุปนิสัยดุร้ายก้าวร้าวเหมือนปลาในวงศ์ปลาวัว (Balistidae) และยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้ด้วย[1]

อีกทั้งในอาหารเกาหลี ยังสามารถทำเป็นอาหารรับประทานเล่นได้ด้วย โดยแปรรูปเป็นขนมอบแห้งเรียกว่า "จุยโป" (쥐포)[2] และในอดีตมีการใช้หนังของปลาในวงศ์ปลาวัวจมูกยาวนี้ทำเรือไม้ด้วย

โดยคำว่า Monacanthidae ที่ใช้เป็นชื่อวงศ์ในทางวิทยาศาสตร์นั้น มาจากภาษากรีกคำว่า "Monos" หมายถึง เดี่ยว หรือ อันเดียว ผสมกับคำว่า "Akantha" หมายถึง หนาม[3]

การจำแนก (สกุล)

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. [ลิงก์เสีย] ดำน้ำกับปลาวัวดุ / วินิจ รังผึ้ง จากผู้จัดการออนไลน์
  2. "(อังกฤษ)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-06. สืบค้นเมื่อ 2011-09-27.
  3. จาก Fishbase.org (อังกฤษ)
  4. จาก ITIS.org (อังกฤษ)