นกคอพัน
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Piciformes
วงศ์: Picidae
วงศ์ย่อย: Jynginae
สกุล: Jynx
สปีชีส์: J.  torquilla
ชื่อทวินาม
Jynx torquilla
Linnaeus, 1758
ชนิดย่อย
ชนิดย่อย[2]
  • J. t. chinensis Hesse, 1911
  • J. t. himalayana Vaurie, 1959
  • J. t. mauretanica Rothschild, 1909
  • J. t. sarudnyi Loudon, 1912
  • J. t. torquilla Linnaeus, 1758
  • J. t. tschusii O. Kleinschmidt, 1907
     สถานที่พบในฤดูร้อน      สถานที่อยู่อาศัยประจำ      สถานที่อพยพหนีหนาว

นกคอพัน (อังกฤษ: Eurasian wryneck, Spotted woodpecker; ชื่อวิทยาศาสตร์: Jynx torquilla) เป็นนกชนิดหนึ่ง ในวงศ์นกหัวขวาน (Picidae)

มีรูปร่างเพรียว คอสั้น ปากสั้นและแบนข้างมาก สั้นปากบนโค้งลงมาเล็กน้อย ปลายปากแหลมคล้ายรูปกรวย รูจมูกค่อนข้างใหญ่อยู่เกลือบชิดสันปากบน ไม่มีขนใด ๆ แต่มีเยื่อปกคลุม ปีกมีลักษณะมนกลม

ด้านบนลำตัวเป็นลายจุดสีดำและน้ำตาล ด้านล่างลำตัวมีลายพาดระหว่าง สีขาวและน้ำตาล ดูระยะไกลจะเห็นเป็นสีน้ำตาลแกมเทากลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม แต่นกคอพันไม่สามารถไต่ต้นไม้ในลักษณะแนวตั้งเหมือนนกหัวขวานทั่วไปได้ เพราะขนหางอ่อนนุ่มไม่สามารถค้ำยันตัวได้ โดยจะเกาะกิ่งไม้เหมือนนกเกาะคอน อีกทั้งยังไม่สามารถใช้จะงอยปากเจาะลำต้นของต้นไม้เพื่อหาแมลงกินได้อีกด้วย แต่นกคอพันก็มีลิ้นที่ยาวและมีน้ำลายที่เหนียวตวัดกินมดหรือหนอนตามต้นไม้เป็นอาหาร เหมือนนกหัวขวาน มีลำตัวยาวประมาณ 16-18 เซนติเมตร

เป็นนกที่อาศัยอยู่เพียงลำพัง หรือเป็นคู่ หากมีนกตัวอื่นหรือฝูงนกอื่นเข้ามาใกล้ จะบินหนี มักจะลงมาหากินตามพื้นดินมากกว่าบนต้นไม้ เนื่องจากกินมด ซึ่งเป็นแมลงอยู่ตามพื้นดินเป็นหลัก ด้วยการกระโดดไปมาบนพื้นแล้วหยุดมองหาตามร่องของพื้นดิน มีเสียงร้อง "ควี่ ๆ ๆ ๆ" ติดต่อกันราว 8-15 คำ ได้ยินกังวาลไปไกล[3]

นอกจากนี้แล้วยังสามารถที่บิดคอไปข้าง ๆ ได้เกือบ 180 องศาเหมือนงู จึงได้รับการตั้งชื่อสกุลว่า Jynx ซึ่งหมายถึง เวทมนตร์หรือการทำนายพยากรณ์ล่วงหน้า[4]

เหตุที่สามารถเลียนแบบส่วนคอได้เหมือนการเคลื่อนไหวของงู รวมถึงสามารถแลบลิ้นที่สำหรับใช้ตวัดกินแมลงได้เหมือนงูอีกด้วย ก็เพื่อป้องกันตัวเองและลูกวัยอ่อนที่อยู่ในโพรง จากนกตัวอื่นหรือสัตว์นักล่าชนิดอื่น [5]

พบกระจายพันธุ์ตามป่าโปร่ง, ชายทุ่ง, พื้นที่เกษตรกรรม ตลอดจนใกล้กับบ้านเรือนของมนุษย์ พบได้ตั้งแต่พื้นที่ราบจนถึงเหนือระดับน้ำทะเล 2,000 เมตร บนภูเขาสูง พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่ทวีปยุโรปจนถึงเอเชียกลางและเอเชียตะวันออก (มีชนิดย่อย 6 ชนิด ดูในตาราง[2]) มีการอพยพหนีหนาวในช่วงฤดูหนาวไปในทวีปแอฟริกาตอนกลาง และประเทศไทย ซึ่งพบได้ทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ โดยไม่พบการวางไข่ขยายพันธุ์ในประเทศไทย และจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย[6] [3]

รูปภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. BirdLife International (2012). "Jynx torquilla". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2012.1. สืบค้นเมื่อ 16 July 2012.
  2. 2.0 2.1 "Jynx torquilla". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  3. 3.0 3.1 นกคอพัน[ลิงก์เสีย]
  4. "Online Etymology Dictionary: Jinx". Etymonline.com. สืบค้นเมื่อ 2010-10-11.
  5. "มหัศจรรย์สัตว์โลก: นกคอพัน". ช่อง 9. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2015-01-23.
  6. สัตว์ป่าคุ้มครอง

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Jynx torquilla ที่วิกิสปีชีส์