นิลส์ รือแปร์ ฟินเซิน

นิลส์ รือแปร์ ฟินเซิน (เดนมาร์ก: Niels Ryberg Finsen; 15 ธันวาคม ค.ศ. 1860 – 24 กันยายน ค.ศ. 1904) เป็นแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ชาวไอซ์แลนด์/หมู่เกาะแฟโร/เดนมาร์ก ใน ค.ศ. 1903 เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์เนื่องจาก "ให้ไว้เพื่อความระลึกถึงการอุทิศตนของท่านในวิธีการรักษาโรค โดยเฉพาะโรค lupus vulgaris โดยการใช้รังสีแสงเข้มข้นอันเป็นการเปิดทางใหม่ในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์"[1]

นิลส์ รือแปร์ ฟินเซิน
เกิด15 ธันวาคม ค.ศ. 1860
ทอร์เชาน์ หมู่เกาะแฟโร
เสียชีวิต24 กันยายน ค.ศ. 1904(1904-09-24) (43 ปี)
โคเปนเฮเกน เดนมาร์ก
รางวัลรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ (ค.ศ. 1903)

ประวัติ

แก้

นิลส์ ฟินเซินเกิดที่ทอร์เชาน์ หมู่เกาะแฟโร เป็นบุตรคนที่ 2 จาก 4 คนของฮันเนส สไตน์กริม ฟินเซิน (Hannes Steingrim Finsen) ซึ่งเป็นสมาชิกตระกูลชาวไอซ์แลนด์ซึ่งย้อนประวัติได้ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 10 และโยแฮเนอ โฟร์มัน (Johanne Formann) ซึ่งถือกำเนิดและเติบโตที่ไอซ์แลนด์[2] ครอบครัวของเขาได้ย้ายจากไอซ์แลนด์ไปยังทอร์เชาน์ใน ค.ศ. 1858 เพราะบิดาของเขาได้รับตำแหน่งที่หมู่เกาะแฟโร ใน ค.ศ. 1864 เมื่อนิลส์มีอายุได้ 4 ปี มารดาของเขาเสียชีวิต และบิดาของเขาแต่งงานใหม่กับลูกพี่ลูกน้องของโยแฮเนอชื่อ เปียร์กีเตอ เคียร์สตีเนอ โฟร์มัน (Birgitte Kirstine Formann) และมีลูกด้วยกัน 6 คน ใน ค.ศ. 1871 บิดาของนิลส์ได้เป็นข้าหลวง (Amtmand) ของหมู่เกาะแฟโร นิลส์ ฟินเซินได้รับการศึกษาชั้นต้นในเมืองทอร์เชาน์ จน ค.ศ. 1874 เขาได้ศึกษาที่โรงเรียนประจำ Herlufsholm ที่เดนมาร์ก ที่ซึ่งพี่ชายของเขา โอลาฟ ฟินเซิน กำลังศึกษาอยู่ นิลส์ปรับตัวเข้ากับโรงเรียนได้ยากตรงข้ามกับโอลาฟ ดังจะเห็นจากข้อความของครูใหญ่ที่กล่าวถึงนิลส์ว่าเป็น "เด็กชายที่จิตใจดีแต่ขาดทักษะและความกระตือรือร้น" อันตรงข้ามกับการทำงานและการวิจัยของนิลส์ในเวลาต่อมา เนื่องจากผลการเรียนของเขาไม่ดีจึงย้ายมาเรียนที่โรงเรียนเก่าของบิดาของเขา คือ Lærði skólinn ในเรคยาวิกใน ค.ศ. 1876 ซึ่งผลการเรียนของเขาดีขึ้นอย่างมาก

ศึกษาด้านแพทยศาสตร์

แก้

ใน ค.ศ. 1882 นิลส์ ฟินเซินย้ายไปยังโคเปนเฮเกนเพื่อศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน และสำเร็จการศึกษาใน ค.ศ. 1890 หลังจากเรียนจบเขาได้เป็นนักชำแหละ (prosector) ด้านกายวิภาคศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน หลังจากนั้น 3 ปีเขาลาออกและอุทิศตนเพื่อการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ ใน ค.ศ. 1898 ฟินเซินได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Knight of the Order of Dannebrog ใน ค.ศ. 1899

สถาบันฟินเซิน (Finsen Institute) ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1896 โดยนิลส์ ฟินเซินเป็นผู้อำนวยการ ซึ่งต่อมาได้รวมกับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน และในปัจจุบันคือห้องปฏิบัติการวิจัยมะเร็งที่เชี่ยวชาญด้านการสลายโปรตีน

ฟินเซินเป็นที่รู้จักด้านทฤษฎีการบำบัดด้วยแสง (phototherapy) ซึ่งกล่าวว่าความยาวคลื่นของแสงมีผลดีทางด้านการแพทย์ งานเขียนที่สร้างชื่อเสียงคือ Finsen Om Lysets Indvirkninger paa Huden (ผลกระทบของแสงต่อผิวหนัง) ที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1893 และ Om Anvendelse i Medicinen af koncentrerede kemiske Lysstraaler (การใช้รังสีแสงเคมีเข้มข้นในทางการแพทย์) ที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1896 ผลงานดังกล่าวได้รับการแปลเป็นภาษาเยอรมัน และตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสในชื่อ La Photothérapie ผลงานในช่วงบั้นปลายชีวิตคืองานวิจัยผลของเกลือ โดยศึกษาผลของอาหารที่มีปริมาณโซเดียมต่ำซึ่งได้รับการตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1904 ชื่อ En Ophobning af Salt i Organismen (การสะสมของเกลือในสิ่งมีชีวิต) [2]

ชีวิตส่วนตัว

แก้

ใน ค.ศ. 1889 นิลส์ ฟินเซิน หมั้นกับอิงเงอบอร์ก บัลสเลฟ (Ingeborg Balslev; 1868–1963) และแต่งงานเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 1892 ตั้งแต่ช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1880 สุขภาพของเขาแย่ลงเรื่อย ๆ เขามีปัญหาด้านหัวใจและท้องมานและอ่อนแรง แม้อาการเจ็บป่วยจะรบกวนร่างกายแต่จิตใจของเขายังคงเข้มแข็ง แม้บั้นปลายชีวิตเขาต้องนั่งรถเข็นเขาก็ยังอุทิศตนเพื่อการแพทย์อย่างมากมาย

อนุสรณ์

แก้

สถาบันฟินเซินที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนตั้งชื่อขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ท่าน และที่เมืองทอร์เชาน์มีอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงฟินเซิน เช่น ถนนสายหลักสายหนึ่งของเมืองตั้งชื่อตามท่าน อนุสาวรีย์เพื่อระลึกถึงฟินเซินซึ่งออกแบบโดยรูดอล์ฟ เทกเนอร์ (Rudolph Tegner) สร้างขึ้นที่โคเปนเฮเกนใน ค.ศ. 1909 มีลักษณะเป็นผู้ชายและมีผู้หญิง 2 คนพิงอยู่กำลังเอื้อมขึ้นไปยังท้องฟ้า อนุสาวรีย์ดังกล่าวมีชื่อว่า Mod lyset (มุ่งสู่แสงสว่าง) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงหลักทฤษฎีของฟินเซินว่าแสงสว่างสามารถรักษาโรคได้[3]

อ้างอิง

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้