ประตูมงคลสุนทร เป็นประตูโบราณที่ตั้งอยู่ภายในพระราชวังโบราณ อยุธยา ตรงแนวกำแพงพระราชวังด้านตะวันออก กึ่งกลางท้องสนามหน้าจักรวรรดิ มุ่งหน้าเข้าสู่พระที่นั่งวิหารสมเด็จ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เมื่อได้มีชื่อปรากฏในพระราชพงศาวดารว่าประตูแห่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารภายในกรุงศรีอยุธยาถึง 2 ครั้ง

ครั้งแรกเกิดขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ เมื่อพระพิมลธรรมอนันตปรีชา หรือ พระศรีศิลป์ ซึ่งอาจจะเป็นพระราชโอรสพระองค์หนึ่งของสมเด็จพระเอกาทศรถ ที่จำพรรษาอยู่ที่วัดระฆังหรือวัดวรโพธิ์ ได้ซ่องสุมผู้คนก่อการยึดอำนาจแล้วยกกำลังเข้ามาพังประตูมงคลสุนทรแล้วเข้าไปจับสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์นำไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดโคกพระยา จากนั้นพระพิมลธรรมได้ลาสิกขาปราบดาภิเษกเป็นสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระเชษฐาธิราช พระราชโอรสองค์ใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เมื่อเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ได้ก่อการรัฐประหารโดยยกกำลังจากวัดกุฎิ (วัดร้างใกล้วัดไชยวัฒนาราม) ล่องมาขึ้นบกที่ประตูชัยทางด้านทิศใต้ของเกาะเมืองอยุธยา แล้วมาซุ่มพลอยู่ที่ศาลพระกาฬย่านตะแลงแกงอยู่จน 8 ทุ่ม ได้เวลาจึงยกเข้าฟันประตูมงคลสุนทรในพระราชวังหลวง จับสมเด็จพระเชษฐาธิราชไปสำเร็จโทษ แล้วก็ยกสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ พระราชโอรสองค์เล็กของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมขึ้นครองราชย์

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ได้เข้ามาสำรวจพระราชวังโบราณตรงบริเวณประตูมงคลสุนทรได้พบกับส่วนยอดของประตูมงคลสุนทร มีลักษณะทรงปรางค์มีพรหมพักตร์ ทำให้ทราบว่าประตูมงคลสุนทร เป็นประตูทรงปราสาท ปัจจุบันส่วนยอดของประตูมงคลสุนทรจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา นอกจากนี้ยังได้มีการขุดแต่งจนได้พบกับฐานรากของประตูมงคลสุนทรอีกด้วย[1]

อ้างอิง แก้

  1. "รู้จัก "ประตูมงคลสุนทร" พระราชวังหลวงอยุธยา ที่เกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหาร 2 ครั้ง". ศิลปวัฒนธรรม.