นิคม จันทรวิทุร
ศาสตราจารย์พิเศษ นิคม จันทรวิทุร (6 สิงหาคม พ.ศ. 2468 - 31 ตุลาคม พ.ศ. 2544) นักรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของแรงงานและคนยากจนด้อยโอกาส และนักวิชาการด้านแรงงานคนสำคัญคนหนึ่งของไทย เกิดที่บ้านท่าล้อ ตำบลสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ ในครอบครัวไทย-จีน บิดาชื่อจันทร์ หรือ “พ่อเลี้ยงจันทร์” อพยพมาจากเมืองจีนตั้งแต่เล็ก ส่วนมารดาเป็นไทยชื่อ บัวจีน ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุรเป็นบุตรคนที่ 9 จากพี่น้อง 11 คน บิดามีอาชีพทำนาและทำไม้
การศึกษา
แก้ศ.พิเศษ นิคม จันทรวิทุรสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำเร็จปริญญาโทด้านการบริหารสังคม จากมหาวิทยาลัยชิคาโก และปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ต่อมาได้รับพระราชทานปริญญาสังคมสงเคราะหศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การทำงาน
แก้ศ.พิเศษ นิคม จันทรวิทุรเคยเป็นเลขาธิการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยคนแรก เป็นข้าราชการกรมประชาสงเคราะห์ และดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมแรงงาน ในช่วง พ.ศ. 2515-2519 ระหว่างปี พ.ศ. 2519-2522 ได้ปฏิบัติงานในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาบริหารงานด้านแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ต่อมาได้เป็นผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศประจำกรุงธักกา ประเทศบังคลาเทศ จนถึงปี พ.ศ. 2525 จึงได้กลับมาทำงานที่ประเทศไทยเกี่ยวกับการผลักดันการเคลื่อนไหวปฏิรูปกฎหมายด้านแรงงานและสวัสดิการสังคม อีกทั้งยังเป็นอาจารย์พิเศษ บรรยายวิชากฎหมายแรงงาน คณะ นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับการแต่งตั้งเป็น ศาสตราจารย์พิเศษ ในเวลาต่อมา
ศ.พิเศษ นิคม เคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516[1]
ศ.พิเศษ นิคม เคยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี พ.ศ. 2529 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ โดยลงสมัครในเขต 8 กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ และนายสมัย เจริญช่าง แต่ศ.พิเศษ นิคมกับนายสมัยไม่ได้รับเลือกตั้ง
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2538 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[2]
- พ.ศ. 2532 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[3]
- พ.ศ. 2523 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[4]
ดูเพิ่ม
แก้- มูลนิธิ นิคม จันทรวิทุร http://nikomfoundation.org
อ้างอิง
แก้- ↑ "พระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2014-07-08.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์[ลิงก์เสีย], เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๖, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๒๑๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๑๘๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๔๑๙, ๕ ธันวาคม ๒๕๒๓