นกไต่ไม้
นกไต่ไม้ | |
---|---|
ภาพวาดนกไต่ไม้สีสวย (Sitta formosa) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Aves |
อันดับ: | Passeriformes |
อันดับย่อย: | Passeri |
วงศ์: | Sittidae Lesson, 1828 |
สกุล: | Sitta Linnaeus, 1758 |
ชนิดต้นแบบ | |
Sitta europaea Linnaeus, 1758 |
นกไต่ไม้ (อังกฤษ: Nuthatch) เป็นนกขนาดเล็กในอันดับนกเกาะคอน (Passeriformes) วงศ์หนึ่ง ใช้ชื่อวงศ์ว่า Sittidae
ลักษณะเป็นนกตัวเล็ก มีความยาวประมาณ 10-13 เซนติเมตร รูปร่างป้อม หางสั้น ปากแหลม มีความสามารถพิเศษคือ สามารถไต่ต้นไม้ด้วยนิ้วตีนลงมาในลักษณะเอาหัวลงได้ สามารถไต่ขึ้น ๆ ลง ๆ หรือไต่ไปรอบ ๆ ต้นไม้ หรือรอบ ๆ กิ่งไม้ได้คล่องแคล่วคล้ายกับหนู เพื่อหาแมลงและหนอนตามเปลือกไม้กิน และยังสามารถกินพืชอย่าง ลูกไม้ หรือเมล็ดพืชได้ด้วย ด้วยการคาบเมล็ดพืชขึ้นมายัดไว้ตามซอกเปลือกไม้ที่ลำต้นแล้วก็เอาปากจิกให้เปลือกเมล็ดนั้นแตกเพื่อจิกกินเนื้อใน
มีพฤติกรรมชอบอยู่รวมหากินรวม ๆ ไปในฝูงเดียวกันกับนกขนาดเล็กหลายชนิด มักพบตามป่าโปร่งบนเนินเขา ทำรังในโพรงไม้เล็ก ๆ และมีนิสัยประหลาด คือ ชอบคาบวัสดุต่าง ๆ มาปะติดปะต่อประดับไว้รอบ ๆ ปากโพรงรัง
พบกระจายพันธุ์ทั่วไปในทวีปเอเชีย, ยูเรเชีย, ยุโรป จนถึงตอนเหนือของแอฟริกา และทวีปอเมริกาเหนือ และมีเพียงสกุลเดียวเท่านั้น คือ Sitta[1] (โดยมาจากภาษากรีกโบราณคำว่า sittē หมายถึง "นก"[2] ขณะที่ชื่อสามัญในภาษาอังกฤษที่ว่า "Nuthatch" เชื่อว่าเพี้ยนมาจากคำว่า "Nut+hack" เพราะนกกลุ่มนี้ในทวีปยุโรปมีพฤติกรรมกระเทาะเปลือกลูกนัทกินเป็นอาหาร[3])
พบทั้งหมดประมาณ 24-27 ชนิด[1][3] ในประเทศไทยพบทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ นกไต่ไม้ท้องสีเม็ดมะขาม (S. castanea), นกไต่ไม้หน้าผากกำมะหยี่ (S. frontalis), นกไต่ไม้สีสวย (S. formosa), นกไต่ไม้โคนหางสีน้ำตาล (S. nagaensis) และนกไต่ไม้ใหญ่ (S. magna) [4] ทุกชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองทั้งหมด[5] นอกจากนี้แล้วยังมีอีกชนิดที่เป็นนกพลัดหลง คือ นกไต่ไม้สีน้ำเงิน (S. azurea) [6]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 Nuthatches (Sittidae) (อังกฤษ)
- ↑ Brookes, Ian (editor-in-chief) (2006). The Chambers Dictionary, ninth edition. Edinburgh: Chambers. p. 1417. ISBN 0-550-10185-3.
- ↑ 3.0 3.1 นกไต่ไม้[ลิงก์เสีย]
- ↑ บุญส่ง เลขะกุล. นกสามถิ่น : นกสวน, นกท้องนา, นกป่าดง. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2537
- ↑ สัตว์ป่าคุ้มครอง
- ↑ Harrap, Simon; Quinn, David (1996). Tits, Nuthatches and Treecreepers. Christopher Helm. ISBN 0-7136-3964-4.