ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน

(เปลี่ยนทางจาก ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ)

ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน (อังกฤษ: hyperthyroidism) คือภาวะที่มีการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาจากต่อมไทรอยด์มากเกินปกติ[3] ในขณะที่ไทรอยด์เป็นพิษ (อังกฤษ: thyrotoxicosis) คือภาวะที่มีฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินจากสาเหตุใดๆ ก็ตาม รวมถึงจากภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินด้วย[3] แต่บางครั้งสองคำนี้ก็ใช้แทนกันได้[4] ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแตกต่างกันไป ตั้งแต่อาการกระสับกระส่าย กล้ามเนื้ออ่อนแรง การนอนผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว ทนร้อนไม่ได้ อุจจาระร่วง ต่อมไทรอยด์โต มือสั่น และน้ำหนักลด[1] ผู้ป่วยสูงอายุและผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์อาจมีอาการน้อยกว่าคนทั่วไป[1] ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยแต่มีอาการรุนแรงคือภาวะวิกฤตจากพิษไทรอยด์ เกิดจากมีเหตุกระตุ้น (เช่น การติดเชื้อ) ทำให้ผู้ป่วยมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว เช่น สับสน อุณหภูมิกายสูง และอาจเสียชีวิตได้[2] ภาวะตรงข้ามกันเรียกว่าภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกิน เกิดจากการที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ได้ไม่เพียงพอ[5]

ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน
ชื่ออื่นHyperthyroidism, overactive thyroid, hyperthyreosis
ไตรไอโอโดไทโรนีน (T3, ในภาพ) และ ไทรอกซีน (T4) เป็นฮอร์โมนไทรอยด์ทั้งคู่
สาขาวิชาวิทยาต่อมไร้ท่อ
อาการกระสับกระส่าย กล้ามเนื้ออ่อนแรง การนอนผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว ทนร้อนไม่ได้ อุจจาระร่วง ต่อมไทรอยด์โต มือสั่น และน้ำหนักลด[1]
ภาวะแทรกซ้อนภาวะวิกฤตจากพิษไทรอยด์[2]
การตั้งต้นอายุ 20–50 ปี[2]
สาเหตุโรคเกรฟส์, คอพอกหลายปุ่ม, เนื้องอกอะดีโนมาเป็นพิษ, ต่อมไทรอยด์อักเสบ, ได้รับไอโอดีนมากเกินไป, ได้รับยาเลียนแบบฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป[1][2]
วิธีวินิจฉัยวินิจฉัยจากอาการ ยืนยันด้วยการตรวจเลือด[1]
การรักษาบำบัดด้วยไอโอดีนกัมมันตรังสี ใช้ยา ผ่าตัด[1]
ยายาต้านเบต้า, เมไทมาโซล[1]
ความชุก1.2% (สหรัฐ)[3]

สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของภาวะนี้คือโรคเกรฟส์ โดยพบเป็นสาเหตุของภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินได้ถึง 50-80% ในสหรัฐ[1][6] สาเหตุอื่นๆ ของภาวะนี้เช่น คอพอก เนื้องอกต่อมไทรอยด์ ต่อมไทรอยด์อักเสบ ได้รับไอโอดีนมากเกินไป และได้รับฮอร์โมนไทรอยด์สังเคราะห์มากเกินไป[1][2] อีกสาเหตุที่พบได้น้อยกว่าคือเนื้องอกต่อมใต้สมอง[1] การวินิจฉัยอาจเริ่มจากการสงสัยในผู้ป่วยที่มีอาการและอาการแสดงเข้าได้รับภาวะนี้ และยืนยันได้ด้วยการตรวจเลือด[1] โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยจะมีระดับฮอร์โมน TSH ต่ำ ร่วมกับ T3 และ/หรือ T4 สูง[1] การตรวจเพิ่มเติมเช่น การตรวจการดูดกลืนไอโอดีนกัมมันตรังสีที่ต่อมไทรอยด์ การทำไทรอยด์สแกน และการตรวจแอนติบอดีต่อ TSI อาจช่วยหาสาเหตุได้[1]

การรักษามีหลายวิธีขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของโรค[1] ประกอบด้วยสามวิธีหลัก ได้แก่ การใช้สารไอโอดีนกัมมันตรังสี การใช้ยา และการผ่าตัด[1] โดยการใช้สารไอโอดีนกัมมันตังรังสีทำได้โดยการให้ผู้ป่วยกินไอโอดีน-131 เข้าไป สารนี้จะถูกดูดซึมไปรวมอยู่ที่ต่อมไทรอยด์และค่อยๆ ทำลายต่อมไปช้าๆ โดยใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน[1] ทำให้เกิดเป็นภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการกินฮอร์โมนไทรอยด์สังเคราะห์[1] แพทย์อาจใช้ยาอื่นๆ เช่น ยาต้านเบต้า เพื่อควบคุมอาการ และใช้ยาต้านไทรอยด์ เช่น เมไทมาโซล เป็นการชั่วคราวระหว่างรอให้การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เกิดผล[1] การผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออกก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษา[1] มักใช้ในกรณีที่ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตมาก หรือมีโอกาสเป็นมะเร็ง[1] ในสหรัฐพบผู้ป่วยภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินประมาณ 1.2% ของประชากร[3] พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2-10 เท่า[1] ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการที่อายุ 20-50 ปี[2] โดยรวมแล้วโรคนี้มักพบในคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี[1]

อาการสำคัญ แก้

ไฮเปอร์ไทรอยด์มีอาการแสดงที่สำคัญดังต่อไปนี้:[7]

  • น้ำหนักลดลง แม้จะสามารถรับประทานอาหารได้อย่างเป็นปกติก็ตาม
  • ใบหน้าบวม ตัวบวม
  • มีอาการอ่อนแรง อ่อนเพลีย และหนาวง่าย
  • ผิวแห้ง และผมร่วง

การรักษา แก้

การรักษาอาการไฮเปอร์ไทรอยด์มีหลายวิธี โดยแพทย์จะพิจารณาจาก อายุ สภาพของผู้ป่วย ชนิดของคอพอกเป็นพิษและความรุนแรงของโรค ซึ่งรักษาได้โดยการทานยาที่มีฤทธิ์ในการระงับฮอร์โมน การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ การกินสารไอโอดีนชนิดปล่อยสารกัมมันตภาพรังสีเพื่อทำลายต่อมไทรอยด์ ซึ่งเรียกกันในวงการว่าการดื่มน้ำแร่ โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกการรักษาในรูปแบบที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 1.18 1.19 1.20 1.21 "Hyperthyroidism". www.niddk.nih.gov. July 2012. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 April 2015. สืบค้นเมื่อ 2015-04-02.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 Devereaux, D.; Tewelde, SZ. (May 2014). "Hyperthyroidism and thyrotoxicosis". Emerg Med Clin North Am. 32 (2): 277–92. doi:10.1016/j.emc.2013.12.001. PMID 24766932.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Bahn Chair, RS; Burch, HB; Cooper, DS; Garber, JR; Greenlee, MC; Klein, I; Laurberg, P; McDougall, IR; Montori, VM; Rivkees, SA; Ross, DS; Sosa, JA; Stan, MN (June 2011). "Hyperthyroidism and other causes of thyrotoxicosis: management guidelines of the American Thyroid Association and American Association of Clinical Endocrinologists". Thyroid. 21 (6): 593–646. doi:10.1089/thy.2010.0417. PMID 21510801.
  4. Erik D Schraga (30 May 2014). "Hyperthyroidism, Thyroid Storm, and Graves Disease". Medscape. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 April 2015. สืบค้นเมื่อ 20 April 2015.
  5. NIDDK (13 March 2013). "Hypothyroidism". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 March 2016. สืบค้นเมื่อ 20 April 2015.
  6. Brent, Gregory A. (12 June 2008). "Clinical practice. Graves' disease". The New England Journal of Medicine. 358 (24): 2594–2605. doi:10.1056/NEJMcp0801880. ISSN 1533-4406. PMID 18550875.
  7. เกี่ยวกับอาการผิดปกติของต่อมไทรอยด์

หนังสืออ่านเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

อาการที่เกิดขึ้นในมนุษย์
อาการที่เกิดขึ้นในสัตว์
การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก