ศาสนาจารย์บุญต๋วน บุญอิต เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนผดุงราษฎร์ คริสตจักรคริสตคุณานุกูล จังหวัดพิษณุโลก และคริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ริเริ่มและเผยแพร่งานของ YMCA ที่จะให้เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ อาคารบุญอิตอนุสรณ์สำนักงานของสมาคมไว.เอ็ม.ซี.เอ.กรุงเทพฯ ที่ถนนวรจักร สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานสำหรับท่าน

บุญต๋วน บุญอิต
เกิด15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1865
ตำบลบางป่า
เสียชีวิต8 พฤษภาคม ค.ศ. 1903
ประเทศไทย
สัญชาติไทย
อาชีพศิษยาภิบาล
ตำแหน่งศิษยาภิบาล

ประวัติความเป็น แก้

ศาสนาจารย์บุญต๋วน บุญอิต เป็นบุตรคนโตของนางต๋วน และนายบันสุ้ย นางต๋วนเป็นบุตรของซินแส กีเอ็ง ก๊วย เซียน ครูใหญ่คนแรกในโรงเรียนสำเหร่ ศาสนาจารย์บุญต๋วน บุญอิต เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1865 ที่ตำบลบางป่า เป็นผู้หนึ่งที่ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1875 เมื่อท่านอายุได้ 11 ปี โดยมีมิชชันนารีคือ หมอ ซามูเอล เรย์นอล์ดส์ เฮ้าส์ (Rev. Samuel R. House, M.D.)[1] และภรรยาเป็นผู้อุปการะดูแล ท่านได้รับศีลบัพติศมาเมื่อปี ค.ศ. 1875 ท่านเป็นคนมีผลการเรียนดีเยี่ยม มีความสามารถทางกีฬา นอกจากนี้ท่านยังเป็นคนสังคมดีมีอุปนิสัยร่าเริง ซื่อสัตย์ มีอารมณ์ขันเบิกบานและมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ในปี ค.ศ. 1892 ท่านได้รับสถาปนาเป็นศาสนาจารย์และแปลงสัญชาติเป็นอเมริกัน แต่ศาสนาจารย์บุญต๋วน บุญอิต ได้เลือกเดินทางกลับประเทศไทยในปี ค.ศ. 1893

ท่านเป็นมิตรสนิทของพระยาสารสินสวามิภักดิ์ (เทียนฮี้ สารสิน) แรกเริ่มนั้นท่านได้เช่าบ้านหลังหนึ่งใกล้ ๆ กับบริเวณที่ตั้งโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่ เปิดบ้านให้เป็นศูนย์กลางสำหรับอนุชนได้จัดสร้างห้องประชุมและห้องนมัสการ ผู้ที่มีส่วนร่วมในการก่อตั้งคริสตจักร อีก 2 ท่านก็คือ พระยาสารสิน และครูญ่วน ซึ่งทั้ง 3 ท่านได้ถูกตั้งให้เป็นกรรมการจัดหาที่ดิน และเตรียมการก่อสร้างคริสตจักรใหม่ แต่ต่อมาขณะที่กำลังทำการสร้างคริสตจักรนั้นท่านอาจารย์บุญอิต ก็เสียชีวิตลงด้วยโรคอาหิวาห์ ในวันที่ 8 พฤษภาคม 1903 เมื่อตอนที่เสียชีวิตท่านมีภรรยาชื่อ นางกิมฮ๊อค และลูกสามคน

พันธกิจ แก้

ศาสนาจารย์บุญต๋วนเริ่มงานประกาศพระกิตติคุณที่จังหวัดพิษณุโลก ในเวลานั้นไม่มีรถไฟไปถึงพิษณุโลกได้ จึงต้องเดินทางด้วยเรือซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ หรือ 3 เดือน แล้วแต่ฤดูกาล สมัยนั้นพิษณุโลกยังอยู่ในสภาพบ้านนอกคอกนา ท่านเป็นผู้บุกเบิกสำหรับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ ด้านการศึกษามีการตั้งโรงเรียนผดุงราษฎร์สำหรับเด็กชาย และโรงเรียนผดุงนารีสำหรับเด็กหญิง ต่อมาได้มีการรวมโรงเรียนทั้งสองเข้าด้วยกันเป็นโรงเรียนผดุงราษฎร์ สังกัดกองการศึกษามูลนิธิสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย และคริสตจักรคริสตคุณานุกูล

ศาสนาจารย์บุญต๋วน บุญอิต พานักเรียนไปเดินทางไกลและสอนวิชาให้อย่างดี ปี ค.ศ. 1902 ดร. อาร์เธอร์ เจ บราวน์ (Arthur J. Brown) เลขาธิการใหญ่ของมิชชันนารีบอร์ดจากนครนิวยอร์ก ต้องการให้มีโบสถ์ใกล้ๆ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน จึงเรียกศาสนาจารย์บุญต๋วน บุญอิต ให้กลับมาที่บางกอก ท่านอาจารย์บุญต๋วนจึงมอบหมายงานให้อาจารย์เทียนเป้า รับผิดชอบโรงเรียนผดุงราษฎร์ต่อไป ส่วนท่านกลับลงมาทำงานที่กรุงเทพและท่านได้ขนไม้จากแม่น้ำ เพื่อนำมาสร้างอาคารคริสตจักร ท่านเริ่มงานที่บางกอก โดยเช่าบ้านอยู่ใกล้กับโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย บ้านของท่านกลายเป็นศูนย์กลางของนักเรียนนักศึกษาและปัญญาชน มีห้องประชุมเล็ก ๆ ห้องสมุด และห้องนั่งเล่น ที่เปิดต้อนรับทุกคน ท่านได้เริ่มและเผยแพร่งานของ YMCA ที่จะให้เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ที่ถนนวรจักร เพื่อเป็นศูนย์กลางของเยาวชน การกีฬา และงานสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งความคิดนี้ใหม่มาก และเหมาะสมกับบางกอกที่กำลังเจริญเติบโต โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาคม YMCA ของสหรัฐอเมริกาที่ท่านเป็นสมาชิกอยู่

กำเนิดคริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์ แก้

พระยาสารสินซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของ ศจ. บุญต๋วน บุญอิต ได้ถวายที่ดินแปลงหนึ่ง มีเนื้อที่ประมาณ 350 ตารางวา เลขที่ 5 ถนนศรีเวียง ตำบลบางรัก กรุงเทพมหานคร เหลืออยู่ จึงได้ยกให้แก่คณะทรัสตีหรือมูลนิธี แต่ขอให้นามพระวิหารนี้ว่า “พระวิหาร สืบสัมพันธวงศ์” เพื่อเป็นที่ระลึกถึงคุณ “สืบ” บุตรชายหัวปีของท่านเจ้าคุณ เพื่อสร้างพระวิหารของพระผู้เป็นเจ้าและได้บริจาคเงินครึ่งหนึ่งเพื่อการก่อสร้างพระวิหารนี้ ส่วนที่เหลืออีกครึ่ง คริสเตียนไทยทั้งหลายได้ช่วยกันบริจาคจนการก่อสร้างได้สำเร็จลุล่วงและปรากฏมาจนทุกวันนี้ว่าเป็นพระวิหารของคนไทย เพราะสร้างขึ้นด้วยงบประมาณของคนไทยสยามเองและผู้ควบคุมการก่อสร้างก็เป็นหลานเขยของท่านพระยาสารสินที่ชื่อนายกี้ เมื่อการก่อสร้างคริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์เสร็จ ความหวังอันแรกเริ่มนั้นก็คือ จะเชิญให้อาจารย์บุญต๋วน บุญอิต มาเป็น ศิษยาภิบาล เพราะท่านผู้นี้ได้เคยเป็นศิษยาภิบาลในสหรัฐมาแล้ว แต่เนื่องจากท่านได้เสียชีวิตลงในขณะที่ทำการสร้างพระวิหารแห่งนี้อยู่ จึงเป็นอันหมดหวัง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงได้เรียนเชิญท่านอาจารย์ ญ่วน เตียงหยก มาเป็นศิษยาภิบาลคนแรกของคริสตจักรแห่งนี้ มีช่วงหนึ่งที่โบสถ์สืบสัมพันธวงศ์เป็นคริสตจักรนานาชาติแห่งกรุงเทพด้วย ต่อมาภายหลังคริสตจักรนานาชาตินั้น ได้ย้ายไปใช้อาคารของคริสตจักรวัฒนา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1986

การตาย แก้

 
หลุมฝังศพของ ศจ. บุญต๋วน บุญอิต ที่สุสานคริสตจักรสำเหร่

ศจ. บุญต๋วน บุญอิต ล้มป่วยด้วยโรคอหิวาตกโรค เนื่องจากท่านลงมือดำน้ำในคลองน้ำสาทร เพื่อคัดเลือกไม้สำหรับใช้ในการก่อสร้างด้วยตนเอง จนเสียชีวิตด้วยโรคอหิวาต์ท่ามกลางงานก่อสร้างที่ยังไม่สำเร็จ ศจ.บุญต๋วน บุญอิต เสียชีวิตภายใน 10 วัน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 1903 รวมสิริอายุได้ 39 ปี ดร.เจ เอ เอกิ้น บันทึกเหตุการณ์ในวันนั้นไว้ว่า “เรายังจดจำได้ว่า เป็นคืนที่น่าหวาดกลัวยิ่ง เมื่อวิญญาณจะต้องจากไปในท่ามกลางความวิปริตของธรรมชาติ แต่ภรรยาและมารดารที่ดี นางกิมฮ๊อกได้ตั้งอยู่ในความสงบ และชุมนุมบรรดามิตรสหายในห้องรับแขกเล็ก ๆ ร้องเพลงแสดงความเชื่อของคริสเตียน ความหวัง และความประเล้าประโลมใจตลอดเวลาที่พายุแรงจัดกำลังพัดกระพืออย่างหนักทุกคนได้ร้องเพลงหลายบท” เช่น เพลงพระคุณพระเจ้า

การเสียชีวิตของศาสนาจารย์บุญต๋วน บุญอิต ทำให้ความหวังของมิชชันนารีที่จะปลูกสร้างคริสตจักรที่เป็นของชนชาวไทยได้ลดลง ในปี 1902 ศาสนาจารย์บุญต๋วน บุญอิตได้กล่าวสุนทรพจน์ต้อนรับ อาร์เธอร์ เจ บราวน์ มีใจความบางตอนดังต่อไปนี้คือ “ควรที่จะได้ตระหนักอย่างแท้จริงว่า ประชาชนของเราสมควรที่จะมีการจัดการในกิจกรรมของตนเอง ทั้งในด้านศาสนาและกิจกรรมอื่น ๆ โดยปราศจากการครอบงำของต่างชาติ แต่...มิใช่ว่าเราจะวางแผนที่จะยึดกุมอำนาจการควบคุมปกครองเอาไว้” แม้ว่าจะเป็นคำเรียกร้องที่ยังไม่ได้มีการตอบสนองปรากฏออกมาอย่างเด่นชัด แต่ก็แสดงให้เห็นว่าคริสเตียนไทยบางคนเริ่มมีจิตสำนึกที่จะรับผิดชอบงานพันธกิจด้วยตัวเอง

ในนเวลาต่อมามิชชันนารีเพรสไบทีเรียน ได้มอบความรับผิดชอบทั้งสิ้นในงานพันธกิจและทรัพย์สินทั้งปวงไว้กับคนไทย ในปี ค.ศ. 1934 สภาคริสตจักรในประเทศไทย ถูกตั้งขึ้นและ องค์การมิชชันคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน (American Presbyterian Mission) สลายตัวลงในวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 1957 โดยมอบหมายการดำเนินพันธกิจให้อยู่ภายใต้อำนาจของสภาคริสตจักรฯ โดยตรง มิชชันนารีเปลี่ยนฐานะเป็นภารดรผู้ร่วมงาน ปัจจุบันนี้สภาคริสตจักรในประเทศไทยยังสนใจในการประกาศพระกิตติคุณของพระเยซูต่อไปโดยได้ตั้งกองการเผยแพร่พระกิตติคุณขึ้นในปี 1956

อ้างอิง แก้

  1. "Samuel Reynolds House of Siam Pioneer Medical Missionary 1847-1876 By GEORGE HAWS FELTUS, A.M., B.D. ILLUSTRATED".

แหล่งข้อมูล แก้

  • พิษณุ อรรฆภิญญ์, 100 ปี วีรบุรุษแห่งความเชื่อ ศจ.บุญต๋วน บุญอิต, กรุงเทพฯ: บริษัท พี.เอ.ลีฟวิ่ง จำกัด, 2003.
  • นันทชัย มีชูธน, 175 ปี คริสตจักรโปรเตสแตนต์ในประเทศไทย, กรุงเทพ: บริษัท ประชุมทอง พริ้นติ้ง กรุ๊ป จำกัด, 2004.
  • ชยันต์ หิรัญพันธุ์, 60 ปี สภาคริสตจักรในประเทศไทย, กรุงเทพฯ: สภาคริสตจักรในประเทศไทย, 1997.
  • คริสตจักรสืบสัมพันธ์วงศ์, 84 ปี คริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรสมัย (คอมพิวกราฟิก, 1986.)