ทองดี อิสราชีวิน

นายทองดี อิสราชีวิน อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ 6 สมัย สังกัดพรรคประชาธิปัตย์[1] เป็นนักการเมืองที่ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็น "ดาวดีแห่งสภาผู้แทนราษฎร"

ทองดี อิสราชีวิน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด18 มกราคม พ.ศ. 2457
จังหวัดเชียงใหม่
เสียชีวิต7 เมษายน พ.ศ. 2518 (61 ปี)
กรุงเทพมหานคร
ศาสนาพุทธ
พรรคการเมืองประชาธิปัตย์
คู่สมรสนางบุญมี อิสราชีวิน

ประวัติ แก้

นายทองดี อิสราชีวิน (สกุลเดิม ชุติมา) เกิดเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2457 เป็นบุตรคนสุดท้องของนายสุ่นโฮง ชุติมา กับนางคำมูล ชุติมา ครอบครัวเป็นคหบดี อาศัยอยู่ย่านวัดเกตการาม มีพี่น้อง 9 คน อาทิ นายไหล่แม ชุติมา (บิดานายบวร ชุติมา) นางทองสุก ตันติพงศ์ (มารดาของนายไกรสร ตันติพงศ์) และนายสุวิชช พันธเศรษฐ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย และโรงเรียนเทพศิรินทร์ จากนั้นได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี[2][3]

นายทองดี สมรสกับนางบุญมี อิสราชีวิน มีบุตรชายชื่อนายทองดีน้อย เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2518[4] ซึ่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2518 ได้รายงานข่าวหน้าหนึ่งพร้อมภาพประกอบว่า "ดาวดี หัวใจวายตายแล้ว"[3]

การเมือง แก้

นายทองดี เป็นน้องชายของนายสุวิชช พันธเศรษฐ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ส่งผลให้นายทองดี มีความสนใจและลงสมัครรับเลือกตั้ง ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2490 แทนตำแหน่งที่ว่างเนื่องจากนายสุมินทร์ อุปโยคิน เสียชีวิตลงในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2490 และได้รับเลือกตั้งต่อเนื่องในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2491 และการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500[5] รวมทั้งในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน[6]

ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2512 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรคอิสระธรรม ซึ่งนายทองดี ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.คนเดียวของพรรค และจากการทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงการปฏิเสธจะรับตำแหน่งใดๆ ทางการเมือง ด้วยเหตุผลว่าชาวเชียงใหม่ เลือกให้มาเป็นฝ่ายค้าน ทำให้นายทองดี ได้รับฉายาว่า "ดาวดี"[3]

นายทองดี เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่สร้างประวัติศาสตร์ให้รัฐสภาด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลผสมของพรรคตนเอง คือ พรรคประชาธิปัตย์ และการยกมือไม่ไว้วางใจรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และการเสนอร่างพระราชบัญญัติถ่ายทอดเสียงการประชุมสภาฯ[3]

นายทองดี มีบทบาทในสภาผู้แทนราษฎร โดยได้ตั้งกระทู้ถามที่สำคัญ อาทิ กระทู้ถามเรื่อง โครงการพัฒนาการน้ำมันฝาง จังหวัดเชียงใหม่[7] การออกโฉนดให้แก่สมาชิกสหกรณ์นิคมกสิกรรมสันทราย การจัดตั้งสหกรณ์นิคมกสิกรรมในอำเภอฝาง การจัดตั้งสหกรณ์ประเภทหาทุนในจังหวัดเชียงใหม่ และเรื่องการไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่[8] การสร้างโรงไฟฟ้าโดยใช้พลังแรงน้ำตกในจังหวัดเชียงใหม่[9] เป็นต้น

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. http://www.kpi.ac.th/media_kpiacth/pdf/M8_34.pdf
  2. ย้อนเหตุการณ์ที่เชียงใหม่(28)[ลิงก์เสีย]
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 นักการเมืองท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่. กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า. 2551[ลิงก์เสีย]
  4. พระราชกฤษฎีกาให้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขตเลือกตั้งที่ 1 ขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. 2518
  5. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป
  6. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป พ.ศ. ๒๕๐๐ ครั้งที่ ๒
  7. กระทู้ถามที่ ส. ๒๐/๒๕๐๐ ของนายทองดี อิสราชีวิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง โครงการพัฒนาการน้ำมันฝาง จังหวัดเชียงใหม่
  8. กระทู้ถามที่ ส. ๘/๒๕๐๐ ของ นายทองดี อิสราชีวิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง การไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่
  9. กระทู้ถามที่ ๑๙/๒๔๙๒ ของนายทองดี อิสราชีวิน ผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง การสร้างโรงไฟฟ้าโดยใช้พลังแรงน้ำตกในจังหวัดเชียงใหม่