ประวัติของไม้กางเขนแท้
ดูบทความหลักที่ สัตยกางเขน
ประวัติของสัตยกางเขน | |
---|---|
ศิลปิน | เปียโร เดลลา ฟรานเชสกา |
ปี | ค.ศ. 1466 |
ประเภท | จิตรกรรมฝาผนัง |
สถานที่ | วัดซานฟรานเชสโก, อเรซโซ |
ประวัติของสัตยกางเขน หรือ ตำนานของสัตยกางเขน หรือ (อังกฤษ: Legend of the True Cross หรือ History of the True Cross) เป็นจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนโดยเปียโร เดลลา ฟรานเชสกา[1]จิตรกรสมัยสมัยเรอเนซองส์คนสำคัญชาวอิตาลี
“ตำนานของสัตยกางเขน” เป็นงานที่สันนิษฐานกันว่าเขียนก่อนปี ค.ศ. 1447 และเสร็จราวปี ค.ศ. 1466 สำหรับวัดซานฟรานเชสโก, อเรซโซในประเทศอิตาลี เป็นงานเขียนชิ้นที่ใหญ่ที่สุดและถือกันว่าดีที่สุดของเปียโร และเป็นงานชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของงานเขียนในสมัยเรอเนซองส์ตอนต้น
เนื้อหาของภาพมาจากตำนานที่เป็นที่นิยมกันมากที่ปรากฏในหนังสือ “ตำนานทอง” เกี่ยวกับประวัติของนักบุญที่เขียนโดยจาโคบัส เด โวราจิเน (Jacobus da Varagine) ในคริสต์ศตวรรที่ 13th เป็นเรื่องประวัติความเป็นมาของสัตยกางเขน (True Cross)-ที่เชื่อกันว่าเป็นไม้จากสวนอีเด็นที่นำมาใช้ทำกางเขนที่ใช้ในการตรึงกางเขนของพระเยซู งานชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญในการเขียนแบบทัศนียภาพและการใช้สี และในใช้เรขาคณิตในการวางภาพ และการสร้างภาพซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของงานของเปียโตร
ฉากในภาพ
แก้ฉากสำคัญในงานชิ้นนี้ก็ได้แก่
- “ความตายของอาดัม” (Death of Adam) (390 x 747 ซม) ตามตำนานแล้วกล่าวกันว่าต้นไม้ที่ใช้ทำกางเขนในการตรึงพระเยซูมาจากต้นไม้ที่เทวดาบอกให้ลูกของอาดัมปลูกบนหลุมศพของอาดัมโดยใช้กิ่งจากต้นแอปเปิลจากสวนอีเด็น
- “พระราชินีแห่งชีบาชื่นชมไม้” และ “การพบปะระหว่าง พระเจ้าโซโลมอนกับพระราชินีแห่งชีบา” (The Queen of Sheba in Adoration of the Wood และ The Meeting of Solomon and the Queen of Sheba) (336 x 747 ซม) ตามตำนานพระราชินีแห่งชีบาทรงชื่นชมชิ้นไม้จากต้นไม้ที่ใช้ทำกางเขนและมีพระดำรัสกับพระเจ้าโซโลมอนว่าพระมหาไถ่จะทรงถูกตรึงบนไม้ชิ้นนั้นและจะทำลายแผ่นดินของชาวยิว พระเจ้าโซโลมอนจึงทรงนำไม้ไปฝังซ่อนไว้จนกระทั่งมาพบโดยทหารโรมัน
- “Exaltation of the Cross” (390 x 747 ซม)
- “พระสุบินของคอนสแตนติน” (Constantine's Dream) (329 x 190 ซม) จักรพรรดิคอนสแตนติน ทรงถูกปลุกจากบรรทมโดยเทวดาที่ชี้ให้เห็นกางเขนบนสวรรค์ จักรพรรดิคอนสแตนตินทรงใช้โล่ที่ประดับด้วยกางเขนในการต่อสู้และได้รับชัยชนะต่อศัตรู หลังจากได้รับชัยชนะแล้วพระองค์ก็ทรงเปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนา
- “การพบและการพิสูจน์สัตยกางเขน” (Discovery and Proof of the True Cross) (356 x 747 ซม) ต่อมาจักรพรรดินีเฮเลนพระราชมารดาของจักรพรรดิคอนสแตนตินเสด็จไปกรุงเยรุซาเลม และทรงไปพบกางเขนที่นั่น ตำนานกล่าวเพียงว่าเมื่อจักรพรรดินีเฮเลนพยายามเสาะหาที่ที่พระเยซูทรงถูกตรึงกางเขน ชาวบ้านก็ยืนกรานไม่ยอมบอกและท้าให้พระองค์เผาหรือโยนลงไปในหลุมเจ็ดวันไม่ให้กินน้ำกินข้าว ผู้ที่บอกก็ถูกดึงขึ้นจากหลุมและสารภาพว่าจีซัสคือพระเจ้าของเขาและบอกที่เก็บสัตยกางเขน ข้อพิสูจน์ว่าเป็นกางเขนที่ใช้ตรึงพระเยซูจริงก็ตรงที่เป็นกางเขนที่เคยใช้ชุบชีวิตคน
- “ยุทธการระหว่างเฮราเคลียสและคอสเรา” (Battle between Heraclius and Khosrau) (329 x 747 ซม). กางเขนมีบทบาทในสงครามระหว่างจักรวรรดิไบแซนไทน์และจักรวรรดิซาสซานิด (Sassanid Empire) เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 7
เปียโรมิได้วาดตามตำนานทั้งหมดแต่สอดแทรกบางภาพที่นอกไปจากตำนานรวมทั้งภาพ “การพบปะระหว่าง พระเจ้าโซโลมอนกับพระราชินีแห่งชีบา” ซึ่งตามปฏิทินแล้วเป็นเรื่องคนละสมัยแต่หัวใจของภาพก็เพื่อเป็นการเน้นชัยชนะของสงครามสองสงครามที่คริสต์ศาสนจักรได้รับชัยชนะต่อผู้นอกรีต (paganism) ภาพชุดจบลงด้วยภาพการประกาศของเทพซึ่งมิใช่เป็นส่วนหนึ่งของตำนานแต่เปียโตรคงตั้งใจจะแฝงความหมายของภาพที่มีความหมายที่ครอบคลุมความคิดทั้งหมด
ปีที่วาดภาพไม่ทราบเป็นที่แน่นอนแต่เชื่อกันว่าวาดหลังปี ค.ศ. 1447 เมื่อมีหลักฐานว่าตระกูลบัชชิจ่ายค่าจ้างสำหรับจิตรกรรมฝาผนังแต่มิได้ระบุนามของจิตรกรที่จ้าง ภาพเขียนคงจะเขียนเสร็จราวปี ค.ศ. 1466 บริเวณพิธีเขียนราวต้นและกลางคริสต์ทศวรรษ 1450 แม้ว่าเปียโรจะเป็นผู้ออกแบบงานแต่งานเขียนบางส่วนก็ทำโดยผู้ช่วยซึ่งเป็นเรื่องปกติในการเขียนจิตรกรรมฝาผนังหรือภาพใหญ่ๆ ในสมัยนั้น โดยเฉพาะที่เห็นได้ชัดก็คืองานของจิโอวานนิ ดา ปิอามอนเต (Giovanni da Piamonte)