ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศของรัสเซีย

รัฐบาลรัสเซียมีส่วนร่วมในปฏิบัติการการต่อต้านการก่อการร้ายหลายครั้งในต่างประเทศ โดยความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ

การประชุมสุดยอดว่าด้วยความมั่นคงเดลี แก้

การประชุมสุดยอดว่าด้วยความมั่นคงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน, อินเดีย และรัสเซีย ในการประชุมที่ทำเนียบไฮเดอราบาด เดลี ประเทศอินเดีย เพื่ออภิปรายเกี่ยวกับการก่อการร้าย, การค้ายาเสพติดผิดกฎหมาย, การปฏิรูปสหประชาชาติ รวมทั้งสถานการณ์ความมั่นคงในอัฟกานิสถาน, อิหร่าน, อิรัก และเกาหลีเหนือ[1][2]

กระทรวงการต่างประเทศอินเดียออกแถลงการณ์ในนามของรัฐบาลทั้งสามซึ่งกล่าวว่า "เราได้แบ่งปันความคิดของเราเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง, เศรษฐกิจ และความมั่นคงของสถานการณ์โลก, ระเบียบโลกในปัจจุบัน และการพัฒนาล่าสุดในด้านต่าง ๆ ของความกังวลซึ่งกันและกัน เราเห็นพ้องกันว่าความร่วมมือค่อนข้างมากกว่าการเผชิญหน้า ที่ควรควบคุมแนวทางการดำเนินงานในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยมีมุมมองตรงกันเกี่ยวกับการก่อการร้ายและการสำแดงในทุกรูปแบบ รวมทั้งความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย ตลอดจนการเชื่อมโยงกับการค้ายาเสพติดผิดกฎหมาย"[1]

อัฟกานิสถาน แก้

รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย วาเลนตินา มัตวิเยนโก ประกาศเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2002 ว่ารัฐบาลรัสเซียจะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันออกจากประเทศอัฟกานิสถานหากปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายต่อต้านกลุ่มตอลิบานสร้างภัยพิบัติด้านมนุษยธรรม[3] ส่วนวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 2002 ซึ่งเป็นวันก่อนวันครบรอบปีแรกของวินาศกรรม 11 กันยายน ค.ศ. 2001 วลาดีมีร์ ชิรีนอฟสกี รองประธานแห่งสภาดูมาและผู้นำพรรคเสรีประชาธิปไตยแห่งรัสเซียกล่าวว่า รัสเซียควรเป็นกลางในการปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐ ระหว่างการอภิปรายโต๊ะกลมในมอสโก ชิรีนอฟสกีกล่าวว่ากองทหารรัสเซียไม่ควรเข้าไปในอัฟกานิสถานเพราะทำเช่นนั้นจะ "ให้สิทธิ์แก่กลุ่มตอลิบานในการบุกเอเชียกลาง"[4] นอกจากนี้เขายังอ้างว่า "ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ก่อการร้ายในสหรัฐเมื่อวันที่ 11 กันยายน สิ่งนี้เป็นที่โปรดปรานสำหรับสหรัฐและมุ่งต่อต้านรัสเซีย" โดยอ้างว่าสหรัฐต้องการให้รัสเซียไปทำสงครามกับโลกอิสลาม[5]

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอัฟกานิสถาน อับดุลเลาะห์ อับดุลเลาะห์ ได้พบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เซียร์เกย์ ลาฟรอฟ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 2004 พวกเขาคุยกันถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงของอัฟกานิสถาน[6]

อิหร่าน แก้

รัฐบาลรัสเซียได้ทำงานร่วมกับสหรัฐและอิหร่านในการปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย[7] อะเลคซันดร์ กูรอฟ พลตำรวจโทและประธานคณะกรรมการความมั่นคงแห่งสภาดูมา กล่าวว่าสหรัฐให้ความสำคัญกับการต่อสู้ในสงครามเย็นเป็นบางส่วน มีส่วนทำให้ไม่สามารถทำนายการโจมตี 9/11 ได้ และสนับสนุนความร่วมมือที่มากขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ[8]

คาซัคสถาน แก้

ยูรี บาลูเยฟสกี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมคนที่หนึ่งและหัวหน้ากองเสนาธิการรัสเซีย กล่าวปาฐกถากับหัวหน้ากองเสนาธิการของอาเซอร์ไบจาน, อาร์มีเนีย, เบลารุส, คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน, ทาจิกิสถาน, อุซเบกิสถาน และยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2006 ก่อนวันครบรอบปีที่สิบห้าของการก่อเครือรัฐเอกราช เขาเรียกร้องให้พวกเขาร่วมมือกันต่อสู้กับ "การก่อการร้าย, อาชญากรรมข้ามพรมแดน และมาเฟียยาเสพติด" ส่วนรัฐบาลของจอร์เจีย, มอลโดวา และเติร์กเมนิสถานเลือกที่จะไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุม[9]

ในเวลาเดียวกันคาซัคสถานได้ส่งผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้ายข้ามแดนไปยังรัสเซีย ตัวแทนของเอฟเอสบีและเคเอ็นบีได้จับวากา อิซเมลอฟ ซึ่งต้องสงสัยว่ามีส่วนร่วมในการโจมตีโรงเรียนเบสลันและการโจมตีอื่น ๆ ที่อินกูเชเตีย ในปฏิบัติการร่วมกันในคาซัคสถาน ซึ่งในครั้งนั้นเคเอ็นบีของคาซัคสถานได้ส่งมอบเขาไปยังเอฟเอสบีของรัสเซีย[ต้องการอ้างอิง]

ทาจิกิสถาน แก้

การค้ายาเสพติดในเอเชียกลางเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญสำหรับองค์การก่อการร้าย รองจากการบริจาคอุปกรณ์ทางทหารและการจัดหาเงินทุนโดยตรงจากผู้สนับสนุนการก่อการร้ายของรัฐ รัฐบาลทาจิกิสถานได้ขอร้องรัสเซียเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 2004 เพื่อให้เริ่มถอนทหาร 20,000 นายจากชายแดนทาจิกิสถานกับอัฟกานิสถานออกไปบ้าง ซึ่งการถอนทหารเป็นที่กังวลต่อรัฐบาลสหรัฐเนื่องจากการมีอยู่ของกองทหารช่วยป้องกันการค้ายาเสพติดข้ามพรมแดน[10]

อ้างอิง แก้