นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง

นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง
ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Piciformes
วงศ์: Picidae
สกุล: Picus
สปีชีส์: P.  erythropygius
ชื่อทวินาม
Picus erythropygius
(Elliot, 1865)
ชนิดย่อย[2]
  • P. e. erythropygius (Elliot, 1865)
  • P. e. nigrigenis (Hume, 1874)

นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง (อังกฤษ: Black-headed woodpecker; ชื่อวิทยาศาสตร์: Picus erythropygius) เป็นนกชนิดหนึ่ง ในวงศ์นกหัวขวาน (Picidae)

มีลักษณะเด่น คือ มีส่วนหัวสีดำ คอและอกสีเหลือง ใต้ท้องสีนวลและมีลายซิกแซกสีเขียวไพล ขนตะโพกสีแดงมักจะฟูฟ่องยามตกใจ หากรู้สึกคุกคามอาจกางปีกที่มีลายขาวสลับดำให้ดูน่าเกรงขามเพื่อขู่ศัตรู บางตัวมีแถบคิ้วสีขาว แต่เฉพาะตัวผู้เท่านั้นที่จะมีสีแดงที่กลางกระหม่อม ขณะที่ตัวเมียมีกระหม่อมสีดำ

นกหัวขวานเขียวตะโพกแดงมีอุปนิสัยต่างจากนกหัวขวานทั่วไป คือ เป็นชนิดเดียวที่มักอยู่รวมกันเป็นฝูงตลอดทั้งปี สาเหตุก็มาจากการที่พ่อแม่นกมีนกตัวอื่น ๆ มาทำหน้าที่ช่วยเลี้ยงลูกอ่อน และยังไม่ได้รวมฝูงเฉพาะนกชนิดเดียวกัน หากแต่ยังรวมฝูงหากินร่วมกับ นกกะราง, นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ (Dicrurus paradiseus) หรือนกหัวขวานชนิดอื่น ๆ รวมอยู่ด้วย

มีอุปนิสัยชอบเลียกินมดและปลวกบนพื้นดิน แต่บางครั้งก็มากินเศษอาหารที่มนุษย์เหลือทิ้งไว้เช่นเดียวกับนกกะรางด้วย และชอบส่งเสียงร้องเอะอะเสียงดัง มักได้ยินเสียงก่อนเห็นตัว โดยส่งเสียงรัวติดต่อกันว่า "แอะแอะ แอะแอ้ว" คล้ายลูกสุนัข[3]

มีถิ่นกระจายพันธุ์ในป่าเต็งรังไม่ระดับความสูงไม่เกิน 900 เมตร จากระดับน้ำทะเล พบกระจายพันธุ์ในเวียดนาม, กัมพูชา, ไทย, ลาว, พม่า สำหรับในประเทศไทยพบในป่าผลัดใบและป่าสนทางภาคตะวันตก, ภาคเหนือและภาคอีสาน พบบ่อยเฉพาะในบางพื้นที่ เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ [4]

จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง[5]

อ้างอิง แก้

  1. BirdLife International (2012). "Picus erythropygius". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2012.1. สืบค้นเมื่อ 16 July 2012.
  2. "Picus erythopygius". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  3. นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง
  4. "นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง". คมชัดลึก.
  5. สัตว์ป่าคุ้มครอง

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Picus erythropygius ที่วิกิสปีชีส์