ปรากฏการณ์ความจริงลวง

ปรากฏการณ์ความจริงลวง หรือ ปรากฏการณ์การกล่าวซ้ำ  (อังกฤษ: Illusory truth effect, validity effect, truth effect, reiteration effect) เป็นความโน้มเอียงที่จะเชื่อข้อมูลเท็จว่าเป็นจริงเมื่อได้รับอย่างซ้ำ [1] เป็นปรากฏการณ์ที่ระบุครั้งแรกโดยงานศึกษาปี 1977 ที่มหาวิทยาลัยสองแห่งในเมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐ[2][3] คือทั่วไปแล้ว เมื่อประเมินความเป็นจริง มนุษย์จะดูว่ามันเข้ากับความเข้าใจของตนหรือรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาหรือไม่ วิธีแรกนั้นสมเหตุสมผลเพราะใช้วิธีเปรียบเทียบข้อมูลใหม่กับข้อมูลที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นจริง แต่การได้ยินข้อความซ้ำ ๆ กลับทำให้คล่องใจลื่นหูกว่าข้อความที่ยังไม่เคยได้ยิน แล้วทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งที่กล่าวซ้ำ ๆ น่าจะเป็นจริงกว่า ปรากฏการณ์นี้ได้ระบุว่าสัมพันธ์กับ hindsight bias คือความเอนเอียงในการเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตพยากรณ์ได้ง่ายเกินความเป็นจริง

ในงานศึกษาปี 2015 นักวิจัยพบว่า ความคุ้นเคยสามารถเอาชนะความสมเหตุผลได้ และการได้ยินบ่อย ๆ ว่า ข้อความหนึ่งเป็นเท็จ อาจมีผลตรงข้ามทำให้ผู้ฟังเชื่อเรื่องเท็จว่าเป็นจริงเพราะได้ยินบ่อย [4] แม้ผู้ร่วมการทดลองจะรู้คำตอบที่ถูกต้องตั้งแต่ต้น แต่ก็ยังเปลี่ยนความเชื่อต่อมาหลังจากได้รับข้อมูลเท็จซ้ำ ๆ นักวิจัยแสดงเหตุของปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นเพราะข้อมูลสามารถประมวลง่ายกว่า (processing fluency)

ปรากฏการณ์นี้มีผลสำคัญในเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งการหาเสียงเลือกตั้ง การโฆษณา สื่อข่าว สื่อสังคม (โดยเฉพาะการได้รับข่าวเท็จบ่อย ๆ) และโฆษณาชวนเชื่อ

งานศึกษาดั้งเดิม แก้

ในปี 1977 งานศึกษาที่มหาวิทยาลัยสองแห่งในเมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐ (คือ Villanova University และ Temple University) ได้ระบุรายละเอียดและบัญญัติชื่อของปรากฏการณ์นี้เป็นครั้งแรก งานศึกษาให้ผู้ร่วมการทดลองตัดสินข้อความต่าง ๆ ว่าเป็นจริงหรือเท็จ[2][5] คือ ในการทดลอง 3 ครั้งแต่ละครั้ง นักวิจัยได้แสดงข้อความ 60 บทแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยกลุ่มเดียวกัน ข้อความบางบทเป็นจริง บางบทเป็นเท็จ คำถามชุดที่สองได้ส่งให้ดู 2 อาทิตย์หลังจากชุดแรก และชุดที่สามอีก 2 อาทิตย์ต่อจากนั้น มีข้อความ 20 บทเดียวกันที่อยู่ในชุดคำถามทั้งหมด ข้อความที่เหลือมีอยู่แต่ในชุดของตน ๆ เท่านั้น มีการถามผู้ร่วมการทดลองว่า มั่นใจในความจริงเท็จของข้อความแค่ไหน โดยข้อความเป็นเรื่องที่นักศึกษาไม่น่าจะรู้เรื่องอะไร ยกตัวอย่างคำถามเช่น "ฐานทัพอากาศ (สหรัฐ) แรกสร้างขึ้นในรัฐนิวเม็กซิโก" หรือ "บาสเกตบอลกลายเป็นกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกในปี 1925" โดยให้ผู้ร่วมการทดลองลงคะแนนแสดงความเป็นจริงระหว่าง 1-7 สำหรับข้อความแต่ละบท

แม้ระดับความมั่นใจในความจริงของบทความที่ไม่กล่าวซ้ำจะอยู่ใกล้ ๆ กัน แต่ความมั่นใจในบทความที่กล่าวซ้ำกลับเพิ่มขึ้นจากชุดที่ 1 ไปยังชุดที่ 2 และจากชุดที่ 2 ไปยังชุดที่ 3 โดยคะแนนเฉลี่ยเพิ่มจาก 4.2 ไปยัง 4.6 ไปถึง 4.7 ข้อสรุปของนักวิจัยก็คือ บทความที่ระบุซ้ำ ๆ จะทำให้มันปรากฏว่าเป็นจริงยิ่งกว่า[1][2]

ในปี 1989 นักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งได้ทำซ้ำผลงานดั้งเดิม โดยได้ผลคล้าย ๆ กันว่า การได้รับข้อมูลเท็จซ้ำ ๆ ทำให้รู้สึกว่าข้อมูลนั้นมีโอกาสเป็นจริงยิ่ง ๆ ขึ้น[6]

ปรากฏการณ์นี้มีผลเพราะเมื่อมนุษย์ประเมินความจริง ก็จะอาศัยว่าข้อมูลใหม่นั้นเข้ากับความเข้าใจของตนหรือรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาหรือไม่ วิธีแรกนั้นสมเหตุผล เพราะใช้วิธีเปรียบเทียบข้อมูลใหม่กับข้อมูลที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นจริงและพิจารณาความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลทั้งสอง แต่นักวิจัยพบว่า ความคุ้นเคยอาจเอาชนะความสมเหตุผลได้ คือการได้ยินบ่อย ๆ ว่า ข้อความหนึ่งเป็นเท็จอาจก่อผลตรงกันข้าม เพราะทำให้เชื่อเรื่องเท็จว่าเป็นจริงเพราะได้ยินบ่อย [4]

ความสัมพันธ์กับปรากฏการณ์อื่น  แก้

ความคล่องในการประมวลผล (processing fluency) แก้

ในเบื้องต้น เชื่อกันว่าปรากฏการณ์นี้เกิดเมื่อบุคคลไม่แน่ใจในข้อความหนึ่ง ๆ ค่อนข้างมากเท่านั้น[1] นักจิตวิทยาจึงได้สมมุติว่า ข้อความที่แปลก ๆ ก็จะไม่ก่อปรากฏการณ์นี้ แต่ผลงานวิจัยต่อ ๆ มากลับแสดงว่า ปรากฏการณ์นี้ก็ยังเกิดกับข่าวปลอมด้วย[5] คืองานวิจัยปี 2015 ที่ตีพิมพ์ในวารสารจิตวิทยาเชิงการทดลอง (Journal of Experimental Psychology) ได้แสดงว่า ปรากฏการณ์นี้มีผลต่อผู้ร่วมการทดลองผู้รู้คำตอบอันถูกต้องตั้งแต่แรก แต่ต่อมากลับเปลี่ยนความเชื่อเพราะได้รับข้อมูลเท็จซ้ำ ๆ เช่น เมื่อผู้ร่วมการทดลองได้ข้อความนี้หลาย ๆ ครั้งคือ "ส่าหรีเป็นชื่อของกระโปรงสั้นมีจีบที่คนสก็อตใส่" บางคนก็จะกลับเชื่อว่านี้เป็นเรื่องจริงทั้ง ๆ ที่ได้ตอบคำถามอย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นแล้วว่า "อะไรเป็นชื่อของกระโปรงสั้นมีจีบที่คนสก็อตใส่" (คิลต์)

หลังจากที่ทำซ้ำผลงานชิ้นนี้ได้แล้ว นักวิจัยอีกทีมหนึ่งได้ระบุว่า ปรากฏการณ์ที่น่าแปลกนี้มีเหตุจากความคล่องในการประมวลผล (processing fluency) ที่มนุษย์อาศัยเพื่อเข้าใจข้อความ การได้ (รับ/ได้ยิน) ข้อมูลซ้ำ ๆ ทำให้ข้อความประมวลได้ง่ายขึ้น (คือ fluent) เทียบกับข้อความใหม่ ๆ จึงทำให้สรุปได้อย่างผิด ๆ ว่า ข้อความเหล่านั้นเป็นจริงกว่า[7][8] เมื่อบุคคลได้ยินอะไรเป็นครั้งที่สองหรือครั้งที่สาม สมองจะตอบสนองได้เร็วกว่าแล้วจึงยกว่า เพราะเป็นเรื่องที่ลื่นหูคล่องใจ นี่จึงเป็นสัญญาณว่าเป็นเรื่องจริง[9]

Hindsight bias (ความเอนเอียงว่าเข้าใจปัญหาหลังเหตุการณ์) แก้

ในงานศึกษาปี 1997 นักวิจัยสัมพันธ์ปรากฏการณ์นี้กับ hindsight bias (ความเอนเอียงว่าเข้าใจปัญหาหลังเหตุการณ์) ซึ่งเป็นความเอนเอียงที่คิดว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วนั้น ๆ สามารถพยากรณ์ได้เกินความเป็นจริง แล้วจึงจัดปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นส่วนย่อยของ hindsight bias โดยเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า reiteration effect[10]

งานศึกษาอื่น  แก้

ในงานศึกษาปี 1979 นักวิจัยบอกผู้ร่วมการทดลองว่า ข้อความที่ระบุซ้ำ ๆ ไม่ใช่ว่าจะจริงกว่าที่ไม่ซ้ำ แต่แม้จะได้คำเตือนแล้ว ผู้ร่วมการทดลองก็ยังรู้สึกว่า ข้อความที่ระบุซ้ำ ๆ จริงกว่าข้อความที่ไม่ซ้ำ[6]

งานศึกษาปี 1981 และ 1983 แสดงว่า ข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์เร็ว ๆ นี้มักมองว่า ลื่นกว่าคุ้นเคยกว่าข้อมูลใหม่ ๆ ที่เพิ่งได้ งานศึกษาปี 2011 ต่อยอดงานสองอย่างนี้โดยแสดงว่า ทั่วไปแล้ว ข้อมูลที่ได้จากความจำ "คล่องกว่าและคุ้นเคยกว่าข้อมูลที่เรียนรู้ใหม่" ดังนั้น จึงลวงให้เข้าใจว่าเป็นจริง โดยมีผลเพิ่มขึ้นเมื่อนำข้อความมาซ้ำ 2 ครั้ง และยิ่งกว่าเมื่อซ้ำ 4 ครั้ง นักวิจัยจึงสรุปว่า การระลึกจากความทรงจำเป็นวิธีที่ได้ผลเพื่อเพิ่ม "ความถูกต้อง" ของข้อความ อนึ่ง ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องสอบเรื่องที่เป็นประเด็นว่าเป็นความจริงหรือไม่[11]

งานศึกษาปี 1992 แสดงว่า ข้อความหนึ่งจะรู้สึกจริงถ้าเป็นข้อมูลที่คุ้นเคย[6] งานศึกษาปี 2012 แสดงว่า ผู้ร่วมการทดลองบางท่านที่ได้รับข่าวปลอมจะมีความจำเท็จ ข้อสรุปก็คือ ข้ออ้างเท็จที่ซ้ำ ๆ จะน่าเชื่อถือยิ่งขึ้นและอาจก่อให้ผู้รับรู้ข้ออ้างเกิดความผิดพลาด[6][5]

งานศึกษาปี 2014 ให้ผู้ร่วมการทดลองตัดสินความเป็นจริงของข้อความที่ระบุว่ามาจากบุคคลต่าง ๆ บุคคลเหล่านั้นบางคนมีชื่ออ่านออกเสียงง่ายกว่าคนอื่น ๆ แล้วพบว่า ผู้ร่วมการทดลองชี้อย่างสม่ำเสมอว่า ข้อความที่ระบุโดยบุคคลผู้มีชื่ออ่านออกเสียงได้ง่ายกว่าเป็นความจริงยิ่งกว่าข้อความของผู้มีชื่อออกเสียงได้ยากกว่า นักวิจัยจึงสรุปว่า แม้แต่สิ่งที่เกิดในใจ เป็นอัตวิสัย ไม่เกี่ยวข้องกัน ก็ยังมีผลเมื่อมนุษย์ประเมินข้อมูลที่ปรากฏมาจากใคร[3]

ตัวอย่าง แก้

แม้ปรากฏการณ์นี้จะได้ทดสอบทางวิทยาศาสตร์เมื่อไม่นานมานี้ แต่ก็เป็นที่รู้จักมานับเป็นพัน ๆ ปีแล้ว งานศึกษาหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า รัฐบุรุษโรมันกาโต้ผู้เฒ่า (Cato the Elder) กล่าวลงท้ายคำปราศรัยของเขาบ่อย ๆ โดยสนับสนุนให้ทำลายนครคาร์เธจ (Ceterum censeo Carthaginem esse delendam) เพราะรู้ว่าการกล่าวซ้ำ ๆ มักทำให้คนอื่นตกลงร่วมใจด้วย จักรพรรดินโปเลียนตามรายงานยัง "ตรัสว่า มีสิ่งเดียวเท่านั้นที่สำคัญอย่างยิ่งในเรื่องวาทศิลป์ ซึ่งก็คือ การพูดซ้ำ ๆ" คือการกล่าวย้ำซ้ำ ๆ ทำให้สิ่งนั้นตั้งอยู่ในใจ "โดยทำให้ได้การยอมรับในที่สุดว่าเป็นความจริงที่แสดงแล้ว" คนอื่น ๆ ที่ได้ใช้เทคนิคนี้รวมทั้งประธานาธิบดีสหรัฐโรนัลด์ เรแกน, บิล คลินตัน, จอร์จ ดับเบิลยู. บุช[12], ดอนัลด์ ทรัมป์[13][14] และแม้แต่ตัวละครคือ มาร์กุส อันโตนิอุส ในละครเรื่อง จูเลียส ซีซาร์ ของวิลเลียม เชกสเปียร์[10] โฆษณาระบุคุณสมบัติที่ไร้เหตุผลของผลิตภัณฑ์โดยทำอย่างซ้ำ ๆ อาจทำให้ขายผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นได้เพราะคนดูบางส่วนจะเริ่มคิดว่า ตนได้ยินคุณสมบัติเช่นนี้จากแหล่งข้อมูลอื่นที่เป็นกลาง[6] ปรากฏการณ์นี้ยังพบในสื่อข่าวและเป็นเทคนิคหลักอย่างหนึ่งที่ใช้ในโฆษณาชวนเชื่อ[4][5]

ดูเพิ่ม แก้

เชิงอรรถและอ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 "The Truth Effect and Other Processing Fluency Miracles". Science Blogs. Science Blogs. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-06. สืบค้นเมื่อ 2016-12-30.
  2. 2.0 2.1 2.2 Hasher, Lynn; Goldstein, David; Toppino, Thomas (1977). "Frequency and the conference of referential validity" (PDF). Journal of Verbal Learning and Verbal Behavior. 16 (1): 107–112. doi:10.1016/S0022-5371(77)80012-1. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-05-15.
  3. 3.0 3.1 Newman, Eryn J.; Sanson, Mevagh; Miller, Emily K.; Quigley-Mcbride, Adele; Foster, Jeffrey L.; Bernstein, Daniel M.; Garry, Maryanne (2014-09-06). "People with Easier to Pronounce Names Promote Truthiness of Claims". PLOS ONE. 9 (2): e88671. Bibcode:2014PLoSO...988671N. doi:10.1371/journal.pone.0088671. PMC 3935838. PMID 24586368.
  4. 4.0 4.1 4.2 Dreyfuss, Emily (2017-02-11). "Want to Make a Lie Seem True? Say It Again. And Again. And Again". Wired. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-06. สืบค้นเมื่อ 2017-10-31.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 Resnick, Brian (2017-06-17). "Alex Jones and the illusory truth effect, explained". Vox. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-05. สืบค้นเมื่อ 2017-10-31.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 Polage, Danielle (2012). "Making up History: False Memories of Fake News Stories". Europe's Journal of Psychology. 8 (2): 245–250. doi:10.5964/ejop.v8i2.456. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-12-31.
  7. Fazio, Lisa K.; Brashier, Nadia M.; Payne, B. Keith; Marsh, Elizabeth J. (2015). "Knowledge does not protect against illusory truth" (PDF). Journal of Experimental Psychology: General. 144 (5): 993–1002. doi:10.1037/xge0000098. PMID 26301795. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-05-14.
  8. Nason, Brian (2015-12-08). "The Illusory Truth Effect". Vox Populi News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-12-14. สืบค้นเมื่อ 2016-12-29.
  9. Resnick, Brian (2017-10-05). "The science behind why fake news is so hard to wipe out". Vox. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-20. สืบค้นเมื่อ 2017-10-31.
  10. 10.0 10.1 Hertwig, Ralph; Gigerenzer, Gerd; Hoffrage, Ulrich (1997). "The reiteration effect in hindsight bias". Psychological Review. 104: 194–202. doi:10.1037/0033-295X.104.1.194. hdl:11858/00-001M-0000-0025-A38B-2. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-22. สืบค้นเมื่อ 2016-12-30.
  11. Ozubko, JD; Fugelsang, J (January 2011). "Remembering makes evidence compelling: retrieval from memory can give rise to the illusion of truth". Journal of Experimental Psychology: Learning, Memory, and Cognition. 37 (1): 270–6. doi:10.1037/a0021323. PMID 21058878. S2CID 22767092. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-08. สืบค้นเมื่อ 2019-11-24.
  12. "Lie by Lie: A Timeline of How We Got into Iraq". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-02. สืบค้นเมื่อ 2021-06-03.
  13. Paschal, Olivia (2018-08-03). "Trump's Tweets and the Creation of 'Illusory Truth'". The Atlantic. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-05. สืบค้นเมื่อ 2019-02-25.
  14. Rathje, Steve (2018-07-23). "When Correcting a Lie, Don't Repeat It. Do This Instead". Psychology Today. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-08. สืบค้นเมื่อ 2019-02-25.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้