ประติมากรรมคลาสสิก

ประติมากรรมคลาสสิก (อังกฤษ: Classical sculpture) หมายถึงลักษณะของประติมากรรมตั้งแต่ของกรีกโบราณและของโรมันโบราณและของประชากรในภูมิภาคต่างๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากกรีซและโรมันภายใต้การปกครองของสองมหาอำนาจนี้ตั้งแต่ราว 500 ก่อนคริสต์ศักราชจนถึงการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันในปี ค.ศ. 476 นอกจากนั้นก็ยังครอบคลุมลักษณะประติมากรรมสมัยใหม่ที่สร้างขึ้นตามรูปแบบเดียวกับงานศิลปะคลาสสิก ประติมากรรมคลาสสิกเป็นที่นิยมกันมาตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา แต่งานประติมากรรมที่มีรูปแบบของศิลปะคลาสสิกเท่านั้นจึงเรียกว่าประติมากรรมคลาสสิก

อพอลโลเบลเวเดียร์” (ค.ศ. 130-ค.ศ. 140) โดย เลโอคารีส งานก็อปปีจากประติมากรรมสัมริดของกรีกที่สร้างราวปี 330-320 ก่อนคริสต์ศักราช, พิพิธภัณฑ์วาติกัน

นอกจากประติมากรรมลอยตัวแล้วคำว่าประติมากรรมคลาสสิกก็ยังหมายถึงประติมากรรมนูนเช่นหน้าบันเอลกินของพาร์เธนอนอันมีชื่อเสียง และประติมากรรมนูนต่ำ งานประติมากรรมลอยตัวมักจะเน้นรูปทรงของมนุษย์ แต่ประติมากรรมนูนจะเน้นการสร้างเป็นฉากเรื่องราวอันซับซ้อน

ประติมากรรมคลาสสิกแบ่งออกเป็นหลายสมัย:

สมัยอาร์เคอิค แก้

ลักษณะรูปทรงที่สำคัญที่สุดของประติมากรรมสมัยอาร์เคอิคคือ “ประติมากรรมคูรอส” (Kouros) ที่เป็นประติมากรรมชายยืนเปลือยเช่น “เคลโอบิลและบิทอน

ประติมากรอาร์เคอิคกรีกเดิมได้รับอิทธิพลจากประติมากรรมของอียิปต์ ประติมากรรมกรีกสมัยแรกดูแทบจะคล้ายกับงานประติมากรรมอียิปต์แบบชนบท แต่สิ่งที่แตกต่างจากของอียิปต์คือตั้งแต่แรกคือถ้าเป็นประติมากรรมของชายงานของกรีกจะเป็นชายเปลือย ซึ่งจะไม่ปรากฏในงานของอียิปต์ไม่ว่าจะในสมัยใด นอกไปจากภาพของเชลยศึก แต่ถ้าเป็นประติมากรรมสตรียังคงสวมเสื้อผ้าอยู่

ในช่วงนี้การเน้นความเป็นธรรมชาติของสรีรของกระดูกและกล้ามเนื้อต่อมายังไม่ปรากฏ ที่จะสังเกตได้จากรายละเอียดในบริเวณหัวเข่าและข้อต่อที่สำคัญ รายละเอียดบางอย่างดูเหมือนจะเป็นรายละเอียดที่เป็นลักษณะการสร้างงานแบบที่เคยทำกันมา และการวางท่าหรือการเคลื่อนไหวก็ยังไม่ดูเป็นธรรมชาติ แต่ประติมากรรมสมัยอาร์เคอิคก็ค่อยพัฒนาขึ้นมาเป็นลักษณะที่เรียกว่า “ลักษณะคลาสสิก” ที่เริ่มจะแสดงให้เห็นความรู้ทางเทคนิคและความชำนาญที่เพิ่มมากขึ้น

สมัยคลาสสิก แก้

 
ส่วนหนึ่งของ “ประติมากรรมหินอ่อนเอลกิน

สมัยคลาสสิกเป็นสมัยที่ลักษณะของทั้งรูปทรงและการใช้สอยของประติมากรรมเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การวางท่าเพิ่มความเป็นธรรมชาติมากขึ้น เช่นที่เห็นในประติมากรรม “คนขับรถม้าแห่งเดลฟี” (File:AurigaDelfi.jpg ภาพ-Charioteer of Delphi) และความเชี่ยวชาญทางเทคนิคของประติมากรกรีกในการสร้างรูปทรงของร่างกายของมนุษย์ในการวางท่าต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ราว 500 ก่อนคริสต์ศักราชประติมากรรมก็เริ่มจะเป็นรูปแบบของมนุษย์เดินดิน เช่นประติมากรรมของ “ฮาร์โมเดียสและอริสโทเจอิทอน”(ภาพ-Harmodius and Aristogeiton) ที่ตั้งอยู่ในกรุงเอเธนส์ที่เป็นประติมากรรมของชายสองคนผู้ทำการโค่นทรชนของไพซิสทราทัส ฮิปปาร์คัส ผู้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อปราชาธิปไตย ประติมากรรมชิ้นนี้จึงถือว่าเป็นอนุสาวรีย์สำหรับสาธารณชนของบุคคลจริงอนุสาวรีย์แรกในประวัติศาสตร์

เมื่อศิลปินกรีกเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับกายวิภาคและการเคลื่อนไหวของร่างกาย ก็พบว่ามนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่มักจะ “ย้ายน้ำหนัก” (weight shift) หรือเป็น “รูปตริภังค์[1][2] (Contrapposto) เมื่อยืน

ประติมากรรมกรีกชิ้นแรกที่เป็นท่าตริภังค์คือประติมากรรมชิ้นที่มีชื่อเสียงชื่อ “หนุ่มคริทิออส” (ภาพ-Kritios Boy) ที่สร้างมาตั้งแต่ราว 480 ก่อนคริสต์ศักราช “รูปตริภังค์” ไม่นานก็กลายมาเป็นองค์ประกอบหรือ “กฎ” (Canon) อันสำคัญในการสร้างงานประติมากรรม “โดริโฟรอส” (Doryphoros) หรือ “คนถือหอก” ที่ใช้การวางท่าตริภังค์อย่างมีพลังเป็นอันมากของการสร้างความสมดุลเป็นอย่างดีระหว่างแขนขาที่ยืนและแขนขาที่เคลื่อนไหว

ประติมากรรมส่วนใหญ่ของยุคนี้สร้างขึ้นเพื่อแสดงการสำนึกบุญคุณแด่เทพเจ้าผู้ทรงช่วยนำความสำเร็จมาให้, เพื่อช่วยให้นำโชคลาภที่จะตามมาในอนาคต และ เพื่อให้เทพเจ้าทราบว่ายังคงมีความเคารพอยู่ เทวสถานของกรีกในยุคนี้ต่างก็สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ตั้งของรูปสักการะขนาดใหญ่เหล่านี้ ชาวกรีกเชื่อว่าการตั้งเทวสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไว้ ณ ที่ใดก็จะทำความพึงพอใจให้แก่เทพเจ้า ณ ที่นั้น เทพเจ้ากรีกเป็นเทพเจ้าที่มาจากตำนานอันลึกลับที่มีรากฐานมาจากเรื่องราวของมนุษย์จริงซึ่งทำให้เป็นเรื่องราวผสมผสานระหว่างมนุษย์/เทพที่บางครั้งแทบจะแยกไม่ออก ฉะนั้นการสร้างประติมากรรมที่เหมือนคนจริงจึงเกิดขึ้นได้ ประติมากรรมส่วนใหญ่ที่สร้างขึ้นสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นประติมากรรมที่เป็นสัญลักษณ์ของตำนานเทพ, ตัวแทน (archetype) หรือ วัตถุประสงค์ของชีวิต

ระหว่างสมัยคลาสสิกประติมากรมิได้จะเพียงแต่จะสร้างงานสำหรับเทวสถานเท่านั้น แต่ยังสร้างงานสำหรับที่เก็บศพเพื่อเป็นการสดุดีผู้ที่เป็นที่รักผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว ประติมากรรมประเภทหลังนี้มักจะวางท่าที่สบายๆ นักกีฬาผู้ประสบความสำเร็จ หรือ ครอบครัวผู้มีฐานะมั่งคั่งก็มักจะจ้างให้สร้างประติมากรรมของตนเองสำหรับเทวสถานเพื่อเป็นการแสดงการสักการะต่อเทพเจ้า ในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราชภาพเหมือนก็เริ่มมีความนิยมกันมากขึ้น รูปปั้นครึ่งตัวของนายพล, นักปรัชญา และ ผู้นำทางการเมืองก็เริ่มปรากฏให้เห็นกันบ้าง

งานที่มีคุณภาพสูงของกรีกเป็นที่สนใจของชาวอิตาลี และมีอิทธิพลต่อทั้งงานศิลปะของอีทรัสคันและต่อมาโรมันโบราณ ความตื่นตาตื่นใจต่องานศิลปะกรีกของโรมันมีความสำคัญไม่แต่เพียงการถ่ายทอดศิลปะให้แก่วัฒนธรรมอีกวัฒนธรรมหนึ่งแต่ยังเป็นการ “ต่ออายุ” ของประติมากรรมกรีกอีกด้วย เพราะประติมากรรมกรีกที่ยังมีเหลือให้เห็นส่วนใหญ่แล้วเป็นงานก็อปปีของงานต้นฉบับของประติมากรรมสัมริดของกรีก เพราะสัมริดเป็นโลหะมีค่างานสัมริดเดิมส่วนใหญ่ต่างก็ถูกหลอมไป งานสัมริดของแท้ถ้าพบก็จะพบอยู่ก้นทะเลกับเรือแตก

แต่ประติมากรรมกรีกมีการแกะสลักหินอ่อน และงานประติมากรรมกรีกคลาสสิกที่ทำด้วยหินอ่อนยังคงมีหลงเหลืออยู่ให้เห็น เช่น “ประติมากรรมหินอ่อนเอลกิน” หรือ “ประติมากรรมหินอ่อนพาเธนอน” ที่ยังตั้งอยู่ในสถานที่ที่ติดตั้งไว้แต่เดิมมาจนกระทั่งต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก่อนที่จะถูกขนย้ายไปยังสหราชอาณาจักร และประติมากรรมแกะหินอ่อนของกรีกที่ยังหลงเหลืออยู่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรม

สมัยเฮเลนนิสติค แก้

ความเปลี่ยนแปลงจากประติมากรรมคลาสสิกไปเป็นประติมากรรมเฮเลนนิสติคเกิดขึ้นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 4 งานประติมากรรมในช่วงนี้เพิ่มความเป็นธรรมชาติยิ่งขึ้นไปอีก หัวข้อของงานที่สร้างก็ขยายไปครอบคลุมบุคคลธรรมดา, สตรี, เด็ก, สัตว์ และ ฉากในบ้าน ที่จ้างโดยครอบครัวที่มีฐานะดีเพื่อใช้ในการตกแต่งที่อยู่อาศัยและสวน ประติมากรรมเหมือนของชายและหญิงทุกวัยก็เริ่มสร้างกันขึ้นและประติมากรก็มีอิสระพอที่สร้างงานที่ไม่จำเป็นต้องมีลักษณะที่มีร่างกายหรือความงามที่พร้อมสรรพอย่างอุดมคติ ประติมากรรมชายกรีกส่วนใหญ่จะวางท่ายืนเอียงสะโพกไปข้างหนึ่ง เมื่อยืนในท่านี้แล้วก็จะใช้กล้ามเนื้อมากขึ้นเพื่อต้องการที่จะแสดงสรีระที่มีความใกล้เคียงกับความงามของเทพเจ้า


สมัยโรมัน แก้

ประติมากรรมโรมันเริ่มขึ้นด้วยการก็อปปีงานประติมากรรมของกรีก แต่ต่อมาก็พัฒนาขึ้นเป็นรูปลักษณ์ที่เน้นความเป็นเอกลักษณ์ของผู้เป็นแบบ ที่เห็นได้จากประติมากรรมภาพเหมือนของจักรพรรดิโรมันหลายพระองค์

อิทธิพล แก้

 
ออกัสตัสแห่งพรีมาพอร์ตา” ประติมากรรมแกะสลักหินอ่อนของจักรพรรดิออกัสตัส ซีซาร์, คริสต์ศตวรรษที่ 1. พิพิธภัณฑ์วาติกัน

ประติมากรรมกรีก-โรมันมีอิทธิพลต่อศิลปะตะวันตกอย่างลึกซึ้ง ในการวางรากฐานของแนวโน้มในการสร้างงานศิลปะในเชิงสัจนิยม ความคงทนของงานศิลปะที่ตกค้างมาให้คนรุ่นหลังให้เห็นทำให้กลายเป็นแหล่งข้อมูลของศิลปินของหลายวัฒนธรรมหลายสมัยต่อมาทั้งในยุโรปและในเอเชีย และ ในปัจจุบันทั้งโลก

ขณะที่ศิลปะคลาสสิกค่อยลดความนิยมกันไปในยุโรปหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันในปี ค.ศ. 476 แล้ว งานศิลปะคลาสสิกก็หันกลับมาเป็นที่นิยมกันอีกครั้งหนึ่งอย่างจริงจังเมื่อต้นยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาอิตาลี บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการรื้อฟื้นความนิยมในศิลปะคลาสสิกกันขึ้นอีกครั้งคือโดนาเทลโล ประติมากรผู้อื่นเช่นไมเคิล แอนเจโลก็สร้างงานประติมากรรมที่อาจจะถือกันว่าเป็นงานศิลปะคลาสสิก ศิลปะคลาสสิกสมัยใหม่ตรงกันข้ามกับศิลปะคลาสสิกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตรงการเน้นความเป็นธรรมชาติ เช่นในงานประติมากรรมโดยอองตวน-หลุยส์ บารี (Antoine-Louis Barye) หรือ ความเป็นนาฏกรรมในงานของ ฟรองซัวส์ รูด (François Rude) หรืองานเชิงอารมณ์ในงานของ ฌอง บัพทิสต์ คาร์พูซ์ (Jean Baptiste Carpeaux) หรือ เชิงโอ่อวดอลังการในงานของ เฟรเดอริค เลห์ทัน บารอนเลห์ทันที่ 1 (Frederic Leighton, 1st Baron Leighton) เมื่อมาถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ประติมากรรมคลาสสิกก็แยกออกเป็นหลายสาขา แต่การศึกษาจากแบบที่มีชีวิตและการศึกษาแบบหลังยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาก็ยังคงเป็นรากฐานที่ปฏิบัติกันอยู่

อ้างอิง แก้

  1. มะลิฉัตร เอื้ออานันท์. “พจนานุกรมศัพท์ศิลปะ” สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2545
  2. "ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-15. สืบค้นเมื่อ 2010-01-21.

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ประติมากรรมคลาสสิก