วงศ์นกหัวขวาน

(เปลี่ยนทางจาก นกหัวขวาน)
นกหัวขวาน
นกหัวขวานดำ (Dryocopus martius) เป็นนกหัวขวานชนิดที่พบได้ในเอเชียเหนือและยูเรเชีย
เสียงเจาะไม้ของนกหัวขวาน
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Piciformes
อันดับย่อย: Pici
วงศ์: Picidae
Vigors, 1825
วงศ์ย่อย

นกหัวขวาน เป็นนกวงศ์หนึ่ง ในอันดับนกหัวขวานและนกโพระดก (Piciformes) ใช้ชื่อวงศ์ว่า Picidae เป็นนกที่มีสามารถไต่ขึ้นลงตามต้นไม้ได้ดีเป็นแนวตั้ง ด้วยขาที่สั้น และเล็บที่แหลมคม ส่วนใหญ่มีนิ้วหน้า 2 นิ้ว นิ้วหลัง 2 นิ้ว (ขณะที่บางชนิดจะมีเพียง 3 นิ้ว หรือบางชนิดก็มีนิ้วยื่นไปข้างหน้า[1]) เล็บมีความคมและแข็งแรง หางมักจะแข็งมากและเป็นรูปลิ่ม ใช้ช่วยยันต้นไม้ขณะไต่ขึ้นลงตามลำต้น นกหัวขวานเป็นนกประเภทอยู่รู หรืออยู่อาศัยตามโพรงไม้ ตามปกติแล้วมักจะเลือกสถานที่ทำรังโดยใช้จะงอยปากที่แข็งแรงเจาะต้นไม้จนเป็นโพรงใหญ่ ขนาดที่ตัวของนกเองจะเข้าออกได้อย่างสะดวก นกหัวขวานเป็นนกที่ปกติจะอาศัยอยู่เพียงลำพัง ไม่มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูงเหมือนนกอื่น ๆ ถ้าหากมีนกอื่นรุกล้ำเข้ามา จะส่งเสียงร้อง "แก๊ก ๆ ๆ" ดังกังวาลเพื่อเตือน อย่างไรก็ตาม ตัวเมียก็มีส่วนช่วยเลือกสถานที่ทำรังเหล่านี้ด้วย ส่วนมากมักชอบไม้เนื้ออ่อน ซึ่งในฤดูแล้ง ต้นไม้เหล่านี้จะทิ้งใบ แต่บางครั้งจะทำรังตามต้นไม้แห้ง ๆ หรือต้นมะพร้าวหรือต้นปาล์ม[2]

จุดเด่นของนกหัวขวานก็คือ สามารถใช้จะงอยปากที่แหลมยาวและแข็งแรงเหมือนลิ่ม เจาะลำต้นของต้นไม้ใหญ่ประเภทไม้ยืนต้นจนเป็นรูหรือเป็นโพรงได้เป็นอย่างดี ขณะที่เจาะต้นไม้อยู่นั้นจะได้ยินเสียงกังวาลไปไกลเป็นเสียง "ป๊อก ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ" เพื่อที่จะหาหนอนและแมลงที่ซ่อนอยู่ใต้เปลือกไม้และเนื้อไม้กินเป็นอาหาร ด้วยการใช้ลิ้นและน้ำลายที่เหนียวดึงออกมา ลิ้นของนกหัวขวานเมื่อยืดออกจะยาวมาก โดยลิ้นนี้จะถูกเก็บไว้โดยการพันอ้อมกะโหลก แล้วเก็บปลายลิ้นไว้ที่โพรงจมูกด้านใน[3] ซึ่งการกระทำเช่นนี้นับว่าเป็นผลดีต่อต้นไม้ที่ช่วยกำจัดหนอนแมลงที่รบกวนได้ อันเป็นที่มาของชื่อสามัญทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จนได้รับฉายาว่า "หมอรักษาต้นไม้"[4]

แต่ในทางตรงกันข้าม การเจาะต้นไม้เช่นนี้ก็ทำการทำลายความแข็งแรงของเนื้อไม้ได้ด้วย เนื่องจากนกหัวขวานไม่ได้เจาะต้นไม้ที่มีชีวิตอย่างเดียว แต่กับไม้แปรรูป เช่น เสาไฟฟ้าที่ทำจากต้นไม้ก็ถูกเจาะได้เช่นกัน และถูกเมื่อเจาะหลาย ๆ ที่ก็เป็นโพรงที่ทำให้แมลงหรือสัตว์อื่นเข้าไปอยู่อาศัยและทำลายเนื้อไม้ได้[5]

แรงกระแทกที่นกหัวขวานใช้เจาะต้นไม้นั้นแรงมาก โดยเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 6 เมตรต่อวินาที และแรงที่เข้ากระทำนั้นเป็น 1,000 เท่าของแรงโน้มถ่วงโลก[6] แต่เหตุที่นกหัวขวานสามารถที่จะกระทำเช่นนี้ได้ โดยที่สมองหรือส่วนหัวไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ ก็เนื่องด้วยรอบ ๆ สมองนั้นห่อหุ้มไปด้วยกะโหลกรูปจานที่อ่อนนุ่มแต่หนาแน่นและยืดหยุ่นเหมือนฟองน้ำที่ภายในเต็มไปด้วยอากาศ อีกทั้งยังมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงล้อมรอบกะโหลกภายนอกที่โค้งเป็นรูปเลข 8 อีกต่างหาก และอีกยังมีจะงอยปากบนและล่างที่ยาวไม่เท่ากัน เหล่านี้เป็นสิ่งช่วยในการลดแรงกระแทกที่ส่งผลกระทบถึงสมอง โดยวันหนึ่ง ๆ นกหัวขวานสามารถเจาะต้นไม้ได้ถึง 500-600 ครั้ง หรือถึง 12,000 ครั้ง[7][8]

นกหัวขวานมีพฤติกรรมการวางไข่ที่แปลก กล่าวคือ หลังจากออกไข่แล้ว ตัวผู้จะเป็นฝ่ายเข้ากกไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อนเป็นหลัก โดยมีตัวเมียมาช่วยบ้างเป็นครั้งคราว อย่างไรก็ตาม นกหัวขวานมักจะมีโพรงอยู่เป็นประจำ คือ โพรงใดของตัวใดตัวหนึ่ง เมื่อเวลาพลบค่ำ ก็บินกลับมานอนในโพรงต่าง ๆ เหล่านี้ ตามปกติ นกหัวขวานตัวหนึ่ง ๆ มักจะมีโพรงที่อาศัยนอนเช่นนี้ 2-3 แห่ง เพื่อป้องกันอันตรายจากสิ่งอื่นที่มารบกวน[9]

นกหัวขวานอาศัยอยู่ในป่าทั่วโลก ยกเว้นออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และมาดากัสการ์ พบประมาณ 200 ชนิด ในประเทศไทยพบได้ราว 36 ชนิด[1] และมี 2 ชนิดที่หายสาบสูญไปนานกว่า 50 ปีแล้ว จากการตัดไม้ทำลายป่าอันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัย คือ นกหัวขวานอิมพีเรียล (Campephilus imperialis) กับนกหัวขวานปากงาช้าง (C. principalis) ซึ่งเป็นนกหัวขวานขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 2 ชนิด[10]

นกหัวขวานที่พบได้ในประเทศไทย

แก้
ชื่อ ชื่อวิทยาศาสตร์ สถานะ
นกคอพัน Jynx torquilla นกอพยพ
นกหัวขวานจิ๋วท้องลาย Picumnus innominatus
นกหัวขวานจิ๋วอกแดง Sasia abnormis
นกหัวขวานจิ๋วคิ้วขาว Sasia ochracea
นกหัวขวานด่างแคระ Dendrocopos canicapillus
นกหัวขวานด่างอกลายจุด Dendrocopos macei
นกหัวขวานด่างหัวแดงอกลาย Dendrocopos atratus
นกหัวขวานด่างหน้าผากเหลือง Dendrocopos mahrattensis หายาก
นกหัวขวานด่างท้องน้ำตาลแดง Dendrocopos hyperythrus
นกหัวขวานอกแดง Dendrocopos cathpharius
นกหัวขวานสีตาล Celeus brachyurus
นกหัวขวานใหญ่สีดำ Dryocopus javensis
นกหัวขวานแดงลาย Picus mineaceus
นกหัวขวานเล็กหงอนเหลือง Picus chlorolophus
นกหัวขวานปีกแดง Picus puniceus
นกหัวขวานใหญ่หงอนเหลือง Picus flavinucha
นกหัวขวานคอลาย Picus mentalis
นกหัวขวานเขียวคอเขียว Picus viridanus
นกหัวขวานเขียวป่าไผ่ Picus vittatus
นกหัวขวานเขียวท้องลาย Picus xanthopygaeus
นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง Picus erythropygius
นกหัวขวานเขียวหัวดำ Picus canus
นกหัวขวานสามนิ้วหลังสีไพล Dinopium rafflesii หายาก
นกหัวขวานสามนิ้วหลังทอง Dinopium javanense
นกหัวขวานสี่นิ้วหลังทอง Chrysocolaptes lucidus
นกหัวขวานหัวเหลือง Gecinulus grantia
นกหัวขวานป่าไผ่ Gecinulus viridis
นกหัวขวานแดง Blythipicus rubiginosus
นกหัวขวานแดงหลังลาย Blythipicus pyrrhotis
นกหัวขวานหลังสีส้ม Reinwardtipicus validus
นกหัวขวานลายตะโพกเหลือง Meiglyptes tristis
นกหัวขวานด่างท้องดำ Meiglyptes jugularis
นกหัวขวานลายคอแถบขาว Meiglyptes tukki
นกหัวขวานแคระอกเทา Hemicircus concretus
นกหัวขวานแคระจุดรูปหัวใจ Hemicircus canente
นกหัวขวานใหญ่สีเทา Mulleripicus pulverulentus

รูปภาพ

แก้

ความสัมพันธ์กับมนุษย์

แก้

ด้วยลักษณะพิเศษที่สามารถเจาะต้นไม้ได้ด้วยแรงกระแทกรุนแรง โดยที่ส่วนหัวและสมองไม่ได้รับผลกระทบกระเทือน ทำให้มีนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาหลักการนี้ มาพัฒนาเพื่อผลิตหมวกกันน็อกสำหรับขับขี่ยานพาหนะเพื่อความปลอดภัย[7] ในขณะที่บางชนิดที่มีสีสันสวยงาม ก็นิยมนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง อีกทั้งนกหัวขวานได้ถูกสร้างเป็นตัวการ์ตูนชื่อ "วู้ดดี้" ในภาพยนตร์การ์ตูนชุด Woody Woodpecker ในสังกัดยูนิเวอร์แซลสตูดิโอส์ ที่มีเอกลักษณ์คือ เสียงหัวเราะที่เป็นธีมดนตรีประกอบอีกด้วย[11]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 Walters, Michael P. (1980). Complete Birds of the World. David & Charles PLC. ISBN 0715376667.
  2. อันดับนกหัวขวาน (Piciformes) จากสนุกดอตคอม[ลิงก์เสีย]
  3. "ลิ้นมหัศจรรย์ของนกหัวขวาน !!??". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-29. สืบค้นเมื่อ 2012-11-12.
  4. "ทำไมนกหัวขวานจึงเจาะต้นไม้?". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-29. สืบค้นเมื่อ 2012-11-12.
  5. ศัตรูทำลายไม้อื่น ๆ
  6. เมื่อนกหัวขวานเจาะไม้
  7. 7.0 7.1 เจาะไชกะโหลกของนกหัวขวาน หาวิธีทำหมวกกันน็อกของคน จากไทยรัฐ
  8. ขำๆ กับ “อิกโนเบล 2006” งานวิจัยที่ทำให้ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ จากผู้จัดการออนไลน์[ลิงก์เสีย]
  9. นกหัวขวาน
  10. "นกหัวขวานใหญ่สีเทา จากคมชัดลึก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-14. สืบค้นเมื่อ 2012-11-12.
  11. "นกหัวขวานวู๊ดดี้ ARCHIVE". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-06-22. สืบค้นเมื่อ 2012-11-12.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้