นักรังสีการแพทย์

นักรังสีการแพทย์ หรือ นักรังสีเทคนิค (Radiologic technologist, Radiographer) คือผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานรังสีการแพทย์ ทั้งด้านรังสีวินิจฉัย, รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์

สาขา แก้

  • รังสีวินิจฉัย (Diagnostic radiology) คือ สาขาที่ใช้รังสีเอกซ์ในการวินิจฉัยโรคทางการแพทย์ ทั้งการถ่ายภาพรังสี (Radiopgrahy) หรือเอกซเรย์ทั่วไป การถ่ายภาพรังสีส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์ (Computed tomography; CT scan) การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตราซาวนด์ (Ultrasonography) การสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก (Magnetic resonance imaging; MRI) รวมถึงรังสีร่วมรักษา (Interventional radiology) หรือการตรวจพิเศษทางรังสีต่างๆ (Special diagnostic radiology)
  • รังสีรักษา (Radiotherapy/Radiation therapy) คือ สาขาที่ใช้รังสีในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทั้งระยะไกลและใกล้ (Brachytherapy & Teletherapy) โดยใช้เครื่องฉายรังสีในการรักษา อาทิ LINAC Co-60 เป็นต้น การฉายรังสีจะใช้อนุภาคโฟตอน (Photon) ในการรักษาเซลล์มะเร็งที่อยู่ลึก ส่วนเซลล์มะเร็งบริเวณผิวจะใช้อนุภาคอิเล็กตรอน (Electron) รักษา ปัจจุบันมีการพัฒนาในการนำโปรตอน (Proton Therapy) มารักษาผู้ป่วยมะเร็งในเด็ก (Pediatric cancer) มะเร็งกระดูก (Bone &soft tissue sacroma) มะเร็งศีรษะและลำคอ (Head & neck cancer) และอื่น ๆ เช่น มะเร็งตับ มะเร็งปอด เป็นต้น เนื่องจากโปรตอนมีคุณสมบัติในการลดปริมาณรังสีสำหรับเนื้อเยื่อปกติได้ดีกว่าโฟตอน ทำให้ลดอาการข้างเคียงที่เกิดจากการฉายแสงและลดอัตราการเกิดมะเร็งทุติยภูมิ (Secondary cancer)
  • เวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear medicine) คือ สาขาที่ใช้รังสีและสารเภสัชรังสี (Radiopharmaceuticals) ในการสร้างภาพทางการแพทย์ โดยมีการตรวจต่างๆ อาทิ การถ่ายภาพรังสีระนาบด้วยการปล่อยโพซิตรอน (Positron emission tomography; PET) การสร้างภาพด้วยรังสีแกมมา (Single-photon emission computed tomography; SPECT) เป็นต้น

การศึกษา แก้

ผู้ที่เป็นนักรังสีการแพทย์ ต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค ต้องจบการศึกษาในปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต (รังสีเทคนิค) โดยในประเทศไทยปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนสาขาวิชารังสีเทคนิค ดังนี้

  1. คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  4. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  5. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  6. คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  7. คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  8. วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
  9. คณะรังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยรังสิต
  10. คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
  11. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  12. คณะสาธารณสุขและสหเวชศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก