นัสซิงเบ เอยาเดมา

นัสซิงเบ เอยาเดมา (ฝรั่งเศส: Gnassingbé Eyadéma, 26 ธันวาคม พ.ศ. 2480 − 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548) เป็นอดีตประธานาธิบดีของประเทศโตโก ดำรงอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลา 38 ปี (พ.ศ. 2510 − 2548) ซึ่งนับเป็นการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่นานที่สุดในทวีปแอฟริกา[1] ถึงแก่อสัญกรรมด้วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ระหว่างการเดินทางไปรักษาตัวที่ประเทศฝรั่งเศส[2]

นัสซิงเบ เอยาเดมา
ประธานาธิบดีโตโกคนที่ 5
ดำรงตำแหน่ง
14 เมษายน พ.ศ. 2510 – 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548
ก่อนหน้าKléber Dadjo
ถัดไปโฟร์ กนาซีง-กเบ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด26 ธันวาคม พ.ศ. 2480
ปียา โตโกของฝรั่่งเศส
เสียชีวิต5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 (67 ปี)
เชื้อชาติโตโก
พรรคการเมืองRassemblement du peuple togolais

ประวัติ แก้

เอยาเดมาเกิดในครอบครัวชาวนาเผ่าคาบิเยทางตอนเหนือของประเทศโตโก เขาเคยเข้าร่วมกับกองทัพของฝรั่งเศสและเคยไปรบในอินโดจีนและแอลจีเรีย ก่อนที่จะกลับสู่โตโกใน พ.ศ. 2505 ในปีถัดมา เขาก่อรัฐประหารยึดอำนาจประธานาธิบดีซิลวานัส โอลิมพิโอ และสนับสนุนให้นิโคลาส กรูนิสกี้ มารับตำแหน่งผู้นำประเทศแทน แต่ใน พ.ศ. 2510 เขาก็ก่อรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง และขึ้นดำรงตำแหน่งประธาธิบดีของโตโกเองด้วยอายุ 29 ปี

เอยาเดมาได้รับความนิยมมากในช่วงแรกที่รับตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ด้วยความเป็นเผด็จการและสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ทำให้ความนิยมนั้นตกลงอย่างรวดเร็ว เขาโดนลอบสังหารหลายครั้งแต่ก็รอดมาได้ทุกครั้ง เมื่อกระแสต่อต้านรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เอยาเดมาก็ยอมให้มีการเลือกตั้งขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2536 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าเอยาเดมาชนะไปด้วยคะแนน 96.42% เพราะไม่มีคู่แข่งที่น่าเชื่อถือ เขาชนะการเลือกตั้งอีกครั้งใน พ.ศ. 2541 และเป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัย แม้จะมีเสียงวิพากษณ์วิจารณ์ถึงความไม่โปร่งใสและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการเลือกตั้งครั้งนี้[3] เอยาเดมาสัญญาว่าจะยอมลงจากตำแหน่งเมื่อหมดวาระใน พ.ศ. 2546 แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องทำตามสัญญา เขายอมที่จะ "เสียสละอีกครั้ง" เพื่อความสงบและความมั่นคงของประเทศด้วยการเป็นประธานาธิบดีต่อไป

เอยาเดมาปกครองประเทศโตโกอย่างเผด็จการมาโดยตลอด ทำให้ประเทศขาดระบบจัดการปัญหาต่าง ๆ เมื่อเขาเสียชีวิตลงใน พ.ศ. 2548 ด้วยโรคหัวใจ นักวิจารณ์เกรงว่าโตโกจะเกิดปัญหาความขัดแย้งภายในเหมือนประเทศโกตดิวัวร์[2]

อ้างอิง แก้

  1. "Obituary: Gnassingbe Eyadema". BBC News (ภาษาอังกฤษ). 5 กุมภาพันธ์ 2005. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2008.
  2. 2.0 2.1 "Eyadéma's woeful legacy". The Economist (ภาษาอังกฤษ). 10 กุมภาพันธ์ 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 มิถุนายน 2013. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2008.
  3. "A test for France". The Economist (ภาษาอังกฤษ). 2 กรกฎาคม 1998. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 กรกฎาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2008.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้